การเลี้ยงลูกให้เป็น “ประชาชาติต้นแบบ” แบบอย่างท่านนบีมูฮัมหมัด
บทบาทหน้าที่หลักของผู้เป็นแม่นั้นคือ "สร้างประชาชาติที่ดี" อันเป็นหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่ท่าน นบีมูฮำหมัดได้พร่ำสอนไว้ เพราะผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิด มีความอดทน มีความรักที่บริสุทธิ์ และมีจิตใจที่อ่อนโยน ดังนั้นผู้หญิงจึงต้องเป็นเพศที่พร้อมจะสั่งสอนและตักเตือนลูกในหนทางที่ถูกต้องได้
อัสรา รัฐการัณฐ์ จบการศึกษาปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เป็นนักกิจกรรมที่มีอุดมการณ์อันแรงกล้า ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้อยู่ในครรลองที่ตรงกับคำสอนของอิสลาม ปัจจุบันเธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูก 4 คน ชาย 2 คน และหญิง 2 คน ซึ่งมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำหน้าที่ในการสร้างประชาชาติที่ดีให้กับลูก ๆ
เมื่อถามถึงปรัชญาและอุดมคติในการดำเนินชีวิตในหลักคำสอนอิสลามเธอเผยว่า ทุกวันนี้ก็ยังคงควานหาเส้นทางที่เที่ยงตรง แต่หลักสำคัญคือ ยึดมั่นที่แก่นแท้ของศาสนา โดยไม่มองกระพี้หรือรายละเอียด ของศาสนา เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่าง สายใหม่ สายเก่า นอกจากนั้นขอดุอาอ์ (ขอพร) ต่อพระองค์อัลลอฮให้ลูก เป็นแบบอย่างประชาชาติแห่งอิสลาม
จากประสบการณ์ของการเป็นภรรยาในครอบครัวที่มีภรรยาหลายคนของ "อัสรา" หรือ เรียกว่า poly gammy ทำให้เธอมีความเข้าใจหัวอกของผู้หญิงที่เป็นบทบาททั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะสภาพสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันที่มีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้สูญเสียส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่มีฐานะยากจน ทำให้พวกเขาอยู่ในภาวะที่ลำบาก อีกทั้งอยู่ในสถานการณ์ที่หวาดกลัวและหวาดระแวง สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับหลักการอิสลามที่ส่งเสริมให้ช่วยเหลือ หญิงหม้ายและเด็กกำพร้า
"ผู้หญิงที่ต้องพรากสามี โดยการถูกยิงหรือ ถูกระเบิด ในขณะที่มีชีวิตอยู่ด้วยกัน เป็นความรู้สึกที่ทรมานมาก ต่างกับผู้หญิง หรือ สามีภรรยา ที่ตัดสินใจหย่าด้วยตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้ฉันเข้าใจถึงสาเหตุที่พระองค์อัลลอฮให้ผู้ชายมีภรรยาหลายคน เพราะเป็นระบบที่เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันนี้" เธอบอกว่า การที่ผู้ชายเลือกที่จะมีภรรยาหลายคน คงไม่ใช่ลักษณะของการเพิ่มภาระ แต่ต้องเป็นลักษณะเพิ่มพูนรายได้ และต้องช่วยเหลือกัน
อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมลักษณะนี้ยังคงมีให้เห็นน้อยนัก เพราะ ความเห็นแก่ตัว ของคนในสังคม ด้วยระบบทุนนิยม บริโภคนิยม ทำให้ความต้องการวัตถุของผู้คนมีมากกว่าการเสียสละ ฉะนั้นหากสังคมมุสลิมเข้าใจปรัชญา ชีวิตการแต่งงานอย่างลึกซึ้ง และทั้งหญิงและชายเข้าใจบทบาทของการเป็นภรรยาและสามีที่ถูกต้อง สังคมก็จะสงบสุข
“หากหญิงและชายไม่เกี่ยงหน้าที่ของกันและกัน โดยไม่พูดว่า "ชายต้องอย่างนี้" หรือ "ผู้หญิงต้องอย่างนี้" แต่ต้องคิดว่า "เราจะช่วยกันอย่างไร?" เช่น เราจะนำเด็กกำพร้ามาเลี้ยงไหม หรือผู้หญิงจะเสียสละสามีที่เพียบพร้อมให้ไปแต่งงานกับหญิงโสดไหม หากทุกคนพร้อมเพรียงเสียสละ ช่วยเหลือสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็น "ญีฮาด" อย่างหนึ่งอันเป็นหลักเบื้องต้นที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรทำและแก้ไข เพราะจะส่งผลให้บ้านเมืองเราสามารถฝ่าฟันกับวิกฤติต่างๆ ได้”
อย่างไรก็ตามเธอสะท้อนสภาพที่เป็นจริงว่า สังคมที่กล่าวถึง คงต้องคาดหวังกับเด็กรุ่นใหม่ที่จะสามารถขับเคลื่อนสังคมที่พร้อมจะเสียสละ ซึ่งเริ่มจากสถาบันครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ต้องร่วมกันและตั้งใจสร้างประชาชาติให้มีคุณภาพ โดยพ่อแม่ต้องขยันอ่านหนังสือ และใฝ่หาความรู้ตลอด สำหรับเธอแล้วมองว่า การสอนลูกให้มีหลักศรัทธา (อากีดะห์) ที่เข้มแข็งคือจุดเริ่มต้นอันเป็นหลักสำคัญที่ต้องปลูกฝัง
ทุกๆ วันฉันจะสอดแทรกการ หลักศรัทธา (หลักอากีดะห์) อันเป็นหลักเบื้องต้นของอิสลามว่าโลกและ จักรวาลนี้อัลลอฮ์เป็นผู้สร้างและบริหารอยู่เพียงพระองค์เดียว สอนลูกให้รักพระองค์อัลลอฮ์ และให้ทำความดีทุกอย่างเพื่ออัลลอฮ์องค์เดียว หากลูกๆ เจ็บป่วยก็จะให้ลูกอ่านดุอาอ์ "อัลลอฮ์ทรงบำบัดรักษาฉันเมื่อฉันป่วย"
หลังจากนั้นจึงจะให้ไปหยิบยารับประทาน เพราะจะหายหรือไม่นั้นอยู่ที่อัลลอฮฺ นอกจากนั้นจะสอนให้ละหมาด โดยจะสอนว่า ละหมาดเพื่อให้อัลลอฮฺรัก ไม่ใช่หวังเพียงผลบุญ แต่พวกเขาละหมาดอาจยังไม่ครบ เพราะยังเด็ก และบอกเสมอว่า ละหมาด หรือถือศีลอด เพื่อให้อัลลอฮรัก และให้ขอบคุณความดีที่อัลลอฮฺมอบให้ หากลูกทำผิด หรือมีสิ่งผิดพลาดก็จะให้พวกเขาไตร่ตรอง หรือทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ว่าทำอะไรผิดหรือเปล่า” เธอยังเล่าอีกว่า
"หากลูกเจ็บป่วยก็จะบอกว่า นี่เป็นบททดสอบของอัลลอฮ์ หลายครั้งที่ลูกทะเลาะก็จะให้พวกเขารู้จักการให้อภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องสอนอย่างซ้ำๆ และย้ำอยู่เสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหลักศรัทธาที่ต้องหมั่นสอนให้ลูกได้ปฏิบัติตั้งแต่เด็กๆ"
"หลักศรัทธาต้องเข้มแข็งตั้งแต่เด็กๆ เพราะเป็นแก่นแท้ของศาสนา เมื่อโตแล้วก็จะไม่เพี้ยนและง่ายที่จะปฏิบัติคำสอนอื่นๆ" เธอเล่าประสบการณ์ของการเป็นแม่แห่งอิสลาม
นอกจากนี้เธอยังชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรม “ชายเป็นใหญ่” ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ตั้งแต่การเลี้ยงดู ที่เป็นลักษณะแบ่งแยกหน้าที่ที่ชัดเจน จนทำให้ผู้หญิงต้องทำงานหนัก ทั้งที่งานบางอย่างผู้ชายก็สามารถทำได้
"ฉันจะเน้นให้ลูกชาย เข้าใจหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง มีความรับผิดชอบ เสียสละ เพราะผู้ชายเป็นผู้นำของครอบครัว ผู้นำของชุมชนจนถึงระดับประเทศและโลก"
ในขณะเดียวกันต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีการศึกษาที่หลากหลาย เพราะผู้หญิงก็มีทักษะ ศักยภาพ และ ความสามารถเฉพาะ ไม่ใช่การเลี้ยงดูลูกเท่านั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงความคิดเห็นอย่างเช่น ครู นักเขียน ซึ่งที่ผ่านมาเธอเองก็รับงานเขียนบ้าง ทำงานวิจัยบ้าง โดยเธอจะเลือกงานที่เหมาะสม อย่างเช่นงานเขียนหนังสือ "ตากใบในอากาศ" เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับหญิงผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ และงานวิทยุ เป็นรายการเสียงหญิงหม้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้การศึกษาเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮส่งเสริมยิ่งนัก ดั่งที่อัลกุรอานอายะห์แรกที่พระองค์อัลลอฮประทานให้ท่านนบี คือ จงอ่าน ซึ่งเธอมองว่า คนในพื้นที่สามจังหวัดฯ จะเชื่อคนที่มีความรู้ทางด้านศาสนามากกว่าคนที่มีความรู้ทางด้านสามัญ เธอจึงคิดว่า เด็กรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้นำที่ดี ต้องมีความรู้ทั้งทางด้านศาสนาและสามัญควบคู่กัน เพื่อนำชุมชนได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังให้เด็กมีความรักต่อชุมชน และตั้งใจไปพัฒนาชุมชนของตนเอง ไม่ใช่ศึกษาเพื่อเสริมบารมีตัวเองเท่านั้น หากต้องนึกถึงพี่น้องร่วมสังคมที่รอคอยปัญญาชนกลับไปพัฒนาบ้านเกิด
"ต้องส่งเสริมเด็กให้เรียนทั้งศาสนาและสามัญควบคู่ อย่างจริงจัง หากจะให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ต้องสามารถสู้ถึงระดับโลกได้ หากจะเป็นนักการศาสนาก็ต้องจัดการและนำพาชุมชนได้ เพราะการศึกษาเท่านั้นที่จะสามารถเอาชนะ และต่อสู้กับ ความอธรรมได้ หมายความว่า เราต้องสนับสนุนให้มีการ ญีฮาด มุ่งมั่น หรืออาจพลีชีพ เพื่อเอาชนะทางความคิดให้จนได้"
วันนี้เราทุกคนคงต้องช่วยกันขอดุอาอ์ พร้อมกันสร้างและส่งเสริม ให้ประชาชาติรุ่นใหม่ มีหลักอากีดะห์ที่เข้มแข็ง มีการศึกษาทั้งศาสนาและสามัญอันเป็นที่พึ่งของสังคมได้ และต่อสู้ เสียสละเพื่อเอาชนะทางด้านความคิด
โดยศึกษาเล่าเรียนกับปัญหาต่างๆ อย่างจริงจังให้ได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถนำพาชุมชน ประเทศและโลกได้อย่างสงบสุข และปลอดภัย
Tags: