เศร้า!! หญิงโรฮิงญา ลอบเล่าเรื่อง 'ฆ่า-เผา-ขังโรฮิงญา' ขณะพม่าจัดสื่อลงยะไข่
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.60 หญิงชาวมุสลิมโรฮิงญา ลอบเล่าเหตุการณ์ถูกละเมิดสิทธิต่อนักข่าวที่ทางการจัดให้เข้าชมหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงตั้งแต่เดือนตุลาคม ในรัฐยะไข่ ของพม่าเป็นครั้งแรก
“ลูกชายของฉันไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เขาถูกจับตัวไปตอนทำงานอยู่ในไร่” ซาร์เบดา หญิงชาวโรฮิงญาที่อุ้มลูกอีกคนอยู่ในอ้อมแขน เปิดเผยต่อสื่อ ท่ามกลางหญิงโรฮิงญาอีกหลายคนที่ต่างพูดว่าสามีของตนถูกจับกุมตัวด้วยสาเหตุที่ไม่ถูกต้อง
ในเดือนพฤศจิกายน กองทัพพม่ากวาดล้างหมู่บ้านที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เมืองหม่องดอ โดยสหประชาชาติระบุว่า มีชาวโรฮิงญาราว 75,000 คน หลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ และผู้สอบสวนของสหประชาชาติที่สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยระบุว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการข่มขืน ทารุณ วางเพลิง และการสังหาร โดยกองกำลังรักษาความมั่นคงในปฏิบัติการปราบปรามของพม่า ซึ่งมีแนวโน้มเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
รัฐบาลพม่า ภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้แก่คณะของภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติในการเดินทางเข้าประเทศเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาเหล่านั้น
ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไม่อนุญาตให้นักข่าวอิสระ และผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่ปราบปราม แต่ในสัปดาห์นี้ กระทรวงข้อมูลข่าวสาร ได้อนุญาตให้นักข่าวมากกว่า 10 คน ทั้งนักข่าวท้องถิ่น และนักข่าวต่างชาติ เดินทางเข้าไปในพื้นที่โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยตำรวจชายแดนให้การดูแล นักข่าวใช้เวลาเกือบ 2 วัน ที่เมืองบุติด่อง ในเขต อ.หม่องดอ รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกกล่าวหาว่ามีกิจกรรมการปราบปรามของทหารเกิดขึ้น
นักข่าวถูกพาไปยังหมู่บ้านกะยากองตอง หนึ่งใน 3 หมู่บ้านที่นักข่าวขอเข้าไป ซึ่งก่อนหน้านี้ รอยเตอร์ได้รวบรวมข้อมูลจากชาวบ้านผ่านทางโทรศัพท์ ทั้งชาวบ้านที่ยังอยู่ในพื้นที่ และที่หลบหนีไปบังกลาเทศ เกี่ยวกับการปราบปรามของทหารที่เกิดขึ้นในกะยากองตอง และหมู่บ้านใกล้เคียงในกลางเดือน พฤศจิกายน
ซาร์เบดา อายุ 30 ปี หญิงชาวบ้านจากหมู่บ้านกะยากองตอง แม้เธอจะสามารถไปเยี่ยมหาลูกชายอายุ 14 ปี ที่ค่ายตำรวจ ซึ่งเป็นที่ที่ลูกชายของเธอถูกควบคุมตัวแยกออกไปจากผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ แต่เธอไม่แน่ใจว่าลูกชายมีทนายความหรือไม่
รอยเตอร์รายงานในเดือน มี.ค. ว่า มีเด็กชาย 13 คน อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกควบคุมตัวในช่วงที่ทหารดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ เด็กชายทั้ง 13 คน รวมอยู่ในรายชื่อผู้ที่ถูกตั้งข้อหา 423 คน ภายใต้พระราชบัญญัติสมาคมนอกกฎหมาย ที่ระบุว่า การเข้าร่วมหรือช่วยเหลือกลุ่มกบฏเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ประชาชนจากหมู่บ้านกะยากองตอง ถูกจับกุมตัวอย่างน้อย 32 คน ถูกจับกุมตัว และเสียชีวิต 10 คน ครูประจำหมู่บ้านที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า มีชาวบ้านประมาณ 3,000 คน หลบหนีไประหว่างปฏิบัติการกวาดล้าง
ลามูติ อายุ 23 ปี ชาวบ้านจากหมู่บ้านกะยากองตอง อีกคนหนึ่ง ชี้ไปที่กองเถ้าถ่านเล็กๆ ที่ระบุว่าพบร่างพ่อของเธอที่นั่น โดยเธอเล่าถึงวิธีที่พ่อถูกมัด และโยนเข้าไปในบ้าน และเผาทั้งเป็นจนเสียชีวิต ส่วนแม่ของเธอถูกจับตัวในเวลาต่อมา เมื่อเจ้าหน้าที่ระบุว่า เรื่องที่แม่ของเธอร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุฆาตกรรมนั้นเป็นเรื่องที่กุขึ้น พร้อมจับแม่ของจำคุก 6 เดือน ในข้อหาตามที่เจ้าหน้าระบุ
ในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (14) เจ้าหน้าที่ตำรวจชายแดน ระบุว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งสร้างข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นถูกตั้งข้อหา และถูกจำคุกเรื่องจากกล่าวเท็จต่อเจ้าหน้าที่
“สื่อบอกว่าพวกเราเผาบ้านเรือนประชาชน และข่มขืน พวกเขาให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” ผู้บัญชาการตำรวจชายแดนพม่า กล่าวต่อนักข่าว และยังโต้แย้งการประเมินของสหประชาชาติเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่หลบหนี โดยอ้างว่า บันทึกของท้องถิ่นระบุว่า มีผู้ที่หายไปเนื่องจากเกิดเหตุความขัดแย้งเพียง 22,000 คน
ฝ่ายเจ้าหน้าที่พม่าอ้างว่า การสืบสวนภายในประเทศ ภายใต้การนำของรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย และคณะกรรมการที่มีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นหัวหน้าคณะ เป็นวิธีที่เหมาะสมแล้วที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่
ที่มา : www.manager.co.th
Tags: