มัสยิดกลางประจำจังหวัดชลบุรี
จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเรียบชายฝั่งทะเล ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ ๗๐ กม.เศษ เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีที่แล้วประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดในขณะนั้น ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก รองลงมาก็คงเป็นอาชีพด้านการประมง มีประชาชนส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง ที่ประกอบอาชีพด้านธุรกิจการค้า และในประชาชนส่วนน้อยนี้เอง มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นมุสลิมสัญชาติไทยที่สืบเชื้อสายมาจากทางตอนใต้ของประเทศไทยบ้าง สืบเชื้อสายมาจากชนเชื้อชาติปากีสถานบ้าง ด้วยความศรัทธาที่ถูกปลูกฝังมาจากผู้ให้กำเนิดและบรรดาครูบาอาจารย์ จึงได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารมัสยิด ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมขึ้น ณ ใจกลางของอำเภอเมืองชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๘ เมตร ในวงเงินค่าก่อสร้างขณะนั้นประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท บนเนื้อที่ ๕๕ ตารางวา จากการอุทิศของนายอับดุลกาเดิร(กระดังงา) ดีซาลค์ ส่วนหนึ่ง และซื้อเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๕ ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี และได้พร้อมใจกันตั้งชื่อให้กับอาคารนี้ว่า "มัสยิดอัลฮิดายะห์" สำหรับบุคคลที่จะต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์พร้อมกับอาคารหลังนี้ ซึ่งเป็นผู้จุดชนวนพลังแห่งศรัทธาจนได้อาคารหลังนี้ขึ้นมานั้น เท่าที่กระผม ซึ่งเป็นผู้เกิดที่หลังได้รับทราบมา พอสังเขปก็มี อิหม่ามประสาน กูบกระบี่ นายสุลัย ทวีปรัตน์ นายอับดุลกาเดิร (กระดังงา) ดีซาลค์ นายฮาลีมคาน ปาทาน นายโกเย ปุกตุล นายฮารูน กูบกระบี่ นายยูนุช วารีรัตน์ (เสียชีวิตแล้วทั้งหมด)ขออัลลอฮ์ (ซ.บ.)โปรดประทานความเมตตาแก่ท่านเหล่านี้ด้วย อามีน ต่อมาอาคารดังกล่าวได้ถูกขยับขยายต่อเติมออกมาบ้างตามความเจริญเติบโตของสังคม ส่วนสุสาน(กุโบร์)ประจำมัสยิดนั้นได้แยกออกไปอยู่อีกส่วนหนึ่งห่างจากมัสยิดประมาณ ๑ ก.ม.เศษๆ บนที่ดิน ๓ ไร่ ๑ งาน ซึ่งก็ได้มาจากพลังในการศรัทธาของมุสลิมในขณะนั้นร่วมกันซื้ออุทิศให้เป็นสุสานประจำมัสยิด วันเวลาได้ผ่านไปจากรุ่นลูก กลายมาเป็นคุณพ่อ คุณปู่ คุณทวด บางท่านมีเพียงชื่อที่ถูกจารึกไว้บนหนังสือมรณะบัตร และมีแต่เพียงภาพรำลึกที่ฝังอยู่ในความทรงจำของบรรดาลูกหลานเท่านั้น ประกอบกับความเจริญเติบโตของบ้านเมือง จากสภาพป่ากลายมาเป็นแดนสวรรค์ ประชากรเพิ่มมากขึ้นจนในที่สุด มัสยิดอัลฮิดายะห์ กลายเป็นเพียงอาคารเก่าๆที่ชำรุดทรุดโทรม ที่ดินที่มีเพียงน้อยนิดไม่สะดวกในการเข้าออก คณะกรรมการมัสยิดร่วมกับสัปบุรุษได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่า น่าจะหาสถานที่แห่งใหม่เพื่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเก่าที่คับแคบและชำรุดทรุดโทรม ด้วยมหิตทรานุภาพแห่งอัลลอฮ์(ซ.บ.)ที่ทรงเปี่ยมล้นด้วยความปราณียิ่ง ได้ดลบรรดาลให้นายธรรมนูญ สิงคารวนิช ได้มอบที่ดิน ๑ ไร่ ๒ งาน ในซอยพงษ์ทิพย์ ม.๖ ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี ให้ปลูกสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๑ เมตร แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ค่าก่อสร้างประมาณ ๔,๐๐๐,๐๐๐ (สี่ล้านบาท) และเนื่องในวโรกาสที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนม์มายุครบ ๖๐ พรรษา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ศาสนิกชนมุสลิมในขณะนั้นจึงพร้อมใจกันตั้งให้เป็นมัสยิดกลางประจำจังหวัดชลบุรีเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระองค์ ต่อมาสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรีได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นกึ่งอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ จึงมีประชาชนย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอาศัยเพิ่มเป็นจำนวนมาก ทำให้มัสยิดไม่สามารถรองรับกับจำนวนสัปบุรุษที่เพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการจึงประชุมปรึกษาหารือและลงมติให้ทำการสร้างอาคารต่อเติมจากอาคารเดิมออกมาอีก กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร โดยมีชั้นลอยสำหรับสุภาพสตรีแยกไว้ต่างหาก แล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๕ ค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ (สองล้านห้าแสนบาท ) ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อปี พ.ศ.2551 จำนวนสัปบุรุษได้เพิ่มขึ้น ในบริเวณเนื้อที่เดิมซึ่งมีอยู่ ๑ไร่ ๒ งาน ไม่สามารถรองรับกับจำนวนสัปบุรุษที่เพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการมัสยิดจึงมีมติให้จัดซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติมอีก ๒ งาน ในราคา ๒,๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่เนื่องจากมัสยิดมีเงินไม่เพียงพอ จึงได้ขอยืมจากผู้มีจิตศรัทธา จำนวน ๑,๙๐๐,๐๐๐ บาท และคณะกรรมการมัสยิดฯได้จัดงาน “ร่วมใจให้มัสยิดกลางชลบุรี" เพื่อขายที่ดินวากัฟให้มัสยิดรวม ๔ ครั้ง จึงสามารถชำระหนี้ได้หมดในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ สำหรับ อิหม่ามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้ อิหม่ามประสาน กูบกระบี่ ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๙๙ - พ.ศ.๒๕๑๕ อิหม่ามไพฑูรย์ มันเดวอ ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๗ - พ.ศ.๒๕๔๑ อิหม่ามสุวัฒน์ กูบกระบี่ ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน
แผนที่ตั้ง
Tags: