Open House หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาศาสตร์ฮาลาล)
Next Gen of Halal science
“การสร้างนักวิทยาศาสตร์ฮาลาล”
วิทยาศาสตร์ฮาลาลคือวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการวิเคราะห์ งานพัฒนาระบบหรือมาตรฐาน งานวิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทดแทน เป็นต้น ที่ทำงานเพื่อมุ่งควบคุมหรือกำจัดสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลามให้พ้นจากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ สำหรับผู้บริโภคมุสลิมหรือผู้ต้องการผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
ในทุกๆปีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆเข้ามาเรียนรู้งานในด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นจำนวนมาก และยังมีการเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ผู้ที่มีความสนใจและต้องทำงานร่วมกับองค์กรศาสนาอิสลาม รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวไว้ว่า “การจัดอบรมของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นถือว่าเป็นงานบริการที่จัดทำขึ้นเพื่อสังคมโดยแท้จริง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยงานบริการที่จัดขึ้นมีส่วนขับเคลื่อนให้งานฮาลาลประเทศไทยได้รับการยกย่องไปทั่วโลก จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2017 องค์การโอไอซียอมรับให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสถาบันมาตรฐานของโอไอซี ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นพี่เลี้ยงขององค์กรรับรองฮาลาลหลายประเทศในโลก นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องจากฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายนโยบายว่ามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอีกด้วย”
ทะลุแลป ผ่านไปแล้วกับการเตรียมความพร้อมสำหรับนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลรุ่นใหม่และการสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงบุคคลทั่วไปและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ทั้งนี้สืบเนื่องจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่มีศักยภาพในการดำเนินงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อความเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศต่อไป ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ Open House หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ( วิทยาศาสตร์ฮาลาล ) ณ ห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลดังกล่าวนั้นมีหลากหลายการทดสอบด้วยกันที่เปิดให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจริง อาทิเช่น การทดสอบการปนเปื้อนเจลาติน การทดสอบสัดส่วนกรดไขมัน การทดสอบปริมาณเอทธิลแอลกอฮอล์ และการทดสอบการปนเปื้อนดีเอ็นเอสุกรในอาหารและสิ่งตัวอย่างทางชีวภาพ
Tags: