ดุอาอ์ที่สุดแห่งการขออภัยโทษ
اللَّهُمَّ أَنْتَ رَبِّي لَا إِلَهَ إِلَّا أَنْتَ، خَلَقْتَنِي وَأَنَا عَبْدُكَ، وَأَنَا عَلَى عَهْدِكَ وَوَعْدِكَ مَا اسْتَطَعْتُ، أَعُوْذُ بِكَ مِنْ شَرِّ مَا صَنَعْتُ، أَبُوْءُ لَكَ بِنِعْمَتِكَ عَلَيَّ، وَأَبُوْءُ لَكَ بِذَنْبِي فَاغْفِرْ لِي، فَإِنَّهُ لَا يَغْفِرُ الذُّنُوْبَ إِلَّا أَنْتَ
คำอ่าน: อัลลอฮุมม่ะ อันตะ ร็อบบี ลาอิลาฮะ อิลลา อันตะ เคาะลักตะนี ว่ะอะน่ะอับดุกะ ว่ะอะน่ะ อะลา อะฮ์ดิกะ ว่ะวะอ์ดิกะ มัสตะเฎาะอ์ตุ อะอูซุบิกะ มิรชัรริ มาเศาะนะอ์ตุ อะบูอุละกะ บินิอ์มะติกะ อะลัยย่ะ ว่ะอะบู อุละกะ บิซัมบี ฟัฆฟิรลี ฟ่ะอินน่ะฮู ลายัฆฟิรุช ซุนูบะ อิลลา อันตะ
คำแปล: “โอ้อัลลอฮ์ พระองค์คือผู้อภิบาลของฉัน ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากพระองค์ พระองค์สร้างฉันมาและฉันเป็นบ่าวของพระองค์ และฉันอยู่กับคำมั่นและสัญญาของพระองค์เท่าที่ฉันสามารถ
“ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากความชั่วร้ายที่ ฉันทำขึ้น ฉันยอมรับต่อพระองค์ถึงความโปรดปรานของพระองค์ ที่มีต่อฉัน และฉันยอมรับต่อพระองค์ถึงความผิดของฉัน ดังนั้น โปรดอภัยโทษแก่ฉันด้วยเถิด เพราะแท้จริงไม่มีใครจะอภัยโทษใน ความผิดบาปต่างๆ ได้นอกจากพระองค์”
ที่มา:
จากชัดด๊าด อิบนุเอาส์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : “นายแห่งการขออภัยโทษคือ การที่ท่านกล่าวดุอาอ์บทนี้” โดยท่านนบีกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “ใครที่ กล่าวมันช่วงเช้าด้วยความเชื่อมั่นในเนื้อหานั้น แล้วเขาเสียชีวิตลงก่อนจะ ถึงเวลาเย็น เขาจะได้เป็นชาวสวรรค์ และใครที่กล่าวมันในช่วงกลางคืน ด้วยความเชื่อมั่นในเนื้อหานั้น แล้วเขาเสียชีวิตลงก่อนจะถึงเวลาเข้าเขาจะ ได้เป็นชาวสวรรค์” (บันทึกโดยบุคอรีย์ หมายเลข 6306)
บทเรียน:
1. ที่ดุอาอ์นี้ถูกเรียกว่า “นายแห่งการขออภัยโทษ” เนื่องจากเป็นบทดุอาอ์ที่มีความหมายครอบคลุมถึงการสำนึกผิดและการขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์อย่างครอบคลุมและลึกซึ้ง ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการยิ่งดังที่นักวิชาการอิสลามได้กล่าวไว้
2. การยืนยันว่าอัลลอฮ์เป็นเจ้าของชีวิต เป็นผู้บริหารชีวิต และ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ก่อนการขออภัยโทษ เท่ากับการยอมรับว่าไม่มีใครสามารถให้อภัยโทษกับเราได้นอกจากอัลลอฮ์ ลักษณะเช่นนี้เป็นสำนวนดุอาอ์ที่นบียูนุส อะลัยฮิสสลาม เคยใช้ขออภัยโทษต่อพระองค์เช่นกัน “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ แท้จริงฉันเป็นคนหนึ่งในผู้อธรรม(ต่อตัวเอง)” (ดู ซูเราะฮ์ อัลอัมบิยาอ์ อายะฮ์ที่ 87)
3. ความผิดที่บ่าวทำเป็นเรื่องระหว่างอัลลอฮ์ผู้สร้างชีวิตเรามา และตัวเราผู้เป็นบ่าวของพระองค์ ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้เปิดเผยความผิดบาปของตัวเองให้ผู้อื่นรับรู้ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ประชาชาติของฉันทั้งหมดได้รับการอภัยเว้นแต่พวกที่ชอบ เปิดเผย และส่วนหนึ่งจากการเปิดเผยคือ การที่คนหนึ่งทำความผิดใน เวลากลางคืน พอรุ่งเช้า ขณะที่อัลลอฮ์ได้ปกปิดความผิดของเขาไว้ แต่เขากลับกล่าวว่า : “นี่นาย (เอ่ยชื่อเพื่อน) เมื่อวานฉันไปทำแบบนั้นแบบนี้มา เขาทำผิดในยามค่ำคืนโดยพระเจ้าของเขาได้ปกปิดความผิดของเขาไว้ แต่พอรุ่งเช้าเขากลับเปิดเผยความลับของอัลลอฮ์ที่ปกปิดความผิดให้ตัวเขาเอง” (บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
4. หนึ่งในสัญญาที่มนุษย์เคยทำไว้กับอัลลอฮ์ ตะอาลา คือ การยอมรับว่าอัลลอฮ์เป็นพระเจ้าของพวกเขา เป็นการสัญญาว่าจะไม่สักการะต่อใครนอกจากพระองค์
“และจงรำลึกขณะที่พระเจ้าของเจ้าได้นำเอาลูกหลานของอาดัมออกมาจากหลังของพวกเขา และให้พวกเขาเป็นพยานแก่ตัวพวกเขาเอง (ด้วยการตอบคำถามที่ว่า) ข้ามิใช่พระเจ้าของพวกเจ้า ดอกหรือ? พวกเขากล่าวว่า ใช่ขอรับ พวกเราขอยืนยัน” (ดู ซูเราะฮ์ อัลอะอ์รอฟ อายะฮ์ที่ 172)
โดยเฉพาะการอย่าได้สักการะต่อชัยฏอนผู้เป็นศัตรู ดังที่พระองค์ เคยทวงสัญญาดังกล่าวกับลูกหลานอาดัมเอาไว้ว่า
“ข้ามิได้ทำสัญญากับพวกเจ้าดอกหรือ? โอ้ลูกหลานอาดัม เอ๋ย ว่าพวกเจ้าอย่าได้สักการะต่อชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้ง สำหรับพวกเจ้า และจงสักการะต่อข้า นี่คือหนทางอันเที่ยงตรง” (ดู ซูเราะฮ์ยาซีน อายะฮ์ที่ 60-61)
5. อัลลอฮ์ ตะอาลา จะไม่บังคับชีวิตใดนอกจากเท่าที่ชีวิตนั้นมีความสามารถ (ดู ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 286)
ด้วยเหตุนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงตำหนิผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามทำอิบาดะฮ์แบบเกินความสามารถของตัวเอง ว่า “อะไรกัน, พวกท่านจงทำเท่าที่พวกท่านสามารถ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า อัลลอฮ์จะไม่เบื่อหน่ายจนกว่าพวกท่านจะเบื่อหน่ายเอง และการงานศาสนาอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์คือ การที่ผู้ปฏิบัติได้ ทำมันอย่างต่อเนื่อง” (บันทึกโดยบุคอรีย์)
6. ความชั่วที่เราจำเป็นต้องออกห่างและขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์มากที่สุดคือ ความชั่วที่มาจากตัวเรา เพราะเป็นความชั่วที่เราเองต้องรับผิดชอบ เรื่องนี้หลายคนละเลย เพราะมัวแต่ไปดูความผิดพลาด และความชั่วของคนอื่น จนไม่ทันที่จะหันกลับมาพิจารณาตัวเอง (ดู ซูเราะฮ์อัซซุมัร อายะฮ์ที่ 7)
7. ทุกวันที่ตื่นนอนขึ้นมาทุกเช้าที่ดวงอาทิตย์ขึ้น เราต่างมี 2 ภารกิจสำคัญยิ่งที่ต้องปฏิบัติ นั่นคือ
7.1 ขอบคุณต่อความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ประทานให้อย่างมากมายชนิดคำนวณนับไม่ได้
7.2 สำนึกผิดในความผิดพลาดและความบกพร่องที่เกิดขึ้นในขณะดำเนินชีวิต ซึ่งจะไม่มีใครอภัยโทษให้ได้นอกจาก อัลลอฮ์ ตะอาลา เท่านั้น
8. ความดีงามและความเมตตาทั้งหมดมาจากอัลลอฮ์ ส่วนความชั่วร้ายจะไม่ถูกพาดพิงกลับไปยังพระองค์ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “และความดีทั้งมวลนั้นอยู่ในสองพระหัตถ์ ของพระองค์ ส่วนความชั่วนั้นจะไม่ถูกอ้างกลับไปยังพระองค์” (บันทึก โดยมุสลิม)
9. หากเราตระหนักถึงความโปรดปรานของอัลลอฮ์ที่มีต่อเราอย่างมากมายแล้ว ย่อมเป็นการยากที่เราจะเปลี่ยนเอาความโปรดปรานที่ได้รับเป็น “การเนรคุณ” ดังที่อัลลอฮ์ ตะอาลา สำทับไว้ความว่า “เจ้ามิเห็นดอกหรือบรรดาผู้ที่เปลี่ยนความโปรดปรานของอัลลอฮ์เป็นการ เนรคุณ และได้นำกลุ่มชนของพวกเขาสู่ที่พำนักอันเลวร้าย นั่นคือนรก ญะฮันนัม” (ดู ซูเราะฮ์อิบรอฮีม อายะฮ์ที่ 28-29)
ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็มิอาจรอดพ้นจากความผิดพลาด หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่า ความโปรดปรานของอัลลอฮ์ที่มีให้กับเรานั้น ไม่มีที่สิ้นสุด แม้ขณะที่กำลังฝ่าฝืนพระองค์ก็ยังได้รับความโปรดปราน และยิ่งตอนที่กำลังขอบคุณก็เท่ากับยิ่งได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ ที่ช่วยให้เราได้เป็นผู้ที่ขอบคุณ จึงสมแล้วที่อัลลอฮ์ ตะอาลา จะกล่าวไว้ ใน 2 อายะฮ์ที่มีเนื้อหาเดียวกัน โดยพูดถึงความโปรดปรานของอัลลอฮ์ที่ไม่สิ้นสุด
อายะฮ์แรก ในซูเราะฮ์อิบรอฮีม อายะฮ์ที่ 34 ความว่า “และ หากพวกเจ้าจะนับความโปรดปรานของอัลลอฮ์แล้ว พวกเจ้าก็จะไม่สามารถคำนวณนับมันได้ แท้จริงมนุษย์นั้นเป็นผู้อธรรมเป็นผู้เนรคุณ”
อายะฮ์ที่สอง ในซูเราะฮ์อันนะห์ลุ อายะฮ์ที่ 18 ความว่า “และ หากพวกเจ้าจะนับความโปรดปรานของอัลลอฮ์แล้ว พวกเจ้าก็จะไม่สามารถคำนวณนับมันได้ แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้อภัยอย่างมากเป็น ผู้เมตตาเสมอ”
ในรายละเอียดของอายะฮ์แรกชี้ถึงความบกพร่องของมนุษย์ และ อีกอายะฮ์มาอธิบายถึงลักษณะอันสูงส่งของพระองค์ที่มนุษย์ผู้อธรรม ผู้เนรคุณล้วนต้องการได้รับการอภัยอย่างมากและความเมตตาจากพระองค์เสมอ
10. ในแง่หนึ่ง “ความผิดบาป” นับเป็นความชั่วร้ายที่บ่าวได้ ทำลงไป แต่อีกแง่หนึ่งคือความดีงามที่บ่าวจะได้สำนึกผิด เห็นถึงความ อ่อนแอของตัวเอง ขณะเดียวกันก็เห็นถึงการอภัยโทษและความเมตตาของอัลลอฮ์ ตะอาลา นี่เป็นฮิกมะฮ์ที่ชัดเจนของการที่มนุษย์มีโอกาส
ผิดพลาด ดังนั้นผู้ศรัทธาจึงต้องรู้จักฉกฉวยโอกาสจากการทำผิดของ ตัวเองเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าหาอัลลอฮ์ผู้อภัยโทษอย่างมากผู้เมตตาเสมอ
11. แม้การขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์จะนับเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่มากแล้ว แต่การยืนยันว่าไม่มีใครสามารถอภัยโทษในความผิดบาปได้นอกจากพระองค์ยิ่งงดงาม เพราะเป็นการรวมเอาไว้ทั้ง “การขออภัยโทษ” และ “การให้เอกภาพ” ต่ออัลลอฮ์ ตะอาลา
12. ผู้ยำเกรงอัลลอฮ์ หรือ บุคคลที่จะเป็นชาวสวรรค์ หาใช่ผู้ที่ไม่ทำความผิดโดยสิ้นเชิง บางครั้งหรือหลายครั้งพวกเขาอาจทำ ความผิด แต่พวกเขาไม่ลืมที่จะรำลึกถึงอัลลอฮ์และขออภัยโทษต่อพระองค์ ดังที่อัลลอฮ์ ตะอาลา กล่าวถึงลักษณะหนึ่งของผู้ยำเกรงพระองค์ ซึ่งถูกสัญญาว่าจะได้รับสวนสวรรค์เป็นการตอบแทนว่า “และเมื่อพวกเขาทำสิ่งลามกหรืออธรรมต่อตัวเอง พวกเขาจะรำลึกถึงอัลลอฮ์ แล้วขออภัยโทษในความผิดบาปของตน และใครเล่าจะอภัยโทษในความผิดบาปได้นอกจากอัลลอฮ์ โดยพวกเขาไม่ยืนกรานในสิ่งที่พวกเขา กระทำทั้งที่พวกเขารู้, คนเหล่านี้ พวกเขาจะได้รับการตอบแทนด้วย การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเขาและได้รับสวนสวรรค์หลากหลาย ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน โดยพวกเขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล” (ดู ซูเราะฮ์อาละอิมรอน อายะฮ์ที่ 135-136)
บทความที่น่าสนใจ
- เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ การละหมาดอิซติคอเราะฮ์
- ดุอาอ์แสดงการสำนึกผิดบาปและขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์
- แม่บท แห่งการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร)
- ดุอาอ์ขอไม่ให้จิตใจหันเหออกจากทางนำ
- การโอ้อวดทุกชนิดคือบาปใหญ่ในอิสลาม
- ดุอาอ์ขอให้ได้เข้าสวรรค์ทั้งครอบครัว
- ชีวิตไม่ดีเพราะไม่ได้ละหมาดให้ดี
- การละหมาดดุฮา คุณค่าและวิธีการละหมาดดุฮา ริสกีมีไม่สิ้นสุด
- การขอดุอาหลังละหมาด 5 เวลา (ขอพร)
Tags: