ซะกาตุลฟิตรฺ หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า "ซะกาตฟิตเราะฮฺ" ตามแบบฉบับ
ซะกาตุลฟิตรฺ หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า "ซะกาตฟิตเราะฮฺ"นั้น เป็นบทบัญญัติที่อัลลอฮฺﷻ ทรงกำหนดให้เป็นฟัรฎู(ภาคบังคับ)เหนือมุสลิมทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในเดือนรอมฎอน แม้กระทั่งทารกที่คลอดในชั่วโมงสุดท้ายของรอมฎอนก็ตาม โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าบุคคลนั้นๆจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นไทหรือเป็นทาส ร่ำรวยหรือยากจน มีสติสัมปชัญญะหรือคนบ้า ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้ถือศิลอดในเดือนรอมฎอนด้วยเช่นกัน ดังหะดีษต่อไปนี้ :
حديث ابن عمر رضي الله عنهما : فرض رسول الله صلى الله عليه وسلم زكاة الفطر من رمضان صاعاً من تمر، أو صاعاً من شعير على العبد والحر، والذكر والأنثى، والصغير والكبير من المسلمين.( متفق عليه)
จากหะดีษของอิบนุอุมัร รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา :
"ท่านรอซูล ได้กำหนดการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺ เป็นผลอินทผลัมจำนวน 1 ทะนาน(ศออฺ) หรือข้าวบาเล่ย์จำนวน 1 ทะนาน จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทาส เป็นไท ชาย หญิง เด็ก หรือผู้ใหญ่ และท่านได้สั่งใช้เรื่องดังกล่าวนี้ให้ทุกคนปฎิบัติให้เสร็จสิ้นก่อนที่ผู้คนทั้งหลายจะออกสู่การละหมาด(อีดิ้ลฟิตรฺ)"
(หะดีษมุตตะฟุกุลอลัยฮิ)
ทั้งนี้เป้าหมายของซะกาตฟิตเราะฮฺนั้นเพื่อเป็นการชำระล้างผู้ถือศิลอดจากสิ่งไร้สาระต่างๆที่เขาได้กระทำมันในระหว่างที่เขาถือศิลอด เเละเพื่อเป็นอาหารเเก่คนยากจน ดังหะดีษต่อไปนี้ :
عن ابن عباس رضي الله عنهما قال : " فرض رسول الله صلى الله عليه وسلم زكاة الفطر طهرة للصائم من اللغو والرفث وطعمة للمساكين فمن أداها قبل الصلاة فهي زكاة مقبولة ، ومن أداها بعد الصلاة فهي صدقة من الصدقات ". (رواه أبوداود وابن ماجه)
รายงานจากท่าน อิบนุอับบาส กล่าวว่า:
"ท่านรอซูลﷺได้กำหนดจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺให้กับผู้ที่ถือศีลอด เพื่อเป็นการชำระคำพูดที่เหลวไหล และหยาบคาย เป็นอาหารให้กับผู้ที่ขัดสน บุคคลใดที่จ่ายซะกาตก่อนละหมาด(อีดิ้ลฟิตรฺ) ถือว่าเป็นซะกาตที่ได้รับการตอบรับ และบุคคลใดที่จ่ายซะกาตหลังละหมาด(อีดิ้ลฟิตรฺ) ถือว่าเป็นการทำศอดาเกาะฮฺอย่างหนึ่ง จากบรรดาศอดาเกาะฮฺทั่วๆไป"
(บันทึกโดยอบูดาวูดเเละอิบนุมาญะฮฺ)
-วิธีการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺ-
สำหรับซะกาตฟิตเราะฮฺนั้นจะต้องจ่ายเป็นอาหาร ที่เป็นอาหารหลักของคนในประเทศ โดยปริมาณของการจ่ายนั้น ดังที่มีระบุในหะดีษคือ 1 ศออฺ โดยจำนวน 1ศออฺของท่านนบี เท่ากับ 4 มุด ( หรือ 4 กอบมือขนาดปานกลาง) หรือถ้าเป็นข้าวสารน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัม
-เวลาของการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺ-
เวลาของการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺที่ดีที่สุดคือ ช่วงเช้าก่อนละหมาดอีด เเต่ถ้าหากเกรงว่าจะไม่ทัน ก็อนุญาตให้จ่ายก่อนวันอีด 1 วัน หรือ 2 วันได้ ดังที่มีปรากฏการกระทำจากเหล่าบรรดาศอหาบะหฺ ส่วนการจ่ายก่อนล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานนั้น เป็นการกระทำที่ไม่มีเเบบอย่างจากท่านรอซูลﷺและบรรดาศอหาบะฮฺ
เเละไม่อนุญาตให้ล่าช้าจนกระทั่งเสร็จสิ้นการละหมาด(อีดิ้ลฟิตรฺ) เพราะถ้าหากจ่ายหลังละหมาด จะไม่ถูกนับเป็นซะกาตฟิตเราะฮฺ แต่จะเป็นเพียงศอดาเกาะฮฺทั่วๆไป ดังหะดีษก่อนหน้านี้ ที่ว่า :
"...فمن أداها قبل الصلاة فهي زكاة مقبولة ، ومن أداها بعد الصلاة فهي صدقة من الصدقات ".
"...บุคคลใดที่จ่ายซะกาตก่อนละหมาด(อีดิ้ลฟิตรฺ) ถือว่าเป็นซะกาตที่ได้รับการตอบรับ และบุคคลใดที่จ่ายซะกาตหลังละหมาด(อีดิ้ลฟิตรฺ) ถือว่าเป็นการทำศอดาเกาะฮฺอย่างหนึ่ง จากบรรดาศอดาเกาะฮฺต่างๆ"
(บันทึกโดยอบูดาวูดเเละอิบนุมาญะฮฺ)
-ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตฟิตเราะฮฺ-
ประเด็นผู้มีสิทธิ์รับซะกาตฟิตเราะฮฺนี้ พี่น้องหลายท่านอาจจะหลงประเด็น โดยเข้าใจว่าผู้มีสิทธิ์รับซะกาตฟิตเราะฮฺนั้นคือบุคคล 8 จำพวกเหมือนกับซะกาตทรัพย์สิน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะซะกาตฟิตเราะฮฺกับซะกาตทรัพย์สินรายปี เป็นซะกาตคนละประเภทกัน เเละที่ถูกต้องตามตัวบทหลักฐานคือ ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตฟิตเราะฮฺมีจำพวกเดียวเท่านั้น นั่นคือคนยากจน ดังที่ระบุในหะดีษ :
"...طهرة للصائم من اللغو والرفث وطعمة للمساكين..."
"...เพื่อเป็นการชำระผู้ถือศิลอดจากคำพูดที่เหลวไหล และหยาบคาย เป็นอาหารให้กับผู้ที่ขัดสน..."
ขออัลลอฮฺทรงตอบรับทุกๆการงานที่เราได้ขวนขวายในเดือนรอมฎอน ทั้งจากเราเเละจากท่าน อามีน
โดย อิสลามตามแบบฉบับ
Tags: