ศอ.บต. มึน!! ชาวบ้าน-ผู้นำศาสนา “โหวตเอกฉันท์” ยกเลิกสัญญาโครงการมัสยิด 300 ปี
ผู้นำศาสนากว่า 70 คน ประชาชนชาว อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ หรือ "มัสยิด 300 ปี" อ.บาเจาะ ช่วงปลายเดือน พ.ย.60 ที่ผ่านมา
การประชุมครั้งนี้เป็นหนึ่งใน "เวทีประชาคม" ที่หน่วยงานภาครัฐร่วมกันจัดขึ้น เพื่อฟังเสียงพี่น้องประชาชนต่อโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ โดยมี ว่าที่ ร.ต.จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ และ นายอารี ดิเรกกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกันเป็นประธาน
โครงการนี้ตั้งงบประมาณเอาไว้ทั้งสิ้น 200 ล้านบาท เป็นงบผูกพันหลายปีงบประมาณ และ ศอ.บต.ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างเอกชนเข้าดำเนินการ เมื่อเดือน ก.พ.59 สิ้นสุดสัญญาปี 62 งบประมาณเฉพาะในส่วนนี้ 149,830,000 บาท ที่ผ่านมามีกระแสคัดค้านมาตลอด โดยเฉพาะจากชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ เพราะมองว่าการดำเนินโครงการของ ศอ.บต.ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้นำศาสนาและภาคประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ผู้บริหาร ศอ.บต.ยืนยันว่าได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมมากพอแล้ว
แต่โครงการนี้มาสะดุด เมื่อ "ทีมข่าวอิศรา" เปิดเผยข้อมูลว่า เอกชนผู้รับงานเป็น "กิจการร่วมค้า" ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 2 ราย รายหนึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) อีกรายเป็นบริษัทจำกัด แต่ภายหลังทำสัญญาจ้างได้ไม่นาน กลับมีข้อมูลว่าผู้ประกอบการ 1 ใน 2 รายถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งหมายถึงถูกฟ้องล้มละลาย ทำให้โครงการนี้เป็น 1 ใน 4 โครงการที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และผลสรุปของคณะกรรมการฯ ชี้ชัดว่าโครงการนี้ไปต่อไม่ได้ เห็นควรให้ยกเลิกสัญญา
แต่ที่ผ่านมา ศอ.บต.ไม่กล้ายกเลิกสัญญา เนื่องจากกลัวเอกชนผู้รับจ้างฟ้องร้อง และหากจะต้องยกเลิกสัญญา ก็อาจต้องจ่ายเยียวยาเอกชนรายเดิม เนื่องจากได้ทำงานตามสัญญาไปหลายงวดงานแล้ว
เหตุนี้เอง ศอ.บต.และตัวแทนจาก "ครม.ส่วนหน้า" หรือ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่รัฐบาลตั้งขึ้น จึงได้จัด "เวทีประชาคม" ขึ้นมา เพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่ อ.บาเจาะ ในฐานะเจ้าของร่วมในโบราณสถานมัสยิด 300 ปี
ผลจากการซาวเสียงผู้เข้าร่วมเวทีประชาคม ซึ่งมีทั้งผู้นำศาสนา ชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ และประชาชนในพื้นที่ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศอ.บต.ยกเลิกสัญญากับ "กิจการร่วมค้า" ที่รับจ้างทำงานนี้ และเดินหน้าประกวดราคาใหม่ต่อไป
ขณะเดียวกัน นายแวสะมะแอ แลแตบาตู ประธานชมรมอิหม่ามประจำมัสยิด อ.บาเจาะ ได้ชี้แจงข้อสงสัยหลายประเด็นต่อที่ประชุม สรุปความได้ว่า
1.การสนับสนุนให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เป็นผู้ดำเนินโครงการนี้เอง ก็เพื่อให้ความสำคัญกับคุณค่าทางศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะของมัสยิด 300 ปี และคำนึงถึงความต้องการและผลกระทบต่อพื้นที่มัสยิดและชุมชนโดยรอบ กระบวนการการมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสมั่นใจว่าทำได้ดีกว่า แต่สุดท้าย ศอ.บต.ไปดำเนินการจัดจ้างเอง โดยจ้างเอกชนจากนอกพื้นที่เข้าดำเนินการ
2.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เข้าใจมาตลอดว่าตามระเบียบราชการแล้ว ศอ.บต.ไม่สามารถโอนเงินงบประมาณให้ทางชมรมอิหม่ามฯ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฯ ดำเนินโครงการได้ แต่ความต้องการที่แท้จริงของทางชมรมอิหม่ามฯ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฯ ก็คือขออำนาจแต่งตั้งกรรมการด้านต่างๆ เข้าไปพิจารณารายละเอียดการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ตลอดจนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนตัวเงินงบประมาณจะยังคงอยู่ที่ ศอ.บต. ทำให้ชมรมอิหม่ามฯ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฯ มองว่าเป็นความยากลำบากที่จะร่วมงานกัน จึงขอถอนตัวจากโครงการ
3.ชมรมอิหม่ามฯ ไม่เคยหวังผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งที่หวังมีเพียงอย่างเดียวคือต้องการงานที่ดี มีการดำเนินการที่ละเอียด รัดกุม รอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบกับพื้นที่มัสยิดและความต้องการของประชาชน
4.ชมรมฯอิหม่ามไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ทำโครงการให้ ศอ.บต. และคัดค้านกระบวนการจัดจ้างมาโดยตลอด
หลังจากนี้คงต้องรอดูว่า ศอ.บต.จะถอดสลักปัญหาโครงการมัสยิด 300 ปีนี้อย่างไร?
ที่มา: isranews.org
Tags: