อัลลอฮ์ ทรงเฝ้ามองเราอยู่ตลอดเวลา
“มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ” หลักคิดสำคัญของมุสลิม
ในฐานะที่เราเป็นมุสลิม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาหาความรู้ และทำความเข้าใจในเรื่องราวของศาสนา เรื่องราวของอัลกุรอาน ตลอดจนเรื่องราวของบทบัญญัตอิสลามอย่างสม่ำเสมอ เรื่องๆหนึ่งที่จำเป็นสำหรับเราที่จะต้องเรียนรู้ก็คือเรื่องของ”มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ”
“มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ” คือหลักการหนึ่งของอิสลามที่มุสลิมเราต้องมีหลักคิดอยู่ในใจว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงเฝ้ามองเราอยู่ตลอดเวลา มีหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิมต้นหนึ่งที่เรียกว่าหะดีษญิบรีล ซึ่งท่านอุมัร อิบนิ อัลค๊อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุได้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่ท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลามได้จำแลงกายมาหาท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มาถามท่านนบี ถึงหลักการต่างๆของอิสลาม และหลักการหนึ่งที่ท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลามถามท่านนบี คือ
قَالَ: فَأَخْبِرْنِي عَنْ الْإِحْسَانِ. قَالَ: أَنْ تَعْبُدَ اللَّهَ كَأَنَّك تَرَاهُ، فَإِنْ لَمْ تَكُنْ تَرَاهُ فَإِنَّهُ يَرَاك.
“...(ท่านญิบรีล)ได้กล่าวอีกว่า จงบอกฉันเกี่ยวกับอัลเอี๊ยะหฺซาน (ท่านนบี)ตอบว่า (อัลเอี๊ยะหฺซาน) คือการที่ท่านอิบาดะฮฺอัลลอฮฺ เสมือนดั่งว่าท่านเห็นพระองค์ แต่ถึงแม้ว่าท่านไม่เห็นพระองค์ แต่ทว่าพระองค์ทรงเห็นท่าน...”
นั่นก็คือ สิ่งที่เรียกว่า“มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ” คือหลักการสำนึกอยู่ในจิตใจของเราว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงเฝ้ามองการกระทำของเราอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต
ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮฺ (ลูกศิษย์ของท่านอิมามอิบนุ ตัยมียะฮฺ) ได้ให้ความหมายของคำว่า” มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ”ว่า คือการที่บ่าวของอัลลอฮฺ ตะอาลานั้นจะต้องมีความสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงเฝ้ามอง ทรงเห็นการกระทำทุกๆอย่างของมนุษย์ทุกๆคนทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าหากเรามีคนที่เราให้เกียรติ คนที่เราเกรงใจ คนที่เรากลัวอยู่คนหนึ่ง เราก็จะไม่กล้าทำสิ่งที่ไม่ดีให้บุคคลคนนั้นเห็น เช่น เรากลัวพ่อ เรากลัวแม่ ถ้าหากจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เราก็กลัวว่าพ่อแม่จะดุ จะตำหนิ เช่นเดียวกัน เมื่อเรามีความสำนึกอยู่ในใจตลอดเวลาว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงเห็น ทรงมองการกระทำทุกๆอย่างของเรา เราก็จะเกรงกลัวพระองค์มากที่สุด ทำให้เราไม่กล้าที่จะทำความผิดใดๆที่เป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งของพระองค์
”มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ” เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก บรรดาอุละมาอ์ถือว่า “มันเป็นรากฐานของการงานด้านจิตใจในทุกๆเรื่อง” หมายความว่าเมื่อเราจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ประการแรกที่เราต้องคิดคือ อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงมอง ทรงเห็นการกระทำของเรา หรือทรงได้ยินคำพูดของเรา มุรอเกาะบะตุลลอฮฺจึงเป็นหลักประกัน เป็นเสาค้ำการงานทั้งหมดของเรา บรรดาอุลามาอ์บอกว่า คนที่มีหลัก “มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ”นี้จะเป็นคนที่รวมไว้ด้วยหลัก 3 ประการก็คือ หลักอัลอิสลาม หลักอัลอีมาน และหลักอัลเอี๊ยะหฺซาน ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 5 อัลลอฮฺ ตะอาลาตรัสว่า
إِنَّ اللَّهَ لَا يَخْفَىٰ عَلَيْهِ شَيْءٌ فِي الْأَرْضِ وَلَا فِي السَّمَاءِ
“แท้จริง อัลลอฮฺ ตะอาลาคือ ผู้ซึ่งที่ในชั้นฟ้าและในแผ่นดินนั้น ไม่มีอะไรที่จะมาปกปิดพระองค์ได้“
แม้กระทั่งใบไม้สักใบร่วงลงมา ตรงไหนก็ตาม พระองค์ก็ทรงทราบ ทรงเห็นถึงการร่วงของใบไม้ใบนั้น
อัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอะลัก อายะฮฺที่ 14 อัลลอฮฺ ตะอาลาตรัสว่า
أَلَمْ يَعْلَم بِأَنَّ اللَّهَ يَرَىٰ
“พวกเจ้าไม่ทราบหรือว่า แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงมองเห็นการกระทำของพวกเจ้า”
ถ้าหากเรามีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺอยู่ในจิตใจของเราตลอดเวลา เราก็จะไม่กล้าคิดที่จะฝ่าฝืน หรือทำสิ่งที่มันผิดต่อบทบัญญัติศาสนา
อุลามาอ์ท่านหนึ่งได้แบ่งมุรอเกาะบะตุลลอฮฺ ออกเป็น 3 ช่วงเวลา ดังนี้
ช่วงที่หนึ่ง “ก่อนลงมือทำงาน” เราจะต้องมีหลักมุรอเกาะบะฮฺก่อนที่เราจะทำงานหนึ่งงานใด ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานอิบาดะฮฺหรืองานดุนยา ทำงานในอาชีพ ก่อนจะทำงานทุกๆอย่าง อาจจะพูดบรรยายเรื่องหนึ่งเรื่องใด เราต้องคิดก่อนเสมอว่า เราทำเพื่อใคร เช่น จะเรียนหนังสือเพื่อใคร? จะทำงานศาสนาเพื่อใคร? จะสร้างองค์กรการกุศลเพื่อใคร? ถ้าได้คำตอบว่า ทำสิ่งนั้นเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา เราก็เริ่มทำ แล้วก็ขอความสำเร็จจากพระองค์ แต่ถ้าเราทำไปโดยมีเจตนาอื่นแอบแฝง แน่นอนงานที่เราจะทำนั้น เราจะไม่ได้รับผลตอบแทนอะไรเลย ณ ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา นอกจากความขาดทุน
หะดีษต้นหนึ่งที่เล่าถึงคนทำละหมาด คนทำชะฮีด คนทำเศาะดะเกาะฮฺ คนทำความดีต่างๆมากมาย แต่ในท้ายที่สุดแล้ว บุคคลเหล่านี้กลับถูกนำตัวมาลงนรกก่อนผู้ที่ทำซินา ก่อนผู้ดื่มเหล้า ก่อนผู้ที่ทำบาปต่างๆ ในหะดีษเล่าว่า
คนทำละหมาดถูกนำตัวมาสอบสวน อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงถามว่า เจ้าทำละหมาดเพื่อใคร ?
เขาก็ตอบว่า ละหมาดเพื่อพระองค์ อัลลอฮฺ ตะอาลาก็ทรงบอกว่า เจ้าโกหก ! เจ้าทำละหมาดเพื่อให้คนชมเชยเจ้า
คนชะฮีดถูกนำตัวมาสอบสวน อัลลอฮฺทรงถามว่า ออกสงครามไปเพื่ออะไร ?
ชะฮีดคนนั้นก็บอกว่าออกสงครามเพื่อพระองค์ ออกสงครามเพื่อศาสนา แต่อัลลอฺฮฺ ตะอาลาทรงทราบถึงจิตใจของพวกเขา พระองค์ทรงบอกว่า เจ้าโกหก ! เจ้าออกไปรบเพื่อให้คนชมเจ้าว่าเป็นคนที่กล้าหาญ หรือชมว่าเจ้าเก่ง หรือหวังในทรัพย์เชลยหากรบชนะในสงคราม ?
คนทำเศาะดะเกาะฮฺก็เช่นกัน ถูกนำตัวมาสอบสวนว่าทำไปเพื่ออะไร บริจาคไปเพื่ออะไร ?
ก็ได้คำตอบว่า ทำเพื่อพระองค์ แต่อัลลอฺฮฺ ตะอาลาทรงตรวจสอบถึงจิตใจของพวกเขาแล้ว พระองค์ทรงบอกว่า พวกเจ้าโกหก ! เพราะแท้จริงแล้ว พวกเจ้าทำเพื่อให้ผู้อื่นชมว่าเป็นคนใจบุญ เป็นคนใจดี
คนที่เรียนศาสนามาก็เช่นกัน อัลลอฮฺ ตะอาลาก็ทรงเรียกตัวมาสอบสวนว่า เรียนไปเพื่ออะไร ?
พวกเขาก็จะตอบว่า เรียนเพื่อศาสนา เรียนเพื่อสั่งสอนผู้คน ทำให้สังคมเจริญรุ่งเรือง อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงบอกว่า พวกเจ้าก็โกหกเช่นกัน ! ที่บอกว่าทำเพื่อสังคม ทำเพื่อศาสนา แต่แล้วพวกเจ้าก็ทำเพื่อตัวเองทั้งสิ้น พวกเจ้าเรียนเพื่อหวังชื่อเสียง หวังความมีหน้ามีตาในสังคม เพื่อให้คนเรียกชัยคฺ เรียกอาจารย์
คนที่อ่านอัลกุรอานก็เช่นกัน ดังนั้น จากเรื่องราวของหะดีษข้างต้น เราจะเห็นว่าเป็นบุคคลที่ทำการงานที่เป็นความดีทั้งสิ้น แต่ว่าจุดเริ่มต้นของการทำงานนั้น พวกเขาไม่ได้เนียต ไม่ได้ตั้งเจตนาว่าทำเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลาอย่างแท้จริง การงานที่ดีๆ เหล่านั้นจึงกลายเป็นการงานที่เป็นโมฆะ อัลลอฮฺ ตะอาลาไม่ทรงรับ และนั่นก็คือ ผลของการที่เขาไม่มีหลัก”มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ” อยู่ในจิตใจในช่วงก่อนเริ่มลงมือทำงาน ซึ่งมันจะมีเรื่องของการริยาอ์ การโอ้อวดเข้ามาแทรกอยู่ในหัวใจ
ท่านเคาะลีฟะฮฺอาลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้ให้หลักง่ายๆในการสำรวจตัวเราเองว่า เป็นคนที่มีลักษณะชอบโอ้อวดหรือไม่ หรือชอบอยากจะให้มีคนชมเชยหรือไม่ ซึ่งมันจะมีอะลามะฮฺ หรือมีเครื่องหมายอยู่ 3 ประการคือ
1 . เมื่อเวลาที่อยู่คนเดียว จะไม่อยากทำการงาน ไม่อยากทำความดี ไม่อยากทำอิบาดะฮฺต่างๆ
2 . แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มคนมากๆจะขยัน
3 . จะยิ่งทำงานนั้นมากขึ้นเมื่อมีคนมาเยินยอ มายกย่องชมเชย แต่จะยุติหรือท้อแท้เมื่อมีคนมาตำหนิ หรือมาบอกว่าไม่ดีทั้งๆที่เป็นเรื่องราวของศาสนา
ดังนั้น ขอให้เราได้สำรวจตัวเราเองว่าใน 3 ประการนี้ถ้ามีอยู่ในตัวเราก็ต้องปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะลงมือทำงานอะไร ไม่ว่าจะเป็นงานด้านศาสนา งานสังคม หรืองานที่ดีต่างๆมันจะเปลี่ยนเป็นงานที่อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงรับ เมื่อเราตั้งเจตนาว่าทำเพื่อพระองค์เท่านั้น
ช่วงเวลาที่สอง “ในขณะที่กำลังทำงาน” เมื่อเรามีเนียตที่ดีแล้วว่า เราทำเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา แต่เมื่อเราลงมือทำงาน หรือในขณะที่เรากำลังทำงานนั้น หรือขณะที่ทำอิบาดะฮฺอยู่ ชัยฏอนมันก็เริ่มงานของมัน ยกตัวอย่าง เมื่อเรามาละหมาดที่มัสยิดด้วยเนียตอย่างดี แต่พอมาถึงมัสยิดเห็นคนมากมาย เนียตที่ดีก็เปลี่ยนไป เพราะชัยฏอนมันมากระซิบ มาทำให้เปลี่ยนเนียตระหว่างการทำงาน อยากให้คนเห็น คนมาชมเชย ดังนั้น หากเรามีหลัก “มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ” มันก็จะทำให้เราฉุกคิดได้ว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงมองเห็นว่าเรากำลังทำอะไร กำลังคิดอย่างไร เมื่อสำนึกได้เช่นนี้ เราก็จะหันกลับมาสู่เนียตที่ดีดังเดิมได้
ในส่วนของคนที่กำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนที่ทำมะอฺศิยะฮฺ ทำผิดต่อหลักการศาสนา เมื่อเขาสำนึกในหลัก“มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ” เขาก็ต้องฉุกคิดได้ และสามารถยุติการทำงานที่ไม่ดีนั้นได้เช่นกัน
ช่วงเวลาที่สาม “หลังจากการทำงาน” เมื่อทำงานนั้นแล้วก็ให้สำรวจตัวเราว่า เราทำงานนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ สิ่งที่เราละหมาด เราถือศีลอด จ่ายซะกาต ทำความดีต่างๆนานาไปทั้งหมดนั้น เนียตที่ดียังอยู่ครบหรือไม่ เปรียบเทียบว่า เมื่อเราจะปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง เราก็เอาเมล็ดไปฝังดิน รดน้ำครั้งเดียวแล้วเราก็กลับเข้าบ้าน ไม่ได้ดูแลเลย อย่างนี้สักวันหนึ่ง เมล็ดไม้นี้มันก็ต้องตายไป ดังนั้น ความดีก็เช่นกัน เราหมั่นทำความดีไปตั้งมากมาย แต่หลังจากการทำความดีแล้ว เราก็ต้องหมั่นรักษาคุณความดีให้มันคงอยู่ตลอดไป อย่าให้ความดีเหล่านั้นกลายเป็นโมฆะ กลายเป็นสิ่งไร้ค่าอันเนื่องมาจากเนียตที่เปลี่ยนไป
ผลดีของการที่เรามีหลัก”มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ”
1. เราจะมีอีมานอย่างแท้จริง การที่เราสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงอยู่กับเรา ทรงมองการกระทำของเราอยู่ตลอดเวลานั้น แสดงว่าเราได้พบกับความหอมหวานของอีมานอย่างแท้จริง
2. ใครที่มีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺ เขาก็จะห่างไกลมะอฺศิยะฮฺ หรือสิ่งที่ขัดต่อบทบัญญัติศาสนา
ชาวสะลัฟท่านหนึ่งได้ตอบคำถามของบุคคลคนหนึ่งที่ถามว่า มุสลิมจะครองตัวอย่างไรในการมีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺ
คำตอบก็คือ ถ้าหากท่านคิดจะฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ตะอาลาในสภาพที่ท่านอยู่คนเดียว ไม่มีใครเห็นแล้ว และคิดว่าอัลลอฮฺ ตะอาลาไม่ทรงเห็น ท่านนั้นได้ก่ออธรรมอันยิ่งใหญ่แล้ว
หมายความว่า เมื่อทราบดีแล้วว่าอัลลอฮฺ ตะอาลาทรงเห็น แต่คิดว่าอัลลอฮฺ ตะอาลาทรงไม่เห็น ทั้งๆที่หลักของมุรอเกาะบะตุลลอฮฺบอกว่า ให้เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา เสมือนดั่งท่านเห็นพระองค์ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เห็นพระองค์ แต่พระองค์ทรงเห็นท่าน ดังนั้นหากท่านมีความคิดว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาไม่ทรงเห็นท่าน แน่นอน ท่านนั้นอยู่ในฐานะผู้ปฏิเสธหลักการในเรื่องของ “มุรอเกาะบะตุลลอฮฺ”
3. จะทำให้คนๆ นั้นทำอิบาดะฮฺอย่างดีงาม ครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อจะละหมาดก็คิดว่าละหมาดเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา มีเนียตที่ดีตั้งแต่เข้าเวลาละหมาด อาบน้ำละหมาด กล่าวดุอาอ์ ปฏิบัติเงื่อนไขต่างๆอย่างครบถ้วน จนกระทั่งมาถึงมัสยิด ละหมาดอย่างดี อ่านดุอาอ์หลังละหมาด ละหมาดซุนนะฮฺต่างๆ ถ้าใครมีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺ แน่นอน เขาจะปฏิบิตอิบาดะฮฺเหล่านั้นอย่างสวยงาม ครบถ้วนสมบูรณ์
4. ทำให้เขามีอิคลาศในการทำงานเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ในยุคของเศาะฮาบะฮฺ ท่านหะซัน อัลบัศรีย์ได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺ ตะอาลาจะทรงเมตตาต่อบ่าวคนหนึ่ง ที่เมื่อเขาจะทำงานหนึ่งงานใด เขาก็จะครุ่นคิดอยู่เสมอ เมื่อจะละหมาด จะจ่ายซะกาต จะทำเศาะดะเกาะฮฺ จะทำการงานต่างๆ เขาจะครุ่นคิดอยู่เสมอว่า งานที่เขาลงมือทำนั้น ถ้าเขาแน่ใจว่าทำเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลาแล้ว เขาก็จะลงมือทำทันที แต่ว่าหากทำไปแล้ว หรือขณะที่กำลังทำอยู่นั้นได้คิดว่า ไม่ได้ทำเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลาแล้ว เขาก็จะหยุดงานนั้นไว้ก่อน แล้วก็รอเวลาที่คิดว่า จะทำงานนั้น ทำอิบาดะฮฺนั้นเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา เขาจึงจะเริ่มทำงานนั้นต่อไป”
5. ได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ อัลกุรอานในซูเราะฮฺอัลมุลก์ อายะฮฺที่ 12 อัลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
إِنَّ الَّذِينَ يَخْشَوْنَ رَبَّهُم بِالْغَيْبِ لَهُم مَّغْفِرَةٌ وَأَجْرٌ كَبِيرٌ
“แท้จริง บรรดาผู้ที่มีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺในที่ลับ (ก็หมายความว่ามีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺอยู่ในหัวใจ เมื่อต้องอยู่ในสังคมที่มีมะอฺศิยะฮฺ ก็สามารถดำรงตนให้อยู่กรอบของอัลอิสลามได้ สามารถที่จะหยุดตัวเอง ห้ามตัวเองไม่ให้ถลำออกจากกรอบของอัลอิสลามได้) (บุคคลดังกล่าวนี้แหละ)อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่เขา และจะทรงประกันสวนสวรรค์ให้แก่เขาด้วย”
ผลเสียของผู้ที่ไม่มีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮ
1. ทำให้เขามีลักษณะของมุนาฟิก คือเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก คนสัปปลับ ในซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 108 อัลลอฮฺ ตะอาลาตรัสว่า
يَسْتَخْفُونَ مِنَ النَّاسِ وَلَا يَسْتَخْفُونَ مِنَ اللَّهِ وَهُوَ مَعَهُمْ
“เมื่ออยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก พวกเขาจะไม่กล้าทำมะอฺศิยะฮฺ ไม่กล้าทำความชั่ว ปกปิดการทำความชั่วเอาไว้ เพราะกลัวว่ามนุษย์จะตำหนิ แต่ว่าไม่กลัวอัลลอฮฺ เพราะพออยู่คนเดียว ไม่มีใครเห็นก็จะทำมะอฺศิยะฮฺ ทำความชั่วโดยไม่กลัวอัลลอฮฺ”
นี่ก็คือ ลักษณะของพวกมุนาฟิก
2. มันอาจจะทำให้การงานที่ดีๆของเขานั้น กลายเป็นเถ้าถ่าน กลายเป็นผุยผง ก็คือ เขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการทำงานเหล่านั้น
หะดีษในบันทึกของอิมามอิบนุมาญะฮฺ ซึ่งท่านเษาบาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุได้เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
عَنْ ثَوْبَانَ عَنِ النَّبِيِّ صلى الله عليه وسلم أَنَّهُ قَالَ : ( لأَعْلَمَنَّ أَقْوَامًا مِنْ أُمَّتِي يَأْتُونَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ بِحَسَنَاتٍ أَمْثَالِ جِبَالِ تِهَامَةَ بِيضًا فَيَجْعَلُهَا اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ هَبَاءً مَنْثُورًا ) قَالَ ثَوْبَانُ : يَا رَسُولَ اللَّهِ صِفْهُمْ لَنَا ، جَلِّهِمْ لَنَا أَنْ لاَ نَكُونَ مِنْهُمْ وَنَحْنُ لاَ نَعْلَمُ ، قَالَ : ( أَمَا إِنَّهُمْ إِخْوَانُكُمْ وَمِنْ جِلْدَتِكُمْ وَيَأْخُذُونَ مِنَ اللَّيْلِ كَمَا تَأْخُذُونَ وَلَكِنَّهُمْ أَقْوَامٌ إِذَا خَلَوْا بِمَحَارِمِ اللَّهِ انْتَهَكُوهَا ( .
“ในวันกิยามะฮฺจะมีคนกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันได้นำความดีมาจำนวนมากมายเท่ากับภูเขาลูกใหญ่มหึมา ในขณะที่ถูกสอบสวน เมื่อพวกเขาเห็นความดีจำนวนมากมายเท่ากับภูเขาลูกใหญ่ๆของพวกเขานั้น พวกเขาก็พบว่า อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงทำให้ความดีจำนวนมากมายมหาศาลนั้น ได้กลายเป็นฝุ่นผงละออง ปลิวหายลับไปกับสายตา”
เศาะฮาบะฮฺเมื่อได้ยินดังนั้นต่างก็ตกใจกลัวว่า ตัวเองจะเป็นคนหนึ่งในบรรดากลุ่มคนที่อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงกล่าวถึง
ท่านเษาบาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุจึงได้กล่าวว่า “โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ท่านช่วยบอกลักษณะของบุคคลเหล่านั้นให้เราทราบด้วยเถิด เพื่อที่เราจะได้ไม่อยู่ในคนกลุ่มนั้น ”
ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “พวกเขาเหล่านี้ก็มาจากพี่น้องของพวกท่าน มีสายเลือดเดียวกับพวกท่าน ทำอิบาดะฮฺยามค่ำคืนเหมือนกับพวกท่าน แต่เมื่อพวกเขาเหล่านั้นอยู่เพียงลำพังในที่ลับตาคน พวกเขาก็ฝ่าฝืนข้อห้ามต่างๆของอัลลอฮฺ”
ในยุคปัจจุบัน หากเราอยู่ในสังคมมุสลิม เราอาจจะปลอดภัยจากการทำมะอฺศิยะฮฺ เพราะคนในสังคมก็อาจจะมีการช่วยเหลือกัน ตักเตือนซึ่งกันและกัน แต่ถ้าเราต้องไปอยู่คนเดียว ไปอยู่ต่างประเทศ เดินทางไปต่างจังหวัด ไปอยู่ท่ามกลางมะอฺศิยะฮฺ สิ่งที่ขัดกับหลักการศาสนา ไม่มีใครมาคอยตักเตือนเรา หากเราไม่มีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺ ว่าอัลลอฮฺ ตะอาลาทรงมองเห็นการกระทำของเรา และสอบสวนการกระทำของเรา เราก็อาจหลุดไป หลงไปทำมะอฺศิยะฮฺได้ แต่ถ้าเรามีหลักนี้เราก็สามารถประคองตัวเราให้รอดพ้นจากมะอฺศิยะฮฺไปได้
ดังนั้น หลักมุรอเกาะตุลลอฮฺนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมขอยกตัวอย่างคนในยุคสะลัฟบางท่านมาแสดง เพื่อให้เห็นว่าคนในยุคสะลัฟมีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺมากขนาดไหน ส่วนคนในยุคปัจจุบันมีขนาดไหน
ชาวสะลัฟท่านแรกที่จะขอยกเป็นตัวอย่างของการเป็นผู้มีมุรอเกาะบะตุลลอฮฺ คือ
ในช่วงสมัยที่ท่านอุมัร บินอัลค๊อฏฏ็อบเป็นเคาะลีฟะฮฺ มีอยู่ปีหนึ่งที่เกิดความแห้งแล้ง เกิดความขัดสน ท่านอุมัรได้ประกาศห้ามประชาชนของท่านนำน้ำมาผสมกับน้ำนม เพื่อให้ได้น้ำนมจำนวนมากขึ้นเพื่อนำมาค้าขาย ซึ่งโดยอุปนิสัยของท่านอุมัร ในช่วงกลางคืนท่านก็จะไม่นอน แต่จะเดินสำรวจตรวจตรา ดูแลความปลอดภัย ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน
คืนหนึ่ง ท่านอุมัรเดินผ่านบ้านหลังหนึ่ง ได้ยินเสียงแม่กับลูกสาวสนทนากัน คนเป็นแม่บอกให้ลูกสาวเอาน้ำมาผสมกับน้ำนม
ลูกสาวก็พูดว่า ท่านไม่ได้ยินหรือว่า ท่านอะมีรุลมุอ์มินีนอุมัรประกาศห้ามประชาชนนำน้ำมาผสมกับน้ำนมเพื่อขาย
แต่คนเป็นแม่บอกว่า ทำไปเถิด ไม่เป็นไรหรอก เพราะท่านอุมัรไม่เห็น
ลูกสาวกลับตอบว่า ท่านอะมีรุลมุอ์มินีนอุมัรไม่เห็น แต่ว่าอัลลอฮฺ ตะอาลาทรงเห็น ลูกสาวก็ไม่ยอมทำตามที่แม่บอก
คำตอบของลูกสาวอย่างนั้นแสดงว่า ลูกสาวมีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺอยู่ในใจ ทราบดีว่าอัลลอฮฺ ตะอาลาทรงรู้ ทรงเห็น ทรงสอดส่องการกระทำของเขา ท่านอุมัรจึงรู้สึกประทับใจในตัวของหญิงสาวคนนี้ เมื่อกลับมาบ้าน ท่านอุมัรจึงบอกกับลูกชายของท่านที่ชื่ออาซิมให้มาสู่ขอหญิงสาว และได้แต่งงานกับนาง ซึ่งต่อมาทั้งสองก็ได้มีเชื้อสายที่เป็นชายชื่อว่า อุมัร อิบนุอับดุลอะซี๊ซ ซึ่งในโลกอิสลามได้ขนานนามท่านว่าเป็น เคาะลีฟะฮฺท่านที่ห้า ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอุปนิสัย มีลักษณะการปกครองเหมือนดั่งเช่นท่านอุมัร อิบนุอัลค๊อฏฏ็อบผู้เป็นปู่ นี่ก็คือรางวัลตอบแทนที่ดีของการเป็นผู้มีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺ
ชาวสะลัฟอีกท่านหนึ่งที่จะขอยกเป็นตัวอย่างของการเป็นผู้มีมุรอเกาะบะตุลลอฮฺ ก็คือ ชายที่มีชื่อว่า มุบาร็อก เขาเป็นบ่าวคนหนึ่งของชายที่ชื่อนุอฮฺ บินมัรยัม ซึ่งเป็นเศรษฐี มีลาภยศชื่อเสียง ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีศาสนาด้วย ท่านนุอฮฺ บินมัรยัมมีบุตรสาว 1 คน
วันหนึ่งท่านนุอฮฺ บินมัรยัมมีคำสั่งให้มุบาร็อกไปดูแลสวนองุ่นแห่งหนึ่ง แล้วบอกว่าอีกสองเดือนจะตามไปดูผลงาน มุบาร็อกจึงได้เดินทางไปดูแลสวนองุ่นแห่งนั้น ครั้นพอถึงเวลาสองเดือน
นุอฺฮฺ บินมัรยัมก็เดินทางมาที่สวนองุ่นแห่งนี้ เมื่อไปถึงก็ได้บอกให้มุบาร็อกไปเด็ดองุ่นหนึ่งช่อมาให้ชิม มุบาร็อกก็ไปนำมา ครั้นนุอฮฺ บินมัรยัมได้ชิมก็บอกว่า องุ่นนี้มันมีรสเปรี้ยว จึงบอกให้มุบาร็อกไปนำมาใหม่อีกช่อหนึ่ง มุบาร็อกก็ไปนำมาให้ใหม่ ชิมอยู่สองครั้ง สามครั้งก็เปรี้ยวทุกครั้ง จึงเอ็ดมุบาร็อกว่า ท่านแยกแยะไม่ออกเลยหรือระหว่างความหวานกับความเปรี้ยว
มุบาร็อกตอบว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ตะอาลาว่า ท่านส่งฉันมาสวนองุ่นแห่งนี้เพื่อดูแลรักษาสวนแห่งนี้ ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ตะอาลาว่า ฉันไม่เคยได้ชิมผลไม้ในสวนแห่งนี้เลยสักผลเดียว จึงแยกไม่ออกว่าแบบไหนหวาน แบบไหนเปรี้ยว เพราะไม่กล้าชิม จะหล่นก็ปล่อยให้หล่นไป
นุอฮฺ บินมัรยัมจึงรู้สึกประทับใจในความมีศาสนาของมุบาร็อก จึงได้พูดว่า ศาสนาคือการตักเตือนกันใช่ไหม ?
มุบาร็อกตอบว่า ใช่ครับ
นุอฮฺ บินมัรยัมจึงบอกว่า ฉันมีลูกสาวคนหนึ่ง มีเศรษฐีส่งคนมาสู่ขอทาบทามเธอให้แก่ลูกชายของพวกเขา ฉันจึงขอปรึกษาเจ้าหน่อยสิว่า ฉันควรยกลูกสาวของฉันให้แก่ผู้ใด ?
มุบาร็อกตอบว่า ในยุคญาฮิลียะฮฺนั้นจะแต่งงานลูกสาวด้วยกับบรรดาศักดิ์เกียรติยศชื่อเสียง ส่วนบรรดายะฮูดีย์นั้นจะแต่งงานลูกสาวด้วยกับทรัพย์สินเงินทอง แต่งให้กับคนร่ำรวย ส่วนบรรดานัศรอนีย์จะแต่งงานด้วยกับความสวยงาม คือแต่งงานกับคนสวยคนหล่อ นุอฺฮฺ บินมัรยัมได้ยินคำตอบของมุบาร็อกก็ประทับใจ ปล่อยมุบาร็อกเป็นไทแก่ตัว เป็นอิสระ ไม่ต้องเป็นทาสแล้ว
จากนั้นก็เสนอให้มุบาร็อกแต่งงานกับลูกสาวของเขา มุบาร็อกยังไม่รับปากรับคำ เพียงแต่บอกว่า ให้ไปถามลูกสาวของท่านก่อนว่า เธอจะยินดีด้วยไหม ?
ครั้นเมื่อพ่อไปถามลูกสาว ลูกสาวก็ถามว่าท่านพอใจในตัวเขาไหม นุอฮฺ บินมัรยัมก็ตอบว่า พ่อพอใจ
ลูกสาวจึงตอบว่า ถ้าท่านพอใจ ฉันก็พอใจ ผลของการแต่งงานครั้งนี้ทำให้เกิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อว่า อับดุลลอฮฺ บินมุบาร็อก ซึ่งถ้าใครเรียนด้านศาสนา ศึกษาประวัติศาสตร์จะทราบดีว่า อัลดุลลอฮฺ บินมุบาร็อกเกิดในยุคสามร้อยปีแรกแห่งอิสลาม และเป็นคนที่มีความเคร่งครัดในศาสนา เป็นฮาฟิซอัลกุรอาน
นั่นก็คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนที่มีหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺอยู่ในหัวใจและการกระทำของเขา จะส่งผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะตัวเขาเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อบุตรหลาน วงศ์ตระกูลให้ได้รับบะเราะกะฮฺในชีวิต ผมจึงขอฝากหลักมุรอเกาะบะตุลลอฮฺให้เราได้นำมายึดถือปฏิบัติ เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นความคิด การกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ หรือแม้แต่คำพูดเพียงคำพูดเดียว ก็จะต้องถูกสอบสวนอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ ขอฝากคำพูดของสะลัฟท่านหนึ่งที่กล่าวว่า
“ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหนึ่งคำพูดใด หรือการกระทำหนึ่งการกระทำใดก็ตาม ยกเว้นว่า คำพูดหรือการกระทำนั้น ฉันได้เตรียมคำตอบไว้ ณ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เรียบร้อยแล้ว”
(( ที่มา...เอกสารอัล-อิศลาหฺ (อัล-อิศลาหฺ สมาคม บางกอกน้อย)
Tags: