ผู้หญิงมุสลิมในยุคโลกาภิวัฒน์เป็นอย่างไร !!!
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์และกระแสเสรีนิยม คนต่างมองว่า การสวมฮิญาบ คือการกดขี่ผู้หญิง รายงานพิเศษชิ้นนี้จะพาไปดูว่า หญิงมุสลิมทั่วโลก รับมือกับกระแสดังกล่าวอย่างไร และพวกเขาตีความหลักศาสนา และต่อรองกับกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างไร ในขณะที่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมอยู่
ฮิญาบ’ เครื่องแต่งกายตามข้อบัญญัติศาสนาอิสลาม ซึ่งกำหนดให้สตรีมุสลิมต้องปกปิดทุกส่วนของร่างกาย
เว้นแต่ส่วนที่ได้รับการยกเว้น คือ ใบหน้าและฝ่ามือ ภาพจาก มติชน
อันนา: คลุมผ้าเวลากลับบ้าน
จากสายตาของเพื่อนๆ และคนรอบข้าง 'อันนา' เป็นสาววัย 22 ปี ที่มีความมั่นใจในตัวเอง และมักได้รับเลือกเป็นหัวหน้าในงานต่างๆ ของคณะอยู่เสมอ อันนาได้รับการยอมรับจากคนรอบตัวว่าเป็นคนทำงานเก่ง คล่องแคล่ว มีภาวะผู้นำ เป็นผู้หญิงสมัยใหม่ หัวก้าวหน้า และสนใจในประเด็นเชิงสังคม คาแรคเตอร์ที่โดดเด่นของอันนา อาจจะทำให้หลายๆคนลืมไปว่า จริงๆ แล้วอันนาเป็นสาวมุสลิมจากปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา
ขณะนี้อันนาศึกษาอยู่ชั้นปีที่สี่ มหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพมหานคร โดยเธอใช้ชีวิตตัวคนเดียวในกรุงเทพฯมาได้ 4 ปีแล้ว เธอเล่าว่าตั้งแต่เด็กๆ เธอเติบโตมาในสังคมคนพุทธมาตลอด แม้ครอบครัวของเธอเคร่งศาสนาในระดับหนึ่งและปฏิบัติตัวตามหลักคำสอนของอัลเลาะห์ แต่อันนายอมรับว่า เธอไม่เห็นด้วยกับกฏหรือข้อบังคับของสตรีมุสลิมหลายๆ ข้อ การแยกมาอยู่ตัวคนเดียวไกลจากบ้าน อันนายอมรับว่า ทำให้เธอมีวิถีปฏิบัติด้านศาสนาที่แตกต่างออกไป เช่น ไม่ใส่ฮิญาบ ไม่ละหมาด และดื่มแอลกอฮอล์บ้างบางครั้ง เป็นต้น
“ต้องบอกไว้ก่อนว่า ความคิดของเราไม่ค่อยจะไปในเชิงเห็นด้วยกับข้อบังคับศาสนาอิสลามเท่าไหร่นะ เรามีข้อโต้เถียงเยอะมาก อย่างเรื่องคลุมผ้า เวลากลับบ้านนี่ก็จะคลุม แล้วแต่เทศกาล เช่น คลุมเวลาออกไปเจอญาติ ซึ่งพอกลับบ้านไปทีหนึ่ง ญาติก็จะชอบสอนศาสนา และบอกให้ละหมาดบ้างนะ คลุมผ้าหน่อยนะ อะไรแบบนี้”
อันนาบอกว่าเธอมีความคิดวิพากษ์ศาสนาอิสลาม และไม่เห็นด้วยกับคำสอนศาสนาของเธออยู่หลายข้อ เมื่อถามถึงสาเหตุ เธอคิดว่าเพื่อนเป็นส่วนสำคัญมากๆ เธอไม่เคยเรียนโรงเรียนอิสลาม และเติบโตมาในสังคมคนไทย-พุทธ ดังนั้นการคลุมผมทำให้เธอรู้สึกแปลกแยกจากคนรอบตัวและรู้สึกไม่ถนัดเวลาทำอะไร ที่สำคัญคือ เธอมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกาช่วงมัธยมปลายเป็นเวลาหนึ่งปี เธอบอกว่าการเดินทางครั้งนั้นทำให้ความคิดของเธอเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ สิ่งที่เธอได้รับนอกจากเพื่อน ภาษา โลกใบใหม่ วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ คือความสำคัญของการให้เกียรติและให้ความเท่าเทียมกันของคน
อันนาบอกว่าเมื่อมองย้อนกลับมาที่ศาสนาอิสลาม เธอมองว่าบัญญัติของศาสนาบางข้อไม่แฟร์กับผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่ชอบ เธอบอกว่า เรื่องพวกนี้อาจจะเห็นไม่ชัดในกรุงเทพฯ แต่ถ้าในชุมชนมุสลิมจะเห็นได้ชัด ว่าในสังคมจะยกย่องผู้ชายและให้เกียรติในการทำโน่นนี่ ในขณะที่ผู้หญิงจะมีหน้าที่อยู่บ้าน ปรนนิบัติสามี นอกจากนั้น เธอรู้สึกว่าหลักคำสอนของศาสนาอิสลามนั้น เป็นมากกว่าคำสอน คือ เป็นข้อบังคับในการใช้ชีวิตที่ห้ามหรือให้ผู้หญิงจำเป็นต้องทำในสิ่งโน้น หรือสิ่งนี้
อันนายอมรับว่า ตัวเธอไม่ใช่สตรีมุสลิมที่ดี และรู้สึกว่าตัวเองเข้ากับคนต่างศาสนาได้ดีกว่าคนศาสนาเดียวกัน เธอเล่าว่าบางครั้งในการที่ต้องอยู่ในสังคมมุสลิมก็ทำให้เธอทำตัวไม่ค่อยถูกและรู้สึกอึดอัด อย่างเรื่องคนรักหรือการมีความรักของเธอที่ผ่านมา อันนาบอกว่าเธอไม่เคยมีแฟนเป็นคนมุสลิมเลย แต่ถึงเธอจะละเมิดข้อห้ามและวิพากษ์ศาสนาของเธอมากแค่ไหน เธอก็ไม่เคยคิดจะออกจากศาสนา เพราะครอบครัวเธอก็ยังนับถือศาสนาอิสลาม และที่สำคัญคือพ่อและแม่ของเธอไม่เคยลงโทษที่เธอทำตัวผิดคำสอน ทั้งที่เธอคิดว่าพ่อแม่เธอน่าจะรู้ในการกระทำต่างๆ ของเธอ
“สุดท้ายแล้วเราก็อาจจะแต่งงานกับคนพุทธที่เขายอมเข้าอิสลาม เราไม่อยากให้ครอบครัวเสียใจ” อันนากล่าว
ในขณะที่ 'ซาฟีนะห์' ณัฎฐา อาดำ สาวมุสลิมวัย 21 ปี ผู้เกิดและเติบโตที่ชุมชนมุสลิมมีนบุรี ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันเธอเรียนด้านศิลปศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เธอเล่าว่ามหาวิทยาลัยเป็นสังคมแรกที่เธอได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนต่างศาสนาอย่างจริงจัง เพราะตั้งแต่เล็กจนโตเธอเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาตลอด
ซาฟีนะห์: ถอดๆ ใส่ๆ แล้วรู้สึกแปลกๆ
ถึงแม้ว่า ครอบครัวของเธอจะอยู่ในชุมชนมุสลิม แต่ก็ไม่ใช่ครอบครัวที่เคร่งศาสนามากนัก พ่อ-แม่ของซาฟีนะห์ไม่ได้บังคับให้เธอปฏิบัติตามคำสอนหรือคลุมผ้า แต่เธอเลือกที่จะสวมผ้าคลุมศีรษะหรือฮิญาบตลอดเวลา ซึ่งเป็นการตัดสินใจของเธอเองว่าเธอต้องการที่จะสวมใส่ ทั้งๆ ที่คนรอบตัว อย่างตระกูลของเธอที่มีหลานสาวสามคน แต่เธอเป็นคนเดียวที่คลุมผ้า ในขณะที่เพื่อนๆ ของเธอก็จะใส่ๆ ถอดๆ หรือไม่ใส่เลยก็มี “อาจจะสืบเนื่องมาจากเราเรียนที่โรงเรียนอิสลามมาตั้งแต่เด็ก คุณครูก็สอนและปลูกฝังเรื่องนี้ พอเราเห็นคนอื่นทั่วไปเขาใส่ๆ ถอดๆ ใส่แล้วไม่ใส่ เราก็รู้สึกแปลกๆ เลยตัดสินใจกับตัวเองที่จะใส่ตลอดเวลา”
ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่คนส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม แม้ซาฟีนะห์สามารถทำตัวกลมกลืนไปกับผู้คนทั่วไปได้ แต่เธอยังคงเลือกที่จะยืนยันอัตลักษณ์ของเธอเองด้วยการสวมฮิญาบ เธอบอกว่าน่าจะเป็นเพราะการเรียนศาสนาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเธอเองก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้ว่าอะไรดีกว่าหรือไม่ดีด้วยตนเอง เธอเล่าว่าการสวมฮิญาบทำให้เธอได้รับการปฏิบัติจากผู้ชายอย่างให้เกียรติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอต้องการได้รับ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมา เธอมีเพื่อนที่แต่งกายเปิดเผยและถูกผู้ชายจ้องมอง ซาฟีนะห์บอกว่าเธอไม่ต้องการจะเป็นเช่นนั้น และในสายตาของเธอ เธอไม่คิดว่าการสวมฮิญาบเป็นการกดขี่ผู้หญิงตามที่มีคนกลุ่มหนึ่งให้ความเห็น แต่กลับเห็นว่าการคลุมฮิญาบคือการแสดงจุดยืนและการแสดงอัตลักษณ์ของเธอ เธออธิบายว่า เมื่อสวมฮิญาบ คนรอบตัวจะรับรู้ถึงศาสนาของเธอ และพวกเขาจะมีปฏิสัมพันธ์กับเธออย่างเหมาะสม เช่น คนที่เลี้ยงสุนัขก็จะพยายามกันสัตว์เลี้ยงของตนไม่ให้เข้าหาเธอ เนื่องจากการสัมผัสน้ำลายสุนัขนั้นผิดตามศาสนบัญญัติ
แต่ถึงแม้เธอจะปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาข้อต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพราะเชื่อว่าการดำเนินตามคำสอนจะทำให้เธอมีวิถีชีวิตที่ดี แต่ก็มีคำสอนบางประการที่เธอไม่สามารถยอมรับและปฏิบัติตามได้ นั่นคือการเป็น 1 ใน 4 ภรรยา ตามคำบัญญัติในคัมภีร์อัล-กุรอ่านซึ่งอนุญาตให้สามีสามารถมี 4 ภรรยาได้โดยมีเงื่อนไขว่า สามีผู้นั้นต้องมีความเท่าเทียมกัน ซาฟีนะห์ยืนยันเสียงแข็งว่า เธอไม่ยอม หากเธอจะแต่งงาน สามีของเธอจะต้องมีเธอคนเดียวเท่านั้น เธอคิดว่าเธอก็เหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ ที่อยากให้สามีรักและมีเธอแค่เพียงคนเดียว
ในขณะที่ ‘รอยมี่’ จิดาภา เสนาอธิกุล สาวมุสลิมวัย 21 ปี ผู้เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ แสดงทัศนะในทางตรงกันข้ามกับอันนาและซาฟีนะห์ในเรื่องข้อบัญญัติการมี 4 ภรรยาว่า เธอรู้สึกว่าค่อนข้างลังเลที่จะตัดสินใจยินยอมในเรื่องนี้ แต่ก็คงจะยอมถ้าสามีขอมีภรรยาคนที่สอง โดยเธอมีเงื่อนไขว่า ถ้าจะมีต้องภรรยาคนที่ 2,3,4 สามีของเธอก็ต้องมีความยุติธรรม ต้องยกให้ภรรยาทุกคนเท่ากัน ต้องมีความเท่าเทียม
รอยมี่: ถอดฮิญาบ เพื่ออยู่ร่วมกับคนพุทธอย่างกลมกลืน
“ในใจเรามันก้ำกึ่งนะ แต่ถ้าถึงวันนั้นจริงๆ เราก็คงยอม แต่ถ้าจะมี ต้องมีความยุติธรรม ต้องให้ภรรยาที่ 1 และ 2 เท่ากัน เพราะถ้าไม่ยุติธรรม มันก็จะเป็นบาปของเขาเอง” รอยมี่ บอก
รอยมี่เล่าต่อว่า เธอใช้ชีวิตส่วนมากกับคนไทยพุทธ เธอจึงเลือกที่จะไม่สวมฮิญาบ เพราะเธออาศัยอยู่ในสังคมที่มีคนพุทธเป็นส่วนใหญ่จึงไม่อยากรู้สึกแปลกแยกกับคนที่อยู่รอบตัวเธอ ไม่อยากให้มองว่าแตกต่าง อีกทั้งครอบครัวของเธอไม่ได้เคร่งครัดกับเรื่องนี้มากนัก เธอจะคลุมผมแค่ในช่วงงานเทศกาลต่างๆ เพียงเท่านั้น แต่ถ้าถามถึงความรู้สึกส่วนตัวของเธอ รอยมี่บอกในฐานะมุสลิมคนหนึ่งว่า เธอรู้สึกผิด
“ในสังคมที่นี่ คนมุสลิมถือเป็นส่วนน้อย สถานที่ทำงานบางที่เขาก็ไม่ให้คลุมผม คนคลุมผมในมหาวิทยาลัยก็น้อย การมีข่าวมุสลิมหัวรุนแรงก็ทำให้เรากลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราไม่เป็นมิตร” รอยมี่ บอก
รอยมี่คิดว่ามันเป็นการปรับตัวที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่างไรก็ตาม เธอไม่คิดว่าการไม่คลุมผมเป็นสิ่งที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ในฐานะผู้หญิงมุสลิม เพราะตามหลักนั้น การไม่คลุมศีรษะป็นสิ่งที่ผิดตามหลักคำสอน รอยมี่บอกว่าเธอเคยคิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หันกลับมาคลุมผมเพื่อให้เป็นผู้หญิงมุสลิมที่ถูกต้อง แต่เธอบอกว่า ตอนนี้เธอไม่พร้อม ด้วยปัจจัยจากสังคมรอบตัว
มุสลิมะห์ ในมุมมองศาสนาอิสลาม
จากบทสัมภาษณ์ทัศนะของผู้หญิงมุสลิมทั้งสามคนข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่า แต่ละคนต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันไปในเรื่องของศาสนบัญญัติ ทั้งในเรื่องของการแต่งกาย รวมถึงบัญญัติการใช้ชีวิตในแง่มุมต่างๆ โดยมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ในทัศนะของศาสนาอิสลาม สตรีมุสลิมที่ดีนั้นจะต้องเป็นคนที่ยึดมั่นในพระผู้เป็นเจ้า ศึกษาอัล-กุรอ่านเพื่อตระหนักและซาบซึ้งถึงความงดงามแห่งศาสนา, แต่งกายปกปิดเรือนร่าง เปิดเผยได้เพียงใบหน้าและฝ่ามือ, ละหมาดวันละ 5 ครั้ง, คบค้าเพื่อนที่ดี, หลีกเลี่ยงคบค้ากับผู้ที่มีอิทธิพลไปในทางที่เลวร้ายต่อตนเอง, ให้อภัยตนเองต่อความผิดที่ผ่านมา, พิจารณาจุดอ่อนของตนเอง และยึดมั่นต่อความปรารถนาที่จะเป็นมุสลิมะฮ์ที่ดี รวมทั้งในด้านชีวิตคู่หรือการแต่งงาน สตรีมุสลิมในฐานะภรรยาตามบัญญัตินั้น ควรที่จะประพฤติตนเป็นแม่บ้านที่ดี คอยดูแลบ้านและบุตร ยอมรับในความเป็นผู้นำของสามี ช่วยเหลือ สนับสนุนและให้กำลังใจต่อหน้าที่การงานของสามี
ผศ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข ผู้อำนวยการสถาบันวะสะฎียะห์ สำนักจุฬาราชมนตรี และผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาอิสลาม อธิบายถึงศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับมุสลิมะฮ์ตามอุดมคติว่า ตามอุดมคติทางศาสนาอิสลามนั้น เพศหญิงเป็นเพศที่ถูกสร้างให้เป็นคู่ของผู้ชาย กล่าวคือ สร้างชายและหญิงให้เป็นคู่กัน ซึ่งทั้งสองเพศนั้นได้ถูกสร้างให้มีความแตกต่างกันในทุกๆ ด้าน “ทั้งด้านสรีระ ด้านธรรมชาติ ในความแตกต่างนี้ พระเจ้าได้สร้างให้ชายมีความเป็นผู้นำ มีความเข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงโดยทั่วๆ ไปก็จะมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ละเมียดละไม ละเอียดอ่อน ในเมื่อเป็นอย่างนั้น สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าได้บัญญัติในการดำเนินชีวิตของชายแหละหญิงนั้นจึงมีทั้งความสอดคล้องและความแตกต่างกัน”
ความแตกต่างที่ว่า อับดุลลอฮฺ ยกตัวอย่าง เช่น ในแง่การแต่งกาย สตรีมุสลิมต้องมีเครื่องแต่งกายที่เฉพาะหรือการคลุมฮิญาบ เพราะสรีระตามธรรมชาติของสตรีมีส่วนที่นำไปสู่การยั่วยุทางอารมณ์ มีส่วนเว้า ส่วนโค้ง จึงต้องการการปกปิด ที่สำคัญคือ ศาสนาอิสลามนั้นให้เกียรติและให้คุณค่าแก่ผู้หญิง “เมื่อผู้หญิงมีคุณค่า เราก็ต้องรู้จักที่จะห่อหุ้มหรือเก็บ ปกปิด ไม่ให้ล่อแหลม หรือท้าทายสายตาผู้คนทั่วไป”
การแต่งกายของสตรีมุสลิม เป็นข้อบัญญัติที่ชาวมุสลิมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าข้อบัญญัติศาสนาอิสลามจะให้ความเท่าเทียมแก่ทั้งสตรีและบุรุษ แต่ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามธรรมชาติแล้ว สตรีมีลักษณะทางกายภาพที่งดงามและละเอียดอ่อนมากกว่าบุรุษ ดังนั้นคุณสมบัติเฉพาะของสตรีทำให้พวกเธอต้องแต่งกายโดยมีลักษณะเฉพาะมากกว่า โดยให้เหตุผลในเรื่องความเหมาะสมและความปลอดภัย ตามที่บัญญัติไว้ในศาสนบัญญัติไว้ว่า “โอ้ นบีเอ๋ย จงกล่าวแก่บรรดาภริยาของเจ้าและบุตรสาวของเจ้า และบรรดาหญิงของบรรดาผู้ศรัทธา ให้พวกนางดึงเสื้อคลุมของพวกนางลงมาปิดตัวของพวกนาง นั่นเป็นการเหมาะสมกว่าที่นางจะเป็นที่รู้จัก เพื่อที่พวกนางจะไม่ถูกรบกวน และอัลเลาะห์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (จากคัมภีร์ อัลกุรอ่าน บทอัลอะหฺซาบ 33 : 59)
ข้อบัญญัตินี้กำหนดให้มุสลิมะห์หรือสตรีมุสลิมต้องปกปิดทุกส่วนของร่างกายเว้นแต่ส่วนที่ได้รับการยกเว้น คือ ใบหน้าและฝ่ามือ เสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องหลวมไม่รัดรูป ไม่เน้นสัดส่วนของร่างกาย เนื้อผ้าต้องหนาพอ ไม่สามารถมองทะลุเนื้อหนังมังสา และลักษณะที่ปรากฏบนเครื่องแต่งกายต้องไม่เย้ายวนหรือเรียกร้องความสนใจให้บุรุษเพศชื่นชมความงามของตน
จากคำสอนของศาสดา สตรีมุสลิมจึงต้องสวม ‘ฮิญาบ’ (ซึ่งแปลว่า การปิดกั้น) เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจาก ‘ฟิตนะห์’ (ความไม่ดีไม่งามทางสังคม) ป้องกันการถูกแซว การถูกหยอกล้อเชิงชู้สาวจากบุรุษ ป้องกันไม่ให้สตรีถูกจาบจ้วง ป้องกันความเสื่อมเสียจากการอวดโฉมจากการที่สตรีได้นำเอาส่วนสวยงามออกมาแสดง และป้องกันไม่ให้บุรุษเกิดตัณหาราคะภายในจิตใจ รวมถึงเป็นการยกระดับคุณค่าของสตรีในทัศนะของบุรุษ
เช่นกันกับในด้านวิถีชีวิต ผู้อำนวยการสถาบันวะสะฎียะห์ อธิบายว่า ตามศาสนบัญญัตินั้น ผู้หญิงมีภารกิจที่จะต้องดูแลบ้านและบุตร ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับบริบทสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไปเพราะผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น และขัดกับการรณรงค์ของคนในสังคมอีกกลุ่มหนึ่งที่ว่า สตรีและบุรุษจะต้องเสมอภาคกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ศาสนาอิสลามไม่ให้ความเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง ข้อบัญญัติทางศาสนาอิสลามนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่ชายและหญิงมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ “ในมิติศาสนาแล้ว โดยธรรมชาติของผู้หญิงนั้น ไม่สามารถที่จะทำอะไรเหมือนผู้ชายได้ในหลายๆ อย่าง แต่ในหลายๆ อย่างก็ทำได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่มีความเป็นธรรม แต่พระผู้เป็นเจ้านั้นให้ความสมดุลกันระหว่างความเข้มแข็งของผู้ชายและความอ่อนน้อมของหญิงที่อยู่ด้วยกันก็จะสมดุลกัน และวิถีชีวิตจะไปกันได้” เขากล่าว
การครองคู่เป็นเรื่องของการสร้างครอบครัวและการมีบุตร อับดุลลอฮฺ อธิบายว่า ครอบครัวจะประกอบไปด้วย สามี ภรรยา และบุตร ซึ่งต้องมีฐานที่เป็นคำสอนและศีลธรรมที่จะทำให้ครอบครัวอบอุ่นและเข้มแข็ง ในศาสนาจึงกำหนดให้ผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงลูกดูแลลูก เพราะผู้หญิงมีธรรมชาติของความเอ็นดูและอ่อนโยนมากกว่าผู้ชาย “ฐานครอบครัวที่เป็นบ้าน ผู้หญิงจะต้องรับผิดชอบค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นในศาสนาอิสลามจึงไม่สนับสนุนที่จะให้ผู้หญิงออกนอกบ้าน ทิ้งลูกให้คนอื่นเลี้ยง มันไม่ได้ผิดศาสนาหรอก เพียงแต่ว่า จะทำให้เกิดปัญหาในการดูแลในเรื่องการให้ความรัก ความอบอุ่นแก่ลูก”
ส่วนประเด็นเรื่องของการที่ศาสนาอิสลามบัญญัติให้สามีสามารถมีภรรยาสี่คนได้ อับดุลลอฮฺ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ข้อบัญญัติที่บังคับหรือต้องทำ แต่เป็นข้อบัญญัติที่เกิดในภาวะที่ไม่ปกติ “เมื่อชาย-หญิงแต่งงานกัน จำเป็นต้องมีลูกใช่ไหม? หากภรรยาเป็นหมัน มีลูกไม่ได้ หรือภรรยาเจ็บป่วย ไม่สามารถให้ความสุขสามีได้ นี่เป็นประเด็นไม่ปกติ ทางออกก็คือการอนุญาตให้มีคนที่สอง ซึ่งนี่เป็นสิทธิ แต่นั่นเป็นสิทธิที่มาพร้อมกับหน้าที่ คือต้องให้ความเท่าเทียมกันกับภรรยาทุกคน” อับดุลลอฮฺ อธิบายต่อว่า การที่ผู้หญิงมีลูกไม่ได้ไม่ใช่ความผิดของผู้หญิง การบัญญัติให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน คือทางออก ทางออกนี้เกิดขึ้นเพราะศาสนาไม่ต้องการให้ประพฤติผิดศีลธรรมโดยการไปมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส
ทางประวัติศาสตร์ ศาสนาอิสลาม ได้อนุญาตให้สามีมีภรรยาได้สี่คน โดยมีเหตุผลเพื่อป้องกันวิกฤตในสังคม เช่น ในอดีต สงครามทำให้ผู้ชายจำนวนมากบาดเจ็บและเสียชีวิต สตรีและเด็กจึงขาดคนคุ้มครองดูแล จากสภาวะเช่นนี้ ศาสนาอิสลามจึงอนุญาตให้ผู้ชายแต่งงานกับสตรีที่ที่สามีเสียชีวิตในการสู้รบได้หลายคน เพื่อปกป้องสตรีผู้นั้น และเพื่อป้องกันมิให้สตรีผู้นั้นดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิด โดยมีเงื่อนไขว่า สามีผู้นั้นจะต้องให้ความยุติธรรมแต่ภรรยาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และหากทำไม่ได้ ก็ขอให้มีภรรยาเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น โดยคำสอนดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ความว่า “และหากพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมในบรรดาเด็กกำพร้าได้ ก็จงแต่งงานกับผู้ที่ดีแก่พวกเจ้า ในหมู่สตรี สองคน หรือสามคน หรือสี่คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าพวกเจ้าจะให้ความยุติธรรมไม่ได้ ก็จงมีแต่หญิงเดียว หรือไม่ก็หญิงที่มือขวาของพวกเจ้าครอบครองอยู่ นั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ยิ่งกว่าในการที่พวกเจ้าจะไม่ลำเอียง” (จาก คัมภีร์อัลกุรอ่าน บทอันนิซาฮ์ /3)
สหรัฐ ถวายเชื้อ หรือ ดี้ หนุ่มมุสลิมวัย 23 ปี จาก อ.อ่าวนาง จ.กระบี่ ได้กล่าวถึงความรู้สึกของตัวเขาเองว่า ในปัจจุบันตัวเขาเองรู้สึกว่า ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น แม้กระทั่งในสังคมมุสลิม เช่น ในเรื่องของการค้าขาย และปัจจุบันผู้ชายบางคนก็ไม่เอาไหนและไม่ได้มีภาวะผู้นำเสมอไป อย่างไรก็ตามในฐานะคนมุสลิม เขาเห็นด้วยกับบัญญัติทางศาสนาที่ผู้ชายต้องเป็นผู้นำครอบครัว เป็นคนหาเงินหรือทำงานหนัก เพราะในเรื่องบางเรื่องผู้หญิงก็ทำไม่ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรง เพราะธรรมชาติสร้างสรีระให้ผู้ชายแข็งแรงกว่าผู้หญิง “เราไม่ได้ดูถูกว่าเขาทำไม่ได้ เขาอาจจะทำได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เราอยากให้เกียรติ เราเป็นห่วงเขา พูดง่ายๆ อย่างเรื่องทำงานหนัก เราไม่อยากให้เมียเรามือสาก คือถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เป็นเรามากกว่า”
ดี้ มองว่า ศาสนบัญญัตินั้นไม่ได้เอาเปรียบหรือไม่ให้ความเท่าเทียมแก่ผู้หญิง หลักบัญญัติทางศาสนามีเหตุผลรองรับ อย่างเรื่องการปกคลุมเรือนร่าง ดี้เห็นด้วย เพราะคิดว่ารูปร่างผู้หญิงมีส่วนเว้า ส่วนโค้ง การนุ่งห่มมิดชิดทำให้ไม่เกิดการยั่วยวนทางเพศ เป็นการให้เกียรติตัวเอง และทำให้คนอื่นให้เกียรติเรา
ฮิญาบ: สัญลักษณ์แห่งการปะทะ และต่อรอง ระหว่างอัตลักษณ์มุสลิม กับโลกโลกาภิวัฒน์
จะเห็นได้ว่าศาสนาอิสลามมีศาสนบัญญัติครอบคลุมวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในทุกมิติ ทั้งข้อบัญญัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน ความคิด ความเชื่อ สังคม เศรษฐกิจ กระทั่งการเมือง ดังนั้นอัตลักษณ์ของผู้นับถือศาสนาอิสลามหรือชาวมุสลิมจึงมีความเด่นชัดเป็นอย่างยิ่งทั้งในระดับบุคคลและประชาคม ซึ่งแสดงออกผ่านการแต่งกาย การปฏิบัติตน ความเชื่อและการใช้ชีวิต
อิสลาม (الإسلام) เป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า การสวามิภักดิ์ ซึ่งหมายถึงการสวามิภักดิ์อย่างบริบูรณ์แด่ อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า ด้วยการปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ อิสลาม มีรากศัพท์มาจากคำว่า อัส-สิลมฺ หมายถึง สันติ โดยมีนัยว่า การสวามิ..ภักดิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า จะทำให้มนุษย์ได้พบกับสันติภาพทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ศาสนาอิสลาม มีผู้นับถือเป็นจำนวนราว 1,600 ล้านคน เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากศาสนาคริสต์
ในดินแดนสยาม ศาสนาอิสลามเริ่มเข้ามาในสมัยสุโขทัย โดยเข้ามาทางประเทศอินโดนีเซียและบริเวณแหลมมลายู และมาในรูปแบบการติดต่อค้าขายกันระหว่างรัฐ มีการค้นพบหลักฐานการตั้งชุมชนมุสลิมในดินแดนประเทศไทยจริงๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานชัดเจนปรากฎตามจดหมายเหตุโบราณว่า กลุ่มคนที่คนโบราณเรียกว่า 'แขกเทศ' ตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่สะพานประตูจีนด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงหลังวัดนางมุก และเลี้ยวลงไปที่ท่า 'กายี' ซึ่งเป็นท่าน้ำแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา
ปัจจุบัน มีชุมชนมุสลิมในกรุงเทพฯ อยู่หลายแห่ง กระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ เช่น ชุมชนมุสลิมบางมด, ชุมชนมุสลิมคลองสามวา, ชุมชนมุสลิมบางกอกใหญ่ (ฝั่งธนบุรี), ชุมชนมุสลิมบางลำพู ฯลฯ รวมถึงคนมุสลิมที่ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งมุสลิมจากภาคใต้ มุสลิมจากประเทศอื่นๆ
คนมุสลิมในกรุงเทพฯ ถือได้ว่าเป็นคนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับชาวพุทธ ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้คนมุสลิมจำเป็นต้องปรับตัวในหลายๆ แง่ โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิมที่มีการแสดงออกทางอัตลักษณ์ศาสนาทั้งในแง่การดำเนินชีวิตและการแต่งกาย โดยเฉพาะในแง่การแต่งกายซึ่งเป็นส่วนที่แสดงออกจากภายนอก จึงไม่แปลกที่ ‘รอยมี่’ ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวง จะรู้สึกแปลกแยกเมื่อต้องสวมฮิญาบท่ามกลางเพื่อนชาวไทย-พุทธ
แต่ในขณะเดียวกันที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น การคลุมฮิญาบถือเป็นเรื่องที่สตรีมุสลิมต้องเคร่งครัดและต้องปฏิบัติตาม เหตุการณ์ความขัดแย้งสำคัญเกี่ยวกับการคลุมฮิญาบเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2558 การคลุมฮิญาบเกือบจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่เพิ่มปัญหาให้กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หลังจากที่โรงเรียนภาครัฐและหน่วยงานภาครัฐห้ามเด็กนักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบ ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาประเด็นนี้ โดยนายกฯ ยอมรับว่า การคลุมผ้าอาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นคง สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิมสามจังหวัด
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้ว่า หากภาครัฐได้สั่งห้ามการคลุมฮิญาบจริง จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น อาจจะเกิดการประท้วงของชาวมุสลิมทั่วประเทศ ทำให้สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนเลวร้ายลงกว่าเดิม ซึ่งการสั่งห้ามคลุมฮิญาบนั้นเคยเกิดขึ้นและมีการประท้วงของกลุ่มนักศึกษามุสลิมไทยจนวุ่นวายมาแล้ว เมื่อปี 2530 -2531 ที่วิทยาลัยครูยะลาเพื่อขอสิทธิการคลุมฮิญาบในฐานะพลเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งเสรีภาพทางศาสนา อย่างไรก็ตาม ปัญหาในอดีตดังกล่าวได้รับการแก้ไขโดยกระทรวงศึกษาธิการ ออกเป็นกฎให้นักเรียนหญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม สามารถคลุมฮิญาบไปเรียนได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตามศาสนบัญญัติจะบังคับให้สตรีคลุมทั้งร่างกายโดยเปิดเผยใบหน้าและฝ่ามือได้ ในบางประเทศตะวันออกกลางหรือบางประเทศแถบเปอร์เซีย ความเข้มข้นของการปิดเรือนร่างสตรีจะมีมากขึ้น โดยมีทั้งเป็นผ้าคลุมที่เรียกว่าบูรเกาะฮ์ ที่ปิดคลุมทั้งใบหน้า และแบบนิกอบ ที่เปิดเผยแค่เพียงส่วนดวงตา
ฮิญาบในยุโรป
ในอีกซีกโลก หรือในประเทศตะวันตกบางประเทศ การปิดคลุมใบหน้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายในปี 2553 ว่า ผู้ใดที่ปิดบังใบหน้าในพื้นที่สาธารณะจะถูกปรับเป็นเงิน 150 ยูโร (ประมาณ 6,000 บาท) โดยให้เหตุผลในด้านการอยู่ร่วมกัน และความมั่นคงและความปลอดภัยของสังคมฝรั่งเศส โดยสภาผู้ออกกฎหมายกำกับไว้ว่า กฎหมายนี้ไม่ได้มุ่งไปที่การจำกัดสิทธิการแต่งกายของคนศาสนาใด หากแต่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการปิดบังใบหน้าเท่านั้น และยังบังคับใช้กับการปิดบังใบหน้าแบบอื่น เช่น การสวมหมวกกันน็อคเมื่อไม่ได้กำลังขับขี่มอเตอร์ไซต์ เป็นต้น กฎหมายนี้มีข้อยกเว้นในกรณีการปิดบังใบหน้า เช่น การสวมผ้าปิดปากด้วยเหตุผลทางสุขภาพ การปิดใบหน้าจากกิจกรรมกีฬา การสวมหน้ากากในงานเทศกาลต่างๆ กฎหมายนี้นำมาซึ่งความไม่พอใจของสตรีมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่ฟ้องร้องศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป โต้แย้งว่า กฎหมายการห้ามสวมผ้าคลุมหน้าของฝรั่งเศสเป็นการริดลอนเสรีภาพและการแสดงออกทางศาสนาของพวกเธอ และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปก็ได้ตัดสินให้รัฐบาลฝรั่งเศสชนะคดี โดยให้เหตุผลว่า จุดมุ่งหมายในการให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขของรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นจุดมุ่งหมายที่มีน้ำหนักและมีความชอบธรรม
อีกกรณีที่ประเทศสวีเดนซึ่งเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางด้านเสรีภาพ อิมาม อัลเดบ ดีไซเนอร์หญิงมุสลิมชาวสวีเดน เคยถูกกีดกันการทำงานจากการคลุมฮิญาบ และอคติเหมารวมต่อคนมุสลิมจากกระแสหลังเหตุการณ์ 911 เธอเริ่มคลุมฮิญาบตั้งแต่อายุหกขวบ และเป็นลูกของโต๊ะอิหม่ามเพียงไม่กี่คนในสต็อกโฮล์ม การถูกกีดกันในการรับเข้าทำงาน ทำให้อิมามตัดสินใจดีไซน์ฮิญาบรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย เป็นที่นิยมทั้งในกลุ่มสตรีมุสลิมและสตรีทั่วๆ ไป เพื่อประนีประนอมต่อความคิดที่แตกต่าง
แรงบันดาลใจในการดีไซน์ฮิญาบของเธอเกิดขึ้นจากการที่เธอลองพันผ้าแบบ Turban สไตล์แอฟริกันไปสมัครงานแทนการคลุมฮิญาบ และครั้งนี้เธอได้งาน พร้อมกับคำชมที่ว่า ผ้าคลุมศีรษะรูปแบบนี้นั้นเก๋และโดดเด่น “ฉันตัดสินใจที่จะเปลี่ยนวิธีการสวมใส่ จากที่เคยพันรอบใบหน้า เปลี่ยนเป็นการมัดไว้ด้านหลังคล้ายๆ กับการพันศีรษะสไตล์แอฟริกัน ฉันไปสัมภาษณ์งานและได้รับการตอบรับให้เข้าทำงาน” เธอบอก และเธอยังได้รับคำชมจากลูกค้าว่า การพันศีรษะของเธอนั้นเจ๋งมาก และที่สำคัญฮิญาบที่เธอออกแบบ ช่วยให้ผู้หญิงมุสลิมสามารถประนีประนอ ระหว่างอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิม และกระแสแอนตี้มุสลิมในสังคมก้าวหน้าของประเทศตะวันตก
“ฉันใช้แฟชั่นเป็นเครื่องมือในการกำจัดอคติต่อคนมุสลิม” เธอบอกกับ อัลจาซีรา “ฉันต้องการจะท้าทายภาพลักษณ์ที่โลกตะวันตกมองว่า สตรีมุสลิมถูกกดขี่” เธอกล่าว และว่า “ฉันรู้สึกว่า ฉันสามารถจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่กระทบต่อความเชื่อของฉัน แต่ยังคงได้รับการยอมรับจากทั้งศาสนาที่ฉันนับถือและจากสังคมสวีเดน”
ความขัดแย้งซึ่งเกิดจากอัตลักษณ์การแต่งกายเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของการเมืองโลกและการต่อรองทางวัฒนธรรม ดังเช่นที่ ฮาฟีส สาและ เขียนในบทความหัวข้อ “โลกาภิวัฒน์กับการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์มุสลิม: พลวัตของกระแสอิสลาม 'บริสุทธิ์' ในสังคมมุสลิมไทย” ในหนังสือ ‘คนหนุ่มสาวมุสลิมกับโลกสมัยใหม่’ ซึ่งนำเสนอกลุ่มมุสลิมผู้ยึดแนวอิสลามเพื่อต่อรองกับกระแสต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในโลกปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นว่า ศาสนาของตนไม่ได้เป็นศาสนาที่ล้าหลัง ยึดติดกับอดีต แต่มีความพยายามเคลื่อนไหว ทั้งในแง่การตอบสนอง พึ่งพา และแข่งกันกับกระแสต่างๆ ในสังคม ทั้งโลกาภิวัตน์ ความทันสมัย กระแสท้องถิ่นนิยม จารีตนิยม เสรีนิยม และกระแสการไหลตามวัฒนธรรมตะวันตก และยังคงอยู่รอดในการต่อรองทางอัตลักษณ์ได้อย่างน่าสนใจ
ฮาฟิส กล่าวว่า โดยทั่วไป เมื่อมีการเผชิญหน้าระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์ในสามลักษณะ คือ ถูกหลอมรวม ผสมผเสกัน และแยกขั้ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นบ่อยที่สุด คือวัฒนธรรมที่อ่อนแอกว่าถูกวัฒนธรรมที่มีพลวัตสูงกว่า (ซึ่งมักเป็นวัฒนธรรมโลกตะวันตก) หลอมรวมและผสมผเส
อัตลักษณ์แบบอิสลามนั้น มีการเดินทางและปะทะกับอัตลักษณ์แบบอื่นอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่อดีตที่มีชาวมุสลิมอพยพย้ายถิ่นฐาน อัตลักษณ์มุสลิมในปัจจุบันจึงเป็นผลมาจากการผสมผเสด้วยอัตลักษณ์อื่นๆ อย่างแน่นอน นอกจากนี้เมื่ออัตลักษณ์มุสลิมถิ่น (อัตลักษณ์ของชาวมุสลิมซึ่งเติบโตในชุมชนมุสลิม) เผชิญหน้ากับอัตลักษณ์ต่างวัฒนธรรม และเกิดการหลวมหลวมและผสมผสาน ฮาฟิส ยกตัวอย่างของการหลอมรวมของอัตลักษณ์มุสลิม เช่น การคลุมฮิญาบแต่สวมเสื้อรัดรูปตามแฟชั่น อย่างไรก็ตามก็ยังมีมุสลิมกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยและทั่วโลกที่รู้สึกหวงแหนอัตลักษณ์เดิม เป็นแรงผลักดันในการกอบกู้อัตลักษณ์เดิมกลับคืนมา และแนวทางการตอบโต้ คือกลับไปศึกษารากเหง้าของศาสนา และใช้เทคโนโลยี ความทันสมัยจากตะวันตกเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ เช่น การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ
มองมุสลิมะห์จากเพศสภาวะ: ผู้หญิงมุสลิม กับเพศที่ประกอบสร้างจากศาสนา
ในขณะที่อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ภาควิชาปรัชญา ม.อ. ปัตตานี และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เพศ และแนวคิดเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเพศ คือสิ่งที่ถูกประกอบสร้างทางสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมุสลิม คือทุกแง่มุมของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเพศหญิงนั้นได้รับการประกอบสร้างจากศาสนาอิสลาม ตั้งแต่บทบาท หน้าที่ และเป้าหมายของชีวิต ว่าจะต้องให้ผู้หญิงเป็นแบบไหน “ตั้งแต่เขาเกิดมาแล้วมีอวัยวะเพศหญิงตั้งแต่เกิดเนี่ย เขาก็จะถูกบอกว่าเขาต้องเป็นผู้หญิง พร้อมๆ กับบทบาทหน้าที่ต่างๆ ว่าผู้หญิงต้องทำอะไร ทำอันนี้ไม่ได้ และถ้าทำอันนี้ไม่ดี ต้องทำแบบนี้ ผู้หญิงที่ดีคือแบบนี้ เป้าหมายชีวิตของความเป็นผู้หญิงของเธอคือแบบนี้ เช่น ต้องแต่งงาน แล้วก็ต้องซื่อสัตย์กับสามี ต้องดูแลสามีให้ดี ต้องมีลูกและเลี้ยงลูก”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เพียงถูกประกอบสร้างจากสังคม โดยเฉพาะศาสนา เมื่อถูกตอกย้ำและกระทำซ้ำไปเรื่อยๆ เขาจึงเข้าใจว่า มันเป็นความจริง เป็นสัจธรรมที่ต้องทำและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อันธิฌากล่าว
เมื่อเข้าใจว่า เพศ คือสิ่งที่ถูกสังคมประกอบสร้างขึ้นมา เราจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า อัตลักษณ์ของผู้หญิงมุสลิมนั้นไม่ตายตัว และมีความแตกต่างกันตามสังคมที่เขาเติบโตขึ้นมา นั่นจึงทำให้ผู้หญิงมุสลิมจากกระบี่ ผู้หญิงมุสลิมจากกรุงเทพฯ และผู้หญิงมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแตกต่าง เนื่องจากแต่ละสังคมก็มีระดับความเข้มข้นในเรื่องการตอกย้ำบทบาทและหน้าที่ทางเพศที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ประสบการณ์การได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างศาสนา วัฒนธรรม ก็มีส่วนต่อความเข้มข้นในบทบาททางเพศ เช่น คนที่เรียนปอเนาะ มักมีความเข้มข้นต่อบทบาททางเพศสูงกว่าคนที่เคยไปศึกษาที่ตะวันตก เป็นต้น อัณธิฌากล่าว
อันธิฌา อธิบายว่า ความแตกต่างเหล่านี้มีพื้นฐานส่วนหนึ่งมาจากการประกอบสร้างทางสังคม ซึ่งเรื่องเพศเองก็เป็นเรื่องซึ่งถูกประกอบสร้างเช่นกัน เมื่อถูกประกอบสร้างจึงเปลี่ยนแปลงได้ ยกตัวอย่างเช่น การไม่เชื่อว่าผู้หญิงจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้นตามที่สังคมบอกให้เป็น เพราะหลักบัญญัติในคัมภีร์อาจจะมีเพียงสอง 2-3 บรรทัด ซึ่งไม่น่าจะมากพอที่จะที่จะบอกว่า ทั้งชีวิตของผู้หญิงต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง หากแต่ผู้หญิงในรูปแบบหนึ่ง เกิดจากการตีความแบบหนึ่งเสียมากกว่า “ของแบบนี้มันปรับได้ เปลี่ยนได้ ให้เข้ากับบริบททางสังคมหรือให้เข้ากับความหลากหลายของผู้หญิง หรือผู้หญิงที่ไม่เหมือนกันเลย”
เฟมินิสต์กับอิสลาม ไปกันได้?
อันธิฌา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากมองศาสนาอิสลามด้วยมุมมองเฟมินิสต์กระแสหลัก เขาจะมองวัฒนธรรมอิสลามหรือขนบของอิสลามที่เกี่ยวกับเรื่องเพศค่อนข้างเป็นไปในแง่ลบ ในขณะเดียวกันในอิสลามก็มีกลุ่มเฟมินิสต์มุสลิม ซึ่งคนกลุ่มนี้พยายามที่จะตีความศาสนาอย่างก้าวหน้า ให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้น
“เฟมินิสต์กลุ่มนี้เขาไม่ได้ออกจากความเชื่อหรือโจมตีศาสนา แต่เขากลับข้างกัน เขาใช้คำเดียวกันที่มันเคยกดขี่นี่แหละ แล้วตีความมันใหม่ เช่น การสวมฮิญาบ หากเป็นเฟมินิสต์แบบหนึ่งอาจจะมองว่านี่คือการกดขี่ผู้หญิง ทำไมผู้หญิงต้องคลุม แต่ผู้ชายไม่ต้องคลุม แต่ถ้ามองในมุมเฟมินิสต์มุสลิม เขาอธิบายว่า ฮิญาบเป็นสิ่งที่ผู้หญิงใช้เชื่อมโยงตนเองกับพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง ไม่ต้องผ่านใครเลย” อัฌธิชากล่าว และว่า คำอธิบายฮิญาบแบบนี้ กลับเป็นการเพิ่มอำนาจให้ผู้หญิง ว่าตนเองก็มีศักยภาพไม่น้อยกว่าผู้ชาย และมีเจตจำนงที่สามารถจัดการเนื้อตัวและร่างกายของตนเองได้ โดยทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพพระเจ้าของเขา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวผู้ชายหรือผู้นำศาสนา
ในปี 2012 สารคดี The Light in Her Eyes (แสงสว่างในตาของเธอ) เล่าถึงเรื่องราวการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมชาวมุสลิมเป็นที่แพร่หลายในสังคมโลก ตั้งแต่ปี 1990s เป็นต้นมา โดยที่อียิปต์เป็นเสมือนแนวหน้าของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกสิทธิแก้ผู้หญิง โดยเชื่อมโยงกับความเป็นชาติและความยุติธรรมในสังคม ในสารคดีกล่าวถึง การเคลื่อนไหวของสตรีมุสลิมว่า เป็นความพยายามในการอธิบายกระบวนทัศน์ของผู้หญิงในรูปแบบใหม่ นำโดยนักวิชาการหญิงชาวมุสลิมหลายคน เช่น Ziba Mir-Hosseini นักมานุษยวิทยาชาวอิหร่าน, Mai Yamani นักวิชาการหญิงชาวอิยิปต์ ฯลฯ การเคลื่อนไหวนั้น มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามการมองโลกอย่างสองขั้ว โลกตะวันตก vs อิสลาม, ทางโลก vs ทางศาสนา, จารีตประเพณี-ความเป็นสมัยใหม่ และเพื่อรวบรวมมุสลิมทั่วโลกเอาไว้ด้วยกัน นอกจากนั้น กลุ่มเฟมินิสต์มุสลิมยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับมุสลิมทุกคน ทั้งชายและหญิง ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตในพื้นที่สาธารณะ
นอกจากนั้น สารคดียังเล่าถึงปัญหาของหญิงมุสลิมจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการอพยพย้านถิ่นฐานไปยังประเทศใหม่ ซึ่งอาจมีพื้นฐานสังคมขัดแย้งกับสิ่งที่พวกเธอเชื่อ ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ การปิดคลุมศีรษะซึ่งเป็นสิ่งที่เฟมินิสต์กลุ่มอื่นๆ มองว่าเป็นการกดทับผู้หญิง ทำให้สตรีมุสลิมไม่สามารถแสดงออกได้ และมองการปิดคลุมของสตรีมุสลิม เป็นเครื่องมือในการสร้างมายาคติสังคมชายเป็นใหญ่ และการแบ่งแยกทางเพศชาย-หญิงที่ชัดเจน แต่ในอีกทางหนึ่ง สารคดีได้เสนอว่า การคลุมศีรษะสำหรับสตรีมุสลิมนั้น เป็นการแสดงออกถึงความเป็นสิทธิสตรี เป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ และเป็นการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม
การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมมุสลิม ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่การออกมาเดินขบวนบนท้องถนนอีกต่อไปแล้ว แต่พื้นที่ออนไลน์ ยังเป็นพื้นที่ที่ดีและมีประสิทธิภาพในการส่งสารอย่างแข็งแรง อย่างกรณีที่เกิดในปี 2013 มุสลิมสาว นูรูลัน ชาอิด ได้สร้างแฮชแท็ก #LifeofMuslimFeminist (ชีวิตของเฟมินิสต์มุสลิม) ในทวิตเตอร์ เล่าถึงความคับข้องใจในฐานะเฟมินิสต์มุสลิมและสิ่งที่เธอเผชิญหน้า โดยเธอบอกกับ Feminit Times ว่า เธออธิบายตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์มาโดยตลอด แต่เมื่อเธอบอกเช่นนั้น มุสลิมหลายๆ คนกลับบอกว่า สิ่งที่ศาสนาอิสลามมอบให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดแล้ว ศาสนาอิสลามจึงไม่จำเป็นต้องมีเฟมินิสต์ ในขณะเดียวกัน เฟมินิสต์กระแสหลักก็ไม่ยอมรับเธอ ต้องการจะถอดฮิญาบของเธอออก โดยยัดเยียดคำว่าเสรีภาพมาให้แทน “อิสลามบอกคุณว่า ศาสนาคุณไม่จำเป็นต้องมีสตรีนิยม ในขณะเดียวกัน สตรีนิยมกระแสหลักก็ปฏิเสธคุณ” ซึ่งทำให้เธออึดอัด ไม่มีที่ยืน เธอกล่าวว่า เธอไม่คิดว่าแฮชแท็กดังกล่าวจะเป็นที่พูดถึงขนาดนี้ เธอแค่ต้องการส่งสารให้สังคมรู้ว่า ความเป็นมุสลิมและความเป็นเฟมินิสต์สามารถไปด้วยกันได้ ไม่ใช่คู่ตรงข้ามกันอย่างที่ใครๆ คิด
อย่างไรก็ตามการแสดงความคิดเห็นและโต้เถียงผ่านโลกออกไลน์ ได้ทำให้เฟมินิสต์มุสลิมได้ติดต่อรวมกลุ่มกัน และได้พูดคุยเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ ที่พวกเธอกำลังเผชิญหน้าและหนทางที่พวกเธอจะต่อรองกับมัน ในขณะเดียวกันเธอได้รับความเข้าใจและกำลังใจจากหลายๆ คนที่ไม่ใช่มุสลิม และบอกว่า แฮชแท็กของเธอ ทำให้พวกเขาได้รู้จักและเข้าใจเฟมินิสต์มุสลิมมากขึ้น
ฮันนา ยูซุฟ สาวมุสลิม นักเขียนและนักข่าวสาวจากลอนดอน ทำวิดิโอเพื่อบอกกับโลกว่า ความคิดว่า ฮิญาบคือการกดขี่ เป็นความคิดที่เหมารวม เธอกล่าวว่า เธอและผู้หญิงอีกจำนวนมากตัดสินใจสวมฮิญาบด้วยตนเอง และไม่ได้ถูกบังคับด้วยเหตุผลหลายประการ เหตุผลหนึ่งคือ การที่ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของบริโภคนิยมที่สร้างกรอบความงามเกี่ยวกับผู้หญิง เช่น ต้องผอมเพรียว ต้องไร้ริ้วรอย ต้องสีผิวแบบใดแบบหนึ่ง ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดการบริโภค หากแต่เมื่อใส่ฮิญาบ เธอไม่ต้องถูกกดดันจากค่านิยมเหล่านี้ และได้อำนาจในการควบคุมร่างกายของเธอ เธอเรียกร้องให้คนอย่าด่วนตัดสินว่า ผู้หญิงที่คลุมฮิญาบทุกคนถูกบังคับหรือคิดเองไม่เป็น เธอย้ำว่า การบอกว่าผู้หญิงต้องถอดผ้าคลุมเท่านั้นจึงจะเป็นการปลดปล่อยนั้นไม่ถูกต้อง การได้มีเจตจำนงในการเลือกว่าจะใส่หรือไม่ใส่ฮิญาบต่างหากคือประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเธอก็ไม่ปฏิเสธว่า ผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็ถูกบังคับให้ใส่ฮิญาบจริง และอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรงหากไม่ใส่
“ไม่ว่าผู้หญิงมุสลิมจะส่งเสียงดังแค่ไหนก็ตามว่าพวกเธอต้องการที่จะสวมฮิญาบ เสียงเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการได้ยิน” เธอกล่าว “การปิดคลุมร่างกาย แสดงให้เห็นว่า เราปฏิเสธชุดความคิดที่ผู้หญิงจำเป็นต้องเซ็กซี่แต่ไม่ได้เป็นโสเภณี ผอมเพรียวแต่ยังต้องมีส่วนเว้าส่วนโค้ง ดูอ่อนเยาว์แต่ต้องเป็นธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดเป็นค่านิยมที่ผู้หญิงโดยทั่วไปพยายามจะเป็น แต่เป็นไม่ได้” Hannah บอกต่ออีกว่า “ผู้หญิงคลุมฮิญาบนั้น ไม่ต้องต่อรองกับความกดดันเหล่านี้”
ลองมาดูการขับเคลื่อนของสตรีมุสลิมกันที่ประเทศใกล้ตัวกันบ้าง กลุ่มมูซาวาห์เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรี จากสตรีมุสลิม เพื่อสตรีมุสลิมทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 220 คน จาก 47 ประเทศทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากกลุ่มเฟมินิสต์เล็กๆ ในมาเลเซีย ซึ่งขยายมาจากกลุ่ม Sisters in Islam หรือ SIS องค์เพื่อสิทธิสตรีในมาเลเซียที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ชารีอะห์ว่า ไม่ให้ความเท่าเทียมกับผู้หญิง และรณรงค์การตีความศาสนาอิสลามแบบหัวก้าวหน้าและไม่ละเมิดสิทธิสตรี รณรงค์ให้สตรีมุสลิมลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศภายใต้การเป็นมุสลิมที่ดี โดยชี้ให้เห็นว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาใดๆ โดยมีการจัดประชุมนานาชาติประจำปี รวมถึงการจัดเวทีกลุ่มย่อยตลอดปี
ศาสนาอิสลามกับการทวนกระแสในโลกปัจจุบัน
ในโลกยุคปัจจุบันที่กำลังก้าวหน้าและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้สตรีมุสลิมคนหนึ่งมีความเลื่อนไหลในด้านอัตลักษณ์ ซึ่งเกิดจากการประกอบสร้างในสังคมหลายๆ ส่วน ทั้งสังคมรอบตัว เพื่อน ครอบครัว การศึกษา ค่านิยม ฯลฯ
อับดุลลอฮฺ ผู้อำนวยการสถาบันวะสะฎียะห์ สำนักจุฬาราชมนตรี ให้ความเห็นต่อศาสนาอิสลามในกระแสโลกยุคปัจจุบันว่า จริงอยู่ที่บริบทสังคมเปลี่ยนไปตามกาลเวลาซึ่งทำให้คนเปลี่ยนไปด้วย แต่ศาสนานั้นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไปกับสังคมได้ หากจะเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น คงจะต้องสังคายนากันใหม่ตลอดเวลา และศาสนาก็จะไม่ใช่ศาสนา เพราะศาสนาอิสลามถือว่าเป็นบัญญัติจากเบื้องบน ไม่ใช่มนุษย์ร่างขึ้นมา ทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญที่มีคณะบุคคลร่างขึ้นมาซึ่งพร้อมที่แก้ไขได้ “ดังนั้นอิสลามจะต้องไม่ตามกระแส จะต้องทวนกระแส หากตามกระแสมันเป็นการตามแบบปลาตาย ปลาที่ทวนน้ำคือปลาที่เป็น ปลาที่มีความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา”
อัลดุลลอฮฺ กล่าวต่อว่า การที่ศาสนาอิสลามมีข้อบัญญัติที่เข้มงวดและมีบทลงโทษที่ยังคงใช้จนถึงทุกวันนี้ อาจจะทำให้ศาสนาอิสลามถูกมองว่าสุดโต่ง นอกจากนั้นยังมีข้อบัญญัติบางเรื่องที่จำเป็นที่ต้องคงไว้ เช่น การแต่งกาย การห้ามดื่มสุรา ห้ามทานเนื้อสุกร ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนมีเหตุผล เพราะข้อบัญญัติของศาสนาอิสลามตั้งอยู่ในพื้นฐานเดิมของมนุษย์ “มนุษย์เมื่อพันปีก่อนและมนุษย์ในปัจจุบันก็ยังคงเหมือนกัน ถูกออกแบบให้มีร่างกาย มีนิสัยใจคอทั้งดีและไม่ดีเหมือนๆ กัน ศาสนบัญญัติจึงเปลี่ยนไม่ได้ เพราะมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยน แต่ว่าศาสนาอิสลามมันก็มีบางจุดที่ยืดหยุ่นได้ ไม่ใช่ว่าจะหยุดนิ่งตายตัวไปเลย” เขากล่าว
เรื่องที่ยืดหยุ่นนั้น ก็คือการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและโลกยุคใหม่ที่ไม่ขัดแย้งกับหลักคำสอน และการหมั่นแสวงหาความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างสรรค์และพัฒนาตนเองของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาอิสลามให้คุณค่าและสนับสนุน “ความเป็นโลกสมัยใหม่นี่เป็นจุดร่วม มันจะมีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง คือในสังคมนั้น เราสามารถแสวงจุดที่เป็นจุดร่วมได้ ซึ่งเป็นจุดที่ใหญ่โตในสังคม คือการอยู่ร่วมกัน จะต้องประกอบอาชีพ ไปมาหาสู่ ทำธุรกรรม อันนี้เป็นจุดร่วมที่ศาสนบัญญัติยืดหยุ่นมากๆ แต่จุดต่างก็ต้องสงวนไว้”
อย่างไรก็ดี อับดุลลอฮฺ บอกว่า ความเป็นสมัยใหม่หรือความเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น ศาสนบัญญัติถือว่าเป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ศาสนาอิสลามมีเรื่องของความศรัทธามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของโลกจะเป็นสิ่งที่ทดสอบความศรัทธาของคนรุ่นใหม่ๆ ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะรักษาศรัทธาได้มากขนาดไหนในสังคมที่แตกต่างจากความเชื่อของพวกเขา ซึ่งหากพวกเขาทำได้ เขาก็จะเป็นคนที่ได้รับการขัดเกลาและได้รับอานิสงส์จากสิ่งที่ตนเองได้กระทำ
ข้อมูลจาก : prachatai.com
Tags: