ช่วยชีวิตยามวิกฤต !!! ฝึกช่วยชีวิตจากหุ่นยางพารา
การช่วยชีวิตไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์ พยาบาล เท่านั้น แต่ประชาชนก็ควรมีความรู้ในขั้นต้น ตระหนักในบทบาทของตนเอง จึงต้องมีความรู้และทำเป็น จึงจะสามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ จึงเป็นที่มาของ “การอบรมปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ CPR นาทีชีวิต : ช่วยเป็นช่วยได้” เมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดโครงการอบรมปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ CPR นาทีชีวิต : ช่วยเป็นช่วยได้ โดยมีวิทยากรจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รวมทั้ง 28 เครือข่ายสถานพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล และผู้สนใจจากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าร่วมอบรมกว่า 1,000 คน จากการอบรมเชิงปฏิบัติการที่น่าสนใจ ได้แก่ การช่วยฟื้นคืนชีพตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง ตลอดจนการช่วยฟื้นคืนชีพเด็ก
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คณะนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.ได้ผลิตหุ่นยางพาราใช้ฝึกการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งเดิมต้องซื้อจากต่างประเทศ ราคาค่อนข้างสูง คณะนักวิจัยฯ ได้มอบสิทธิ์การใช้หุ่นให้กับ ม.อ. และม.อ.ปัตตานี นักวิจัยมีโอกาสทำหุ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพาราซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี เป็นภาคีเครือข่าย ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของตัวหุ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อตรวจสอบได้มาตรฐาน จึงได้นำมาใช้ฝึกปฏิบัติการ CPR ในครั้งนี้ด้วย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย สมาคมศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ศูนย์ฝึกทักษะทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โรงพยาบาลปัตตานี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี จัดโครงการอบรมดังกล่าวเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอายุ 50 ปี ในปี 2561 ด้วยการทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาลทุกระดับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภาวะฉุกเฉินจากเหตุการณ์ต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ ช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วยที่หยุดหายใจกะทันหัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้คณะนักวิจัยพัฒนาและจัดทำหุ่นฝึกช่วยชีวิตจากยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งประกอบด้วย บุคลากรเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และ ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ได้ร่วมกันศึกษาและจัดทำหุ่นฝึกช่วยชีวิตจากยางพารา เพื่อมอบให้กับสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 50 ตัว มอบแก่เครือข่ายสถานพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 50 ตัว รวม 28 หน่วยงาน ประกอบด้วย โรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุข ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา และ เทศบาลเมืองปัตตานี เพื่อนำไปใช้ในการฝึกช่วยชีวิตต่อไป
พลตำรวจตรี นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า 15 ปีที่ผ่านมา การเผยแพร่ความรู้ทางด้านการช่วยชีวิต(Cardio Pulmonary Resuscitation:CPR) ของไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้ความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนางานด้านการช่วยชีวิตและการรักษาพยาบาลในภาวะวิกฤต มีประสิทธิภาพและมาตรฐานเท่านานาประเทศ มีจำนวนผู้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น มีการฝึกอบรมการช่วยชีวิตโดยทีมผู้สอนที่มีประสบการณ์ จำนวนครูผู้สอนตามเกณฑ์ สอบปฏิบัติผู้เข้าฝึกทักษะ ประชาชนสนใจและเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมากขึ้นในทุกภาคของไทย
“สำหรับสาเหตุที่ทำให้หยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นนั้นเช่น จมน้ำ ได้รับยาเกินขนาด ไฟฟ้าช็อต กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ฟ้าผ่า เป็นต้น ภาวะหัวใจหยุดต้นคือ การไหลเวียนของโลหิตหยุดลงอย่างสิ้นเชิง ไม่มีอาการไอ ไม่มีชีพจร หากมีใครรีบทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน(Basic Life Support-BLS) ตามหลักการที่ถูกต้องจะทำเกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ปอด เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง โอกาสที่จะกลับฟื้นมีชีวิตปกติได้”
ในการช่วยฟื้นคืนชีพที่มีประสิทธิภาพจะต้องทำงานเป็นทีมและต่อเนื่อง โดยทีมงานของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร ประชาชนที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์มาตรฐานการช่วยชีวิต สำหรับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนคือ 1.ประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยว่ามีสติหรือไม่ โดยการปลุกเรียกและดูการเคลื่อนไหวที่หน้าอกว่าหายใจหรือไม่ 2. ขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ฉุกเฉิน ตามเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ : เครื่องเออีดี (Automated External Defibrillator:AED) 3.ปฏิบัติตามขั้นตอน การกดหน้าอก การเปิดทางเดินลมหายใจให้โล่ง และการช่วยหายใจ 4.การช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติโดยใช้เครื่องเออีดี
“ต้องมีความปลอดภัยก่อนเข้าไปช่วย คนไทยชอบช่วยแต่ต้องเสียคนดีไปเยอะเพราะไม่รู้หลักการในการเข้าไปช่วย สิ่งสำคัญคือต้องเซฟตัวเอง ต้องให้ตัวเองปลอดภัยด้วย ย้ายผู้ป่วยออกมาก่อน หากกดหน้าอกนาทีแรกอย่างถูกวิธีจะสามารถช่วยชีวิตได้ ต้องรู้และมั่นใจว่าทำได้ หากรอถึงนาทีที่ 3 ความสำเร็จหายไป 50 เปอร์เซ็นต์ กดให้เป็น เป่าปาก ส่วนครูที่สอนทุกคนต้องมีมาตรฐาน ต้องรู้หลักการ สอนเพื่อนำไปใช้ สอนเพื่อเป็นครู เพราะนอกจากอุปกรณ์ต้องมีครูที่เหมาะสมด้วย
สำหรับหุ่นในการฝึก บ้านเรายังขาดอีกเยอะ บางสถาบันการศึกษาที่มีคณะแพทย์ นักศึกษาก็ได้ใช้ แต่ยังไม่ครอบคลุม ไทยต้องก้าวไปอีกหลายก้าว เมื่อมีการคิดค้นหุ่นจาการใช้ยางพาราพบว่า หุ่นยางพาราของบ้านเรามีประสิทธิภาพดีมาก ต้องฝากความหวังคนรุ่นใหม่ไว้กับงานนี้ ถ้ามีหุ่นลงไปเต็มทุกโรงพยาบาลชุมชน โรงเรียน จะสามารถช่วยชีวิตคนไว้ได้มากทีเดียว”
ด้านอธิการม.สงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดอบรมครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือของภาคีเครือข่ายนวัตกรรมยางพาราคือ การยางแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เพื่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤติราคายางพารา โดยใช้งานวิจัยเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องยางพาราสู่การใช้ประโยชน์สู่ชุมชนเพื่อสามารถผลิตหุ่นยางพาราในโอกาสอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
ภาพประกอบจาก: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ที่มา : https://www.fatonionline.com/
Tags: