ลูกคือริสกี ของขวัญอันล้ำค่า ประทานมาจากอัลลอฮฺ
“ลูก” ถือเป็นริสกีอันประเสริฐ ของขวัญอันล้ำค่าที่อัลลอฮ์ประทานแก่สามีภรรยาให้ได้มีสถานะเป็นพ่อแม่
ความปรารถนาสำคัญประการหนึ่งของคู่สามีภรรยา คือ ได้มีสถานะเป็นพ่อแม่ มีความปรารถนาอยากจะมี ”ลูก” อัลฮะดีส บันทึกในมุสนัดของท่านอบูยะอ์ลา รายงานจากท่านอบูสอี๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
الْوَلَدُ ثَمَرَةُ الْقَلْبِ ، وَإِنَّهُ مَجْبَنَةٌ مَبْخَلَةٌ مَحْزَنَةٌ
ควมว่า: “ลูกเปรียบดั่งผลของหัวใจ และเป็นสาเหตุของความขลาด ความตระหนี่ และความเสียใจ”
นักวิชาการอธิบายว่า ثَمَرَةُ คือ ผลไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตของพันธุ์ไม้ต่างๆ ดังนั้น الْوَلَدُ ثَمَرَةُ الْقَلْبِ จึงเปรียบลูกดั่งผลผลิตของพ่อ และลูกก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่เกิดความขลาด ความตระหนี่ และความวิตกกังวล ความเสียใจ
مَجْبَنَةٌ เป็นสาเหตุให้เกิดความขลาด เพราะกลัวการพลัดพรากจากกัน เช่น ทำให้พ่อไม่อยากออกไปทำสงครามญิฮาด หรือไม่อยากให้ลูกออกไปทำสงครามญิฮาด กลัวว่าจะต้องตายจากกัน
مَبْخَلَةٌ เป็นสาเหตุให้เกิดความตระหนี่ เช่น ไม่กล้าบริจาคมาก เพราะต้องการทุ่มเทให้กับลูก กลัวลูกไม่พอกินพอใช้ กลัวว่าลูกจะไม่ได้รับความสุขความสบาย
مَحْزَنَةٌ เป็นสาเหตุให้เกิดความวิตกกังวล ความเศร้าโศกเสียใจ เพราะเป็นห่วงลูก เช่น เมื่อเวลาที่ลูกเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเมื่อลูกต้องประสบปัญหา หรือได้รับสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
ทั้งหมดนั่นก็เพราะ ”ลูก” คือสุดยอดความรักของพ่อแม่ ”ลูก” ถือเป็นสิ่งดีงามในชีวิต เป็นโซ่คล้องใจ เป็นห่วงสร้างความผูกพัน เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่
แต่…ไม่ใช่ว่า…สามีภรรยาทุกคู่จะได้เป็นพ่อแม่ ไม่ใช่ว่า…สามีภรรยาทุกคู่จะมีลูกได้สมใจปรารถนา บางคู่ไม่มีลูกเลย ถึงแม้อยากจะมี ทำอย่างไรก็ไม่มี บางคู่มีแต่ลูกชาย บางคู่มีแต่ลูกหญิง บางคู่มีทั้งลูกชายลูกหญิง
ดังนั้น “ลูก” จึงถือเป็นริสกีอย่างหนึ่ง และถือเป็นริสกีอันประเสริฐ อีกทั้งยังเป็นของขวัญอันล้ำค่า ที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานแก่สามีภรรยาคู่นั้นๆ ให้ได้มีสถานะเป็นพ่อแม่ อัลฮะดีสในบันทึกของอิมามอิบนุมาญะฮ์ รายงานจากท่านอิบนุ อับบ๊าส ร่อฎิยัลลอฮฺอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
ควมว่า: “ท่านทั้งหลายจงให้เกียรติบรรดาลูกของพวกท่าน และอบรมบ่มนิสัยพวกเขาให้มีมารยาทที่ดีงาม เพราะแท้จริง บรรดาลูกของพวกท่านเป็นของขวัญแก่พวกท่าน”
ในขณะเดียวกัน ”ลูก” ก็เป็นอะมานะฮ์ เป็นของฝาก เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงวางไว้บนบ่าทั้งสองของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน เพราะในวันกิยามะฮ์ คนที่มีสถานะเป็นพ่อแม่จะต้องถูกสอบสวนถึงอะมานะฮ์ หน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องนี้ ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตตะห์รีม อายะฮ์ที่ 6 อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا وَقُودُهَا ٱلنَّاسُ وَٱلۡحِجَارَةُ
ควมว่า: “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปกป้องตัวของพวกเจ้า และครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน (รูปปั้นรูปเจว็ดต่างๆ)”
อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งบรรดาผู้ศรัทธา “ให้ดูแลตัวของพวกเจ้า และครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก…” บรรดาซอฮาบะฮ์ได้อธิบายส่วนนี้ไว้ในหลายความหมายที่เป็นไปในทางเดียวกัน โดยสรุปคือ หัวหน้าครอบครัวต้องดูแลตัวเองให้เป็นผู้ที่ศรัทธาและยำเกรงอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ปฏิบัติตัวให้อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา เมื่อตัวเองได้ปฏิบัติแล้ว ก็ต้องดูแลคนในครอบครัวของเขาด้วยเช่นกัน
ถ้าหากหัวหน้าครอบครัวไม่ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ก็เป็นไปได้ที่ทั้งตัวเขาและคนในครอบครัวของเขาจะเป็นคนที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา ซึ่งผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับในวันกิยามะฮ์ก็คือ เป็นเชื้อเพลิงให้กับไฟนรก
เมื่อพ่อแม่ได้เข้าใจแล้วว่า “ลูก” เป็นอะมานะฮ์ เป็นของฝาก เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบ พ่อแม่จะตระหนักได้ว่า ”ลูก”ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของพวกตน แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาผู้ทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะพระองค์ทรงประสงค์จะเอาพวกเขากลับคืนไปเมื่อไรก็ได้ โดยพ่อแม่ไม่สามารถยับยั้งได้เลย ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องอบรมเลี้ยงดูลูกโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ใช่เลี้ยงดูตามความพึงพอใจของตัวเอง แต่ต้องเลี้ยงพวกเขาให้อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา เลี้ยงพวกเขาให้เป็นผู้ศรัทธา เป็นมุสลิม เป็นมุอ์มิน เพราะพ่อแม่ต้องคืนอะมานะฮ์นี้แด่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ผู้ทรงเป็นเจ้าของของฝาก เป็นผู้ทรงมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบนี้แก่พ่อแม่
อัลฮะดีสในบันทึกของอิมามอบูดาวู๊ด และอิมามอัตติรมีซีย์ รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
أَدِّ الأَمَانَةََ إِلَى مَنِ ائْتَمَنَكَ وَلا تَخُنْ مَنْ خَانَكَ
“จงมอบอะมานะฮ์คืนแก่ผู้ที่ฝากท่าน อีกทั้งจงรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมาย และจงอย่าทุจริตต่อของฝากหรือหน้าที่นั้น”
เมื่อมีผู้นำของมาฝากท่านให้ดูแล ให้ถือเป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบที่ต้องดูแลของฝากนั้นอย่างดี เพื่อจะได้ส่งคืนของฝากนั้นให้อยู่ในสภาพเดิม เพราะถ้าของฝากไม่อยู่ในสภาพเดิม ก็ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ นี่คือ อะมานะฮ์
เมื่อพ่อแม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว ก็ต้องตระหนักด้วยว่า การที่ลูกจะได้รับทางนำนั้นอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พระองค์ทรงให้ทางนำแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ด้วยความกรุณาของพระองค์ และทรงให้หลงทางแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ด้วยความยุติธรรมของพระองค์ ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อัลเกาะศ็อศ อายะฮ์ที่ 56
إِنَّكَ لَا تَهۡدِي مَنۡ أَحۡبَبۡتَ وَلَٰكِنَّ ٱللَّهَ يَهۡدِي مَن يَشَآءُۚ وَهُوَ أَعۡلَمُ بِٱلۡمُهۡتَدِينَ
“แท้จริง เจ้าไม่สามารถชี้แนะทางนำที่ถูกต้องแก่ผู้ที่เจ้ารักได้ แต่อัลลอฮ์ทรงชี้แนะทางนำที่ถูกต้องแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงผู้ที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง”
พ่อแม่จึงต้องคอยขอดุอาอ์อยู่เสมอ ให้ลูกเป็นคนซอและห์และได้รับทางนำที่ถูกต้อง
رَبَّنَا هَبْ لَنَا مِنْ أَزْوَاجِنَا وَذُرِّيَّاتِنَا قُرَّةَ أَعْيُنٍ وَاجْعَلْنَا لِلْمُتَّقِينَ إِمَامًا
“โอ้พระเจ้าของเรา ขอพระองค์โปรดประทานแก่เราซึ่งคู่ครองและลูกหลานของเรา ให้เป็นที่ชื่นตาชื่นใจแก่สายตาของเรา และทรงทำให้เราเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ยำเกรง”
رَبّ ٱجْعَلْنِى مُقِيمَ ٱلصَّلوٰةِ وَمِن ذُرّيَتِى رَبَّنَا وَتَقَبَّلْ دُعَاء
“โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ โปรดให้ข้าพระองค์ และจากลูกหลานของข้าพระองค์เป็นผู้ดำรงละหมาด
โอ้พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ทรงตอบรับการวิงวอนขอด้วยเถิด”
พ่อแม่จะต้องระมัดระวังไม่พูดจาสาปแช่งลูก ไม่ว่าลูกในทางร้าย เพราะดุอาอ์ของพ่อแม่ที่ขอให้ลูกเป็นดุอาอ์มุสตะญาบ เป็นดุอาอ์ที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบรับ อัลฮะดีสในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านญาบิร บิน อับดิลลาฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัมกล่าวว่า
لَا تَدْعُوا عَلَى أَنْفُسِكُمْ، وَلَا تَدْعُوا عَلَى أَوْلَادِكُمْ، وَلَا تَدْعُوا عَلَى أَمْوَالِكُمْ، لَا تُوَافِقُوا مِنْ اللَّهِ سَاعَةً يُسْأَلُ فِيهَا عَطَاءٌ فَيَسْتَجِيبَ لَكُمْ
“พวกท่านอย่าขอดุอาอ์ที่ไม่ดีแก่ตัวเองและแก่ลูกๆของท่าน ทรัพย์สินของพวกท่าน อย่าให้ดุอาอ์(ที่ไม่ดี)นั้นตรงกับช่วงเวลาที่อัลลอฮ์ทรงตอบรับดุอาอ์ (เพราะสิ่งที่ไม่ดีจะประสบกับพวกท่านและพวกเขา)”
เมื่อพ่อแม่ได้ขอดุอาอ์อยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว พ่อแม่ก็จงมอบหมายความสำเร็จไปยังอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตาลา พร้อมทั้งยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดีก็ตาม
Tags: