เบียร์สดกดตู้ “ช่องโหว่ของกฎหมาย” จะเกิดอะไรขึ้นหากทำสำเร็จ?
กรณีข่าวร้านสะดวกซื้อบางแห่งนำร่องติดตั้งตู้จำหน่ายเบียร์สดแบบกดจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทำให้หน่วยราชการโดยกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาตรวจสอบซึ่งก็ทำได้เพียงขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อเนื่องจากมีช่องโหว่ของกฎหมายไม่สามารถเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อและผู้ประกอบการธุรกิจเบียร์สดยี่ห้อดังได้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 30 ระบุ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการ 3 แบบ คือ 1.เครื่องขายอัตโนมัติ 2.เร่ขาย และ 3.ลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย แต่กรณีดังกล่าวฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐชี้ว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามข้อ 1 ที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเครื่องอัตโนมัติเพราะมีการเลี่ยงกฎหมายโดยให้พนักงานเป็นผู้กดและขายให้ลูกค้า
นอกจากนี้มาตรา 32 ระบุว่าห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่ก็มีการเลี่ยงกฎหมายด้วยการนำผ้ามาคลุมปิดบังยี่ห้อเครื่องดื่ม
ทั้งนี้เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อให้การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นไปได้ยากโดยกำหนดมาตรการควบคุมทั้งเรื่องเวลา สถานที่จำหน่าย และการโฆษณา แต่การทำธุรกิจเบียร์สดกดตู้ในร้ายสะดวกซื้อกลับสวนทางกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและส่อเจตนาให้ประชาชนและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายและกว้างขวางขึ้น เพราะร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศมีถึงกว่า 1,000 แห่ง และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชนทั้งประเทศไปแล้ว
คำถามก็คืออะไรจะเกิดขึ้นหากธุรกิจเบียร์สดกดตู้ประสบความสำเร็จและเดินหน้าขยายด้านการตลาด ซึ่งต่อไปอาจมีวิสกี้กดตู้ ขณะที่ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันดับต้นๆ ของโลก
ทั้งนี้แม้กรณีเบียร์สดกดตู้จะไม่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นด้านหนึ่งสะท้อนถึงความอ่อนแอของอำนาจรัฐ ขณะที่อีกด้านหนึ่งการดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยต้องไม่ประกอบธุรกิจที่เป็นการมอมเมาประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนอันเป็นการเข้าข่ายบ่อนทำลายชาติอย่างไร้จิตสำนึกและความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดฝ่ายการตลาดซีพีออลล์ออกแถลงการณ์ยุติโครงการทดลองเบียร์สดกดตู้ในร้านสะดวกซื้อในสังกัดทั้ง 18 แห่งแล้ว จึงถือเป็นบทเรียนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปว่าอย่าละโมภแม้จะมีช่องโหว่ของกฎหมายโดยคิดแต่จะสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองอย่างไม่รู้จักพอ โดยไม่คำนึงถึงภัยที่จะเกิดกับสังคม
- แนวหน้า
Tags: