จงเลี้ยงลูกชายให้โตไปจ่ายนะฟะเกาะฮ์
มันดีมาก ๆ เลยนะ ที่เรามุ่งมั่นอบรมตักเตือนมุสลิมะฮ์ในด้านความละอาย การปกปิดเอาเราะฮ์ เรื่อยไปจนถึงการส่งเสริมฝึกหัดพวกเธอในด้านงานบ้านและการดูแลบ้านช่อง
เราพูดกันบ่อยครั้งเรื่องการอบรมเลี้ยงดูลูกสาวให้มีความละอาย ปกปิดตัวเอง และอย่างน้อยควรมีทักษะแม่ศรีเรือนติดมือไว้บ้างเพราะมันเป็นหน้าที่ของมุสลิมะฮ์
แต่ที่น่าแปลก คือเราแทบไม่ได้พูดเรื่องการอบรมเลี้ยงดูลูกชาย ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่รับผิดชอบหลักของมุสลิมีนที่ศาสนากำหนดชัดเจน นั่นคือเรื่องการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัว(อาจมีแต่ไม่ค่อยเห็น)
เรามีพูดกันบ้างเรื่องต้องฝึกให้ลูกชายเป็นสุภาพบุรุษ เอาใจใส่ในเรื่องศาสนาของคนในครอบครัว และตระหนักในหน้าที่ของมะห์รอมซึ่งเป็นอะไรที่ดีมาก
แต่เรื่องสำคัญอย่าง "ความรับผิดชอบด้านการเงิน" ก็เป็นอะไรที่จำเป็นมากเหมือนกัน ที่เราต้องปลูกฝังให้ลูกชายของเรามี เพราะมันเป็นทักษะสำคัญของมุสลิมีนที่ดี และเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาปลูกสร้างพอสมควร
ความรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่าย (นะฟะเกาะฮ์) เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ศาสนาเรียกร้องจากมุสลิมีนในฐานะผู้นำครอบครัว ถึงขนาดที่อัลลอฮ์ได้ให้มันเป็นเหตุผลทำให้ผู้ชายมีสถานะเป็นผู้ปกครองดูแลผู้หญิง
الرِّجَالُ قَوَّامُونَ عَلَى النِّسَاءِ
بِمَا فَضَّلَ اللَّهُ بَعْضَهُمْ عَلَىٰ بَعْضٍ
وَبِمَا أَنفَقُوا مِنْ أَمْوَالِهِمْ ۚ
"บรรดาชายนั้นคือ ผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาหญิง เนื่องด้วยการที่อัลลอฮ์ได้ให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคน และด้วยการที่พวกเขาได้จ่าย (นะฟะเกาะฮ์) จากทรัพย์ของพวกเขา" (ซูเราะฮ์อันนิซาอ์ อายะฮ์ที่ 34)
สังคมของเราเต็มไปด้วยมุสลิมีนที่ดูเบาเรื่องนี้ ทั้งที่มันคือเรื่อง "ศาสนา" อย่างชัดเจน
เรามีมุสลิมีนที่นั่งร้านน้ำชาเสวนาเรื่องการมีภรรยาสี่คน ขณะที่ภรรยาคนเดียวที่มีกำลังทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อมาจุนเจือค่าใช้จ่ายในครอบครัว เรามีมุสลิมีนที่นั่งถกประเด็นทางฟิกฮ์กับผู้คนหน้าจอทั้งวันทั้งคืน ในขณะที่ลูก ๆ ค้างจ่ายค่าเล่าเรียนติดกันหลายเทอม
ถ้าไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาที่เห็นอยู่ตำตาแบบนี้ได้อย่างไร ลองเริ่มต้นแก้ที่เด็กผู้ชายในอ้อมแขนของเรา สอนเขาให้เข้าใจหน้าที่หลักของผู้นำครอบครัวในอิสลาม ปลูกฝังวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเงินที่ถูกต้องให้เขา ฝึกหัดเขาในเรื่องการบริหารจัดการเงิน สอนให้เขาหาเงินเป็น ใช้เงินเป็น ออมเงินเป็น และแบ่งปันเป็น
โดยทั้งหมดนั้น ต้องให้เขาเข้าใจและตั้งเจตจำนงให้ชัดเจนว่า เพื่อจะทำหน้าที่ของมุสลิมีนตามที่อัลลอฮ์สั่งใช้
เรื่องสำคัญมากที่ควรทำ "ถ้าพอจะทำได้" คือพยายามให้ลูก ๆ ของเราคุ้นชินกับบรรยากาศในบ้านที่พ่อเป็นคนจัดการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งหมด อาจมอบหมายให้แม่เป็นคนช่วยดำเนินการภาคปฏิบัติได้ แต่ลูกควรต้องได้รู้อย่างชัดเจนว่าคนที่รับผิดชอบหาเงินมาให้ใช้จ่ายในครอบครัว คื อ "พ่อ" ไม่ใช่ใครอื่น และวันหนึ่งเขาก็ต้องโตไปเป็นสามี ไปเป็นพ่อคน ที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ใครอื่น
มันจะมีปัญหาต้องแก้แน่นอน มันจะมีความติดขัดให้มองหาทางออก มันจะมีความฝืดเคืองให้ต้องปวดหัวกังวลใจ แต่ผู้ชายที่ตระหนักในหน้าที่ของตัวเองมากพอจะไม่ยอมแพ้ เขาจะรีดเค้นทุกศักยภาพที่มีเพื่อทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ที่สุด และนั่นคือความหมายของคำว่า "ความรับผิดชอบ"
ซึ่งสิ่งที่เขาจะได้รับตอบคือ ความเคารพ เห็นใจ และให้กำลังใจจากคนข้าง ๆ เพราะมันก็เป็นหน้าที่ของเธอที่ต้องซัพพอร์ตเขา หนุนใจเขา และผ่อนหนักเบาให้เขา อันเนื่องจากเห็นได้ชัดเจนว่าเขาพยายามเต็มที่แล้วที่จะทำหน้าที่ของตัวเอง
ถ้าครอบครัวของเราไม่ได้มีบรรยากาศแบบนั้น มีข้อจำกัดบางอย่างที่เรายังทำแบบนั้นไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องพยายามบอกสอนให้ลูกรู้ว่าที่ถูกต้องมันควรจะเป็นแบบไหน เราทำไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงลูกเราจะทำไม่ได้ ให้โอกาสเขาได้เติบโตขึ้นเป็นใครสักคนที่ดีกว่าเราเถอะ
บทความที่น่าสนใจ
- ถ้าสามีให้นะฟะเกาะฮ์ภรรยา ไม่พอค่าใช้จ่าย ขอหย่าได้ไหม?
- ลูกคือริสกี ของขวัญอันล้ำค่า ประทานมาจากอัลลอฮฺ
- 8 ประการ ทำให้บ้านของเรามีบารอกัต
- 10 ริสกีในการตั้งครรภ์
อย่าให้เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ ที่คนหาเงินไม่ใช่พ่อ
อย่าให้เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ ที่แม่ต้องวิ่งวุ่นเรื่องค่าใช้จ่ายจำเป็นของบ้านอยู่เสมอ
อย่าให้เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้นำครอบครัวมุสลิมจะพูดศาสนาได้ทุกเรื่อง แต่กลับดูเบาเรื่องแรก ๆ ที่ศาสนามอบหมายให้เขาทำ นั่นคือ การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจำเป็นของครอบครัว !
บทความที่น่าสนใจ
- ดุอาอ์ขอให้ลูกเป็นเด็กดี ไม่ดื้อ
- ดุอาอ์ให้ตนเองและลูกหลานรักษาละหมาด
- การเลี้ยงลูกให้เป็น “ประชาชาติต้นแบบ” แบบอย่างท่านนบีมูฮัมหมัด
- ลูกคือริสกี ของขวัญอันล้ำค่า ประทานมาจากอัลลอฮฺ
- 8 บทขอดุอาอ์ให้ลูกรัก
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
دينارٌ أنفقْتَهُ في سبيلِ اللهِ ،
ودينارٌ أنفقتَهُ في رقَبَةٍ ،
و دينارٌ تصدقْتَ بِهِ على مسكينٍ ،
ودينارٌ أنفقتَهُ على أهلِكَ ،
أعظمُهما أجرًا الذي أنفقْتَهُ على أهلِكَ
"ทรัพย์สินที่ใช้จ่ายไปในหนทางของอัลลอฮ์, ทรัพย์สินที่ให้กับคนยากจน, ทรัพย์สินที่ให้กับครอบครัวของท่าน ทรัพย์สินที่ให้ผลบุญยิ่งใหญ่ที่สุดคือทรัพย์สินที่ท่านให้ (เป็นนะฟะเกาะฮ์) แก่คนในครอบครัวท่าน" (มุสลิม 995)
Credit: Baan Muslim
Tags: