“ฝ่าไฟแดง” ... อันตราย!!!
กุรอานบอกไว้พันกว่าปี ที่ห้ามร่วมเพศกับสตรีที่มีประจำเดือน ในอิสลามกล่าวไว้ว่า...
จากอัลกุรอาน ซูเราะห์อัล-บาก่อเราะฮฺ : البقرة 222
وَيَسْأَلُونَكَ عَنِ الْمَحِيضِ قُلْ هُوَ أَذًى فَاعْتَزِلُواْ النِّسَاء فِي الْمَحِيضِ وَلاَ تَقْرَبُوهُنَّ حَتَّىَ يَطْهُرْنَ فَإِذَا تَطَهَّرْنَ فَأْتُوهُنَّ مِنْ حَيْثُ أَمَرَكُمُ اللّهُ إِنَّ اللّهَ يُحِبُّ التَّوَّابِينَ وَيُحِبُّ الْمُتَطَهِّرِينَ
และพวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับประจำเดือน จงกล่าวเถิดว่า มันเป็นสิ่งที่ให้โทษ ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลหญิง มนขณะมีประจำเดือน และจงอย่าเข้าใกล้นาง จนกว่านางจะสะอาด ครั้นเมื่อนางได้ชำระร่างกายสะอาดแล้ว ก็จงมาหานางตามที่อัลลอฮ์ทรงใช้พวกท่าน แท้จริงอัลลอฮ์ทรงชอบบรรดาผู้สำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัว และทรงชอบบรรดาผู้ที่ทำตนให้สะอาด
ทางด้านการแพทย์ ได้มีการห้ามไว้เช่นกัน
อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
“ฝ่าไฟแดง” เป็นคำที่สามารถใช้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการมีประจำเดือน สตรีวัยรุ่นร้อยละ 2.4-4 และสตรีวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 25-30 ตอบในแบบสอบถามว่าตนมีความสัมพันธ์ทางเพศขณะมีประจำเดือน โดยพบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่มักเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดี รายได้ดี และไม่รังเกียจความสกปรกของเลือด บางคนเชื่อว่า เลือดช่วยเป็นสารหล่อลื่นในการมีเพศสัมพันธ์และการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ถือเป็นการคุมกำเนิดไปในตัว ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่คิดว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้าม น่ารังเกียจ
จากการศึกษาพบว่า พฤติกรรมนี้สัมพันธ์กับการถ่ายทอดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม พยาธิในช่องคลอด หูดหงอนไก่ เป็นต้น อย่างชัดเจนประมาณ 3 เท่า เนื่องมาจาก 2 สาเหตุ ได้แก่
เหตุผลแรก คือ ระหว่างการมีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิดออกเพื่อให้เลือดประเดือน และเยื่อบุโพรงมดลูกออกมา การเปิดของปากมดลูกนี้ทำให้เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นในช่องคลอดเองและจากการมีเพศสัมพันธ์สามารถเดินทางขึ้นไปในโพรงมดลูกได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ธาตุเหล็กที่อยู่ในเลือดประจำเดือนจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อหนองในได้ดีเป็นพิเศษ และการที่เยื่อบุโพรงมดลูกลอกหลุดเชื้อก็จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น เกิดการติดเชื้อลุกลามได้
เหตุผลที่สอง คือ ภูมิต้านทานในร่างกายต่อเชื้อแบคทีเรีย รา และไวรัส จะทำงานแย่ลงตั้งแต่ด่านแรกของร่างกายไปจนถึงการตอบสนองขั้นต่อๆ ไป โดยทั่วไปร่างกายจะมีกลไกป้องกันตนเองหลายชั้น ชั้นแรกจะเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ เกิดขึ้นทันที จากนั้นจะมีการส่งต่อข้อมูลคล้ายกับการวิ่งผลัดไปจนถึงศูนย์บัญชาการแล้วศูนย์นั้นจะส่งสารออกมาทำลายเชื้อโรคอย่างมากและจำเพาะ ดังนั้นการมีการติดเชื้อในช่วงนี้สามารถทำให้เกิดอาการอักเสบภายหลังหมดประจำเดือนไปแล้วได้ถึง 1-2สัปดาห์
สำหรับการติดเชื้อบางอย่างที่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน อาทิ การติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งโดยปกติ การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน ฝ่ายหญิงมีโอกาสติดจากฝ่ายชาย 10 ใน 10000 ในขณะที่ฝ่ายชายมีโอกาสติดจากฝ่ายหญิง 5 ใน 10000 เมื่อมีเลือดและสารคัดหลั่งออกมาอย่างมากอัตราการติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่ายอย่างมหาศาล แต่ข้อมูลในปัจจุบันก็ยังขัดแย้งกันอยู่
เชื้อเริมถือว่าเป็นเชื้อที่มีการถ่ายทอดได้ง่ายอยู่แล้ว ทั้งขณะมีและไม่มีรอยโรค ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือนจึงไม่ได้เพิ่มการถ่ายทอดเชื้ออย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม โรคเริมมักกลับเป็นซ้ำมากช่วงมีประจำเดือนเพราะภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอลง ความแสบร้อนจนรำคาญจากรอยโรคจะช่วยให้ผู้ป่วยงดความสัมพันธ์ทางเพศ (ชั่วคราว) โดยอัตโนมัติ
จะเห็นได้ว่าการมีพฤติกรรมดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อสุขอนามัยสตรีไม่มากก็น้อย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงโดยการพูดคุยกับคู่สมรสของตนให้เข้าใจตรงกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มนิยมการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการมีประจำเดือน มีข้อควรคำนึงคือ คุณและคู่นอนของคุณจะต้องไม่เป็นผู้มีความสำส่อนทางเพศ และควรเฝ้าสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายให้ดีเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
หากท่านมีข้อสงสัยใดหรือต้องการรับคำปรึกษาเพิ่มเติม กรุณาติดต่อได้ที่ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี (คลินิก 309) โทรศัพท์ 02-412-9689 หรือ 02-419-7377 เวลา 07.00-15.30 น.
ที่มา : islamhouse.muslimthaipost.com
picture : webneel
Tags: