เคล็ดลับกับวิธีการเก็บเงิน สำหรับผู้มี “รายได้น้อย” ออมเงินให้มีเงินเหลือใช้ แบบฉบับง่าย ๆ
น้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่หลายคน มักจะอยากรีบออมเงิน ให้ได้เยอะๆ เพื่อที่จะได้นำเงินไปทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง แต่ก็มักจะเจอกับเหตุการณ์ที่ออมเงินมากเกินไปจนทำให้ไม่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือนจึงเป็นเหตุให้ต้องดึงเงินเก็บออกมาใช้ ดึงไปดึงมาเงินเก็บก็หมดไป เท่ากับว่าต้องมาเริ่มใหม่กันอีกครั้ง หากเป็นบ่อยเข้าก็คงจะไม่ดีแน่ๆ
การรู้จักเก็บ ออมเงิน นั้นถือเป็นสิ่งที่ดี หากแต่ออมมากเกินไปจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันก็คงไม่ดีอย่างแน่นอน เราจึงมีตัวอย่าง วิธีออมเงินอย่างไรให้มีเงินเหลือใช้จนถึงสิ้นเดือนมาฝากกัน เพื่อที่น้องๆ จะได้มีแนวทางสำหรับวางแผนการเริ่มเก็บเงินที่จะไม่กระทบการใช้ชีวิต และยังรักษาเงินเก็บไว้ได้อีกด้วย ว่าแล้วก็ไปดูกัน
จำกัดค่าอาหารต่อวัน
เริ่มต้นกันด้วยการจำกัดค่าอาหารต่อวันของเรา วิธีดูเหมือนจะเป็นการประหยัดมากกว่าการออมเงิน แต่จริงๆ แล้ววิธีนี้นั้นจะช่วยให้เรารู้ว่าออมเงินได้เท่าไหร่ง่ายขึ้น เพราะเมื่อเราจำกัดค่าอาหารต่อวัน ก็จะทำให้เรารู้ยอดรวมค่าใช้จ่ายค่าอาหารคร่าวๆ ของเราในแต่ละเดือนแล้วว่าจะมีจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นก็นำไปรวมกับค่าใช้จ่ายประจำเดือนอื่นๆ ที่เราต้องจ่าย แล้วนำไปหักลบกับเงินเดือนที่เราได้รับ เหลือตัวเลขเท่าไหร่ก็คือจำนวนของเงินที่เราจะสามารถนำมาออมเงินได้นั้นเอง
ตัวอย่างเช่น
เรากำหนดว่า จำกัดค่าอาหารต่อวันไว้ที่ 150 บาทต่อวัน (1 เดือนตีเป็นเลขกลมๆ ที่ 30 วัน) จะเท่ากับ 150 x 30 = 4,500 บาท
โดยที่ 4,500 บาทนี้คือ ค่าอาหารของเราทั้งเดือน จากนั้นก็นำไปรวมกับค่าใช้จ่ายประจำเดือนอื่นๆ เช่น ค่าน้ำค่าไฟ 1,000 บาท ค่าโทรศัพท์
500 บาท ค่าเช่าห้อง 5,000 บาท ค่ารถไปทำงาน 2,000 บาท (ต่อเดือน) ค่าอินเตอร์เน็ตที่ห้อง 850 บาท
เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเท่ากับ 4,500 + 1,000 + 500 + 5,000 + 2,000 + 850 = 13,850 บาทต่อเดือน จากนั้นก็นำไปหักลบกับเงินเดือน คิดเงินเดือนที่ 15,000 บาท เท่ากับ 15,000 - 13,850 = 1,150 บาท
เงินที่จะนำไปออมเงินได้โดยไม่เดือดร้อนการใช้ชีวิตคือ 1,150 บาทต่อเดือน ซึ่งนอกจากเราจะรู้ส่วนนี้แล้วยังจะทำให้เราเห็นค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกด้วยว่า ค่าใช้จ่ายไหนที่มีการใช้จ่ายไปเยอะมากในแต่ละเดือน หากเราต้องการมีเงินออมมากขึ้นเราก็อาจจะไปตัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพื่อนำมาเป็นเงินเก็บก็ได้
ออมเงิน 10 – 20 % จากเงินเดือน
วิธีนี้จะต่างจากวิธีก่อนหน้านี้ เพราะเราจะไม่มีการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ก่อนที่จะนำเงินไปเก็บออมแต่เราจะเก็บเงินเลยทันทีที่ได้รับเงินเดือนมา โดยส่วนมากจะเก็บกันขั้นต่ำที่ 10 - 20% ต่อเดือน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตของเรามากนัก แต่บางคนอาจจะเก็บมากกว่านี้ก็ได้ แต่ก็อยากให้คำนวณถึงการใช้ชีวิตของเราด้วย เพราะเก็บออมมากจนเกินไปจนใช้ชีวิตลำบากก็คงไม่ดีแน่ๆ ทางสายกลางครับเก็บแต่พอดี มีกิน มีใช้ มีเก็บ ดีที่สุดครับ
ตัวอย่างเช่น
เงินเดือน 15,000 บาท ออมเงิน 10% ทันทีเมื่อได้รับเงินเดือนจะเท่ากับ 15,000 x 10% = 1,500 บาท
เมื่อเรารู้จำนวนแล้วก็ให้เรานำเงินไปเก็บไว้ในบัญชีออมเงินของเราได้เลยทันที หลังนั้นเราจึงนำเงินเดือนที่เหลือมาแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อให้ใช้จ่ายได้จนครบเดือน
ออมวันรายวัน
ถ้าดูจากข้อแรกแล้ว เงินออมเหลือน้อยเหลือเกิน แค่เดือนละ 1,000 นิดๆ ไม่ทันใจคนอยากเก็บเลย แต่รายจ่ายต่างๆ มันก็ตัดลดได้ยากเหลือเกินเพราะว่าเป็นรายจ่ายจำเป็นทั้งนั้น เราก็มีวิธีเพิ่มเติมมานำเสนอกันนั่นก็คือ การออมเงิน แบบรายวันนั้นเอง วิธีการนั้นแสนง่ายเพียงแค่เรากำหนดไว้ว่าเราต้องออมเงินขั้นต่ำและมากสุดวันละเท่าไหร่ จากนั้นในทุกวัน เราก็ต้องหยอดกระปุกตามที่เราให้ได้ตามที่กำหนดไว้เพื่อที่เราจะได้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นนั่นเอง วิธีนี้จะใช้เป็นวิธีหลักในการ ออมเงิน ก็ได้หรือจะใช้เป็นวิธีเสริมจากการออมเงินวิธีอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่าง
เรากำหนดว่าจะออมเงินต่ำสุดที่วันละ 20 บาท มากสุดที่วันละ 50 บาท จากนั้นในทุกๆ เย็นหลังเลิกงาน ก็ให้เรานำเงินมาหยอดกระปุกตามที่กำหนดไว้ โดยวันไหนเหลือเงินมากก็หยอดมาก เหลือน้อยก็หยอดน้อย ค่อยๆ เก็บไปเดี๋ยวก็ได้เป็นเงินก้อนใหญ่
เงินเดือนน้อย ก็ให้หารายได้เสริมมาช่วยเอา
หากว่าจนแล้วจนรอดทุกวิธีการที่ใช้มายังไม่ได้เงินเก็บเท่าที่ใจหวัง แต่การใช้ชีวิตไม่มีปัญหา มีกิน มีใช้ มีเก็บ ไม่เดือดร้อน แต่ใจแค่อยากได้เงินเก็บเพิ่มเท่านั้น หากเป็นแบบนี้ก็หารายได้เสริมได้เลย เพราะว่ารายได้เสริมนี่แหละที่จะสามารถนำมาเป็นเงินเก็บได้อย่างดีเลยทีเดียว เพราะเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นโอกาสในการเก็บเงินได้มากขึ้นก็จะตามมาด้วย หากว่าเราอยากมีเงินเก็บๆ เยอะก็ควรที่จะมีรายได้เสริมเพิ่มจากรายได้หลักอีกด้วย และเมื่อทำได้ตามนี้การที่จะมีเงินเก็บเยอะๆ ก็คงไม่ยากอีกต่อไป
ตัวอย่างรายได้เสริมเช่น ติวเตอร์ ขายของออนไลน์ เป็นต้น ไม่แน่ว่าจากรายได้เสริมอาจจะกลายเป็นรายได้หลักขึ้นมาก็ได้หากว่าเราเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อยอดไปเรื่อยๆ
การรู้จักออมเงิน ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะถือเป็นการสร้างนิสัยและวินัยที่ดีให้กับตัวเรา แต่อย่าให้เกินตัว ออมเงิน แต่พอดีเท่าที่เราไม่เดือดร้อนจะดีที่สุด สามารถลองนำวิธีที่นำมาฝากกันนี้ไปปรับใช้กันดู ได้ผลอย่างไรมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ
ที่มา: sanook
Tags: