เกาะติดสถานการณ์น้ำ : ร้อยเอ็ดจมแล้ว มวลน้ำเข้าพิจิตร-สุรินทร์ 6 อำเภออ่วม สกลนครเริ่มลด
มวลน้ำจาก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก หลากท่วม อ.สาเหล็ก จ.พิจิตร กระทบชาวบ้านกว่า 200 หลังในพื้นที่ 3 ตำบล ขณะที่ร้อยเอ็ด จม 1 เมตร กระทบเกือบ 3 พันคน คาด 10 วันปกติ ส่วนสกลนครน้ำเริ่มลด
นางสาวปิยะมาศ ไพรชนม์ นายอำเภอสากเหล็ก จ.พิจิตร เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้มวลน้ำจาก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ได้หลากเข้ามายัง อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน และ พื้นที่การเกษตร ใน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.สากเหล็ก,วังทับไทร และ หนองหญ้าไทร วัดระดับน้ำสูง 30 - 40 ซม. ส่งผลกระทบกับกว่า 200 ครัวเรือน ขณะที่โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน 2 วัน คือวันนี้(31 ก.ค.) ถึงวันที่ 1 ส.ค. 60 โดยปัจจุบัน อำเภอได้ประสานไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้เร่งสำรวจจำนวนพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะเกรงว่าอาจจะมีมวลน้ำจาก จ.พิษณุโลก รวมถึงอำเภอข้างเคียงไหลมาสมทบต่อเนื่อง เนื่องจาก อ.สาเหล็ก ถือเป็นจุดที่น้ำหลากผ่านและมีลักษณะภูมิประเทศแบบราบลุ่ม จึงทำให้ต้องติดตามปริมาณน้ำจากอำเภอใกล้เคียงเป็นพิเศษ ประกอบกับหากมีฝนตกลงมาร่วมด้วยก็จะยิ่งทำให้ระดับน้ำปรับตัวสูงขึ้นอีกในอนาคต
นครพนมเร่งระบายน้ำลงโขงคาดไม่เกิน 1 สัปดาห์ คลี่คลาย
นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้มวลน้ำจากจ.สกลนคร ได้ไหลเข้าท่วม อ.วังยาง และ นาแก วัดระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตามประตูระบายน้ำต่างๆ สำหรับเร่งระบายมวลน้ำจากหนองหาร มาทางลุ่มน้ำก่ำ ต่อไปลงที่แม่น้ำโขง เพื่อย่นระยะเวลาไม่ให้น้ำท่วมขังนาน 2 - 3 สัปดาห์
นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนในการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำด้วย โดยหลังจากดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ รวมถึงเครื่องสูบน้ำแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่จ.นครพนม ปัจจุบันพบ 11 อำเภอ จาก 12 อำเภอ ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครพนม, ปลาปาก, ท่าอุเทน, ธาตุพนม, เรณูนคร, นาแก, ศรีสงคราม, นาหว้า, โพนสวรรค์, นาทม และ วังยาง หนักสุด 5 อำเภอ คือ อ.นาแก, วังยาง, นาหว้า, ศรีสงคราม และ เรณูนคร(บางส่วน) ซึ่งวันนี้จะมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ(อุทกภัย) สำหรับนำงบประมาณมาช่วยเหลือ ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น พบมีพื้นที่การเกษตรใน 11 อำเภอ ได้รับผลกระทบแล้ว 180,000 ไร่ จากจำนวนทั้งหมดทั้งจังหวัด 1,300,000 คิดเป็นร้อยละ 15 - 16
ขณะที่บ้านเรือนประชาชนนั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบจำนวนที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หลังเกิดอุทกภัยขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร, น้ำดื่ม และการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ นอกจากนี้หากมีผู้สนใจจะบริจาคอาหารแห้ง น้ำดื่ม หรือ นมผงสำหรับเด็ก สามารถนำมาบริจาคได้ตลอดเวลาที่บริเวณศาลากลางจังหวัดนครพนม รวมถึงที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอของจังหวัดนครพนม
น้ำท่วมร้อยเอ็ด 1 ม. กระทบเกือบ 3 พัน คนคาด 10 วันปกติ
นายสรวุฒิ ปาลวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้ที่จ.ร้อยเอ็ด กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม หนักสุดที่อ.เสลภูมิ ใน 3 ตำบล ประกอบด้วยต.นาแซง, ศรีวิลัย และ วังหลวง รวมทั้งสิ้น 12 หมู่บ้าน วัดระดับน้ำสูงสุด 1 เมตร โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำยัง จากการสำรวจพบมีราษฏรได้รับความเดือดร้อน 2,700 คน แบ่งเป็นชาวบ้าน 2,300 คน และเจ้าหน้าที่ 400 คน คิดเป็นประมาณ 800 ครัวเรือน เบื้องต้น จังหวัดได้ประกาศให้อ.เสลภูมิ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ(อุทกภัย)แล้ว พร้อมทั้งยังได้ตั้งศูนย์พักพิง 2 จุด เพื่อรองรับผู้ประสบอุทกภัยแต่ก็พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ยอมออกจากบ้าน ขณะที่ อ.โพนทอง ใน ต.โนนชัยศรี ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน แต่มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบเล็กน้อย ประมาณ 6 หลัง วัดระดับสูงสุดได้ 1 เมตร
ทั้งนี้จากการประเมินคาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม ภายใน 7 - 10 วัน สถานการณ์จึงจะคลี่คลายจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยวันนี้จะมีการหารือว่าจะมีการประกาศปิดโรงเรียนใดบ้างและจะปิดไปนานกี่วัน
อย่างไรก็ตาม ทางนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่โดยเฉพาะ เด็ก ผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ รวมถึงสั่งให้ระวังโรคภัยที่มากับน้ำ ซึ่งขณะนี้สิ่งที่จังหวัดต้องการคืออาหารแห้งและน้ำดื่มสะอาด เนื่องจากหากสถานการณ์น้ำท่วมยังยืดเยื้อ ก็จะยิ่งทำให้สิ่งของต่างๆ ขาดแคลน โดยปัจจุบันพบว่ามีหลายภาคส่วนได้สนับสนุนเข้ามาช่วยเหลือแล้ว
นครพนม ประกาศภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอ
นายเดชา พลกล้า หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้มวลน้ำจาก จ.สกลนคร ยังคงหลากผ่านลำน้ำสำคัญเข้ามาในพื้นที่จ.นครพนม อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทางจังหวัดได้มีการประกาศให้พื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.นาแก, วังยาง, นาหว้า, ศรีสงคราม และ เรณูนคร เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) แล้ว ส่วนอีก 7 อำเภอที่เหลือ กำลังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ หากพบว่ามีแนวโน้มเข้าขั้นวิกฤติ ทางจังหวัดจะมีการหารือเพื่อประกาศให้อำเภอนั้น ๆ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ(อุทกภัย) เพิ่มเติมต่อไป ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันพบระดับน้ำยังคงทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร ส่วนใหญ่ท่วมขังพื้นที่การเกษตร ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 180,000 ไร่ จาก 1,300,000 ไร่
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ รวมถึงเครื่องสูบน้ำตามจุดต่าง ๆ สำหรับเร่งระบายมวลน้ำที่ท่วมขังทั้งหมดออกไปสู่แม่น้ำโขง คาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่มเติมสถานการณ์น้ำท่วมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 7 วัน ซึ่งทันทีที่ระดับน้ำลดลงจนแห้ง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จะเร่งทำการออกสำรวจจำนวนบ้านเรือนประชาชน รวมถึงพื้นที่การเกษตรเพื่อสรุปหาจำนวนที่แน่ชัด สำหรับสนับสนุนเงินช่วยเหลือตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้
ขณะเดียวกัน นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนบูรณาการทำงานร่วมกันแบบประชารัฐ เพื่อให้สามารถดูแลประชาชนได้เต็มที่และทั่วถึง นอกจากนี้ยังสั่งการให้เปิดศูนย์รับบริจาคสิ่งของสำหรับนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งในจ.นครพนม และ จ.สกลนคร บริเวณ ศาลากลางจังหวัดนครพนมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้น ส่วนตัวเชื่อว่าปัจจุบัน น่าจะมีประชาชนประมาณกว่า 2,000 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้
น้ำท่วมกาฬสินธุ์คลี่คลาย-เขื่อนปล่อยน้ำที่นาจมหาย
ปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ ชาวนาบ้านดอนสะนวน ตำบลหลุบ ในเขต อ.เมืองกาฬสินธุ์ ได้เฝ้าติดตามปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว ซึ่งเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ เขื่อนลำปาวได้ทำการระบายน้ำ เป็นวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. เพียงข้ามคืนปริมาณน้ำดังกล่าวก็ได้เริ่มเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวเป็นบริเวณกว้าง และมวลน้ำก็เริ่มที่จะไหลเข้าบ้านเรือนประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ริมตะลิ่งในลำน้ำปาว และมีรายงานว่าในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มีนาข้าวถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 30,000 ไร่
ขณะที่ นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องระบายน้ำออกจากตัวเขื่อน เนื่องจากมีมวลน้ำด้านทิศเหนือจาก จังหวัดอุดรธานี และ จังหวัดสกลนคร ไหลเข้ามาในปริมาณที่มาก ทำให้ขณะนี้เขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,673 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่าง แต่หากมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อนลดลงเขื่อนลำปาวอาจจะลดปริมาณการระบายลง โดยที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 29-30 ก.ค. 2560 มีน้ำไหลเข้ามาในเขื่อนมากถึง 201 ล้าน ลบ.ม. ถือว่ามากที่สุดในรอบ 15 ปี ขณะที่มวลน้ำในลำน้ำปาวจะไหลผ่านเข้าอำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย และอำเภอร่องคำ ด้านนายอำเภอผู้รับผิดชอบ ได้รายงานว่า มวลน้ำได้เอ่อล้นเข้าท่วมนาข้าวของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 20,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้ความเสียหายจากอุทกภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่นาข้าว พืชไร่ พืชสวน บ่อปลา ถูกน้ำท่วมกว่า 140,000 ไร่ ใน 15 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ เกือบ 20,000 ครัวเรือน ซึ่งจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว 11 อำเภอ
ล่าสุดมีรายงานว่า ได้มีการเปิดฝายกั้นน้ำ ตรงผนังกั้นลำน้ำชี เพื่อเปิดการระบายน้ำอย่างเต็มที่สำหรับลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม โดยมวลน้ำดังกล่าวจะไหลผ่านไป ยัง จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ยโสธร ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ต้องเตรียมการรับกับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น
น้ำท่วมเพชรบูรณ์คลี่คลาย เหลือ อ.หล่มเก่า คาดวันนี้ปกติ
นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ปัจจุบันพบ 2 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบ คือ อ.หล่มสัก และ หล่มเก่า โดยที่ อ.หล่มเก่าพบว่า สถานการณ์คลี่คลายจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือที่อ.หล่มสัก 3 ตำบล วัดระดับสูงสุด 1 เมตร ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กำลังเร่งสำรวจความเสียหาย แต่ล่าสุดพบว่าปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม หรือมีน้ำจากพื้นที่อื่นหลากมาสมทบ คาดว่าภายในวันนี้ สถานการณ์ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยปีนี้พบว่ามวลน้ำที่หลากมานั้นไม่เท่ากับปี พ.ศ.2554 จึงเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2554 แต่ตนก็ไม่ได้ประมาท เบื้องต้นได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวัง คอยแจ้งเตือนประชาชนเพื่อให้เตรียมความพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงทีกรณีเกิดอุทกภัยในอนาคต
น้ำท่วมสกลนครดีขึ้น คาด 3-5 วัน ปกติห่วงโรคที่มากับน้ำ
นายวิโรจน์ เสนาธิบดี ปลัดเทศบาลนครสกลนคร เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมภายในเขตเทศบาลนครสกลนครดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดระดับน้ำลดลง คงเหลือเฉลี่ยประมาณ 80 ซม. สำหรับสาเหตุที่ทำให้น้ำยังคงท่วมขังนั้นมาจาก มวลน้ำในหนองหารไม่สามารถระบายผ่านประตูระบายน้ำสุรัสวดี ลงต่อไปยังแม่น้ำโขงได้ เพราะน้ำทางฝั่งแม่น้ำโขงดันขึ้นมา จึงทำให้การระบายเป็นไปได้ช้า ซึ่งภายในวันนี้ระดับน้ำจะลดลงอีกเรื่อยๆ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมอีก ภายใน 3 - 5 วัน สถานการณ์น้ำท่วมภายในเขตเทศบาลนครสกลนคร จะคลี่คลายจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม พบว่าขณะนี้ค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องโรคที่มากับน้ำ แต่ก็ยืนยันว่าทาง จ.สกลนคร มีความพร้อมด้านบุคลากรที่จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ ฟื้นฟูดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ ส่วนความช่วยเหลือด้านอาหาร, น้ำดื่ม และเครื่องมือนั้น ปัจจุบันทุกภาคส่วนได้เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการประกอบอาหารให้กับผู้ประสบภัยแต่อย่างใด
น้ำยังทะลักท่วม อ.จัตุรัส ถูกตัดขาดจากภายนอก
น้ำในเขื่อนลำคันฉู จ.ชัยภูมิ ล้นสันเขื่อนสูงกว่า 1 เมตร ทะลักเข้าท่วมในเขต อ.บำเหน็จณรงค์ จนเกิดน้ำหลากเข้าท่วมในพื้นที่ได้รับความเสียหายมาต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระลอกที่ 3 ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดในโซนเศรษฐกิจระดับน้ำได้ ลดลงแล้ว คงเหลือภายในตัวอำเภอบำเหน็จณรงค์ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ขณะที่พื้นที่การเกษตร ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างนับหมื่นไร่ ซึ่งระดับน้ำยังทรงตัว
ด้าน นายชูศักดิ์ ตรีสาร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้นำคณะเหล่ากาชาดจังหวัดชัยภูมิลงพื้นที่ช่วยเยี่ยวยาเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านหนองลูกช้าง ต.บ้านขาม อ.จัตุรัส พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับราษฎรในหมู่บ้านดังกล่าวด้วย ซึ่งนายสำเภา เทียนขุนทด อายุ 59 ปี ชาวบ้านบ้านหนองลูกช้าง กล่าวว่า ขณะนี้ ในหมู่บ้านกำลังประสบอุทกภัย ทำให้พื้นที่มีลักษณะคล้ายเกาะถูกน้ำท่วมล้อมรอบ ถูกตัดขาดเพราะกระแสน้ำมีความรุนแรง และการเข้าออกชุมชนไม่สามารถทำได้เพราะรถทุกชนิดผ่านเข้าออกไม่ได้ ต้องใช้เรือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมขังจะยืดเยื้อต่อไปนานอีกกว่า 3 สัปดาห์ - 1เดือน เพราะภูมิประเทศของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ง่าย ๆ รวมทั้งขณะนี้การไฟฟ้าก็จำเป็นต้องตัดกระแสไฟในหมู่บ้านทั้งหมดไว้ก่อน ทำให้ใช้การไม่ได้ทั้งหมด ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่กว่า 180 ครอบครัวต้องได้รับความเดือดร้อนด้านการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหนัก
พนังกั้นลำเซบายพัง ทำน้ำหลากท่วมอำนาจเจริญ 70 ซม.
นายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า หลังเกิดฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในลำเซบายเพิ่มสูงขึ้น และ กระแสน้ำค่อนข้างไหลรุนแรงจนกัดเซาะพนังกั้นน้ำพังเสียหายหลายจุด ส่งผลให้มวลน้ำในลำเซบายหลากเข้าท่วม พื้นที่บ้านดอนว่าน หมู่ 9 ต.หัวตะพาน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ถึงร้อยละ 90 ของพื้นที่ ประชาชนกว่า 65 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบด้านการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจาก บ้าน พื้นที่การเกษตร โรงเรียน วัด และ ถนน ถูกน้ำท่วมวัดระดับสูงสุดอยู่ที่ 70 ซม. ทั้งคาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 5 - 7 วัน เบื้องต้น จังหวัดได้เปิดศูนย์อำนวยความสะดวก พร้อมตั้งโรงครัวไว้บริการอาหาร น้ำดื่ม และ ยารักษาโรค ให้กับผู้ประสบอุทกภัย ที่วัดดอนว่าน แล้ว นอกจากนี้นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญยังได้สั่งให้ตั้งศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์อุทกภัยด้วย ส่วนแนวทางด้านการซ่อมแซมพนังกั้นลำเซบายที่ชำรุดเสียหายนั้น ทางชลประทานจะเข้าดำเนินการทันทีที่ระดับลดลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยจะเป็นการซ่อมแซมชั่วคราวก่อน เพื่อรอให้หมดช่วงฤดูฝน ก่อนที่จะซ่อมแซมอย่างถาวรต่อไป
ยโสธร ประกาศภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว 7 อำเภอ
นายชยุต วงศ์วณิช หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยโสธร เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้ จ.ยโสธร กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองยโสธร, ทรายมูล, กุดชุม, คำเขื่อนแก้ว, ป่าติ้ว, เลิงนกทา และ ไทยเจริญ ส่งผลให้มีบ้านเรือนราษฏรได้รับผลกระทบ ประมาณ 80 หลัง ขณะที่พื้นที่การเกษตร จมน้ำอีกจำนวนมาก โดยปัจจุบันทางจังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่ทั้ง 7 อำเภอ ดังกล่าว เป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ โดยล่าสุดพบว่าระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แบ่งเป็นในเขตชุมชน มีความสูงเฉลี่ย 30 - 40 ซม. ขณะที่พื้นที่การเกษตร มีความสูงเฉลี่ยที่ประมาณ 1 เมตร ซึ่งทันทีที่ระดับน้ำลดลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่จะเร่งสำรวจจำนวนความเสียหายที่ชัดเจน เพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์มวลน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ หลังมีการเพิ่มระดับการระบาย จึงอาจทำให้จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ยโสธร ที่เป็นจุดรับน้ำต่อก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งส่วนนี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางป้องกันและประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวันจนกว่าระดับการระบายจะลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ
จ.สุรินทร์ อ่วม 6 อำเภอ ผู้ว่าฯ สั่งทุกหน่วยงานเร่งแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบล่วงหน้า-ลดการสูญเสีย
นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้ประชุมด่วน หัวหน้าส่วนราชการ เตรียมความพร้อมในการรับมือป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย อันเนื่องมาจากพายุโซนร้อนเซินกา โดยจังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน "เซินกา" จำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสำโรงทาบ โนนนารายณ์ ชุมพลบุรี จอมพระ ศรีณรงค์ และอำเภอบัวเชด รวม 20 ตำบล 1,082 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร และนาข้าวถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย 9,178 ไร่ ถนนชำรุด 10 สาย ซึ่งทางจังหวัดได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าแก้ไขจนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 18 อ่าง มีปริมาณ 146.88 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 98.90
นายอรรถพร ได้กำชับนายอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเรียกประชุมทุกภาคส่วนขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนเรื่องสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบล่วงหน้าลดการสูญเสีย เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนในชุมชนหรือเขตเทศบาล จัดเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ-อุปกรณ์ ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยได้ทันที จัดทำแผนเผชิญเหตุและจัดเตรียมสถานที่ปลอดภัยเพื่อรองรับการอพยพกรณีเกิดขั้นวิกฤติ
Tags: