ประตูแห่งความดีแด่ผู้มีชีวิตถึงรอมฎอน ตอนที่ 1-10
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ วัศเศาะลาตุวัสลาม อะลาคอตะมิลอัมบิยาอฺวัลมุรซาลีน นบิยฺยินามุฮัมมัด วะอะลาอาลิฮี วะเศาะฮฺบิฮีอัจญมาอีน
พวกเราจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนในการร่วมฟื้นฟูเดือนอันยิ่งใหญ่ในเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการอภัยโทษและความพอพระทัย ซึ่งอัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ว่า:
«شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنْزِلَ فِيهِ الْقُرْآَنُ هُدًى لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ فَمَنْ شَهِدَ مِنْكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ»
“เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาเป็นข้อแนะนำสำหรับมวลมนุษยชาติ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเป็นสิ่งที่มาจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดจากกลุ่มพวกท่านเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้วก็จงถือศีลอด...” (อัลบากอเราะฮฺ :185)
ในโอกาสนี้เราเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการรวบรวมบรรดาหะดีษและอาษารฺซึ่งเป็นประตูหลายบานที่จะนำไปสู่ความดีงาม พร้อมทั้งเป็นการมาช่วยขัดเกลาในภารกิจอันสำคัญของเดือนอันประเสริฐนี้ พร้อมกันนี้ได้เตือนระวังถึงความจำเป็นต่อการรักษาการทำอิบาดะฮ์ทั้งที่เป็นฟัรฏูและซุนนะฮฺ และอัลลอฮ์เป็นผู้นำทางสู่เส้นทางอันเที่ยงตรง
1. การมีความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) อัลลอฮ์กล่าวว่า:
«وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ حُنَفَاءَ وَيُقِيمُوا الصَّلَاةَ وَيُؤْتُوا الزَّكَاةَ وَذَلِكَ دِينُ الْقَيِّمَةِ»
“และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์เป็นผู้อยู่ในแนวทางอันเที่ยงตรงและดำรงการละหมาดและจ่ายซะกาตและนั่นคือศาสนาอันเที่ยงธรรม” (อัลบัยยินะฮฺ : 5)
2. มุ่งมั่นในการกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮฺ) ต่ออัลลอฮ์ ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดที่ได้เตาบะฮฺก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก อัลลอฮ์จะตอบรับการเตาบะฮฺของเขา” (มุสลิม) “แท้จริงอัลลอฮ์จะตอบรับการเตาบะฮฺของบ่าวตราบใดที่ลมหายใจยังไม่ถึงคอหอย” (อัตติรมิซียฺ)
3. ขอดุอาอ์ขณะที่เห็นเดือนจันทร์เสี้ยวว่า “โอ้อัลลอฮ์ขอให้เราได้รับเดือนเสี้ยวด้วยความปลอดภัยและความอีมาน ความปลอดภัยและอิสลาม อัลลอฮ์เป็นผู้อภิบาลของฉันและของท่าน” (อะหฺมัดและอัตติรมิซียฺ)
4. ถือศีลอดเดือนรอมฎอนด้วยอีมานและหวังในการตอบแทน “ผู้ใดที่ถือศีลอดด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน จะถูกอภัยโทษให้แก่เขาในความผิดที่ผ่านมา” (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)
5. ถือศีลอดในเดือนเชาวาล 6 วัน “ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนและถือศีลอดตามอีกหกวันในเดือนเชาวาลแล้ว เสมือนว่าเขาผู้นั้นได้ถือศีลอดหนึ่งปี” (มุสลิม)
6. ละหมาดกลางคืนในเดือนรอมฎอนด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน “ผู้ที่ละหมาดตอนกลางคืนในเดือนรอมฎอนด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน จะถูกอภัยโทษให้แก่เขาในความผิดที่ผ่านมา” (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)
7. ละหมาดในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน “ผู้ใดที่ละหมาดในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน จะถูกอภัยโทษให้แก่เขาในความผิดที่ผ่านมา” (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)
8. มีความมุ่งมั่นในการทำอิบาดะฮฺช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน “ปรากฏว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อเข้าช่วงสิบคืนสุดท้าย ท่านจะไม่นอนในตอนกลางคืน ปลุกให้สมาชิกในครอบครัวตื่น และจะถลกผ้าโสร่งขึ้น (เปรียบเทียบถึงความมุ่งมั่นในการแสวงหาความดีของท่าน)" (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)
9. ทำอุมเราะฮฺ “การทำอุมเราะฮฺในเดือนรอมฎอนผลบุญเทียบเท่าการทำฮัจญ์ หรือการทำฮัจญ์พร้อมกับฉัน” (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)
10. การเอี๊ยะติกาฟ “ปรากฏว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะเอี๊ยะติกาฟในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน” (อัลบุคอรียฺ)
บทความที่น่าสนใจ
Tags: