จริงหรือ? ติดยาดม เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ใครที่ใช้ยาดมอยู่เป็นประจำ คงทราบดีว่ากลิ่นของยาดมทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สมองโล่ง แต่กลิ่นของยาดมจะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่หากใช้ไปนานๆ เราไปหาคำตอบกัน
ยาดม มีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
ถ้าอยากรู้ว่ายาดมจะเป็นอันตรายหรือเปล่า เราก็ต้องดูว่ายาดมมีส่วนประกอบอะไรที่อันตรายหรือไม่
- เมนทอล
เมนทอล หรือเกล็ดสะระแหน่ มีกลิ่นหอมเย็นที่หลายคนคุ้นเคย เพราะมักเป็นสารประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ช่วยลดอาการบวมของหลอดเลือดในจมูก และลดอาการปวดในบริเวณที่สัมผัส
- การบูร
แต่ก่อนเป็นสารสกัดจากการบูร แต่ปัจจุบันมักเป็นสารสังเคราะห์ เพราะทำได้ง่าย และราคาถูกกว่า มีฤทธิ์เป็นยาชา และต้านจุลินทรีย์อย่างอ่อนๆ จึงมักนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาทาเฉพาะที่ที่ต้องการลดอาการอักเสบปวดบวมภายนอก เช่น ยาทาแก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย
- พิมเสน
พิมเสนบริสุทธิ์ จะได้จากการนำการบูรมาหุงกับยาอื่นๆ แต่ปัจจุบันจะทำมาจากสารสังเคราะห์ มักใช้สูดดมแก้วิงเวียน มีฤทธิ์กระตุ้น สงบระบบประสาทส่วนกลาง และเป็นส่วนประกอบของยาทาแก้เคล็ดขัดยอกเหมือนกัน
- น้ำมันหอมระเหยอื่นๆ เช่น น้ำมันสะระแหน่ น้ำมันเขียว น้ำมันกานพลู หรือน้ำมันยูคาลิปตัส
- อาจมีสารสกัดจากสมุนไพรอื่นๆ แล้วแต่สูตร
ส่วนประกอบเด่นๆ เช่น เมนทอล การบูร พิมเสน ให้กลิ่นที่หอมเย็น ซ่า สดชื่น จมูกโล่ง เรียกประสาทต่างๆ ได้ดี จึงเหมาะแก่การดมเพื่อเรียกความสดชื่น ตื่นตัว แต่สารบ้างชนิดในยาดมสำหรับผู้มีอาการแพ้หรือมีโรคประจำตัวบางโรคอย่าง G6PD ถ้าได้รับสารเหล่านี้เข้าไปอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ดีเราควรไปตรวจสุขภาพเพื่อดูว่าเราแพ้สารใดหรือมีโรคประจำตัวอะไรจะได้ป้องกันได้ถูกต้อง
ทำไมเราถึงติดยาดม?
รู้หรือไม่ว่า สารประกอบอย่าง เมนทอล และการบูร เป็นสารที่ส่งผลต่อระบบประสาท จึงอาจทำให้เรา “เสพติด” ยาดมได้เหมือนกัน โดยรูปแบบจะเป็นการติดโดยเป็นนิสัย
ติดยาดมมากๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?
การสูดดมยาดมที่มีส่วนประกอบเย็นๆ อย่าง เมนทอล การบูร และพิมเสนบ่อยๆ อาจทำให้เยื่อเมือกบุทางเดินจมูกเกิดการระคายเคืองได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่ชอบสูดดมใกล้ๆ ยัดเข้าไปในรูจมูกนานๆ หรือใช้ยาดมที่มีส่วนผสมค่อนข้างเข้มข้น การใช้ยาดมบ่อยๆ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ และอาจมีอาการปอดอักเสบได้
นอกจากนี้สารละลายในยาดม อาจทำให้ผิวหนัง หรือเยื่อบุในจมูกอักเสบได้เมื่อสัมผัสอีกเช่นกัน
ใช้ยาดมอย่างไร ให้ปลอดภัย?
1. หากมีอาการคัดจมูก เป็นหวัด ต้องการความสดชื่น ควรหยิบมาดมใกล้ๆ จมูก สัก 1-2 นาที แล้วพักก่อน หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือยังไม่รู้สึกสดชื่น สามารถหยิบมาดมต่อได้อีก 1-2 นาที แล้วพัก
2. อย่าเสียบยาดมคาจมูกเป็นระยะเวลานานๆ เพราะอาจทำให้สูดกลิ่นยาดมเข้าไปอย่างเข้มข้นนาน และมากจนเกินไป
3. หากใช้เป็นยาหม่องน้ำ ไม่ควรนำมาสัมผัสที่จมูกโดยตรง แต่ควรหยดใส่ผ้าเช็ดหน้า หรือทาบริเวณอกแทน
4. ไม่ควรให้เด็กเล็กใช้ยาดม เพราะเยื่อบุภายในจมูกอาจยังบอบบางจนเกินไป
5. หากไม่ได้ใช้ยาดมแล้วรู้สึกมึนหัว คัดจมูก หายใจไม่ออก หรืออาการอื่นๆ บ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะยาดมเหมาะสำหรับแก้อาการเหล่านี้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ยาดมเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีราคาถูก และหากใช้อย่างถูกวิธี นอกจากจะปลอดภัยต่อร่างกายแล้ว ยังมีประโยชน์ในยามคับขันได้ เช่น เมื่อมีอาการคล้ายเป็นลม หน้ามืด ตามัว เมารถ เมาเรือ และอื่นๆ ดังนั้นควรใช้ยาดมให้เป็น ให้ถูกจุดประสงค์เป็นครั้งๆ ไป จะดีกว่า
Tags: