ทำไมการรับรอง“เยรูซาเลม”เป็นเมืองหลวงอิสราเอลจึงเป็นเรื่องใหญ่?
ข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา สังกัดกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า กรุงเทลอาวีฟ เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ขณะที่รัฐบาลอิสราเอลประกาศว่ากรุงเยรูซาเลมคือเมืองหลวงของประเทศ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติก็ตาม และถ้าหากว่านายทรัมป์ประกาศรับรองว่ากรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลจริง ก็อาจทำให้เกิดความไม่พอใจและแรงต่อต้านจากกลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางได้ แม้แต่อดีตที่ปรึกษาด้านตะวันออกกลางของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ออกมาเตือนเช่นกันว่า การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้สหรัฐฯ ไม่สามารถผลักดันการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางให้สำเร็จลุล่วงไปได้
สำนักข่าวรอยเตอร์และเว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ รายงานอ้างอิง นายจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของนายทรัมป์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานาธิบดี ระบุว่านายทรัมป์กำลังพิจารณาเรื่องการรับรองสถานะของเยรูซาเลมอยู่ แต่ไม่มีใครรู้ว่านายทรัมป์จะตัดสินใจอย่างไรแน่ เขาอาจจะไม่ได้ประกาศรับรองเยรูซาเล็มในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอลก็ได้
สาเหตุที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่ เป็นเพราะคำสั่งเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอล ซึ่งมีผลตั้งแตปี 1995 (พ.ศ.2538) และต้องต่อเวลาทุก 6 เดือน เพิ่งหมดอายุลงในวันนี้ (4 ธันวาคม) ขณะที่นายทรัมป์เคยหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วว่าเขาจะสั่งย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเล็มให้ได้ ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่านายทรัมป์อาจต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เป็นไปตามคำสัญญาที่เคยหาเสียงไว้ หรือในกรณีที่เขาไม่สามารถย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปยังกรุงเยรูซาเลมได้ เพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐทักท้วง ก็อาจต้องประกาศยอมรับกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลแทน เพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล
กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองสำคัญที่มีความเก่าแก่และเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งต่างฝ่ายต่างระบุว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของทั้ง 2 รัฐ โดยอ้างอิงถึงสถานที่สำคัญของศาสนายูดายและศาสนาอิสลามที่ตั้งอยู่ในเขตเยรูซาเลมทั้งคู่ ขณะที่กฎหมายว่าด้วยการตั้งสถานทูตของสหรัฐฯ จะต้องตั้งในเมืองหลวงของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ถ้ามีการตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอลในกรุงเยรูซาเลมจะถูกโยงเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศทันที เพราะจะเท่ากับว่าสหรัฐฯ เลือกข้างอิสราเอลอย่างชัดเจน และจะทำให้การเจรจาต่อรองยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่มีวันสำเร็จได้ เพราะกลุ่มสันนิบาตชาติอาหรับและปาเลสไตน์จะไม่ยินยอมการรับรองของสหรัฐฯ อย่างแน่นอน
นายทรัมป์ไม่ใช่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่คิดจะย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลม โดยผู้ที่เคยผลักดันแนวคิดนี้มาก่อนคือนายจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช และนายบิล คลินตัน แต่อดีตผู้นำทั้งสองคนก็ยกเลิกแนวคิดดังกล่าวไป และมีคำสั่งเลื่อนบังคับใช้กฎหมายการตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอลแทน ซึ่งในสมัยของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้ ก็ใช้วิธีลงนามในคำสั่งเลื่อนบังคับใช้กฎหมายทุกๆ 6 เดือน และนักวิเคราะห์ก็ประเมินว่านายทรัมป์จะทำแบบเดียวกันนี้ แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องประกาศรับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงอิสราเอล เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลของเขาประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศตามที่หาเสียงไว้
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์แห่งจอร์แดน นายมาห์มุด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ และนายจอห์น แคร์รี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ต่างออกมาเตือนนายทรัมป์ว่าหากตัดสินใจประกาศรับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอลจริง สหรัฐฯ จะต้องเจอกับผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง
ด้านนายอาร์รอน เดวิด มิลเลอร์ ที่ปรึกษาด้านการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางของสหรัฐฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทั้งในสมัยรัฐบาลพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต แย้งเหตุผลของนายทรัมป์ที่ระบุว่าการประกาศรับรองกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลจะช่วยให้สหรัฐฯ มีสถานะที่มั่นคงในการต่อสู้กับอิหร่านและกลุ่มติดอาวุธไอเอส เป็นเหตุผลที่ไม่หนักแน่น เพราะผลที่ตามมาจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ยิ่งสหรัฐฯ เข้าข้างอิสราเอลมากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้กลุ่มชาวมุสลิมและกลุ่มติดอาวุธที่มีแนวคิดสุดโต่ง แสดงความต่อต้านมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าตัว
ที่มา: VoiceTV
Tags: