จริงหรือไม่ !! ประเทศอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอิสลาม
ดีไซเนอร์สายพันธุ์ใหม่จากอินโดนีเซียขอผสมผสานความอ่อนน้อมแบบอิสลามเข้ากับสไตล์ล้ำยุค เพื่อผลักดันอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอิสลามโลก ความคิดนี้อาจดูเหมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อไม่ลงตัวสำหรับแฟชั่นนิสต้าหลายคน ที่มองว่าเสื้อผ้าอิสลามมีแต่ปกปิดผู้หญิงจนมิดชิด มากกว่าสรรเสริญส่วนเว้าส่วนโค้งของพวกเธอ
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแฟชั่นอิสลามเริ่มก้าวเดินอย่างแข็งแรงมากขึ้น หลังจากนักออกแบบพบวิธีผสานสีสันและลวดลายของสิ่งทอตามประเพณี เข้ากับความสุภาพเรียบร้อยตามคำสอนของอิสลามมากขึ้น
อินโดนีเซียในฐานะประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก คือผู้ขับเคลื่อนสำคัญของวงการแฟชั่นอิสลาม แค่เพียงอุสหกรรมแฟชั่นในประเทศเองก็มีมูลค่าสูงถึง 6.6 ล้านดอลลาร์ต่อปีแล้ว
กระนั้นก็ดี กลุ่มดีไซเนอร์และบริษัทค้าปลีกท้องถิ่นนำโดย อินโดนีเซียน อิสลามิก แฟชั่น คอนซอร์เตียม ต้องการมากไปกว่านั้น พวกเขาพยายามปูเส้นทางให้อินโดนีเซียกลายเป็นเมืองหลวงใหม่แห่งวงการแฟชั่นอิสลามภายในปี 2563
ปัจจุบันนี้ มาเลเซีย ฝรั่งเศสและไทย คือศูนย์กลางชั้นนำของวงการเครื่องแต่งกายอิสลาม ตามความเห็นของเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรม สองปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียน อิสลามิก แฟชั่น คอนซอร์เตียม ออกเดินสายโชว์สินค้าในยุโรป เอเชียและตะวันออกกลาง เพื่อนำเสนอดีไซเนอร์หน้าใหม่แก่วงการแฟชั่นอิสลามโลก
อีกทั้งสมาชิกของ อินโดนีเซียน อิสลามิก แฟชั่น คอนซอร์เตียม ยังเดินสายทัวร์หลายจังหวัดในประเทศ เพื่อให้ความรู้นักออกแบบและนักธุรกิจท้องถิ่น เกี่ยวกับการตลาดและระบบการผลิต รวมถึงเปิดงานแสดงสินค้าแฟชั่นอิสลามเป็นประจำทุกปี และริเริ่มการแข่งขันนางงามมุสลิมเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2554
เจ็ตตี ฮาดี บรรณาธิการบริหารแมกกาซีนแฟชั่นนูร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง อินโดนีเซียน อิสลามิก แฟชั่น คอนซอร์เตียม กล่าวว่า ความสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์คลื่นลูกใหม่ในอินโดนีเซียไม่มีที่สิ้นสุด
ศาลาของอินโดนีเซีย ในงานแสดงสินค้านานาชาติแห่งโลกมุสลิม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อปีที่แล้ว ดึงดูดผู้ชมได้กว่า 2,000 คน ส่วนงานแสดงแฟชั่นอิสลามที่กรุงจาการ์ตาในปีนี้ มีผู้มาออกร้าน 164 บูธ เทียบกับเมื่อสองปีก่อน ที่มีผู้ออกร้านเพียง 30 บูธเท่านั้น
ขณะเดียวกัน การประกวดนางงาม “เวิลด์ มุสลิม บิวตี้ คอนเทสต์” มีผู้ร่วมประกวดกว่า 750 คน หลายคนมาไกลจากเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และออสเตรเลีย
ผู้ร่วมประกวดประกอบอาชีพหลากหลาย ตั้งแต่ทนายความ วิศวกร จนถึงนักกีฬา แต่มีหญิงสาวเพียง 20 คนเท่านั้นที่เข้าประกวดถึงรอบสุดท้ายในวันที่ 15 กันยายน และมีเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่ชาวอินโดนีเซีย
ผู้เข้าประกวดไม่เพียงต้องผ่านด่านทดสอบด้านความงามเท่านั้น พวกเธอยังต้องมีความสามารถในการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอิสลาม รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม และที่สำคัญที่สุด ผู้ประกวดต้องแต่งการด้วยเสื้อผ้ามุสลิม
ในการประกวดครั้งนี้ กรรมการเทคะแนนให้กับ นีน่า เซบเตียนนี นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมและเจ้าของกิจการ เป็นผู้ครองมงกุฎสตรีมุสลิมสวยที่สุดในโลก
อินโดนีเซีย มีชื่อเสียงมานานในฐานะประเทศมุสลิม และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซีย มีจำนวนสตรีสวมผ้าคลุมฮิญาบสูงขึ้นมาก ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายมองว่า เป็นเพราะแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมอิสลามขยายตัวขึ้น
ขณะเดียวกัน จำนวนดีไซเนอร์ก็เพิ่มขึ้นตามความต้องการความหลากหลายของฮิญาบในตลาดสตรีมุสลิม ธุรกิจร้านค้าออนไลน์และบูติกเสื้อผ้าเกิดขึ้นมากมาย เพื่อเจาะกลุ่มแฟชั่นนิสต้าที่เรียกกันทั่วไปว่า "ฮิญาบเบอร์"
นักธุรกิจรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียใช้สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ตลาดออนไลน์ โปรโมทสินค้าของตัวเอง ขณะที่ การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในประเทศ ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่นให้งอกงาม
เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด.
Tags: