ความตายคือการเดินทาง
ของบะดีอุซซะมาน ซะอี้ด อัลนุรซีย์
ความตาย เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่นักปรัชญาและนักวิชาการทุกยุคทุกสมัยให้ความสนใจ พวกเขามโนภาพความตายจากทัศนะและจุดยืนของตนเอง บางท่านมีมุมมองทางวัตถุนิยม ความตายในทัศนะของพวกเขาจึงไม่ได้เป็นมากไปกว่า การที่ร่างกายหยุดการทำงาน
ทางกายภาพอันเนื่องมาจากสาเหตุทางธรรมชาติ หรือสาเหตุที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันที่ทำให้อายุไขจบสิ้นลงไป
ส่วนอีกกลุ่มมีมุมมองทางด้านจิตวิญญาณ (ตรงข้ามกับวัตถุนิยม) ความตายในทัศนะของพวกเขาคือ
การตัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างวิญญาณกับร่างกายอย่างสมบูรณ์
ซึ่งมันคือระดับขั้นหนึ่งที่จำเป็นต่อการที่จะก้าวขึ้นไปสู่ระดับขั้นใหม่ที่ชีวิตจะได้รับการตะญัลลีย์ (การสำแดงให้เห็นแจ้งประจักษ์)ในอีกระดับหนึ่งที่สูงส่งและมีเกียรติกว่า
นักวิชาการและนักปรัชญาบางกลุ่ม (เช่นกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺและกลุ่มธรรมชาตินิยม, naturalism) มีทัศนะว่า อันที่จริงแล้ว ความตายนั้นก็คือการดับลงของจุดแห่งชีวิต ซึ่งติดตามมาหลังจากการที่ร่างกายหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทางกายภาพ ความตายตามความเข้าใจดังกล่าวนี้ก็คือสภาพของการไม่มีซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ขณะที่ชีวิตได้รับการถอดถอนออกจากร่างกาย ในทางตรงกันข้ามกับทัศนะของกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺและกลุ่มธรรมชาตินิยมนั้น กลุ่มอะฮฺลิซซุนนะฮฺได้มีทัศนะที่มีบรรทัดฐานมาจากอัลกุรอ่านและตัวบทต่างๆ ที่ว่า ความตายนั้นเป็นมัคลูก (สิ่งที่ถูกสร้าง) อย่างหนึ่ง หมายความว่า มันเป็นสิ่งๆ หนึ่งที่มีอยู่จริง และการให้คำจำกัดความของกลุ่มนี้นั้นก็วางอยู่บนบรรทัดฐานนี้เอง ส่วนหนึ่งจากคำจำกัดความของกลุ่มนี้คือ “ความตายคือคุณลักษณะหนึ่งที่มีอยู่ซึ่งถูกสร้างมาให้ตรงข้ามกับชีวิต” หรือ “เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่มีอยู่ ที่เป็นปฏิปักษ์กับการมีชีวิต” หรือ “วิธีการหนึ่งที่ถูกสร้างให้มีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิต” และอื่นๆ อีกมากมายที่ได้รับการกล่าวไว้ในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหลักศรัทธา ซึ่งคำจำกัดความต่างๆ เหล่านั้นตรงกันในประเด็นที่ว่า ความตายนั้นถูกถือว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการมีอยู่ในลักษณะของตัวตน (เญาฮัร) หรือคุณลักษณะ (อัรฎฺ) ก็ตาม
แม้ว่าจะมีคำจำกัดความที่สอดคล้องกันอย่างนี้แล้ว แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ เพราะสติปัญญายังคงคิดว่า ความตายก็เป็นเพียงการไม่มี เป็นเพียงการเน่าเปื่อยพุพังและการยุติการทำงาน ซึ่งคุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถเป็นสิ่งที่มีได้ เพราะมันจะไปค้านกับคุณลักษณะของการมีอื่นๆ ที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน และนี่ก็คือสิ่งที่ต้องการคำตอบที่เฉพาะเจาะจงลงไปในการวิเคราะห์ ที่สามารถจะทำให้เข้าใจความหมายของความตายตามที่อัลกุรอานได้บอกไว้อย่างลึกซึ้ง และขจัดความขัดแย้งและความคลุมเครือ และท่านบะดีอุซซะมาน ซะอี้ด อัลนุรซีย์ ได้ประสบความสำเร็จในการอธิบายสิ่งดังกล่าวนี้ ด้วยอัจฉริยะภาพของท่าน และด้วยความลึกซึ้งในประเด็นที่ว่าความตายนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง ทั้งที่หากมองโดยผิวเผินแล้วมันน่ามันน่าจะเป็นสิ่งตรงกันข้าม (ภาวะของการไม่มี)
อัลนุรซีย์ และปรัชญาแห่งความตาย
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความตายนั้นเป็นสิ่งที่คนส่วนมากให้ความสนใจ และพยายามที่จะมโนภาพภายใต้ขอบเขตที่อัลกุรอานได้วางไว้ ผู้ที่ติดตามค้นคว้าในเรื่องดังกล่าวนี้เขาจะพบว่า ทัศนะความคิดเห็นต่างๆ ที่มีอยู่นั้น ไม่อาจที่จะคลายปมปัญหาของความตายได้ นอกจากนั้นประเด็นดังกล่าวยังคงคลุมเครือ มืดมนในแง่มุมต่างๆ เนื่องจากสิ่งดังกล่าวนี้เองความต้องการการวิเคราะห์ใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในเชิงลึกก็ยังคงมีอยู่
ซะอีดนุรซีย์ ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้รับคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านได้ตอบตามที่อัลเลาะฮฺตะอาลาได้กล่าวไว้ว่า
الَّذِي خَلَقَ الْمَوْتَ وَالْحَيَاةَ لِيَبْلُوَكُمْ أَيُّكُمْ أَحْسَنُ عَمَلاً وَهُوَ الْعَزِيزُ الْغَفُورُ
ความว่า พระผู้ทรงสร้างให้มีความตายและสร้างให้มีความเป็น เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง และพระองค์เป็จผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงให้อภัยเสมอ (อัลมุลกฺ อายะฮฺที่ 2)
แท้จริงแล้ว ความตายนั้นก็เป็นมัคลูกอย่างหนึ่ง และเป็นความโปรดปราน (เนียะอฺมัต) อย่างหนึ่งเช่นเดียวกับชีวิต ทั้งที่ความตายในรูปภายนอกแล้วคือการสลายตัวและการไม่มี คือการดับของชีวิต และการทำลายตัวตน (ซาต) แล้วอย่างนี้ ความตายจะเป็นมัคลูก และเป็นความโปรดปรานได้อย่างไร
ฉันไม่พบว่า จะมีใครที่จะสามารถตั้งคำถามดังกล่าวนี้ได้ นอกจากผู้ที่ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาเพื่อจะได้รู้ถึงความจริงเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว มันเป็นคำถามที่รัดกุม และเจาะจงถึงสองประเด็นด้วยกันคือ การที่ความตายคือความโปรดปราน และการที่ความตายคือสิ่งที่มีอยู่ นอกจากประเด็นทั้งสองนี้จะเป็นเรื่องยากที่จะขบคิดแล้ว มันก็ยังเป็นการยากที่จะอธิบายให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ในประเด็นที่ว่า ความตายคือเนียะอฺมะฮฺนั้น มันไปประจักษ์ชัดในมุมมองของอัลนุรซีย์ใน 4 สภาพการณ์ด้วยกันคือ
1. ความตายได้นำมนุษย์ออกจากภาระและหน้าที่ของชีวิตในดุนยาอันหนักอึ้ง และในเวลาเดียวกัน มันยังเป็นประตูเชื่อมไปสู่บุคคลอันเป็นที่รักอีกมากมายในโลกบัรซัค ดังนั้น ความตายย่อมเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน
2. ความตายนั้น เป็นการหลุดพ้นจากพันธนาการของคุกแห่งดุนยาอันมืดมิด คับแคบและอลหม่าน และเป็นการเข้าไปสู่การดูแลของพระองค์ผู้ทรงเป็นที่รัก ผู้ทรงคงอยู่อย่างถาวร และเข้าไปอยู่ในความเมตตาของพระองค์อันกว้างใหญ่ไพศาล และมนุษย์นั้นก็จะได้รับความเมตตาด้วยการให้ชีวิตที่กว้างขวาง คงอยู่อย่างต่อเนื่อง นิจนิรันดร์ ไม่มีความกลัวใดๆ มารบกวน และไม่มีความเศร้าโศกเสียใจและความทุกข์ตรมใดๆ มาทำให้ขุ่นมัว
3. ความชราและสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ชีวิตเกิดความยากลำบากและเป็นภาระนั้น ทำให้เห็นแล้วว่าความตายนั้นเป็นเนียะอฺมะฮฺที่เหนือกว่าเนียะอฺมะฮฺของการมีชีวิตมากเพียงใด หากท่านลองนึกภาพปู่ย่าตายายของท่านที่อยู่ในสภาพทนทุกข์ทรมาน ร้องโอดครวญต่อหน้าท่านอยู่ขณะนี้ พร้อมๆ กับพ่อแม่ของท่านที่เข้าสู่วัยชราภาพเช่นกัน ท่านก็จะเข้าใจว่าการมีชีวิตอยู่นั้น เป็นความหายนะเพียงใด และความตายเป็นความโปรดปรานขนาดไหน ยิ่งไปกว่านั้นเราสามารถที่จะรู้ถึงความเมตตาที่มีอยู่ในความตาย และความลำบากลำบนที่มีอยู่ในการมีชีวิตยืนยาวได้เช่นเดียวกัน โดยการพิจารณาใคร่ครวญถึงแมลงตัวสวยงามที่คะนึงหาดอกไม้อันอ่อนโยน ในขณะที่ย่างก้าวของความหนาวเหน็บอันโหดร้ายได้กรายเข้ามาสู่มันในหน้าหนาว
4. ดังเช่นที่การนอนหลับคือการพักผ่อนของมนุษย์ และเป็นความโปรดปรานอย่างหนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้ที่ประสบภัยพิบัติ ผู้ป่วย และผู้ที่มีบาดแผลฉกรรจ์ ความตายก็เช่นเดียวกัน (ซึ่งเป็นพี่ของการนอนหลับ) ก็คือความเมตตาและความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ สำหรับผู้ที่ประสบกับภัยพิบัติ ด้วยกับความสิ้นหวังที่บางครั้งอาจผลักดันให้พวกเขาทำการฆ่าตัวตาย
ส่วนอีกด้านหนึ่งของคำถามที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายถึงความตายโดยถือเป็นสิ่งที่มีอยู่ อัลนุรซีย์ได้กล่าวไว้ดังนี้
“แท้จริงความตายนั้น ในฮะกีกัตของมันคือ การปลดประจำการ การยุติการทำหน้าที่ของชีวิตในดุนยา และเป็นการเปลี่ยนผ่านสถานที่และสภาพการของการมี และมันคือการเชื้อเชิญไปสู่ชีวิตที่คงอยู่อย่างนิรันดร์ซึ่งมีความตายเป็นอารัมภบท เนื่องจากการมาของชีวิตยังโลกดุนยานั้น ก็ด้วยกับการสร้างและการกำหนดของอัลเลาะฮฺ ดังนั้นการไปของชีวิตจากดุนยาก็เช่นเดียวกันด้วยกับการสร้างและการกำหนด วิทยปัญญาและการบริหารจัดการของอัลลอฮฺ เพราะการตายของสิ่งมีชีวิตที่ต่ำที่สุด เช่น พืช - ได้แสดงให้เห็นถึงระบบอันแยบยลและสร้างสรรค์ของการสร้าง ซึ่งมันยิ่งใหญ่กว่าและเป็นระบบระเบียบมากกว่าชีวิตเองเสียอีก ดังนั้น การตายของผลต่างๆ เมล็ดพันธ์ต่างๆ ซึ่งการมองเพียงภายนอกนั้นจะดูเหมือนกับเป็นการเน่าเปื่อยและการแยกจาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคือการประกอบกันขึ้นจากปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบระเบียบอันแยบยล และเป็นการผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ อย่างละเอียดลออและแม่นยำ และเป็นการรวมตัว ประกอบกันขึ้นของสสารต่างๆ เข้าด้วยกันด้วยวิทยปัญญาและความหลักแหลมอันที่สุด โดยที่ความตายที่มองไม่เห็นและมีระบบอันแยบยลพร้อมกับความประณีตอันงดงามนั้น มันก็คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในรูปของชีวิตที่เติบโตของรวงข้าว และพืชพันธุ์ต่างๆ ที่เติบใหญ่และออกดอกออกผล และนี่ก็หมายความว่า อันที่จริงแล้วการตายของเมล็ดก็คือจุดเริ่มต้นของชีวิตของต้นพืชต้นใหม่ ที่ออกดอกและให้ผล ยิ่งไปกว่านั้น มันเป็นเสมือนกับตัวของชีวิตใหม่ของมันเอง เพราะฉะนั้น ความตายก็คือมัคลูกอย่างหนึ่งที่มีระบบระเบียนเฉกเช่นชีวิต (ความเป็น)
และเช่นเดียวกันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระเพาะของมนุษย์จากความตายของผลไม้ที่มีชีวิต หรือสารอาหารที่มีชีวิต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันคือจุดเริ่มต้นของการเลื่อนขั้นสารอาหารเหล่านั้นให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตของมนุษย์ที่สูงส่ง ด้วยเหตุนี้ ความตายดังกล่าวจึงเป็นมัคลูกที่มีระบบระเบียบมากกว่าการมีชีวิตของสารอาหารเหล่านั้น
ถ้าหากว่าการตายของต้นพืชซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตระดับต่ำสุดเป็นมัคลูกที่มีระบบระเบียบด้วยวิทยปัญญาอันล้ำเลิศแล้ว การตายที่ประสบกับมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตระดับสูงสุดจะเป็นอย่างไร? ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า แท้จริงความตายของมนุษย์นั้นจะให้ผลอันเป็นชีวิตที่ยืนยาวในโลกบัรซัค เฉกเช่นเดียวกับเมล็ดพืชที่อยู่ใต้ผืนดิน ซึ่งการตายของมันกลายเป็นต้นพืชที่โดดเด่นด้วยความงดงามและวิทยปัญญาในโลกแห่งอากาศ"
จากตัวบทที่ยกมาข้างต้นนั้น ท่านซะอีดอัลนุรซีย์สามารถที่จะแทรกซึมผ่านเข้าไปในสรรพสิ่งต่างๆ ด้วยความคิดอันหลักแหลมที่หาได้ยาก เพื่อที่จะนำออกมาซึ่งการมโนภาพตามหลักแห่งเหตุผลที่สติปัญญาสามารถรับรู้และเข้าใจได้ ท่านเลือกที่จะอุปมาให้การมีอยู่ของความตายเป็นเสมือนกับบุคคลโดยเริ่มจากมุมมองทางวัตถุซึ่งการมองนั้นจะไม่มีการผิดพลาด ดังนั้นความตายในทัศนะของนุรซีย์นั้นคือจุดเริ่มของการเดินทางครั้งใหม่จากชีวิต ที่มาหลังจากการที่บุคคลหนึ่งได้ส่งมอบวิญญาณ เพื่อเริ่มขั้นระดับแห่งชีวิตที่มีเกียรติและสูงส่งกว่าชีวิตของบุคคลตามปกติธรรมดา
และการตายในลักษณะดังกล่าวก็คือทางผ่านไปสู่ชีวิตที่ดีเลิศกว่า และการเป็นไปของมนุษย์ในสิ่งดังกล่าวนี้ ก็เปรียบเสมือนกับการเป็นไปของเมล็ดข้างสาลีซึ่งที่ถูกฝังไว้ในผืนดิน และได้น้ำเปียกชุ่ม แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่แม่นยำที่ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนสภาพ ซึ่งมันไม่ได้เป็นไปโดยบังเอิญ และพร้อมกันนั้น เมล็ดข้าวสาลีก็ได้ปรากฏสู่สายตาของผู้ที่สังเกตการณ์เพียงรูปของเมล็ดที่เน่าเปื่อยและแตกสลาย แต่ทว่าในไม่ช้ามันก็มีบางสิ่งที่เป็นตระกูลหนึ่งของพืชผุดออกมามีรวงข้าวมากมาย ในแต่ละรวงก็มีอีกหลายสิบเมล็ด
และการปรากฏให้เห็นอันสมบูรณ์ดังกล่าวนี้ ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่อะไรเลยนอกจากชีวิตใหม่ของเมล็ดเพียงเมล็ดเดียวที่เปราะบางเน่าเปื่อยอยู่ในผืนดิน และหากแม้ไม่มีการผุพังเน่าเปื่อยนี้แล้ว แน่นอนว่า เมล็ดพืชนั้นก็จะไม่พบแนวทางหรือวิธีการใดที่จะนำไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์กว่าได้เลย และการเน่าเปื่อยของมันซึ่งถูกมองว่าเป็นการสูญสลายและการเปลี่ยนรูปนั้นแท้ที่จริงแล้วมันก็คือการส่องแสงครั้งใหม่ของชีวิต
และในเมื่อการเปลี่ยนแปลงได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ด้วยวิธีการดังกล่าวและด้วยกฎทางเคมีอันเฉียบขาดแล้ว นั่นก็หมายความว่า มันมีการเคลื่อนไหวที่มีพลังอย่างเคร่งครัดต่อกฎ ที่มนุษย์มองว่ามันคือการสูญสลาย ในขณะที่มันคือกระบวนการที่แยบยลที่ถูกควบคุมโดยซุนนะฮฺของอัลลอฮฺตะอาลา(วิถีของอัลลอฮฺ)ในการสร้าง และในขณะที่เมล็ดข้าวได้กลายมาเป็นหลายร้อยเมล็ด แล้วมันก็กลายเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ดังนั้นมันก็ได้ผสมเข้ากับเลือดและเซลล์ต่างๆ และก็เข้าไปสู่การรวมตัวกันของเซลล์และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งจากเซลล์สมองและเส้นประสาทในตัวมนุษย์ ดังนั้นเมล็ดข้าวก็ได้เปลี่ยนไปเพื่อการมีชีวิตครั้งใหม่ในรูปที่มีเกียรติกว่ารูปที่เคยเป็นมาตอนแรกอย่างมาก และมันจะเป็นเช่นนั้นไปไม่ได้เลยหากไม่มีการสูญสลายทางกายภาพซึ่งสายตามนุษย์มองว่าเป็นการหมดไป การไม่มี ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันคือ การมี ครั้งใหม่ และการตะญัลลีย์ที่ชัดแจ้งกว่าที่ครั้งแรก
และแท้จริงภาพที่เมล็ดข้าวกลับมาสู่การมีชีวิตอีกครั้งนั้น ในความเป็นจริงแล้วมันก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากเป็นเพียงรูปการณ์ที่จะทำให้เข้าใจถึงการกลับมามีชีวิตอีกครั้งของมนุษย์หลังจากที่เขาได้ตายไป ดังนั้นเขาก็ได้อพยพไปสู่การมีที่ไม่ใช่การมีครั้งแรก และการแยกจากจากโลกดุนยาของเขานั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการแตกรวงเป็นชีวิตใหม่ที่ปลอดจากความวุ่นวายแห่งชีวิตครั้งแรก
และด้วยการมโนภาพที่ชัดเจนสวยงามนี่เองที่ทำให้อัลนุรซีย์ประสบความสำเร็จในการรับรองและยืนยันว่า แท้จริงแล้วความตายก็คือเรื่องของการมีอยู่ ตราบใดที่การตายหมายถึงการปฏิสัมพันธ์ที่สอดประสานกันอย่างดี ซึ่งส่งผลให้มีการทำให้มนุษย์กลับสู่การมีครั้งใหม่ และการปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มันก็คือเรื่องที่มีอยู่ ที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงว่า “พระองค์ผู้ทรงสร้างให้มีการตาย” (อัลมุลก์ อายะฮฺที่ 2)
แท้จริงแล้ว การวิเคราะห์ของอัลนุรซีย์นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักศึกษาที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับอากีดะฮฺ และมุฟัซซิร(นักอัธถาธิบายอัลกุรอาน) และความสำคัญของมันนั้นซ่อนอยู่ในหลายๆ ประเด็นด้วยกันส่วนหนึ่งก็คือ การวิเคราะห์ของอัลนุรซีย์นั้นสามารถที่จะเทียบเคียงการมีอยู่ของการตายได้อย่างชัดเจนโดยปราศจากการตีความความ (ตะวีล) ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับผู้คนมากมายที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มายาวนาน
และความสำคัญของการวิเคราะห์ของอัลนุรซีย์อีกประการหนึ่งคือ เขาสามารถที่จะวาดภาพของความตายที่ไม่น่าสะพรึงกลัว เพราะการตายนั้น ไม่ใช่การไม่มี ไม่ใช่การสูญสลาย แต่มันเป็นเพียงการเปลี่ยนถ่ายและการโยกย้ายไปสู่สิ่งที่สมบูรณ์และมีเกียรติกว่า
และการวิเคราะห์ของอัลนุรซีย์ก็ใกล้เคียงกับคำกล่าวของอะบิลอะลาอฺ อัลมุอัรรีย์ที่ว่า
มนุษย์นั้นถูกสร้างมาเพื่อการสูญสลาย ดังนั้นคนส่วนมากก็เข้าใจผิดว่า เป็นการหมดสิ้นไป แต่จริงๆ แล้วมนุษย์นั้นจะโยกย้ายจากโลกแห่งการงาน ไปสู่โลกแห่งความทุกข์ระทม หรือ โลกแห่งความผาสุกนั่นเอง อันที่จริงแล้ว ความกลัวต่อความตายนั้นมันเกิดมาจากการมโนภาพความตายว่าเป็นการไม่มีและการดับสูญ ดังนั้นมนุษย์จึงตกเป็นทาสของความกลัว และมองว่า ความตายนั้นเป็นสงครามกับการมีอยู่ของมนุษย์ และเป็นการทำลายร่างกายอันเป็นโครงสร้างของมนุษย์ เพราะเหตุนี้มนุษย์จึงกลัวความตาย และพยายามหลีกห่างจากสาเหตุต่างๆ ของความตาย ไม่ว่าสาเหตุเหล่านั้น มันคือการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ และการปกป้องอะกีดะฮฺและเผชิญหน้ากับความอธรรม
แท้จริง ปรัชญาการตายในทัศนะของอัลนุรซีย์นั้น ชี้ให้เห็นถึงการคงอยู่ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง และการเชื่อมโยงชีวิตของมนุษย์ในโลกหน้าเข้ากับชีวิตในโลกนี้ และเป็นการตอบโต้ปรัชญาของการไม่มีและการมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งเป็นมุมมองที่มาจากกระแสปรัชญาของพวกวัตถุนิยมซึ่งจำกัดชีวิตมนุษย์ไว้แค่เพียงส่วนแรกของการเดินทางของมนุษย์ และพยายามทำให้เชื่อว่าความตายนั้นคือจุดสุดท้ายของชีวิตและเป็นทางตันและการทำลายล้าง
นอกจากนั้นการวิเคราะห์ของอัลนุรซีย์ ก็ยังมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านหลักการศรัทธา เพราะรูปภายนอกของการตายซึ่งมันก็คือพาหนะนำไปสู่โลกหน้านั้น มันเป็นส่วนหนึ่งจากความเร้นลับซึ่งผู้ศรัทธาทุกคนศรัทธา
ยิ่งไปกว่านั้นการวิเคราะห์ของอัลนุรซีย์ก็มีประโยชน์ในด้านจิตวิทยา เพราะมันทำให้บุคคลรู้สึกสงบในจิตใจและทำให้เกิดความสอดประสานกับตัวตน (ซาต) และความเชื่อมั่นต่อชีวิตในทั้งสองภาค คือภาคแรกและภาคที่สอง และในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์ของอัลนุรซีย์ก็ทำให้ความตายเป็นเรื่องง่าย ไม่เป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวที่ทำลายล้างชีวิตมนุษย์ และด้วยความรู้สึกดังกล่าวนี้เองที่จะทำให้มนุษย์เผชิญหน้ากับความตายด้วยความกล้าหาญ
ตราบใดที่ความตายที่กำลังมาสู่มนุษย์นั้นเป็นเพียงการเดินทางไปสู่ชีวิตหนึ่งที่หัวใจให้การยืนยันและเกิดความสงบสุขในจิตใจ เพราะหากพวกท่านทั้งหลายทราบ .. โลกหน้านั้นคือสิ่งที่มีชีวิตนั่นเอง !
โดย ศต. ดร. มุศต่อฟา บิน ฮัมซะฮฺ
ที่มา : https://muslim-teenager.blogspot.com/
Tags: