อธิบายความหมายซูเราะฮ์อัลอัศร์
อธิบายความหมายซูเราะฮ์อัลอัศร์
1. อัลอัศร์ ความหมายในทางภาษา แปลว่า กาลเวลา หรือ ยามสาย
2. ซูเราะฮ์อัลอัศร์ เป็นหนึ่งในซูเราะฮ์ประเภท มักกียะฮ์
3. ซูเราะฮ์อัลอัศร์ เป็นซูเราะฮ์ลำดับที่ 103 ในอัลกุรอาน
4. ซูเราะฮ์อัลอัศร์ มีทั้งหมด 3 อายะฮ์
ความสำคัญและความพิเศษของซูเราะฮ์อัลอัศร์
ท่านอิมามอัชชาฟิอีย์ได้กล่าวถึงความสำคัญและความพิเศษของซูเราะฮ์อัลอัศร์ไว้ว่า
"หากอัลลอฮ์ทรงประทานซูเราะฮ์นี้ลงมาเพียงแค่ซูเราะฮ์เดียวก็ถือว่าพอเพียงแล้ว"
วิเคราะห์คำพูดของท่านอิมามอัชชาฟิอีย์ในประเด็นนี้
ท่านอิมามอัชชาฟิอีย์กล่าวเช่นนั้นหมายถึงคำสอนในซูเราะฮ์นี้ประมวลไปด้วยพื้นฐานและรากฐานที่สำคัญของศาสนาไว้อย่างครบถ้วน
โดยอาศัยซูเราะห์อื่น ๆ ในอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัดในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับคำสอนของอิสลามอย่างละเอียด
ชัยค์อัลอุษัยมีนอธิบายว่า "คำว่าพอเพียง" หมายถึง ในด้านข้อคิดเตือนใจ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ซูเราะฮ์นี้เพียงซูเราะฮ์เดียวสามารถทดแทนซูเราะฮ์ที่เหลือทั้งหมดในอัลกุรอานหรือพอเพียงโดยไม่ต้องประทานซูเราะฮ์ที่เหลือมาให้แก่มวลมนุษย์
สรุปคำอธิบายเนื้อหาและสาระสำคัญในอายะห์ที่ 1
อายะฮ์ที่ 1 : "อัลลอฮ์ทรงสาบานกับกาลเวลา"
وَٱلۡعَصۡرِ
คำอ่าน: วัลอฺัศร์
ซึ่งตรงนี้มีสาระประโยชน์ต่าง ๆ ได้แก่
1. อัลลอฮ์ทรงมีสิทธิ์ที่จะสาบานกับสิ่งใดก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ส่วนสิ่งถูกสร้างทั้งหมดไม่สามารถสาบานกับสิ่งใดหรือผู้ใดได้นอกจากอัลลอฮ์เพียงองค์เดียว
2. ทุกสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงนำมาสาบานนั้นล้วนแต่มีเหตุผลอันเหมาะสมและดีงามทั้งสิ้น และเมื่อพระองค์ทรงสาบานกับสิ่งใดให้เราพยายามพิจารณาและใคร่ครวญในสิ่งนั้น
3. ระวังการใช้สำนวนว่า "ขอสาบานด้วย..."
เพราะอัลลอฮ์ทรงยิ่งใหญ่เหนือทุกสรรพสิ่ง พระองค์ไม่ต้องขอใครหรือสิ่งใดในการสาบาน
4. คุณค่าและความสำคัญของกาลเวลาได้แก่
- เวลา คือ สิ่งที่ใช้ในการแสวงหาความดีงามเพื่อให้อัลลอฮ์ทรงพอพระทัย
- เวลา คือ อายุขัยของมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ทุกวินาทีที่ผ่านไปคืออายุขัยที่หมดลง
- เวลา คือ หนึ่งในสองสิ่งที่มีค่าแต่ผู้คนส่วนมากละเลยและไม่ใส่ใจ
สรุปคำอธิบายเนื้อหาและสาระสำคัญในอายะห์ที่ 2
อายะฮ์ที่ 2 : "แท้จริงมนุษย์นั้นตกอยู่ในความขาดทุน"
إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ
คำอ่าน: อินนัล อินสานะ ละฟี คุสร์
ซึ่งสาเหตุต่างที่ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในความขาดทุนนั้น ได้แก่
1. การใช้เวลาหมดไปกับสิ่งที่ทำให้ชีวิตขาดทุนได้แก่ สิ่งต้องห้าม สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง และสิ่งที่อนุญาตทั้งหลายที่ทำแล้วไม่ได้ผลบุญตอบแทน
2. วิธีทำให้สิ่งอนุญาตต่าง ๆ กลายเป็นสิ่งทำแล้วได้ผลบุญ คือการตั้งเจตนาให้ถูกต้อง เช่น การอาบน้ำทั่วไปโดยปกติเป็นสิ่งที่อนุญาต แต่เมื่อเจตนาเพื่อให้ร่างกายสะอาดจะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบีที่ให้ความสำคัญกับความสะอาด ก็จะทำให้การอาบน้ำนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับผลบุญตอบแทนจากการตั้งเจตนา ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน
สรุปคำอธิบายเนื้อหาและสาระสำคัญในอายะฮ์ที่ 3
อายะฮ์ที่ 3 : "นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน"
إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ
คำอ่าน: อิลลัล ละซีนะ อามะนู วะอฺะมิลุศ ศอลิฮาติ วะตะวาเศอ์า บิลฮักฺกฺิ วะตะวาเศอ์า บิศศ็อบร์
คุณลักษณะทั้ง 4 ของบรรดาผู้ที่รอดพ้นจากความขาดทุน ได้แก่
1. ความศรัทธา ที่มาจากการมีหลักความเชื่อและการมีความรู้ที่ถูกต้อง เพราะความรู้ คือสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การมีความศรัทธาอย่างถูกต้อง
2. การปฏิบัติความดีงาม โดยความดีที่ปฏิบัตินั้นจะต้องกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและตรงตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด
3. การแนะนำสั่งใช้กันในสิ่งที่เป็นสัจธรรมความจริง ก็คือหลักคำสอนศาสนาอิสลาม ได้แก่ การแนะนำสั่งใช้กันให้ทำความดีและยับยั้งห้ามปรามกันให้ออกห่างจากความชั่ว
4. การแนะนำสั่งใช้กันมีความอดทนทั้งสามประเภทซึ่งรวมถึงการอดทนต่อภยันตรายต่าง ๆ ในทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในขณะที่เผยแผ่อิสลามหรือในเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ความอีมานศรัทธาที่ถูกต้องตามแนวทางซุนนะฮ์
1. เพิ่มขึ้นด้วยการทำความดีเชื่อฟังอัลลอฮ์
2. ลดลงด้วยการทำสิ่งฝ่าฝืนอัลลอฮ์
3. มีทั้งหมด 70 กว่าแขนง ขั้นสูงสุดคือ คำกล่าวว่า ลาอิลาฮะ อิ้ลลั้ลลอฮ์ ขั้นต่ำสุดคือ การขจัดสิ่งที่เป็นอัตรายออกจากถนนสัญจร
ความอีมานศรัทธาที่ถูกต้องตามแนวทางซุนนะฮ์ มีทั้งหมด 6 องค์ประกอบหลัก คือ
1. ความศรัทธาต่ออัลลอฮ์
2. ความศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์ของอัลลอฮ์
3. ความศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮ์
4. ความศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูตของอัลลอฮ์
5. ความศรัทธาต่อวันสุดท้าย(วันกิยามะฮ์)
6. ความศรัทธาต่อการกำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮ์ทั้งในเรื่องที่ดีและไม่ดี
เงื่อนไขของการงานที่ถูกต้องและถูกตอบรับ
1. การงานนั้นจะต้องปฏิบัติด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ์ (อัลอิคลาศ)
2. การงานนั้นจะต้องปฏิบัติตามแบบอย่างและแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด(อัลมุตาบะอะฮ์)
ความอดทนมี 3 ประเภท คือ
1. ความอดทนในการทำความดี และเชื่อฟังอัลลอฮ์
2. ความอดทนในการละทิ้งความชั่วและไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮ์
3. ความอดทนต่อบททดสอบในชีวิตที่ยากลำบาก
ท่านอิมามอิบนุ้ลก็อยยิมได้กล่าวว่า การต่อสู้กับจิตใจของตนเองแบ่งออกเป็น 4 ระดับขั้น คือ
1. ต่อสู้กับจิตใจตนเองในการพยายามศึกษาเรียนรู้อิสลาม เพราะความรู้ศาสนา คือหนทางแห่งความสำเร็จและความสุขทั้งในโลกนี้และหน้า
2. ต่อสู้กับจิตใจของตนเองในการปฏิบัติตามความรู้ที่ได้เรียนมา
3. ต่อสู้กับจิตใจตนเองในการนำความรู้ที่เรียนมาไปเผยแผ่แก่ผู้อื่น
4. ต่อสู้กับจิตใจตนเองในการมีความอดทนต่อภยันตรายต่างๆที่เกิดขึ้นในการเผยแผ่ความรู้อิสลาม โดยมุ่งหวังความพอพระทัยของอัลลอฮ์
อธิบายความหมายโดยรวมของซูเราะฮ์อัลอัศร์
ซูเราะฮ์อัลอัศร์ได้แจ้งให้เราทราบว่ามนุษย์ทั้งหมดนั้นล้วนตกอยู่ในความขาดทุน นอกจากผู้ที่มีคุณลักษณะ 4 ประการตามที่ซูเราะฮ์นี้ได้บอกไว้ คือ
1. ความศรัทธาต่ออัลลอฮ์
2. การทำความดีงาม
3. การตักเตือนกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม
4. การตักเตือนกันให้มีความอดทน
ประโยชน์ที่ได้รับจากซูเราะฮ์อัลอัศร์
1. มุสลิมจำเป็นจะต้องสาบานต่ออัลลอฮ์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ห้ามสาบานกับสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากอัลลอฮ์ ส่วนอัลลอฮ์สามารถสาบานกับสิ่งใดก็ได้ เพราะถูกสรรพสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงสาบานนั้นคือสิ่งถูกสร้างของพระองค์
2. แจ้งให้ทราบว่ามนุษย์ทุกคนโดยพื้นฐานนั้นล้วนตกอยู่ในความขาดทุน นอกจากผู้ที่มีคุณลักษณะ 4 ประการตามที่ซูเราะฮ์นี้ได้บอกให้ทราบ
3. ความสำคัญของซูเราะฮ์อัลอัศร์ที่ประมวลไว้ด้วยหนทางรอดพ้นจากความขาดทุน และเป็นสุดยอดข้อคิดเตือนใจที่เพียงพอสำหรับมนุษย์ในโลกนี้ที่ปฏิบัติตาม
4. การปฏิบัติการงานถือเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา มิใช่แยกจากกันดังที่กลุ่มมุรญิอะฮ์อัลฟุก่อฮาอ์เชื่อ
สรุปโดย อ.ยะห์ยา หัสการบัญชา
บทความที่น่าสนใจ
Tags: