วิตามินเพื่อว่าที่คุณแม่ตั้งครรภ์
วิตามินเพื่อว่าที่คุณแม่
เมื่อตั้งใจว่าจะเป็น “คุณแม่” ผู้หญิงส่วนใหญ่จะดูแลสุขภาพเพื่อให้ลูกน้อยที่เกิดมาจากครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์ หนังสือ “อาหารบำบัดโรค” โดย คุณศัลยา คงสมบูรณ์เวช อธิบายสรุปไว้ว่า
ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อรู้ตัวว่าจะตั้งครรภ์ มักปรับพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพเพื่อให้ลูกเกิดมาสมบูรณ์ แต่ก็มีผู้หญิงบางส่วนมีปัญหาตั้งครรภ์ยาก ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความไม่สมดุลของร่างกาย เช่น อ้วนหรือผอมเกินไป
ผู้หญิงที่อ้วนเกินไปมักมีระดับฮอร์โมนโทรเจนสูง ทำให้รอบเดือนและการตกไข่ผิดปกติ ส่วนผู้หญิงที่ผอมเกินไปมักมีปริมาณเซลล์ไขมันต่ำ จึงมีระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำ ทำให้ไข่ตกยาก รอบเดือนผิดปกติเช่นกัน
ฉะนั้นต้องปรับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและกินอาหารให้ครบถ้วน
วิตามินธรรมชาติ สารอาหารที่ผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์ควรได้รับ ดังนี้
• กรดไลโนเลอิก เป็นกรดไขมันจำเป็น พบในดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง หากกินไม่เพียงพอต่อความต้องการจะทำให้ตั้งครรภ์ยาก แนะนำให้ใช้น้ำมันเหล่านี้ปรุงอาหารวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ก็จะช่วยให้ร่างกายได้รับกรดไลโนเลอิกเพียงพอ
• วิตามินซี พบในส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก แคนตาลูป สับปะรด มะเขือเทศ พริก บรอกโคลี การได้รับวิตามินซีในอาหารเพียงพอ จะทำให้ตั้งครรภ์ง่ายขึ้น
• วิตามินดีและแคลเซียม วิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญต่อสุขภาพกระดูก การขาดสารอาหารทั้งสองชนิดนี้มีผลให้กระดูกเชิงกรานไม่แข็งแรง โดยวิตามินดีได้จากการตากแดดอ่อนๆ ส่วนแคลเซียมพบในโยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย งา คะน้า ผักบุ้ง
• กรดโฟลิก มีความจำเป็นต่อการสร้างระบบประสาทของตัวอ่อนเมื่อตั้งครรภ์ การขาดกรดโฟลิกอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการทางสมองที่เรียกว่า สไปนาบิฟิดา (Spina Bifida) ซึ่งเป็นความบกพร่องแต่กำเนิด โดยที่ลำกระดูกสันหลังของตัวอ่อนไม่ปิดในเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทำให้การก่อตัวของระบบประสาทไม่สมบูรณ์ เด็กจะพิการแต่กำเนิด โดยกรดโฟลิกพบในผักใบเขียวจัด ถั่วต่างๆ ธัญพืชไม่ขัดสี ส้ม สตรอว์เบอร์รี่
นอกจากนี้ แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล เจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊กสุขภาพหลายเล่ม ยังแนะนำว่าที่คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กให้เพียงพอด้วย โดยธาตุเหล็กพบในหอยกาบ ลูกพีชแห้ง ธัญพืช หอยนางรม ข้าวโอ๊ต ถั่วต่างๆ
วิตามินเสริม
ส่วนการกินวิตามินเสริมในผู้หญิงที่กำลังเตรียมตัวตั้งครรภ์นั้น นายแพทย์ประมวล จารุตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชายด้านสูตินรีเวชวิทยา อธิบายว่า
“หากกินอาหารครบถ้วนแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริม ยกเว้นกรดโฟลิก ที่ต้องกินเสริมวันละ 300-400 ไมโคกรัม หรือตรวจพบว่ามีภาวะโลหิตจาง อาจเสริมธาตุเหล็กวันละ 10-15 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับภาวะของโรค”
ขอบคุณ : https://pregnancy.haijai.com/
Tags: