การคุมกำเนิดในอิสลาม ทำได้หรือไม่?
การคุมกำเนิดในอิสลาม
- เป้าหมายของการแต่งงาน ตามหลักศาสนาอิสลามคือ การมีบุตร และการรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ และไม่ยินยอมให้ทำลายเป้าหมายนี้ด้วยการคุมกำเนิด เพราะการทำลายเป้าหมายนี้ขัดกับบทบัญญัติศาสนา
- ยินยอมให้ควบคุมการมีบุตรได้ชั่วคราวเพื่อเว้นช่วงการตั้งครรภ์ หรือพักการตั้งครรภ์เป็น การชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะมีความจำเป็นตามบัญญัติศาสนา ทั้งนี้โดยการกำหนดร่วมกันของคู่สามีภรรยา และด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย
สภานิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งจัดการประชุมขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ที่ประเทศคูเวตตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 6 ญามาดั้ลอาคิร ฮ.ศ.1409 ตรงกับวันที่ 10 - 15 ธันวาคม ค.ศ. 1988 หลังจากได้ตรวจสอบบทความที่ส่งมาจากคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อเรื่องการคุมกำเนิด และภายหลังจากได้รับฟังการอภิปรายเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว ได้เห็นพ้องต้องกันว่า เป้าหมายของการแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลามคือ การมีบุตรและการรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ และไม่ยินยอมให้ทำลายเป้าหมายนี้ เพราะการทำลายเป้าหมายนี้ขัดกับบทบัญญัติศาสนา และคำแนะนำของบทบัญญัติที่เรียกร้องให้มีบุตรมากๆ เพื่อปกป้องและรักษาวงศ์วาน โดยถือว่าการปกป้องและรักษาวงศ์วาน เป็นหนึ่งจากหลักสำคัญห้าประการที่บัญญัติศาสนาให้การคุ้มครอง จึงได้มีมติดังต่อไปนี้ :
หนึ่ง ไม่ยินยอม ให้ออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพของคู่สามีภรรยาในการมีบุตร
สอง ห้ามกำจัดความสามารถในการมีบุตรทั้งในเพศชายและเพศหญิงด้วยการทำหมัน เมื่อไม่มีความความคับขันตามมาตรฐานของศาสนา
สาม อนุญาตให้ควบคุมการมีบุตรได้ชั่วคราว เพื่อเว้นช่วงการตั้งครรภ์ หรือพักการตั้งครรภ์เป็นการชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่งเพราะมีความจำเป็นตามบัญญัติศาสนา ทั้งนี้โดยการกำหนด ร่วมกัน ของคู่สามีภรรยา และด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่เกิดอันตรายขึ้นกับการกระทำเช่นนั้น และสื่อที่ใช้ในการเว้นระยะการตั้งครรภ์จะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และจะต้องไม่ทำให้ครรภ์ที่มีอยู่เป็นอันตราย
ผู้ทบทวนมีทัศนะในประเด็นการคุมกำเนิด ดังนี้ :
-เป้าหมายของการแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลาม คือ การมีบุตรและการรักษาเผ่าพันธุ์ มนุษย์ และไม่ยินยอมให้ทำลายเป้าหมายนี้ด้วยการคุมกำเนิด เพราะการทำลายเป้าหมายนี้ขัดกับบทบัญญัติศาสนา
- ยินยอมให้ควบคุมการมีบุตรได้ชั่วคราว เพื่อเว้นช่วงการตั้งครรภ์ หรือพักการตั้งครรภ์เป็นการชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่งเพราะมีความจำเป็นตามบัญญัติศาสนา ทั้งนี้โดยการกำหนดร่วมกัน ของคู่สามีภรรยา และด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย
การทำแท้งทารกที่พบว่ามีความผิดปรกติ
มีคำถามว่า “ดิฉันมีเพื่อนคนหนึ่งกำลังตั้งครรภ์ แพทย์หลายคนลงความเห็นว่าทารกพิการมีความจำเป็นต้องทำแท้ง อยากทราบว่ามีบทบัญญัติทางศาสนาว่าอย่างไรในเรื่องนี้ ?”
ดร. ฮุชามุดดีน บินมูซา อะฟานะห์ แพทย์สูตินารี ได้ตอบว่า ในนามของอัลเลาะห์ มวลการสรรเสริญในนามของอัลเลาะห์ มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์แด่อัลเลาะห์ ขอพรและความสันติสุขจงมีแด่ศาสดาของอัลเลาะห์ การมีชีวิตของทารกเป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรี จำเป็นต้องรักษาไว้ เมื่อแพทย์หลายท่านลงความเห็นว่าทารกพิการทางร่างกายให้พิจารณาดังนี้ ถ้าหากความพิการนี้ เป็นสิ่งที่ติดตัวทารก เช่น ดวงตาพิการ เป็นต้น ในกรณีนี้ห้าม (ฮะรอม) ทำแท้งโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าหากความพิการนี้เป็นอันตราย อนุญาตให้ทำแท้งได้ก่อนใส่วิญญาณ และไม่อนุญาตทำแท้งภายหลังจากใส่วิญญาณแล้ว และถ้าหากการปล่อยทารกไว้กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับผู้เป็นมารดา ก็อนุญาตให้ทำแท้งได้โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ
สิ่งที่ควรทราบเป็นลำดับแรก ก็คือข้อกำหนดทางศาสนาเกี่ยวกับการทำแท้งทั่วๆ ไป ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องการทำแท้งทารกที่พิการ
นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า ห้ามทำแท้งทารกที่ตั้งครรภ์ผ่าน 120 วันไปแล้ว ทั้งนี้เพราะวิญญาณ ได้ถูกใส่เข้าไปในทารกแล้ว เมื่อผ่านกำหนดเวลาดังกล่าว ตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ เพราะมีหะดีษที่เล่าจากอับดิลลาห์ บุตร มัสอุด (ร.ด) ว่าท่านศาสนทูต (ซ.ล) ผู้สัจจะและได้รับการรับรองว่ามีสัจจะ ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า คนใดก็ตามในหมู่พวกเจ้านั้น การสร้างเขาจะถูกรวมอยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลาสี่สิบวัน หลังจากนั้นจะกลายเป็นก้อนเลือดในเวลาเท่ากันนั้น หลังจากนั้นจะกลายเป็นก้อนเนื้อในเวลาเท่ากันนั้น หลังจากนั้นอัลเลาะห์จะส่งเทวทูต (ญิบรีล) มา และเขาจะถูกบัญชาไว้สี่ประการคือ ปัจจัยยังชีพของเขา อายุขัยของเขา การงานของเขา ชั่วหรือดี และหลังจากนั้นวิญญาณจะถูกใส่เข้าไปในร่างของเขา.. รายงานโดยบุคอรี
มีข้อยกเว้นจากข้อกำหนดดังกล่าว เพียงสภาพเดียวเท่านั้นคือ เมื่อคณะเเพทย์ที่เชื่อถือได้และเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ยืนยันว่า การปล่อยครรภ์ไว้จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างแน่นอนแก่ชีวิตของผู้เป็นมารดา จึงอนุญาตให้ทำแท้งได้
ทางสภานิติศาสตร์อิสลามขององค์การสันนิบาตโลกอิสลาม ที่นครมักกะห์ ได้มีมติไว้ดังนี้เมื่อตั้งครรภ์ได้ 120 วัน ไม่อนุญาตให้ทำแท้ง ถึงแม้การตรวจทางการแพทย์จะยืนยันว่า ทารกมี
รูปร่างพิการ ยกเว้นเมื่อปรากฏตามรายงานของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การปล่อยทารกในครรภ์ไว้จะเป็นอันตรายอย่างแน่นอนกับผู้เป็นมารดา จึงอนุญาตให้ทำแท้งได้ไม่ว่าทารกจะพิการหรือไม่ก็ตาม เพื่อป้องกันอันตรายที่ใหญ่หลวงที่สุดจากอันตรายทั้งสองอย่าง (คืออันตรายที่เกิดกับชีวิตของมารดา และอันตรายที่เกิดกับทารกจากการทำแท้ง)
ผู้ทบทวนมีทัศนะในประเด็นการทำแท้งทารกที่พบว่ามีความผิดปรกติมีดังนี้ การมีชีวิตของทารกเป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรี จำเป็นต้องรักษาไว้ เมื่อแพทย์หลายท่านลงความเห็นว่าทารกพิการทางร่างกายให้พิจารณาดังนี้ ถ้าหากความพิการนี้ เป็นสิ่งที่ติดตัวทารก เช่นดวงตาพิการ เป็นต้น ในกรณีนี้ห้าม (ฮะรอม) ทำแท้งโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าหากความพิการนี้เป็นอันตรายอนุญาตให้ทำแท้งได้ก่อนใส่วิญญาณ คือก่อน 120 วันนับแต่ตั้งครรภ์ และไม่อนุญาตทำแท้งภายหลังจากใส่วิญญาณแล้ว แต่ถ้าหากการปล่อยทารกไว้ในครรภ์จะเกิดอันตรายกับผู้เป็นมารดาก็อนุญาตให้ทำแท้งได้โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทัศนะนี้อาศัยหลักการของศาสนาไม่ใช่หลักกฎหมาย
ที่มา: https://islamhouse.muslimthaipost.com/
Tags: