รู้ไว้จะได้ไม่พลาด! ถูก“แมงมุมกัด” ควรไปหาหมอเลยไหม ต้องทำอย่างไรก่อน
แมงมุมกัด ส่วนมากเกิดจากแมงมุมที่ไม่มีพิษ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ มีเพียงอาการระคายเคืองเล็กน้อย เช่น บวม แดง คัน แสบร้อน รู้สึกชาหรือเจ็บคล้ายเข็มทิ่ม แต่ก็มีแมงมุมบางชนิดที่มีพิษร้ายแรงและมีเขี้ยวยาวพอที่พิษจะแทรกเข้าสู่ผิวหนังของคน เช่น แมงมุมแม่ม่ายดำ แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล เป็นต้น
ปกติในประเทศไทยไม่พบแมงมุมพิษอยู่ตามธรรมชาติ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง หรือมีผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกนำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงคาดว่าแมงมุมเหล่านี้น่าจะแพร่กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยจากรายงานล่าสุดในปี 2546-2554 พบผู้ป่วยได้รับพิษจากแมงมุมเพียง 43 ราย และยังไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิต แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มการรายงานเพิ่มขึ้น
อาการของแมงมุมกัด
โดยทั่วไปการถูกแมงมุมกัดมักทำให้มีอาการคล้ายคลึงกับการถูกกัดโดยแมลงชนิดอื่น ๆ คือ บริเวณที่ถูกกัดบวม แดง อักเสบ บางครั้งมีอาการคัน หรือกิดตุ่มนูนบนผิวหนังจนรู้สึกเจ็บ และอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปเอง ทว่าหากเป็นแมงมุมที่มีพิษ อาการที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงกว่ามาก สังเกตความแตกต่างได้ตามชนิดของแมงมุมพิษที่พบได้บ่อย ดังนี้
แมงมุมแม่ม่าย (Widow Spiders) พบได้ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศในแถบยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย อเมริกา และเอเชีย แต่พบบ่อยที่สุดในสหรัฐอเมริกา รวมถึงทวีปอเมริกาใต้และทวีปออสเตรเลียทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งสายพันธุ์ที่มีพิษอันตรายคือแมงมุมแม่ม่ายดำและแม่ม่ายน้ำตาล
แมงมุมแม่ม่ายดำ (Black Widow Spider) เฉพาะตัวเมียเท่านั้นที่มีพิษ ลักษณะตัวมีสีดำมันเงา มีท้องกลมโต จุดสังเกตคือลายรูปร่างคล้ายนาฬิกาทรายสีแดงที่โดดเด่นอยู่กลางท้อง เส้นผ่าศูนย์กลางลำตัวยาวประมาณ 12-13 มิลลิเมตร ลำตัวรวมขาอาจมีความยาวถึง 1 นิ้ว (2.5 เซนติเมตร) ในขณะที่ตัวผู้จะมีสีน้ำตาลอ่อนและขนาดเล็ก ไม่มีรูปนาฬิกาทรายที่ท้อง มักอยู่อาศัยตามกองใบไม้ร่วง กองไม้ กองฟืน และกล่องในห้องเก็บของ
พิษแมงมุมแม่ม่ายดำมีผลต่อระบบประสาทเป็นหลัก เมื่อถูกกัดอาจรู้สึกเหมือนเข็มทิ่มหรือไม่รู้สึกอะไร แต่ผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะแสดงปฏิกิริยาทันทีและอาจเห็นรอยเขี้ยวเป็นรูบนผิวหนัง โดยผู้ที่ถูกแมงมุมแม่ม่ายดำกัดอาจมีอาการตามมาดังนี้
- อาการปวดที่จะเริ่มรู้สึกได้ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากถูกกัด ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณรอบ ๆ รอยกัด แต่อาจปวดลามไปถึงช่องท้อง หน้าอก หรือหลังได้
- อาการปวดบีบหรือปวดเกร็งในท้องที่อาจรุนแรงจนบางครั้งเข้าใจว่าเป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบ หรือไส้ติ่งแตก
- มีเหงื่อออกมากผิดปกติ
- น้ำตาไหล น้ำลายไหล
- ปวดศีรษะ
- ความดันโลหิตสูง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกชา
- อ่อนเพลีย
แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล (Brown Widow Spider) ขนาดเล็กกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำเล็กน้อย ลำตัวกลม สีน้ำตาล ที่กลางท้องมีลายรูปนาฬิกาทรายเช่นเดียวกับแมงมุมแม่ม่ายดำ แต่เป็นสีส้มหรือหรือเหลือง ส่วนขามีสีน้ำตาลสลับขาว โดยแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลเพศเมียตัวเต็มวัยเท่านั้นที่จะเขี้ยวยาวจนสามารถกัดผ่านผิวหนังของคน และมีพิษรุนแรงกว่าแม่ม่ายดำถึง 2 เท่า แต่จะปล่อยปริมาณพิษสู่เหยื่อน้อยกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำมาก ทำให้มักมีอาการปวดบริเวณที่ถูกกัดเท่านั้น
ในประเทศไทยมีรายงานพบแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลที่จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพ ราชบุรี สมุทรสงคราม เชียงใหม่ แพร่ พะเยา ลำพูน ลำปาง ชัยนาท พิจิตร จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา และหนองบัวลำภู โดยแมงมุมชนิดนี้ไม่มีนิสัยก้าวร้าว เมื่อถูกรบกวนจะวิ่งหนีหรือทิ้งตัวลงแกล้งตาย ทำให้มีโอกาสถูกกัดน้อยมาก ส่วนมากเป็นเพราะไปรบกวนสัมผัสโดนตัวโดยไม่ตั้งใจจึงทำให้ถูกกัดได้
เมื่อถูกแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลกัด อาจส่งผลให้มีอาการเกร็ง กระตุก และเป็นตะคริว ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นบริเวณรอบ ๆ รอยกัด พิษไม่ค่อยแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย จึงก่อให้เกิดความรู้สึกปวดคล้ายผึ้งต่อยในเฉพาะบริเวณที่ถูกกัด น้อยมากที่จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดทั่วบริเวณหรือเกิดภาวะเนื้อเยื่อตายที่รอยแผล
แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (Brown Recluse Spider) มีความยาวไม่เกิน 1 นิ้ว หรือประมาณ 6-19 มิลลิเมตร พบได้ตั้งแต่ที่มีสีน้ำตาลอมเหลืองไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม มีตาทั้งหมด 6 ตา 1 คู่ด้านหน้า และอีก 2 คู่ด้านข้าง ต่างจากแมงมุมชนิดอื่นที่มักมี 8 ตา พบมากในแถบทวีปอเมริกาทางตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ หรือแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ญี่ปุ่น จีน ส่วนในไทยนั้นมีรายงานปีพ.ศ. 2558 ว่าพบในถ้ำจังหวัดกาญจนบุรี โดยคาดว่าติดมาจากอาวุธของทหารญี่ปุ่นที่ขนมาไว้ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
แมงมุมชนิดนี้มีพฤติกรรมไม่ก้าวร้าว ชอบหลบอยู่ตามที่มืดลำพัง จะกัดคนก็ต่อเมื่อไปสัมผัสโดนตัวหรือรบกวนมันโดยบังเอิญ ผู้ที่ถูกกัดอาจไม่รู้สึกเจ็บ แต่ภายใน 8 ชั่วโมงหลังจากนั้นจะเริ่มรู้สึกปวด มีอาการคัน แดง รวมทั้งอาจมีไข้ หนาวสั่น และรู้สึกปวดตามร่างกาย แต่อาการเหล่านี้มักดีขึ้นเองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม มีเพียงส่วนน้อยที่ผิวหนังตรงกลางรอยกัดอาจกลายเป็นสีฟ้าหรือม่วงเข้ม และค่อย ๆ เกิดเป็นแผลเปิดลึกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อผิวหนังโดยรอบเริ่มตายลง ทั้งนี้ แม้แผลดังกล่าวมักจะหยุดขยายตัวภายใน 10 วันหลังจากการถูกกัด แต่การรักษาให้หายอย่างสมบูรณ์ก็อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน ๆ ทั้งนี้ อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่พบไม่บ่อยยังอาจรวมถึง
- ดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- อาการโคม่า หรือชัก
- ภาวะไตวาย
ผู้ที่คาดว่าอาจถูกแมงมุมกัดควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากไม่แน่ใจว่าเป็นแมงมุมพิษหรือไม่ หรือกรณีที่ผู้ถูกกัดมีอาการปวดอย่างรุนแรง ปวดบีบที่ท้อง หรือเกิดแผลบริเวณรอยกัด รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอยู่แล้ว ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก หากคนไข้ยังไม่เคยได้รับการฉีดภายใน 5 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ น้อยครั้งที่การถูกแมงมุมกัดจะทำให้เกิดปฏิกิริยาอาการแพ้ แต่ก็อาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ที่มีอาการใด ๆ ต่อไปนี้ควรนำตัวส่งให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด
- มีอาการบวมอย่างรวดเร็วที่บริเวณริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ หรือรอบ ๆ ดวงตา
- หายใจลำบาก
- หายใจเสียงดังวี้ด เสียงแหบ
- วิงเวียนศีรษะ
- หมดสติ
- เกิดผื่นแดงหรือลมพิษ
- มีอาการคันรุนแรง ปวดบีบ หรือชา
- ปวดบีบที่ท้อง
สำหรับผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นหลังจากถูกแมงมุมกัดและมียาฉีดฉุกเฉินเอฟิเนฟริน (Epinephrine) ติดตัวอยู่ สามารถฉีดยาได้ทันทีแม้จะไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการแพ้ เพราะยานี้ใช้ฉีดในกรณีเพื่อระวังการเกิดอาการแพ้ โดยจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
สาเหตุของแมงมุมกัด
อาการจากแมงมุมกัดชนิดรุนแรงเกิดจากการได้รับพิษของแมงมุมนั้น ๆ เข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับชนิดแมงมุม ปริมาณของพิษที่ได้รับ รวมถึงความไวของปฏิกิริยาต่อพิษของร่างกายด้วย และแม้การถูกแมงมุมพิษกัดจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยครั้ง แต่การอยู่ในพื้นที่ที่มีแมงมุมพิษอาศัยอยู่มาก เช่นในสภาพภูมิอากาศอบอุ่น ตามที่มืดและแห้ง หรือการไปรบกวนที่อยู่อาศัยของแมงมุมเหล่านี้ก็อาจเสี่ยงถูกกัดยิ่งขึ้น
เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแมงมุมทั้ง 2 ชนิดนี้กัด จึงควรระมัดระวังเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้ใช้งานหรือทำความสะอาด เช่น กระท่อม โรงเก็บของ หม้อและอุปกรณ์ทำสวนที่ไม่ได้ใช้นาน กองไม้ ซึ่งมักพบแมงมุมแม่ม่ายดำ ส่วนแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลมักชอบอาศัยอยู่ตามภายในบ้านเรือน เช่น ห้องใต้ดิน ห้องใต้หลังคา ห้องเก็บของ หลังชั้นวางหนังสือ หลังตู้ หรือภายในตู้เก็บของที่ไม่ค่อยได้เปิดใช้งาน รวมถึงตามที่เงียบและมืดภายนอก เช่น ใต้ก้อนหิน ในตอไม้ เป็นต้น
การวินิจฉัยแมงมุมกัด
แพทย์อาจวินิจฉัยการถูกแมงมุมกัดโดยพิจารณาจากประวัติและอาการของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยอย่างเฉพาะเจาะจงนั้นค่อนข้างยากที่จะยืนยัน ผู้ป่วยต้องแน่ใจด้วยตนเองว่าถูกแมงมุมกัดหรือมีคนรอบข้างเห็นกับตา จดจำลักษณะของแมงมุมชนิดนั้น ๆ และให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยระบุชนิดแมงมุมที่กัด รวมถึงมีการตรวจเพื่อแยกสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ออกในกรณีที่ผู้ถูกกัดไม่แน่ใจ ทั้งนี้หากเป็นไปได้ ผู้ป่วยควรนำแมงมุมตัวการมาให้แพทย์ดูด้วย เพื่อจะการวินิจฉัยอย่างชัดเจน
การรักษาแมงมุมกัด
ในกรณีที่ผู้ถูกกัดเป็นเด็กเล็ก หรือคาดว่าอาจถูกแมงมุมแม่ม่ายดำหรือแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลกัด มีอาการแพ้ใด ๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้น หรือบริเวณที่ถูกกัดติดเชื้อ มีผื่น หรืออาการป่วยรุนแรงตามมา ควรต้องรีบไปพบแพทย์ทันที หากสงสัยว่าอาจถูกแมงมุมชนิดใด ๆ กัด รวมถึงแมงมุมมีพิษอย่างแม่ม่ายดำหรือแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล มีวิธีรักษาเบื้องต้น ดังนี้
- ล้างทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำสะอาด โดยไม่ควรบีบหรือเค้นแผลเพราะจะทำให้พิษกระจายมากขึ้น
- ประคบเย็นที่แผลถูกกัดด้วยน้ำแข็ง หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นแล้วบิดให้แห้ง เพื่อลดการกระจายของพิษ ตลอดจนอาการปวดและบวม
- หากจำเป็น อาจรับประทานยาที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น ยาบรรเทาอาการปวดอย่างพาราเซตามอล (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) รวมถึงยาแก้แพ้
- หากคาดว่าน่าจะถูกแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลกัด อาจใช้ครีมขี้ผึ้งปฏิชีวนะทาบริเวณรอยกัด
- เมื่อถูกกัดบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนหรือขาข้างนั้นขึ้นสูงไว้ ป้องกันไม่ให้พิษแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่น
- อาจใช้ผ้าพันแผลมัดเหนือบริเวณถูกกัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของพิษ แต่ไม่ควรมัดแน่นจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือด
- เฝ้าดูบริเวณที่ถูกกัดว่ามีอาการบ่งบอกถึงการติดเชื้อหรือไม่
นอกจากการรักษาที่กล่าวมาข้างต้น แพทย์อาจฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้ผู้ป่วย หากยังไม่เคยได้รับการฉีดภายใน 5 ปีที่ผ่านมา อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อแผลเกิดการติดเชื้อ ส่วนการถูกแม่ม่ายดำกัดจนมีอาการรุนแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตนั้น การรักษาอาจต้องใช้เซรุ่มต้านพิษ โดยจะฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อต้นขา หรือให้ผ่านหลอดเลือดดำ แต่ทว่าปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มียาต้านแมงมุมแม่ม่ายดำ
ภาวะแทรกซ้อนจากแมงมุมกัด
การถูกแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลกัดมักทำให้ผิวหนังเสียหายถาวรเป็นบริเวณเล็ก ๆ บางครั้งอาจพบว่ามีเนื้อเยื่อตายหรือถูกทำลายในระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรง โดยจะเกิดขึ้นภายในช่วง 8 วันหลังการถูกกัด ซึ่งความเสียหายของเนื้อเยื่อนี้อาจลุกลามเป็นเวลาหลายวัน และอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน ๆ กว่าจะรักษาให้หายดีได้
ทั้งนี้ การรักษาภาวะเนื้อเยื่อตายจากการถูกแมงมุมพิษกัดอาจทำได้ยาก แม้จะใช้การผ่าตัดตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ไม่อาจช่วยให้ดีขึ้น การดูแลรักษาเพียงแค่คอยทำความสะอาดแผลอย่างระมัดระวัง และปล่อยให้แผลขยายตัวเต็มที่จนกว่าจะหยุดแพร่กระจายและเริ่มเกิดกระบวนการรักษาของแผล ซึ่งหลังจากอาการบรรเทาลงแล้ว แพทย์จะผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่ตายออกและปลูกถ่ายผิวหนังให้แก่ผู้ป่วย
ส่วนเด็กที่ถูกแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลกัดมักเกิดอาการตอบสนองต่อการอักเสบร่วมกับมีเนื้อเยื่อตายเฉพาะส่วน และมักมีสัญญาณบ่งบอกถึงการมีเนื้อเยื่ออักเสบ บางรายพบมีภาวะโลหิตจาง จากเม็ดเลือดแดงแตก กล้ามเนื้อลายสลาย ไตวายเฉียบพลัน() รวมถึงภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง (Compartment Syndrome)
นอกจากนี้ การถูกแมงมุมมีพิษอย่างแมงมุมแม่ม่ายหรือแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลกัด ต่างอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่พบรายงานการเสียชีวิตในประเทศที่มักมีผู้ถูกแมงมุมเหล่านี้กัดน้อยมาก
การป้องกันแมงมุมกัด
โดยทั่วไปแมงมุมจะกัดเมื่อสัมผัสกับผิวหนังของเหยื่อเพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นแมงมุมไม่มีพิษหรือแมงมุมมีพิษอย่างแม่ม่ายดำและแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลก็ตาม วิธีป้องกันแมงมุมกัดที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมงมุม และระมัดระวังเมื่อต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเจอแมงมุม ดังนี้
- ศึกษาลักษณะและถิ่นที่อยู่อาศัยของแมงมุมที่เป็นอันตราย
- เมื่อต้องเปิดกล่องใส่เครื่องมือ รื้อกองฟืน หรือทำความสะอาดโรงเก็บของ โรงรถ ห้องใต้ดิน ห้องใต้หลังคา หรือใต้ถุน ควรสวมหมวก ถุงมือ รองเท้าบูท เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาวโดยใส่ปลายกางเกงไว้ในถุงเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้แมงมุมไต่เข้าไปใต้ร่มผ้าหรือสัมผัสกับผิวหนังได้
- ตรวจดูและเขย่าถุงมือ รองเท้าบูท และเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้นานให้แน่ใจว่าไม่มีแมงมุมเกาะอยู่
- วางเตียงนอนออกห่างจากผนังห้อง โดยให้ขาเตียงเท่านั้นที่สัมผัสพื้น ไม่วางสิ่งของอื่น ๆ ไว้ใต้เตียง และอย่าให้เครื่องนอนตกลงมาระพื้น
- ย้ายกองหินหรือกองไม้ออกจากบริเวณรอบ ๆ บ้าน และไม่ควรพิงกองฟืนหรือกองไม้ไว้ติดบ้าน
- ใช้สารหรือผลิตภัณฑ์ไล่แมลง เช่น ดีท (DEET) หรือพิคาริดิน (Picaridin) ฉีดตามเสื้อผ้า รองเท้า หรือบริเวณที่แมงมุมชอบอยู่อาศัย
- ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดแมงมุมและใยแมงมุม นำใส่ถุงไปทิ้งภายนอก เพื่อป้องกันแมงมุมกลับเข้ามาภายในบ้านได้อีก
- ไม่ควรเปิดไฟทิ้งไว้ตอนกลางคืน เพราะนอกจากจะทำให้แมลงบินเข้าบ้านมาเล่นไฟแล้ว ยังทำให้แมงมุมออกมาหากินเหยื่อที่เป็นแมลงภายในบ้าน
- ป้องกันแมงมุมและแมลงต่าง ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านด้วยการติดมุ้งลวดตามหน้าต่างและประตู ซ่อมแซมหรือปิดรอยโหว่ที่แมงมุมอาจเข้ามาได้ และฉีดยาไล่แมลงชนิดปลอดภัยภายในบ้าน
Tags: