มีเฮ! ประกันสังคมเพิ่ม “เงินบำนาญ 5 พันบาทต่อเดือน” ปรับเงินสมทบ มีระบบดูแลคนแก่ระยะยาว
ประกันสังคมฟังความเห็นครั้งสุดท้าย “ขยายอายุรับเงินบำนาญ-เพิ่มเพดานเงินสมทบ” ก่อนเดินหน้าต่อ ผู้เชี่ยวชาญชี้มีข้อเสนอ สปส.ควรมีระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวแบบต่างประเทศ ด้านสภาองค์กรลูกจ้างเห็นด้วยขยายอายุรับเงิน-ปรับเพิ่มเงินสมทบ เป็นประโยชน์ระยะยาว ชี้บำนาญควรได้รับเดือนละ 5,000 บาท
จากกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และจะมีการปรับเพดานเงินสมทบเพิ่มขึ้น จากเดิมสูงสุด 750 บาท เป็น 1,000 บาท ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินบำนายเพิ่มขึ้นด้วยในอนาคต ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยอยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์
วันนี้ (28 พ.ย.) ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ในการประชุมรับฟังความคิดเห็น "การปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม" ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาสำนักงานประกันสังคม กล่าว่า หลังจากนี้จะรวบรวมความเห็นทั้งหมดของทุกครั้งที่ผ่านมา แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าเห็นด้วยเพราะอะไร ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ข้อเสนอแนะใหม่คืออะไร อะไรทำได้ อะไรที่ต้องรอ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน ส่วน 2 ประเด็นใหญ่คือ เรื่องขยายอายุบำนาญชราภาพ กับการปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบ ก็ต้องบอกว่าไม่มีใครเห็นด้วย 100% อย่างเรื่องขยายการส่งเงินสมทบบอกได้ว่าคนเห็นด้วยมีมากกว่า แต่ยืนยันว่าเราไม่ทิ้งความเห็นของคนที่ไม่เห็นด้วย แม้เป็นเรื่องที่ทำได้เร็ว แต่เราก็ไม่รีบ เป็นหน้าที่ที่เราต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเสียก่อน
นายอารักษ์ พรหมณี อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิระบบบำนาญ กล่าวว่า ผู้ที่จะรับเงินบำนาญจะต้องจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนหรือ 15 ปี และมีอายุ 55 ปี หากจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 15 ปี จะรับเป็นเงินบำเหน็จ หรือที่เรียกว่า การคืนเงินสมทบสะสม สุดท้ายตอนนี้เกิดคำถามว่า ทำไมไม่เปิดให้ผู้ประกันตนเลือกว่า จะรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ ทั้งนี้ การที่ สปส.สร้างเงื่อนไขการรับเงินบำเหน็จและบำนาญ เพราะหลักกฎหมายต้องการให้เกิดการออมเงินขึ้นเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ ส่วนการขยายอายุรับเงินบำนาญจาก 55 ปี เป็น 60 ปี อาจต้องมีเงื่อนไข เพราะบางอาชีพอาจไม่เหมาะ หรือควรกำหนดหรือไม่ว่า หากอายุ 55 ปีจะได้รับสิทธิอะไร และหากอยู่ต่อจะมีเงื่อนไขอะไรจูงใจ ส่วนอัตราการเก็บเงินสมทบ สามารถเปิดได้หรือไม่ เช่น อยากจ่ายเพิ่มโดยไม่ต้องมีจำนวนเพดานมาจำกัด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามว่า นอกจาก 2 เรื่องนี้แล้ว การแก้กฎหมายควรคำนึงระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในระยะยาว (Long Term Care) ด้วยหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศจะมีระบบนี้ด้วย
ด้าน นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์กรลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายประกันสังคมให้มีการเก็บเงินออมเพื่อเป็นบำนาญชราภาพยามเกษียณอายุการทำงาน แต่ต้องถามกลับว่าที่ผ่านมาเงินบำนาญที่จะได้รับเพียงพอหรือไม่ เพราะขั้นต่ำทุกวันนี้อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ซึ่งไม่มีทางพอในการดำรงชีพ จึงเสนอว่าเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำต้อง 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในอนาคตอีก 10 ปีอาจต้องเพิ่มขึ้นอีก เพราะไม่พอ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับการขยายอายุรับเงินบำนาญและเพิ่มเงินสบทบ เพราะเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนในระยะยาว อย่างกรณีขยายอายุรับบำนาญ ก็ล้อตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ ที่ระบุว่า หากสถานประกอบการใดไม่กำหนดอายุเกษียณการทำงาน ให้ใช้เป็นอายุ 60 ปี ซึ่งปัจจุบันคนก็ทำงานได้ยาวนานขึ้น ส่วนการเพิ่มเงินสมทบก็เพิ่มในส่วนของผู้ประกันตนเงินเดือน 16,000 บาทจนถึง 20,000 บาท อัตราเก็บเงินสมทบสูงสุดก็ไม่ถึง 1,000 บาท แต่จะได้รับเงินบำนาญที่เพิ่มขึ้น
“ส่วนตัวแล้วอยากให้เก็บเงินสมทบเดือนละ 1,500 บาทด้วยซ้ำ เพราะต้องคิดให้ดีว่า เมื่อเราเกษียณจำเป็นต้องมีเงินใช้ในการดำรงชีพ และเงินที่ใช้ในแต่ละเดือนเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการเพิ่มเงินสมทบก็จะทำให้เงินรายเดือนที่ใช้ยามเกษียณเพิ่มขึ้นด้วย แต่หลายคนไม่เข้าใจคิดว่า อยากได้เงินบำเหน็จเป็นก้อน แต่เมื่อเราได้ไปก็หมด เอาไปใช้หนี้ และเราจะเอาเงินอะไรใช้รายเดือน เรื่องนี้จึงอยากให้ผู้ประกันตนคิดดีๆ เพราะหากเราไม่มีการเตรียมตัวก่อนเกษียณ เมื่อถึงยามชรา เราอาจตายได้ 2 ครั้ง เพราะหากแก่เฒ่าโดยไม่มีคนดูแล ไม่มีเงินดำรงชีพ เราจะอยู่อย่างไร ก็เหมือนตายทั้งที่มีชีวิตแล้ว” นายพนัส กล่าว
ที่มา: manager
Tags: