4 เคล็ดลับดูแล น้องสาว ช่วงมีประจำเดือน ที่ถูกต้องทำแบบนี้
ความสวยงามของผิวพรรณ รูปร่าง หน้าตา ติดอันดับต้นๆ ของสิ่งที่ผู้หญิงอย่างเราๆ ให้ความสนใจและดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งสาวๆ หลายคนอาจจะมองข้ามการดูแลสุขภาพร่างกายบางจุดไป อย่างเช่น จุดซ่อนเร้น หรือ “น้องสาว” ของเรานั่นเอง รู้ไหมว่า ส่วนเนี่ยเป็นสิ่งที่ต้องดูแลมากเป็นพิเศษเชียวนะ โดยเฉพาะเมื่อมีประจำเดือน วันนี้เรามีเคล็ดลับในการ ดูแลอวัยวะเพศ หรือน้องสาว มาแชร์ให้ได้ฟังกันค่ะ
ทุกวันนี้คุณดูแล “น้องสาว” ถูกต้องหรือยัง?
1. ควรทําความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ แล้วเช็ดให้แห้ง ไม่จําเป็นต้องใช้น้ำยาชําระเฉพาะที่ และไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
2. หลังปัสสาวะควรชําระด้วยน้ำสะอาด และหลังการถ่ายอุจจาระควรฉีดน้ำชําระ และใช้กระดาษชําระเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ป้องกันช่องคลอดติดเชื้อ
3. เลือกใช้กางเกงในที่ทําด้วยผ้าฝ้าย จะช่วยลดปัญหาการอับชื้นได้ และไม่ใช้กางเกงในปะปนกับผู้อื่น
4. หมั่นสังเกตอวัยวะเพศว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ อาทิ ตกขาว ประจําเดือนมาผิดปกติ เป็นต้น
เช็กความเป็นไป “วันนั้นของเดือน”
เราควรตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอว่า ประจําเดือนมาปกติหรือไม่ โดยทั่วไปผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีรอบเดือนทุกๆ 28 วัน แต่อาจจะมีระยะรอบตั้งแต่ 20-45 วันได้ ส่วนจํานวนประจําเดือนที่ถือว่ามาปกตินั้นอยู่ที่ 3-7 วัน การนับรอบเดือนจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ประจําเดือนมา โดยเริ่มนับเป็นวันที่ 1 จนถึงวันแรกของประจําเดือนในเดือนถัดไป นับระยะห่างได้กี่วันก็แสดงว่าเรามีรอบเดือนตามนั้น ส่วนระยะรอบเดือนจะสม่ำเสมอหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น มดลูก รังไข่ ระบบฮอร์โมน รวมทั้งสภาพจิตใจ อารมณ์ และสถานการณ์ชีวิตของแต่ละคนโดยทั่วไปในระหว่างหรือใกล้ระยะเวลาที่มีประจําเดือน ผู้หญิงทั่วไปมักมีอาการปวดท้องน้อยร่วม แต่จะไม่รบกวนการดําเนินชีวิตประจําวัน หากมีอาการปวดประจําเดือนรุนแรงมากผิดปกติต้องระวังไว้
เคล็ดลับเตรียมรับมือช่วงมีประจําเดือน
1. ออกกําลังกายพอเหมาะ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน จะช่วยป้องกันการปวดท้อง เพราะร่างกายได้ระบายความเครียดได้รับการกระตุ้นฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน
2. ทานอาหารประเภทธัญพืช ผักใบเขียว ผลไม้ เช่น ผักโขม ปวยเล้งเต้าหู้สด ถั่วต่างๆ กล้วย ที่มีธาตุแมกนีเซียมที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อมดลูก หลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารสําเร็จรูป
3. เลี่ยงเนื้อแดง นม และอาหารเค็ม จะช่วยลดอาการก่อนมีประจําเดือนและอาการปวดประจําเดือน
4. ทานเนื้อปลาเพิ่มจะช่วยลดอาการปวดประจําเดือน มีการศึกษาพบว่า การได้รับโอเมก้า 3 จะลดอาการประจําเดือนมามาก ส่วนการได้รับวิตามินบี 1 จะช่วยลดอาการปวดประจําเดือนได้
อาการผิดปกติเกี่ยวกับประจําเดือนที่ไม่ควรมองข้าม
ไม่ควรชะล่าใจกับอาการผิดปกติเหล่านี้ เช่น อาการปวดท้องรุนแรง เลือดออกผิดปกติ หรือตกขาวผิดปกติ ประจําเดือนมามาก หรือกะปริบกะปรอย เพราะอาจเป็นอาการของโรคต่างๆ ดังนี้
1. ภาวะเยื่อบุผนังโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ใครที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังควรไปตรวจเช็ก เพราะอาจมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคฮิตของผู้หญิงที่ยังไม่มีบุตรในช่วงอายุ 25-44 ปี แต่ผู้หญิงมีบุตรก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
ลักษณะอาการ
1. มีอาการปวดก่อนและระหว่างมีประจําเดือน
2. ปวดท้องน้อยแปลบๆ ขณะมีเพศสัมพันธ์
3. ปวดปัสสาวะบ่อย ท้องเดินบ่อย หรือถ่ายลําบาก และอาการจะรุนแรงช่วงใกล้มี หรือกําลังมีประจําเดือน แต่เมื่อหมดประจําเดือนอาการก็จะหายไป
4. มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ นอกเหนือจากการมีประจําเดือนไม่สม่ำเสมอ และออกเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ
2. เนื้องอกมดลูก
เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง สาเหตุการเกิดยังไม่รู้แน่ชัด ส่วนอาการของโรคขึ้นอยู่กับขนาดและตําแหน่งของเนื้องอก ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นก็คือการมีบุตรยาก
ลักษณะอาการ
1. ประจําเดือนมามากผิดปกติ
2. มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างรอบเดือน
3. มีอาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
3. มะเร็งปากมดลูก
พบมากในผู้หญิงช่วงอายุ 30-50 ปี สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชวีพี และมีปัจจัยส่งเสริมที่ทําให้เกิด อาทิ
- มีคู่นอนหลาย
- คนร่วมเพศตั้งแต่อายุยังน้อย
- มีบุตรยากหรือมีบุตรตั้งแต่อายุยังน้อย
- เคยมีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น กามโรคหรือเริม ฯลฯ
- ทานยาคุมกําเนิดเป็นเวลานาน
- ไม่เคยมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ลักษณะอาการ
1. มีตกขาวผิดปกติ เช่น มีตกขาวบ่อยๆ หรือออกมามากกว่าปกติ หรือมีสีผิดปกติ เช่น สีเหลือง สีเขียว หรือมีเลือดปน และตกขาวมีกลิ่นเหม็น
2. ประจําเดือนมาไม่ปกติ มีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือมีเลือดออกมาก
3. มีเลือดออกขณะร่วมเพศ หรือหลังร่วมเพศ
4. มีเลือดออกทางช่องคลอดขณะที่อยู่ในวัยหมดประจําเดือน
5. มีอาการอ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด
เอ็มไทย
Tags: