"คลัง" เตรียมรอชง ครม. "ภาษีออนไลน์" คาดขายของผ่านเน็ตเจอแน่!!!
"คลัง" จ่อรีดภาษีออนไลน์ เตรียมรอชง ครม. คาดขายของผ่านเน็ตเจอแน่ ยืนยันการจัดเก็บจะเป็นไปตามมาตรฐาน และมีความเป็นธรรมอย่างแน่นอน
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) เกี่ยวกับร่างกฎหมาย เรียกเก็บภาษีจากการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งขั้นตอนหลังจากการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว จะสรุปรายละเอียดเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยยอมรับว่า ร่างกฎหมายมีความล่าช้ากว่าแผนเดิมที่จะเสนอ ครม.ได้ภายในเดือน มิถุนายน 2560
“โดยหลักการของกฎหมาย ตามมาตรา 47 คือ เราต้องเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน สาธารณชนก่อน ซึ่งกรมอยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะสามารถเปิดรับความเห็นทางเว็บไซต์ของกรมสรรพกรได้ในเร็วๆ นี้ โดยจะเปิดเป็นเวลา 15 วันก่อนที่จะรวบรวมความเห็น และเสนอให้ครม.พิจารณา โดยยืนยันการจัดเก็บจะเป็นไปตามมาตรฐาน และมีความเป็นธรรมอย่างแน่นอน” นายประสงค์ กล่าว
สำหรับแนวทางในการจัดเก็บเบื้องต้นจะจัดเก็บจากธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึง
การดำเนินธุรกิจบนนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ อย่างระบบการทำธุรกิจผ่านe-Payment และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์(e-Wallet) ก็เข้าข่ายต้องชำระภาษี ซึ่งกฎหมายจะให้อำนาจสถาบันการเงินเป็นผู้จัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย แทนกรมสรรพากร โดยเมื่อใดที่มีการโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ ทางสถาบันการเงินในไทยมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 5%เพื่อนำไปชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากร
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการจัดเก็บภาษีได้พอสมควร เพราะมูลค่าการทำธุรกรรมบนธุรกิจออนไลน์สูงหลักล้านล้านบาท
“ที่ผ่านมาไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ เพราะร้านค้าที่ตั้งขึ้นนั้น ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างถูกต้อง เป็นการโอนเงินไปยังบุคคลถึงบุคคลเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ข้อมูลพบว่า กลุ่มออนไลน์เติบโตเร็วมาก ทำให้ต้องหาช่องทางปิดรูรั่วการจัดเก็บ” นายประสงค์ กล่าว
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีอี-คอมเมิร์ซ เช่น 1.เว็บไซต์แสดงรูปและราคาสินค้า Catalog Website 2. เว็บไซต์เพื่อการขายสินค้า e-Shopping 3.การขายสินค้าบนชุมชนเว็บบอร์ดโดยผู้ขายไม่มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง Community Web 4.เว็บไซต์เพื่อการประมูลขายสินค้า e-Auction (electronic auction) 5.เว็บไซต์ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ e-Market Place หรือShopping Mall 6.เว็บไซต์แหล่งซื้อขายภาพถ่ายดิจิทัล Stock Photo 7.การรับโฆษณาจากเว็บไซต์กูเกิ้ล Google AdSense 8.การทำให้ผลการค้นหาบนกูเกิ้ลติดลำดับแรกๆ หรือ Search Engine Optimization-SEO 9.เว็บไซต์นายหน้าการขายสินค้าและบริการ Affiliate Marketing 10.การเล่นเกมผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์ Game Online เป็นต้น
“เมื่อเป็นผู้มีรายได้ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการภาษี เพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” นายประสงค์ กล่าว
มีรายงานแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังเรื่องกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ OTT (Over The Top) พร้อมระบุว่า ยูทูบ-เฟซบุ๊ค เข้าข่ายการให้บริการ OTT พร้อมส่งสัญญาณว่า อาจต้องมาการเรียกเก็บภาษีเนื่องจากมีรายได้
ที่มา: https://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000064777
Tags: