อัตลักษณ์อาหารฮาลาล นิยามสั้นๆ และคำจำกัดความ
อัตลักษณ์อาหารฮาลาล นิยามสั้นๆ และคำจำกัดความ
เขียน/เรียบเรียงโดย : บัญญัติ ทิพย์หมัด
อัตลักษณ์อาหารฮาลาล หมายถึง ลักษณะเฉพาะที่บ่งบอกถึงความเป็นอาหารฮาลาล ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลาม อัตลักษณ์เหล่านี้ ครอบคลุมทั้งมิติทางศาสนา วัฒนธรรม และสังคม (อิสลาม คือศาสนา, มุสลิม คือ ผู้นับถือศาสนาอิสลาม)
มิติทางศาสนา
1. วัตถุดิบ: ต้องมาจากสัตว์ที่เชือดตามหลักศาสนาอิสลาม (ผู้เชือดต้องเป็นมุสลิมและมีการกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้า:อัลเลาะห์) สัตว์เหล่านี้จะต้องมีสุขภาพดี และถูกเชือดด้วยมีดที่คม ไม่ให้สัตว์ทรมาน วัตถุดิบอื่นๆ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช จะต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อน และไม่ใช่สิ่งที่ต้องห้ามตามหลักศาสนา
2. วิธีการปรุง: จะต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อนจากอาหารที่ไม่ฮาลาล อุปกรณ์เครื่องครัวจะต้องสะอาด และไม่เคยสัมผัสกับอาหารที่ไม่ฮาลาลมาก่อน ผู้ปรุงอาหารจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับหลักการของอาหารฮาลาล และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กรณีอุปกรณ์เคยสัมผัสหรือปนเปื้อนอาหารไม่ฮาลาลจะต้องล้างด้วยสบู่ดินหรือ (ล้างให้ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติ)
3. การบริโภค: จะต้องให้ความสำคัญต่ออาหาร และผู้ปรุงอาหาร จะต้องไม่รับประทานอาหารมากเกินไป และจะต้องไม่ทิ้งอาหารเหลือ ทั้งนี้มารยาทในการบริโภคก็มีส่วนสำคัญในกับเพิ่มความอรรถรสของอาหาร ที่สำคัญยิ่ง คือเพื่อนหรือเรื่องราวการพูดคุยบนโต๊ะอาหารก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ศาสนาอิสลามส่งเสริมสร้างโอกาสอันดีขณะรับประทานอาหาร
มิติทางวัฒนธรรม
1. อาหารฮาลาล เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมุสลิม สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ค่านิยม และประเพณีของชาวมุสลิม
2. อาหารฮาลาล เป็นสิ่งบังคับให้มุสลิมทุกคนรับประทาน (มีคำสอนว่า หากทานอาหารที่ไม่ฮาลาล พระองค์อัลเลาะห์จะไม่ตอบรับในผลบุญความดีที่กระทำ) มักถูกใช้ในงานเฉลิมฉลอง งานมงคล และงานศาสนาต่างๆ
3. อาหารฮาลาล เป็นตัวช่วยในการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอาหารฮาลาลตามชุมชนต่างๆของประเทศไทย ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนตามภูมิภาคนั้นๆ
มิติทางสังคม
1. อาหารฮาลาล เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมด้วยกัน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม (ต่างศาสนิก)
2. ร้านอาหารฮาลาล เป็นสถานที่ที่มุสลิมสามารถมารวมตัวกัน พูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกัน และยังเป็นการแสดงภาพลักษณ์อันดีงามของอาหารการกินที่มีประโยชน์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
3. อาหารฮาลาล เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่หลากหลาย ไม่จำกัดแค่เฉพาะชาวมุสลิม กล่าวได้ว่า “อาหารฮาลาล ใครๆก็ทานได้)
โดยสรุป อัตลักษณ์อาหารฮาลาล นั้น มีความหมายมากกว่าแค่การรับประทานอาหาร แต่ยังรวมถึง หลักการ วิธีการ ค่านิยม และประเพณีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อทั้ง มุสลิม และ ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
ความท้าทายและแนวทางการพัฒนา
1. การขาดความรู้: ยังมีมุสลิมจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจหลักการของอาหารฮาลาล อย่างถ่องแท้ อาจจะเกิดปัญหาการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา โดยเฉพาะ คำว่า ฮาลาลตอยยิบัน (อาหารที่ดี ถูกสุขลักษณะ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ) และหลายๆครั้ง มุสลิมก็ไม่แสดงจุดยืนที่ควรจะเป็นในการเลือกปฏิเสธการรับประทานอาหารที่ไม่แน่ใจว่าฮาลาลหรือไม่
2. การเข้าถึงอาหารฮาลาล: ในบางพื้นที่ อาจจะหาซื้ออาหารฮาลาลได้ยาก ส่งผลให้มุสลิมบางคน ต้องบริโภคอาหารที่ไม่ฮาลาล อันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสังคมเมืองในปัจจุบัน
3. มาตรฐานอาหารฮาลาล: มาตรฐานอาหารฮาลาลในประเทศไทย ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และมีเครื่องเครืองหมายรับรอง หรือที่ทราบกันคือ ฮาลาลขนมเปียกปูน แต่บางครั้งก็มีการสร้างปัญหานั้นคือ มีการปลอมแปลงตราหรือเครื่องหมายรับรองฮาลาล ทั้งนี้ในประเทศไทยยังมีจุดอ่อน คือ ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบลงโทษผู้ปลอมแปลงเครื่องหมายฮาลาล อย่างชัดเจน (อ้างอิง พรบ.อิสลาม ปี 2540) อีกทั้งหลายๆผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศก็มีตราฮาลาลของประเทศต้นทาง แต่ก็เป็นการยากยิ่งในการตรวจสอบว่า เครื่องหมายดังกล่าวนั้นมีการปลอมแปลงหรือหมดอายุการรับรองฮาลาลแล้วรึไม่ อย่างไร
แนวทางการพัฒนา
1. การให้ความรู้: ควรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการมาตรฐานการประกอบอาหารฮาลาล แก่ทั้งมุสลิม และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
2. การสนับสนุนร้านอาหารฮาลาล: ควรมีการสนับสนุนร้านอาหารฮาลาล ทั้งด้านเงินทุน และความรู้ ต่างๆ
3. การพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาล เฉพาะร้านอาหารมุสลิมหรือร้านที่เจ้าของเป็นมุสลิมแต่กำเนิด เพื่อยกระดับอย่างเท่าเทียม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
- เว็บไซต์: https://www.cicot.or.th/
- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับมาตรฐานฮาลาล คำอธิบายถึงหลักการทั่วไปของอาหารฮาลาล วัตถุดิบที่ต้องห้าม วิธีการเชือดสัตว์ และวิธีการปรุงอาหารฮาลาล
- Halal Science Center, Chulalongkorn University
- เว็บไซต์: https://www.chula.ac.th/en/cu-services/quality-assurance-services/the-halal-science-center/
- อธิบายถึงกระบวนการผลิตอาหารฮาลาล ตั้งแต่วัตถุดิบ การเชือดสัตว์ การแปรรูป จนถึงการขนส่ง
- สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารและยา
- เว็บไซต์: https://www.tisi.go.th/
- หลักเกณฑ์วิธีการและมาตรฐานสำหรับการขอรับใบรับรองระบบการรับรองอาหารฮาลาล
- สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
- เว็บไซต์ http://www.muslimthaipost.com
- ความรู้ และความเคลื่อนไหว ที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล
- ฮาลาลไทยแลนด์
- เว็บไซต์ http://www.halalthailand.com
- ข้อมูล บทความน่ารู้ต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าฮาลาลและฮารอม (ต้องห้าม)
Tags: