เช็คด่วน!!! สัญญาณ ที่บ่งบอกว่าคุณเป็นลูกเนรคุณ
มีอายะฮฺอัล-กุรอานหลายอายะฮฺที่กำชับให้ทำดีกับบิดามารดา ตัวอย่างเช่น ในสูเราะฮฺ อัล-อิสรออ์ อายะฮฺที่ 23-24
«وَقَضىٰ رَبُّكَ أَلاَّ تَعْبُدُواْ إِلاَّ إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَاناً إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِندَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلاَهُمَا فَلاَ تَقُل لَّهُمَا أُفٍّ وَلاَ تَنْهَرْهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوْلاً كَرِيماً، وَاخْفِضْ لَهُمَا جَنَاحَ الذُّلِّ مِنَ الرَّحْمَةِ وَقُل رَّبِّ ارْحَمْهُمَا كَمَا رَبَّيَانِي صَغِيراً) (الإسراء : ٢٣-24)َ
ความว่า "และองค์อภิบาลของเจ้าได้สั่งว่า พวกเจ้าอย่าได้เคารพภักดีผู้อื่นนอกจากพระองค์ และกับบิดามารดานั้นจะต้องทำดี เมื่อผู้ใดระหว่างบิดามารดาหรือทั้งสองคนได้บรรลุวัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นจงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ (นั่นคือกล่าวแสดงความไม่พอใจ) และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงกล่าวกับทั้งสองด้วยคำพูดที่ดี และจงอ่อนน้อมแก่ท่านทั้งสองด้วยความเมตตา และจงขอว่า โอ้ผู้อภิบาลฉัน ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นที่พวกเขาได้เลี้ยงดูฉันมาเมื่อครั้งยังเยาว์วัย"
เป็นที่สังเกตว่า อัลลอฮฺได้กล่าวถึงการทำดีกับพ่อแม่หลังจากที่พระองค์สั่งให้เคารพภักดีพระองค์ เป็นการบอกถึงความสำคัญที่ต้องทดแทนคุณของทั้งสอง และยังเจาะจงกำชับการทำดีกับทั้งสองเมื่อถึงวัยชรา เพราะเวลานั้นลูกย่อมต้องเป็นที่ต้องการเพื่อดูแลปรนนิบัติและช่วยเหลือพ่อแม่มากกว่าเวลาอื่นใด (ดูบทอธิบายใน ฟัตหุล เกาะดีรฺ ของอัช-เชากานีย์)
นี่คืออิสลาม คำสอนที่กำหนดให้การทำดีกับพ่อแม่เป็นภาระหน้าที่สำคัญรองลงมาจากการศรัทธาและอิบาดะฮฺในขณะที่ความสำคัญของแม่เพียงผู้เดียวก็เป็นที่เด่นชัดและถูกกำชับมากขึ้นอีก เพราะอัลลอฮฺได้สั่งให้ทำดีกับพ่อแม่และได้เจาะจงพูดถึงแม่ด้วยการอธิบายถึงความยากลำบากและความเหนื่อยยากในการอุ้มท้อง ในสูเราะฮฺ ลุกมาน อายะฮฺที่ 14
«وَوَصَّيْنَا الْإِنسَانَ بِوَالِدَيْهِ حَمَلَتْهُ أُمُّهُ وَهْناً عَلَى وَهْنٍ وَفِصَالُهُ فِي عَامَيْنِ أَنِ اشْكُرْ لِي وَلِوَالِدَيْكَ إِلَيَّ الْمَصِيرُ» (لقمان : 14 )
ความว่า "และเราได้สั่งมนุษย์ให้ทำดีกับพ่อแม่ของเขา ผู้เป็นแม่ได้อุ้มครรภ์เขาด้วยความเหนื่อยยากเป็นทวี และยังให้นมเขาในเวลาสองปี เจ้าจงขอบคุณข้า(หมายถึงพระองค์อัลลอฮฺ) และขอบคุณบิดามารดาของเจ้า ยังข้านั้นคือที่ที่เจ้าต้องกลับมา"
อัลลอฮฺยังได้ตรัสในสูเราะฮฺ อัล-อะห์กอฟ อายะฮฺที่ 15 อีกว่า
(وَوَصَّيْنَا الْإِنسَانَ بِوَالِدَيْهِ إِحْسَاناً حَمَلَتْهُ أُمُّهُ كُرْهاً وَوَضَعَتْهُ كُرْهاً وَحَمْلُهُ وَفِصَالُهُ ثَلَاثُونَ شَهْراً) (الأحقاف : 15 )
ความว่า "และเราได้สั่งมนุษย์ให้ทำดีกับพ่อแม่ของเขา มารดาของเขาได้อุ้มท้องเขาด้วยความเหนื่อยยาก และได้คลอดเขาด้วยความเจ็บปวด ทั้งอุ้มครรภ์และให้นมในเวลาสามสิบเดือน"
นักอรรถาธิบายอัล-กุรอานได้กล่าวว่า เหตุที่อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงมารดาและการอุ้มท้องของนาง เพื่อการย้ำถึงหน้าที่ที่ต้องทำดีกับนาง นี่คือสถานะของแม่ในอัล-กุรอานและบัญญัติของอิสลามที่ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาจากที่อื่นอีกเลย
แม่เป็นผู้ที่ควรต้องได้รับการเอาใจใส่และตอบแทนคุณมากกว่าบิดา ในหะดีษมีว่า
جَاءَ رَجُلٌ إِلَى رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ: يَا رَسُولَ اللهِ مَنْ أَحَقُّ النَّاسِ بِحُسْنِ صَحَابَتِي؟ قَالَ: «أُمُّكَ» قَالَ: ثُمَّ مَنْ؟ قَالَ: «ثُمَّ أُمُّكَ» قَالَ: ثُمَّ مَنْ؟ قَالَ: «ثُمَّ أُمُّكَ» قَالَ: ثُمَّ مَنْ؟ قَالَ: «ثُمَّ أَبُوكَ».
ความว่า เศาะหาบะฮฺ(สาวก)ท่านหนึ่งได้ถามท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าผู้ใดที่ฉันควรทำดีต่อเขามากที่สุด ? ท่านตอบว่า "มารดาของท่าน" เศาะหาบะฮฺผู้นั้นได้ถามต่อว่าหลังจากนั้นล่ะ ? ท่านตอบอีกว่า "มารดาของท่าน" เขาถามท่านต่ออีกว่า หลังจากนั้นเป็นผู้ใดต่อ ? ท่านศาสนทูตยังตอบอีกว่า "มารดาของท่าน" เศาะหาบะฮฺผู้นั้นยังไม่หยุดถามว่า หลังจากนั้นเป็นใครอีก? ในที่สุดท่านศาสนทูตจึงตอบว่า "บิดาของท่าน" (บันทึกโดย อัล-บุคอรี 5971)
จากหะดีษข้างต้นเข้าใจว่า สำหรับแม่แล้วควรจะต้องได้รับการทำดีมากกว่าผู้เป็นพ่อถึงสามเท่า เพราะเหตุจากความยากลำบากในการอุ้มท้อง การคลอดและการให้นม ความเหนื่อยยากเหล่านี้มีเพียงแม่ผู้เดียวเท่านั้นที่ต้องแบกรับส่วนพ่อนั้นมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูเท่านั้น (ดู ฟัตหุล บารี 12/492)
«إِنَّ اللهَ يُوصِيْكُمْ بِأُمَّهَاتِكُمْ ـ ثَلَاثًا ـ إِنَّ اللهَ تَعَالٰى يُوْصِيْكُمْ بِآبَائِكُمْ ـ مَرَّتَيْنِ ـ إِنَّ اللهَ تَعَالٰى يُوْصِيْكُمْ بِالْأَقْرَبِ فَالْأَقْرَبِ»ْ
ความว่า "แท้จริงอัลลอฮฺได้สั่งเสียพวกเจ้าให้ทำดีกับมารดา (ท่านได้กล่าวสามครั้ง) แท้จริงอัลลอฮฺได้สั่งเสียพวกเจ้าให้ทำดีกับบิดาของพวกเจ้า (ท่านได้กล่าวสองครั้ง) แท้จริงอัลลอฮฺได้สั่งเสียพวกเจ้าให้ทำดีกับผู้ที่ใกล้กับพวกเจ้าที่สุดและผู้ที่ใกล้กับพวกเจ้าผู้ถัดไปเรื่อยๆ" (เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ1924)
การอกตัญญูต่อพ่อแม่นั้นเป็นความผิดที่ร้ายแรง แต่การอกตัญญูต่อแม่นั้นมีบาปที่มหันต์ยิ่งกว่า เพราะท่านศาสนทูต ได้บอกอย่างเจาะจงเลยว่าอัลลอฮฺทรงห้ามการอกตัญญูต่อผู้เป็นแม่ ท่านได้กล่าวว่า
«إِنَّ اللهَ حَرَّمَ عَلَيْكُمْ عُقُوقَ الْأُمَّهَاتِ ... »
ความว่า "แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงห้ามการอกตัญญูต่อผู้เป็นมารดา" (บันทึกโดย อัลบุคอรี 5975)
ครั้งหนึ่ง ท่านศาสนทูต ได้ประกาศในขณะที่จะออกไปญิฮาดทำสงครามกับกองทัพของศัตรู สาวกผู้หนึ่งได้มาหาท่าน เพื่อขอร่วมในการพลีชีพเพื่อสวนสวรรค์ด้วย ท่านกลับถามเขาว่า "ท่านมีมารดาอยู่หรือไม่?" ชายผู้นั้นตอบว่า มี ท่าน ศาสนทูต จึงกล่าวแก่เขาว่า
«الْزَمْهَا فَإِنَّ الْجَنَّةَ تَحْتَ أَقْدَامِهَا»
"จงกลับไปอยู่กับแม่ของท่าน เพราะแท้จริงสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของนาง" (เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 1248)
ความหมายที่ถูกอธิบายก็คือ ผลตอบแทนที่เป็นสวรรค์นั้นเกี่ยวข้องกับการทำดีต่อผู้เป็นแม่ ด้วยการทำให้แม่พอใจ เสมือนกับว่าแม่นั้นเป็นเจ้าของสวรรค์ ผู้ใดที่ต้องการจึงต้องเข้าไปหาและทำดีกับแม่จึงจะได้รับผลตอบแทนนั้น (ดูบทอธิบายของ อิมาม อัส-สินดีย์ ต่อ สุนัน อัน-นะสาอีย์ 5/318)
เพียงเท่านี้คงพอจะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า อิสลามได้ให้ความหมายกับสถานะผู้เป็นแม่ไว้สูงเพียงใด อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งด้วยความลำเลิศ และอัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง
การเป็นลูกเนรคุณ ที่มีสัญญาณต่างๆ 33 ประการ ดังนี้
1. ทำให้พ่อแม่เสียใจ หรือเสียน้ำตา เนื่องจากคำพูด การกระทำหรือพฤติกรรม
2. ตะคอก ทะเลาะวิวาท หรือขึ้นเสียง ต่อหน้าพ่อแม่
3. กล่าวคำว่า “อุฟ” ดื้อ หรือไม่ทำตามคำสั่งใช้ของพ่อแม่
4. หน้าบูดบึ้ง ขมวดคิ้ว แสดงไม่พอใจพ่อแม่
5. มองพ่อแม่ด้วยหางตา หรือมองด้วยสายตาแสดงความไม่พอใจ
6. สั่งใช้พ่อแม่ทำ สิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน เช่น ซักเสื้อผ้าของเรา หุงหาอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามท่านแก่ชรา แต่ถ้าหากทั้งสอง ยินดีให้ความช่วยเหลือ ด้วยความสมัครใจ ก็ไม่ถือว่าเนรคุณ แต่ลูกๆ ควรตอบแทน ด้วยการขอบคุณ และดุอาแก่ท่านทั้งสองตลอดเวลา
7. ตำหนิอาหารที่เตรียม โดยคุณแม่ การกระทำเช่นนี้ มีความผิด 2 ประการ ประการแรก ฝ่าฝืนสุนนะฮฺท่านนบี (ขอความสันติสุข จงมีแด่ท่าน) เพราะท่าน นบีฯ ไม่เคยตำหนิอาหารเลย หากท่านชอบ ท่านก็จะทานอาหารนั้น หากท่านไม่ชอบ ท่านจะไม่ทาน โดยไม่ตำหนิอะไรเลย ประการที่สอง แสดงกิริยามารยาท ที่ไม่ดีต่อคุณแม่
8. ไม่ช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน เช่น ซักเสื้อผ้า หุงอาหาร เลี้ยงดูน้องๆ เป็นต้น
9. ตัดคำพูดของพ่อแม่ กล่าวหาพ่อแม่ว่าพูดโกหก หรือโต้เถียงกับพ่อแม่
10. ไม่ปรึกษาหารือพ่อแม่ ไม่ขออนุญาตพ่อแม่ ยามออกนอกบ้าน หรือเที่ยวตามบ้านเพื่อน
11. ไม่ขออนุญาตยามเข้าห้องนอนพ่อแม่
12. ชอบเล่าเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจแก่พ่อแม่
13. ทำลายชื่อเสียง หรือนินทาพ่อแม่ลับหลัง
14. แช่งหรือด่าพ่อแม่ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ด่าพ่อแม่ทางตรง คือด่าพ่อแม่ต่อหน้าทั้งสอง ส่วนด่าพ่อแม่ทางอ้อม คือการที่เราด่าพ่อแม่เพื่อนของเรา และเพื่อนคนนั้น ก็ด่าพ่อแม่เรากลับ ดังนั้น คำด่าของเพื่อนเรา เปรียบเสมือนเราด่าพ่อแม่ โดยทางอ้อม เพราะเราเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้เพื่อนด่าพ่อแม่เรา
15. นำพาสิ่งหะรอม เข้ามาในบ้าน เช่น เครื่องดนตรี ทำให้พ่อแม่พลอยรับความไม่ดี จากสิ่งหะรอมนั้นด้วย
16. กระทำสิ่งหะรอม ต่อหน้าพ่อแม่ เช่น สูบบุหรี่ ฟังเพลง ไม่ละหมาด ไม่ลุกขึ้น เมื่อทั้งสองปลุกให้ตื่นละหมาด
17. ทำให้ชื่อเสียงพ่อแม่ด่างพร้อย เพราะการกระทำของเรา เช่น เมื่อลูกๆ ชอบลักเล็กขโมยน้อย ติดยาเสพติด เล่นการพนัน ซิ่งมอเตอร์ไซค์ ทำให้พ่อแม่ ต้องอับอาย หรือเสียชื่อเสียงไปด้วย
18. ทำให้พ่อแม่ยากลำบาก บางครั้งพ่อแม่ ต้องระเหเร่ร่อน ตามหาลูกๆ ที่หนีออกจากบ้าน หรือต้องขึ้นลงโรงพัก เพื่อให้ประกันลูกๆ ที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งสร้างความลำบาก แก่พ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง ทำให้พ่อแม่เสียเวลา และเงินทอง เพื่อเป็นธุระแก่ลูกรัก
19. ออกจากบ้าน หรือเที่ยวบ้านเพื่อน เป็นเวลานาน ทำให้พ่อแม่เป็นห่วง บางทีพ่อแม่ต้องการความช่วยเหลือจากลูก หรือประสบกับความยากลำบาก และเหน็ดเหนื่อย จากการทำงานหนัก แต่ลูกๆ กำลังสนุกสนาน กับเพื่อนๆ ที่สถานเริงรมย์ หรืองานเลี้ยงฉลอง ในโอกาสต่างๆ
20. ชอบให้พ่อแม่ ทำโน่นทำนี่เป็นประจำ ให้ซื้อของเป็นประจำ และไม่รักษาสิ่งของที่พ่อแม่ซื้อ คะยั้นคะยอพ่อแม่ ซื้อสิ่งของที่แพงๆ ทั้งที่พ่อแม่มีรายได้ ที่ไม่เพียงพอ
21. รักภรรยาหรือสามี มากกว่าพ่อแม่ ทะเลาะกับพ่อแม่ เนื่องจากภรรยาหรือสามีที่ไม่ดี อ่อนโยนต่อภรรยาหรือสามี แต่แข็งกร้าวต่อหน้าพ่อแม่
22. ปลีกตัวจากพ่อแม่ ไม่อาศัยอยู่พร้อมกันกับพ่อแม่ โดยเฉพาะยามที่ทั้งสองแก่เฒ่า
23. ลูกบางคนรู้สึกอับอาย หรือกระดากใจ ที่จะแนะนำพ่อแม่ ให้คนอื่นรู้จัก บางครั้งก็ไม่ยอมรับ เป็นพ่อแม่ของตนเอง เนื่องจากต้องการปิดบังรากเหง้า ของตนเอง
24. ตบตีหรือทำร้ายพ่อแม่
25. ให้พ่อแม่พำนักที่บ้านพักคนชรา หรือสถานสงเคราะห์คนชรา โดยที่ลูกๆ ไม่ยอมดูแล และปรนนิบัติพ่อแม่ เรามักได้ยินว่าพ่อแม่มีความสามารถเลี้ยงลูก 10 คนได้ แต่บางทีลูกทั้ง 10 คน ไม่สามารถดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ได้
26. ไม่ให้ความสำคัญ ต่อกิจการของพ่อแม่ ไม่แนะนำ หรือตักเตือนพ่อแม่ ยามที่ทั้งสองผิดพลาด หรือกระทำบาป
27. ตระหนี่ขี้เหนียว และไม่ยอมใช้จ่ายแก่พ่อแม่ แต่ชอบแสดงตนเป็นคนใจกว้าง ยามเข้าสังคมกับเพื่อนๆ
28. ชอบทวงบุญคุณ ที่ได้กระทำต่อพ่อแม่ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ ไม่เคยทวงบุญคุณของตนเอง ที่ได้กระทำต่อลูกๆเลย
29. ขโมยทรัพย์สินเงินทองของพ่อแม่ หลอกใช้เงินของพ่อแม่
30. ชอบทำตัวงอแงจนเกินเหตุ ทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ เช่น เวลาป่วยไข้ ก็มักจะทำไม่สบายจนเกินเหตุ เป็นต้น
31. ทิ้งพ่อแม่อาศัยที่บ้านตามลำพัง โดยที่ตนเองอาศัยที่อื่น โดยไม่ขออนุญาตพ่อแม่ก่อน
32. ลูกบางคนตั้งภาวนาให้พ่อแม่ห่างไกล ให้พ้นจากตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่ป่วยเป็นโรค หรือแก่ชรา
33. ลูกบางคน ยอมแม้กระทั่งต้องฆ่าพ่อแม่ เนื่องจากความโกรธเคือง เมาหรือหวังมรดกของพ่อแม่
Tags: