ข้องใจ การซีนาคืออะไร
ปัจจุบันการผิดประเวณีหรือการร่วมหลับนอนกันระหว่างหนุ่มสาวที่ไม่ได้เป็นสามีภรรยากันนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ ในสังคมมนุษย์ เป็นความนิยมที่กำลังแพร่หลาย ใครพอใจที่จะหลับนอนกับผู้หญิงหรือผู้ชายคนใด ก็ไม่มีผู้ใดคัดค้านและต่อต้าน เพราะได้กลายเป็นค่านิยมที่ปลูกฝังให้เด็กยุคใหม่มองเป็นเรื่องธรรมดา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และกำลังประสบปัญหาในสังคมมุสลิม
ข้องใจ การซีนาคืออะไร
ซินา ( الزِّنَا ) เป็นคำอาหรับ มีคำกริยาว่า ซฺะนา ( زَنٰى ) มีรูปคำอาการนามว่า زِنًى (ตามสำเนียงฮิญาซฺ) และ زِنَاءً (ตามสำเนียงเผ่าตะมีม) หมายถึง فُجُورٌ ซึ่งมีความหมายว่า การเบี่ยงเบนจากความถูกต้อง, การฝ่าฝืน, ความเสียหาย, การผิดประเวณี ในที่นี้หมายถึง การผิดประเวณีอันเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมอิสลาม, ซินา มี 2 ลักษณะคือ
1. ซินาในเชิงนามธรรม อาทิเช่น การมองดูเพศตรงข้ามด้วยอารมณ์กำหนัด การเกี้ยวพาราสี การสัมผัสลูบคลำ เป็นต้น การกระทำข้างตนเข้าข่ายเป็นซินา กล่าวคือ เป็นสิ่งชักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) และผู้กระทำโดยเจตนามีบาป (อิซฺม์) การซินาในลักษณะที่ 1 นี้ไม่มีบทลงโทษที่ถูกกำหนดไว้ตามกฎหมายอิสลามแต่ผู้กระทำการดังกล่าวจะถูกปรามหรือถูกลงโทษสถานเบา (ตะอฺซีรฺ) ตามดุลยพินิจของฝ่ายปกครองหรือศาลอิสลาม เช่น เฆี่ยน, ด่าทอ, ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวด้วยหรือการเนรเทศ (มินฮาญุลมุสลิม 425) แล้วแต่กรณี
2. ซินาในเชิงรูปธรรม คือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมอิสลาม ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมที่มีบทลงโทษรุนแรงสถานหนักกำหนดเอาไว้ ( حُدُوْدٌ ) นักวิชาการระบุคำนิยามของซินาลักษณะนี้ว่า หมายถึง การร่วมเพศที่ต้องห้ามในทวารหน้าหรือทวารหลัง (มินฮาญุลมุสลิม 415) โดยลักษณการร่วมเพศเป็นไปโดยการทำให้ส่วนปลายองค์ชาติ (ส่วนที่ถูกขลิบหนังหุ้มปลายออกไป) หายเข้าในอวัยวะเพศของหญิงที่ต้องห้ามมีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยอวัยวะเพศนั้นกระตุ้นอารมณ์กำหนัดตามภาวะปกติ ทั้งนี้มิใช่การมีเพศสัมพันธ์ในกรณีการสมรสที่คลุมเครือ (นิกะฮฺ ซุบฮะฮฺ) ถึงแม้ว่าจะไม่มีการหลั่งก็ตาม (ฟิกฮุซฺซุนนะฮฺ ; ซัยยิดซาบิก 2/553) โดยกระทำไปทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (อิอานะตุตตอลิบีน, อัดดุมยาฏีย์ 4/162) การมีเพศสัมพันธ์ตามลักษณะดังกล่าวถือเป็นซินาที่ผู้กระทำจำต้องได้รับบทลงโทษสถานหนักตามหลักนิติธรรมอิสลาม เพราะถือเป็นคดีอาญาร้ายแรงรองจากการตกศาสนา (ริดดะฮฺ) และการฆ่า (อิอานะตุดตอลิบีน 4/161) และเป็นมหันตโทษ (บาปใหญ่)
โดยหลักนิติธรรมอิสสลามกำหนดบทลงโทษเอาไว้ 2 ลักษณะ กล่าวคือ
1. ผู้ทำซินา เป็นบุคคลที่ไม่เคยผ่านการสมรสที่ถูกต้องตามหลักศาสนามาก่อน ( غَيْرُمُحْصَن ) มีบทลงโทษ ด้วยการถูกเฆี่ยน 100 ที ตามวิธีการที่ถูกกำหนดไว้ถูกเนรเทศออกจากบ้านเมืองในระยะทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อหรือมากกว่านั้นเป็นเวลา 1 ปี (มินฮาญุลมุสลิม) 415, อิอานะฮฺ 162)
2. ผู้ทำซินา เป็นบุคคลที่ผ่านการสมรสที่ถูกต้องตามหลักศาสนามาก่อนแล้ว ( مُحْصَن ) มีบทลงโทษด้วยการถูกขว้างด้วยก้อนหินจนตาย (มินฮาญุลมุสลิม 415) ทั้งนี้คำนึงถึงเงื่อนไขของผู้ทำซินา ซึ่งถูกลงโทษทั้ง 2 ลักษณะว่า เป็นมุสลิม มีสติสัมชัญญะบรรลุศาสนภาวะ, สมัครใจมิได้ถูกบังคับ และผู้ทำซินานั้นยอมรับสารภาพด้วยตัวเองในสภาพปกติ หรือมีพยานยืนยันที่เป็นชายที่เชื่อถือได้จำนวน 4 คน และผู้ทำซินานั้นไม่กลับคำให้การก่อนคำเนินการลงโทษ (อ้างแล้ว หน้า 416) และลักษณะวิธีการในการเฆี่ยนนั้น ให้จำเลยนั่งลงกับพื้น และเจ้าหน้าที่เฆี่ยนที่หลังของจำเลยด้วยแส้ขนาดปานปลางและเฆี่ยนในระดับปานกลางจำนวน 100 ที ผู้หญิงก็เช่นเดียวกับผู้ชาย ยกเว้นให้นางปกปิดร่างกายด้วยผ้าบางๆ และการลงโทษต้องคำนึงถึงสภาพอากาศและสุขภาพของจำเลยด้วย ส่วนการขว้างนั้น ให้ขุดหลุมลึกถึงหน้าอกของจำเลยแล้วขว้างด้วยก้อนหินจนตายต่อหน้าผู้ปกครองหรือตัวแทนและพยานตลอดจนชาวมุสลิมที่ร่วมรับรู้การลงโทษนั้นไม่น้อยกว่า 4 คน (อ้างแล้ว หน้า 414, 417)
ที่กล่าวมานี้ในกรณีที่มีการสารภาพ หรือมีคำร้องถึงศาลอิสลามตามกระบวน วิธีพิจารณาคดีอาญา ส่วนถ้าไม่มีศาลอิสลามก็ให้ผู้กระทำผิดสำนึกผิด (เตาบะฮฺ) ตามเงื่อนไขที่ศาสนากำหนดไว้
ที่มา: alisuasaming.org
Tags: