“ธรรมชาติของมนุษย์คือความแตกต่างหลากหลาย” โจทย์ท้าทายการศึกษาอิสลามที่สมดุล
"การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการตอบสนองความท้าทายของการศึกษาอิสลามในปัจจุบัน คือการสร้างการศึกษาอิสลามที่สมดุล เหมาะสมกับความทันสมัย และทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข"
เป็นคำกล่าวเปิดการสัมมนาการศึกษาอิสลามนานาชาติ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ "การศึกษาอิสลาม: พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข" ของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันจันทร์ที่ 24 ก.ค.60 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความสำคัญของการสัมมนา แต่ยังสะท้อนความท้าทายของการศึกษาอิสลามที่จะช่วยสร้างสมดุลให้สังคมโลก และสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมแบบพหุวัฒนธรรม
การสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม ทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำประเทศมุสลิม ปราชญ์อิสลาม และนักวิชาการ จำนวนกว่า 500 คน จาก 37 ประเทศ ทุกทวีปทั่วโลก
ชุมนุมปราชญ์ทางศาสนา
ในการสัมมนามีการนำเสนอบทความจากผู้นำประเทศมุสลิมและนักวิชาการอิสลามศึกษาที่มีชื่อเสียง อาทิ เชคอุมัร อุบัยดฺ ฮาซานะฮฺ อธิบดีกรมการวิจัยและอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม ประเทศกาตาร์, เชคอับดุลการีม ฆอศอวะนะฮฺ ประธานศาลฎีกาสูงสุด ประเทศจอร์แดน, ดร.มุหัมมัด อะฮฺมัด มุซัลลัม อัล-คอลัยละฮฺ ผู้นำสูงสุดในศาสนาอิสลาม ประเทศจอร์แดน, ดร.อะหมัด บิน หะมัด ญีลาน ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย
ดร.อับดุลอาซีซ อุสมาน อัล-ตูวัยญีรีย์ อธิบดีองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลาม ราชอาณาจักรโมร็อกโก, ศ.ดร.กุฏุบ มุสฏอฟา ซาโน รัฐมนตรีประจำสำนักนายก สาธารณรัฐกินี, ดร.ซอและฮฺ สุลัยมาน อัล-วูฮัยบีย์ เลขาธิการสภายุวมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย, ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ประเทศไทย, ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี และ ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี
ต้องสร้างการศึกษาอิสลามที่สมดุล
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสที่สำคัญในการตอบสนองความท้าทายของการศึกษาอิสลามในปัจจุบัน คือ การสร้างการศึกษาอิสลามที่สมดุล เหมาะสมกับความทันสมัย และทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยรูปแบบการศึกษาอิสลามจะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งในแนวคิดและรูปแบบการเรียนการสอน
ขณะที่การจัดสัมมนานานาชาติครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการจัดสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งนี้จะมีการนำเสนอหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการศึกษาอิสลาม การสร้างปัจเจกชนและสังคมแห่งสันติสุข รวมถึงการวิเคราะห์ สังเคราะห์ประสบการณ์ของประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ในการนำแนวคิดนี้สู่การปฏิบัติ เชื่อว่าการที่มีสถาบันการศึกษา ปราชญ์ ผู้รู้ มาร่วมศึกษาเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง จะนำไปสู่การพัฒนาและสันติสุขที่ยั่งยืนต่อไป
"การศึกษาของอิสลามนั้นสามารถบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ ทำให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งศาสนาและทักษะในการประกอบอาชีพ การศึกษาอิสลามจึงสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดงาน ทำให้บัณฑิตด้านอิสลามศึกษาสามารถมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ และสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมชาติได้อย่างสันติสุข" องคมนตรี กล่าว
ลดความรุนแรง...พันธกิจสถาบันการศึกษา
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้เกิดความท้าทายอย่างยิ่งที่จะพัฒนาสังคมมนุษย์ให้มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง สถาบันการศึกษาทุกแห่งในโลกนี้ต้องมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดสถานการณ์ความรุนแรง และส่งเสริมการการพัฒนา ตลอดจนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมมีความสันติอย่างยั่งยืน
ถอยคนก้าว...อย่าดึงอดีตกลับมา
สำหรับความเห็นของปราชญ์ด้านศาสนา นักบริหาร และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ก็เช่น ศ.ดร.Loudoun. Moustache Santo รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดี สาธารณรัฐกินิ กล่าวว่า อยากให้ทุกศาสนาและกลุ่มต่างๆ ร่วมมือกันเพื่อให้ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้ สถาบันการศึกษาต้องมีการเรียนการสอนให้เยาวขนได้เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันทีมีความหลากหลายเป็นเรื่องจำเป็นที่สถาบันการศึกษาต้องเผยแพร่ และต้องให้เกียรติทุกศาสนา
"ต้องถอยคนละก้าว โลกนี้จะอยู่อย่างไม่เป็นสุขหากไม่ร่วมมือกัน เราจำเป็นต้องสร้ามความสมดุลในสถานศึกษาระหว่างวิชาศาสนาและวิชาสายสามัญ เพราะการศึกษาคือประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ต้องไม่ลืมว่าความสันติสุขเป็นสิ่งที่ทุกศาสนาต้องการ" รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดี สาธารณรัฐกินิ ระบุ และว่า ปัญหาทีเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เป็นความขัดแย้งทางความคิดที่สร้างความวิบัติ มีการล้มตายดังที่ปรากฏอยู่ในหลายๆ ประเทศ "เราไม่ควรนำเรื่องในอดีตกลับมา เพราะจะสร้างความแตกแยก เรื่องในอดีตเป็นความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า"
ความแตกต่างหลากหลายคือธรรมชาติมนุษย์
ศ.ดร.Mustapha Foudil ตัวแทนองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลาม ราชอาณาจักรโมร็อกโก (ISESCO) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในโมร็อกโก ปาฐกถาในหัวข้อ "การศึกษาอิสลาม: พื้นฐานความเข้าใจนิยามอัตลักษณ์"ตอนหนึ่งว่า ตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาคือ "ครู" ซึ่งครูที่ดีต้องมีทั้งความรู้และพลังสติปัญญา หลักในการพัฒนาครูและผู้เรียนเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ความรู้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ยอมรับในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น มีความเข้าใจตัวบทที่ถูกต้อง และนำไปปฏิบัติในสังคม มีความเข้าใจที่ดีในสังคม ดังนั้นถ้าเรามีความเข้าใจหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน ทั้งครูและนักเรียนก็จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาความรู้
"มนุษย์หนีไม่พ้นความหลากหลายและความแตกต่าง ซึ่งเป็นอยู่แล้วในธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์ถูกสร้างมาให้มีความแตกต่างทั้งสังคมและรูปร่างหน้าตา ตัวหลักการที่ทำให้เราอยู่ในได้ท่ามกลางความหลากหลายในกระบวนการสันติภาพและสันติสุข คือต้องมีการยอมรับ การพูดคุยที่ดี แต่การปรับเปลี่ยนแนวคิดต่างๆ เพื่อสิ่งที่ดีขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเวลา ความอดทน และมีหลักการที่ชัดเจน" ตัวแทน ISESCO กล่าว
----------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : อับดุลเลาะ หวังหนิ, เนื้อแพร พงษ์สุวรรณ
ที่มา: สำนักข่าวอิศรา
Tags: