ยาคุม ใช้ไม่ถูกวิธี เสี่ยงมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการทานยาคุม เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งน่ากลัวๆ อย่าง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และอีกสารพัดมะเร็งได้ แต่จะไม่ให้ใช้เลยก็ไม่ได้คุมกำเนิด ท้องป่องในเวลาที่ไม่พร้อมก็ยุ่งเข้าไปกันใหญ่ ยาคุมเสี่ยงมะเร็งอย่างไร มีวิธีแก้ไขหรือไม่ มาหาคำตอบกันเลยค่ะ
ยาคุม เสี่ยงมะเร็ง?
ยาคุมตามท้องตลาด ประกอบไปด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสติน โดยปกติแล้วความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งของผู้หญิง ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงอยู่นานๆ เช่น
- มีประจำเดือนก่อนเวลา คือ มีก่อนอายุ 12 ปี
- ประจำเดือนหมดช้ากว่ากำหนด หรือหมดหลังอายุ 55 ปี
- มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปีขึ้นไป
- ไม่มีบุตร
การใช้ยาคุม (ไม่ว่าจะชนิดทานหรือฉีด) จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายมากขึ้น แต่ฮอร์โมนในยาคุมอยู่ในร่างกายของเราไม่นานนัก จึงไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง เป็นเพียงการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย (ในกรณีที่ผู้ใช้ฮอร์โมนมีความเสี่ยงอยู่แล้ว) และในทางกลับกัน หากหยุดใช้ยาคุมกำเนิดมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งจะลดลงเท่ากับคนที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิดอีกครั้งเช่นกัน
มะเร็งที่อาจเกิดจากการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน มีอะไรบ้าง?
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งตับ
แต่ถึงกระนั้น ยาคุมกำเนิดยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น
- มะเร็งรังไข่
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
เพราะฉะนั้น การใช้ยาคุมก็ไม่ได้อันตรายอย่างที่คิดนะคะ
ถ้ายาคุม เสี่ยงมะเร็ง ก็ห้ามใช้ยาคุมใช่ไหม?
ไม่ใช่ค่ะ ยาคุมกำเนิดเป็นยาที่ดี มีประโยชน์ สามารถใช้ได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องใช้ให้เป็น และอย่ากลัวว่าทานแล้วจะทำให้ “เป็นมะเร็ง” เพราะอันที่จริงแล้ว ยาคุม แค่ “เพิ่มความเสี่ยง” ในการเป็นมะเร็งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปัจจัยหลักในการเป็นมะเร็งยังคงมาจากสาเหตุอื่นๆ ที่สำคัญกว่า เช่น กรรมพันธุ์ สภาพร่างกาย อาหารการกิน สภาพแวดล้อม เป็นต้น
ใช้ยาคุมอย่างไร ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง?
1. พยายามหยิบใช้เมื่อจำเป็น หรือไม่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไป
2. ใช้วิธีการคุมกำเนิดชนิดอื่น เช่น ให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัย
3. ทานอาหารที่เป็นประโยชน์
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง
5. ตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุก 6 เดือน – 1 ปี
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเมินหน้าหนียาคุมกำเนิดกันเสียล่ะ เพราะยาคุมยังมีประโยชน์อีกมากมายนะคะ เช่น
- คุมกำเนิดได้ง่าย และมีประสิทธิภาพ (ถ้าทานให้ตรงเวลา และถูกต้อง)
- ลดอาการปวดท้องประจำเดือน
- ลดปริมาณประจำเดือน
- ลดอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนมีรอบเดือน เช่น สิวฮอร์โมน
- ช่วยให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ
- หยุดใช้ ก็สามารถตั้งครรภ์ได้เลย (สำหรับยาคุมชนิดทาน)
เพราะฉะนั้น สาวๆ สามารถใช้ยาคุมกำเนิดได้ต่อไป ไม่ต้องกลัวนะคะ เพราะอย่างไรการคุมกำเนิดก็ยังสำคัญ และเราสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้อีกหลายๆ วิธีค่ะ
ที่มา: sanook
Tags: