สุดยอด 15 วิธี ให้ชีวิตมีบารอกัต
15 วิธี ให้ชีวิตมีบารอกัต (ความจำเริญ)
มุสลิม ผู้ที่หัวใจเต็มเปี่ยมด้วยอีมาน หรือความศรัทธาที่มั่นคง ไม่คลอนแคลน เขาจะมุ่งมั่นในการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ แต่เพียงองค์เดียว ให้มีชีวิตเหนือกว่าความโลภ ความอยากได้อยากมีจนเกินพอดี และจะดีกว่าหากจะขอให้ชีวิตของเขามี(บารอกัต)ความจำเริญกับทุกปัจจัยยังชีพ (ริสกี) ที่อัลลอฮฺประทานให้มา
บารอกัต คือ ความจำเริญ ซึ่งบารอกัตจะมีมากในกิจการงานอันเกี่ยวกับการเชื่อฟัง (ฏออะฮ์) พร้อมหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความยำเกรง และประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างเคร่งครัด
หากพิจารณาไตร่ตรองสภาพความเป็นอยู่ของคนดี นักวิชาการผู้มีคุณธรรมเปี่ยมไปด้วยอัลอิหซานและมีจริยวัตรที่ดีงาม หรือนักการศาสนาที่เป็นแบบอย่างที่ดี ผู้ใฝ่หาความรู้และปฏิบัติศาสนะกิจอย่างสม่ำเสมอ เราจะเห็นความจำเริญปรากฎเป็นร่องรอยในวิถีชีวิตของพวกเขานั้นได้เป็นอย่างดี ชีวิตที่มีความจำเริญสามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้โดยง่าย เช่น บางคนเป็นผู้มีความรู้น้อยนิด ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขตามอัตภาพอย่างเรียบง่าย หากแต่เขายินดีที่จะเสียสละความสุขและเวลาของตนเองและครอบครัว เพื่อช่วยเหลืองานสังคมตามโอกาสที่อำนวย เช่นนี้จึงสามารถเรียกได้ว่า ชีวิตที่มีบารอกัต อีกทางตรงข้าม บางคนเป็นผู้มีความรู้มากมาย แต่สังคมไม่ได้รับประโยชน์จากความรู้ของเขาเลย เช่นนี้สามารถเรียกได้ว่า ชีวิตไม่มีบารอกัต
อัลลอฮ์ ทรงเมตตาให้มีความจำเริญอยู่ในชีวิตของมุสลิม เพื่อให้เหมาะแก่การดำรงชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุขสันติ บารอกัตสามารถอยู่ในหลากหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน คู่ครอง ความรู้ การเผยแผ่และเชิญชวนอิสลาม ยานพาหนะ บ้านพักอาศัย สติปัญญา ร่างกาย ญาติมิตรเพื่อนฝูง อื่นๆ และการที่มุสลิมขอให้ชีวิตของเขามีความจำเริญจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ
อัลลอฮ์ จะประทานบารอกัตให้เกิดขึ้นเมื่อประพฤติตน ดังนี้ :
1. มีความยำเกรง (ตักวา) ต่ออัลลอฮฺ อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำชีวิตไปสู่ความมีบารอกัต ด้วยพระองค์ตรัสไว้ว่า
“และถ้าหากว่าชาวเมืองเชื่อมั่นศรัทธาและเกรงกลัวอัลลอฮ์ อัลลอฮฺก็จะทรงเปิดประตูแห่งความดี (บารอกัต) ให้ทุกๆด้านจากชั้นฟ้าและแผ่นดิน”
(อัลอะอ.รอฟ : อายะฮ.96)
2. การอ่านกุรอาน เนื่องด้วยอัลกุรอานเป็นคำดำรัสของอัลลอฮ์ เป็นคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งประกอบไปด้วยคำสั่งใช้และคำสั่งห้าม จึงเป็นคัมภีร์ที่มีบารอกัตอยู่อย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งเป็นยาของผู้ที่ป่วยทั้งทางกายและทางใจ นอกจากการอ่านอัลกุรอานในทุกๆการละหมาดแล้ว ต้องอ่านอัลกุรอานพร้อมกับศึกษาความหมายไปพร้อมๆกันเป็นประจำ ดังที่....
อัลลอฮฺ ตรัสไว้ว่า :
“ คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่าง ๆของอัลกุรอาน
และเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ”
(ศอด 38: อายะฮ์ 29)
3. การยกมือขอดุอาอ์ให้มากๆ ท่านนบีมุฮัมมัด ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ อาทิ ท่านขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ขอให้มีความจำเริญในเรื่องต่างๆ เช่น ขอให้คู่บ่าวสาวมีบารอกัต โดยท่านกล่าวว่า
(بارك الله لك وبارك عليك وجمع بينكما فى خير) رواه الترمذى
“ขออัลลอฮฺทรงประทานความจำเริญ ขอให้มีบารอกัตแด่ท่านและขออัลลอฮ์ทรงรวมท่านทั้งสองให้ชีวิตคู่อยู่ในความดีงาม”
(บันทึกโดย ติรมิซีย์)
อีกดุอาอ์หนึ่ง ท่านนบีมุฮัมมัดขอดุอาอ์ให้ผู้ที่เลี้ยงอาหารแก่ท่านให้มีความจำเริญและได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮ
(اللهم بارك لهم فيما رزقتهم واغفر لهم وارحمهم)رواه الترمذى
“โอ้ อัลลอฮ์ สิ่งใดที่ท่านให้ริซกีแก่พวกเขา ขอให้สิ่งนั้นมีความจำเริญ และโปรดอภัยโทษและเอ็นดูเมตตาพวกเขาด้วยเถิด”
4. เมื่อมีทรัพย์อย่าตระหนี่ถี่เหนี่ยว เมื่อใดก็ตามที่เราทำมาหากินหรือได้รับปัจจัยยังชีพเป็นเงินทองทรัพย์สินมาแล้ว อย่าทำตนเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ควรใช้จ่ายทรัพย์และแบ่งปันบริจาคทานตามกำลังความสามารถ
ท่านนบีกล่าวกับท่านฮะกีม อิบนิ ฮะชามว่า :
(يا حكيم ان هذا المال خضر حلو فمن اخذه بسخاوة نفس بورك له فيه ومن اخذه باشراف نفس لم يبارك له فيه وكان كالذى يأكل ولايشبع) رواه مسلم
“โอ้ ฮะกีม ทรัพย์สินนั้นเขียวขจีหวานฉ่ำ ใครมีไว้และมีใจโอบอ้อมอารีแก่ผู้อื่น จะทำให้ทรัพ์และผู้เป็นเจ้าของมีบารอกัต
แต่ถ้าผู้ใดมีทรัพย์ไว้ เพื่อทำตัวเด่นเหนือกว่าคนอื่น ทรัพย์นั้นและเจ้าของก็จะไม่มีบารอกัต เหมือนคนที่กินไม่รู้จักอิ่ม”
(บันทึกโดย มุสลิม)
5. เมื่อทำธุรกิจซื้อขาย ต้องตรงไปตรงมาและมีสัจจะ ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นแบบอย่างมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ในการค้าขายตามแบบฉบับของอิสลาม ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ค้าขายกันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีความจำเริญมากยิ่งขึ้น ดังที่ท่ากล่าวไว้ว่า
(البيعان بالخيار مالم يتفرقا او قال حتى يتفرقا فان صدقا وبينا بورك لهما فى بيعهما وان كتما وكذبا محقت بركة بيعهما) رواه البخارى
“ผู้ชื้อและผู้ขาย จะต้องให้มีการเลือกสินค้ากันได้ตราบใดที่ยังไม่ตกลงกัน ยังไม่แยกกันไป
ถ้าหากทั้งสองมีสัจจะและนำเสนออย่างเปิดเผย การซื้อขายของทั้งสองก็จะมีบารอกัต
แต่ถ้าหากทั้งปกปิดและกล่าวเท็จ การซื้อขายของทั้งสองนั้นก็จะไม่มีบารอกัต”
(บันทึกโดย บุคอรีย์)
6. เมื่อจะทำงานให้ทำในเวลาเช้าๆ ขอให้เรายึดถือและนำไปปฏิบัติตามดุอาอ์ของท่านนบีที่ท่านขอไว้ :
عن صخر الغامدى رضى الله عنه عن النبى صلى الله عليه وسلم انه قال:(اللهم بارك لامتى فى بكورها) رواه احمد
“โอ้ อัลลอฮ์ โปรดประทานบารอกัตให้อุมัตของฉัน ในเวลายามเช้าด้วยเถิด”
(บันทึกโดย อิมามอะฮ์มัด)
ท่านรอซูลเมื่อจะส่งกองกำลังออกไปปฏิบัตภารกิจ ท่านเลือกเวลาตอนเช้า และท่านศอค์รินผู้เป็นพ่อค้า ท่านมักจะส่งสินค้าออกไปขายในยามเช้าๆ จนกระทั่งทำให้กิจการมีความเจริญก้าวหน้า มีกำไรงาม
7. ปฏิบัติตนตามซุนนะฮ์ของท่านนบี โดยมีตัวอย่างหนึ่งจากการปฏิบัติตนตามแบบฉบับของท่านรอซูล โดยมีรายงานจากท่านญาบิร อิบนุ อับดุลลาฮ์ กล่าวว่า
امر رسول الله صلى الله عليه وسلم بلعق الاصابع والصفحة وقال: (انكم لا تدرون فى اى طعامكم البركة) رواه مسلم
ท่านรอซูลใช้ให้เลียนิ้วมือ (เก็บกินอาหารที่ติดนิ้ว) และจานที่ใส่อาหาร โดยท่านกล่าวว่า :
“พวกท่านไม่รู้หรอกว่า ในส่วนใดของอาหารมีบารอกัตอยู่” (ดังนั้น ต้องรับประทานให้หมด)
(บันทึกโดย มุสลิม )
8. ต้องมอบหมายความสำเร็จในการงานแด่อัลลอฮ์ เมื่อเราจะกระทำการใดๆก็ตาม จะต้องมอบหมายความสำเร็จต่ออัลลอฮ์ ดังที่ท่านนบีกล่าวว่า :
(لو انكم توكلتم على الله حق توكله لرزقكم كما يرزق الطير تعدوا خماصا وتعود بطانا) رواه احمد
“ถ้าหากพวกท่านมอบหมายแด่อัลลอฮ์อย่างแท้จริง อัลลอฮ์จะประทานริซกีให้เหมือนกับนก
ในยามเช้าออกโบยบินให้สภาพท้องหิว ยามเย็นกลับรวงรังในสภาพท้องอิ่ม”
(บันทึกโดย อะฮ์มัด)
9. ขออิสติคอเราะฮ์ ให้ได้รับการคัดเลือกการงานที่ดีจากอัลลอฮ์ เมื่อเรากำลังตัดสินใจที่จะเริ่มทำงานใดงานหนึ่ง ให้มีการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ เพื่อให้ได้รับการคัดเลือกการงานที่ดี เพราะสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงเลือกให้นั้นย่อมดีกว่าสิ่งที่เราเลือกเอง ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์
ท่านนบีได้สอนเราเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยท่านกล่าวว่า เมื่อคนหนึ่งคนใดคิดจะทำกิจการงานใดก็ตาม ให้เขาละหมาดซุนนะฮ์ 2 ร็อกอะฮ์ เสร็จแล้วให้กล่าวดุอาอ์ว่า :
(اللهم انى استخيرك بعلمك واستقدرك بقدرتك واسألك من فضلك العظيم فانك تقدر ولا اقدر وتعلم ولا اعلم وانت علام الغيوب اللهم ان كنت تعلم ان هذا الامر خير لى فى دينى ومعاشى وعاقبة امرى او قال عاجل امرى واجله فاقدره لى وان كنت تعلم ان هذا الامر شر لى فى دينى ودنياى وعاقبة امرى او قال عاجل امرى واجله فاصرفه عنى واصرفنى عنه واقدرلى الخير حيث كان ثم ارضنى به)
“โอ้อัลลอฮ์ ฉันขอต่อพระองค์ช่วยคัดเลือกการงานนี้ อันเนื่องด้วยความรอบรู้ของพระองค์ ฉันขอให้มีความสามารถ อันเนื่องด้วยความสามารถของพระองค์ และฉันขอต่อพระองค์ให้ได้รับความโปรดปรานอย่างใหญ่หลวงของพระองค์ แท้จริง พระองค์ทรงกำหนด ด้วยฉันไม่มีความสามารถในการกำหนดใดๆ พระองค์ทรงรอบรู้ยิ่ง ในสิ่งที่ฉันไม่รู้และพระองค์ทรงรอบรู้ยิ่งถึงสิ่งเร้นลับ”
“โอ้อัลลอฮ์ เมื่อพระองค์ทรงรู้ว่า การงานนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับฉัน ดีต่อศาสนาของฉันและดุนยาของฉัน อีกทั้งดีต่อการดำเนินชีวิตของฉัน และบั้นปลายชีวิตของฉัน ขอพระองค์ทรงโปรดกำหนดให้ฉันและให้เป็นเรื่องง่ายดายแก่ฉัน และทรงโปรดให้มีบารอกัตแก่ฉันในการงานนี้ด้วยเถิด”
“โอ้อัลลอฮ์ เมื่อพระองค์ทรงรู้ว่าการงานนี้เป็นเรื่องที่ไม่ดีสำหรับฉัน ไม่ดีต่อศาสนาของฉัน และการดำเนินชีวิตของฉัน ตลอดจนบั้นปลายแห่งการงานของฉัน ขอพระองค์ทรงโปรดให้มันพ้นไปจากฉันด้วยเถิด และขอพระองค์ทรงโปรดทรงกำหนดให้ฉันได้รับความดี ถ้าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นและขอพระองค์ทรงยินดีทรงพึงพอใจต่อฉันในเรื่องนี้ด้วยเถิด”
10. ไม่ขอจากผู้คนที่ทำมาหากินด้วยน้ำพักน้ำแรง อิสลามส่งเสริมและสนับสนุนให้มุสลิมที่มีความรู้ความสามารถ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ทำมาหากินประกอบสัมมาอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ในทางตรงกันข้ามไม่สนับสนุนให้ผู้หนึ่งผู้ใด ขอทรัพย์สินเงินทองจากผู้อื่น ตามนัยยะนี้คือ อิสลามไม่ส่งเสริมให้มุสลิมเป็นมือล่างของใคร ตราบเท่าที่บุคคลนั้นมีความสามารถและคุณสมบัติดังกล่าวอยู่
11. ให้จับจ่ายใช้สอยและทำศอดาเกาะฮ์ เมื่อเราประกอบอาชีพทำมาหากินด้วย้ำพักน้ำแรงของตนเองแล้ว ก็สนับสนุนให้มีการจับจ่ายใช้สอยตามความเหมาะสม อีกทั้งส่งเสริมให้มีการบริจาคทาน (ทำศอดาเกาะฮ์) แก่ผู้ที่สมควรได้รับ มีหลักฐานจากฮะดิษกุดรซีย์ ตามที่
อัลลอฮ์ตรัสว่า :
“โอ้ ลูกหลานอาดัม จงจับจ่าย และบริจาคเถิด แล้วอัลลอฮ์ก็จะบริจาคให้ท่าน”
12. จงหลีกห่างจากทรัพย์สินที่เป็นของต้องห้าม ด้วยการดำเนินชีวิตตามครรลองของอัลอิสลาม จะต้องทำมาหากินเพื่อให้ได้ทรัพย์สินเงินทองและสิ่งอุปโภคต่างๆ (อาหารและเครื่องดื่ม) ซึ่งเป็นที่อนุมัติ (ฮะลาล) ตามข้อบัญญัติของอัลอิสลาม และเช่นเดียวกันอิสลามสอนให้เราหลีกเลี่ยง ห่างไกลจากการแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่ต้องห้าม (ฮะรอม) ตามข้อบัญญัติอิสลามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพราะหากเราจับจ่ายใช้สอยหรือบริโภคสิ่งที่ต้องห้าม (ฮะรอม)แล้ว ชีวิตเราก็จะไม่มีความจำเริญ
13. ขอบคุณและสรรเสริญต่ออัลลอฮ์ ในเนียะอ์มัต ความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ประทานให้ เมื่อเราได้รับริซกีหรือความดีงามต่างๆ ตามที่เราประสงค์แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสนองคุณและสรรเสริญต่อผู้ให้ ซึ่งเมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้เป็นเนืองนิตย์แล้วไซร้ ชีวิตของเขาก็จะมีแต่ความจำเริญ ดังที่
อัลลอฮ์ ตรัสว่า :
“หากพวกเจ้าขอบคุณ เราก็จะเพิ่มพูนให้พวกเจ้าอีก”
(อิบรอฮีม: อายะฮ. 7)
14. รักษาละหมาดวันละ 5 เวลา อย่าให้ขาดตกบกพร่อง เสาหลักประการสำคัญของอัลอิสลาม รองจากการปฏิญาณตนว่าเป็นมุสลิมแล้ว คือการดำรงไว้ซึ่งการละหมาดฟัรฎูวันละ 5 เวลา ซึ่งนับว่าเป็นศาสนาบัญญัติที่ถูกบังคับเหนือมุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เมื่อเข้าสูเกณฑ์บังคับที่จะต้องปฏิบัติศาสนากิจและมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์แล้ว เราจะต้องทำการละหมาดให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด อย่าให้ขาดตกบกพร่อง จวบจนร่างกายของเราหมดสภาพหรือความสามารถที่จะปฏิบัตได้แล้ว ตามข้อยกเว้นทางศาสนา
นอกจากนี้อิสลามยังส่งเริมและสนันสนุนให้เราปฏิบัติละหมาดซุนนะฮ์ต่างๆ เป็นประจำเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเราสามารถที่จะปฏิบัติละหมาดทั้งสองอย่างควบคู่กันไปได้แล้ว เราจะได้รับผลบุญต่างๆมากมายมหาศาลตามที่อัลลอฮ์ทรงสัญญาไว้ และได้รับความจำเริญในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ด้วย
15. การขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์เป็นประจำและสม่ำเสมอ มนุษย์ปุถุชนธรรมดา เมื่อเกิดมาและดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้จนกระทั่งตายลง ย่อมกระทำความดีและกระทำความผิดพลาดมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
สำหรับมุสลิมหากรู้ตัวว่าได้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นบาปเล็กหรือใหญ่ก็ตามจะต้องขออภัยโทษและสำนึกผิดในสิ่งที่กระทำลงไปต่ออัลลอฮ์ แม้ในบางครั้งอาจไม่รู้ตัวว่าได้กระทำอะไรผิดลงไปบ้าง ดังนั้น อิสลามจึงสอนให้สำนึกผิดและขออภัยโทษ.
ขอขอบคุณข้อมูลโดย: Somchart Kaweekate
Tags: