ทำอะมัลอิบาดะฮ์ได้ในรอมฎอนแม้ผู้หญิงที่มีประจำเดือน ตอนที่ 1
ผู้หญิงเมื่อมีประจำเดือนมาในช่วงเดือนรอมฎอน ก็ต่างรู้สึกโศกเศร้าเสียใจกับโอกาสที่จะแสวงหาความโปรดปรานและความดีงาม ทว่าเราขอกล่าวกับพวกเธอทั้งหลายที่ประสบกับสภาวะเช่นนี้ว่า “อย่าได้กลุ้มใจไปเลย”
เพราะสิ่งนี้เป็นการกำหนดของอัลลอฮฺต่อหญิงสาวลูกหลานอาดัมทุกคน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ในช่วงประกอบพิธีหัจญ์ ว่า ในครั้งที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺได้เข้ามาหาท่านหญิงซึ่งในขณะนั้นท่านหญิงกำลังร้องไห้ ท่านนบีได้กล่าวว่า“เธอเป็นอะไรหรือ เลือดประจำเดือนของเธอมาใช่มั้ย ?” ท่านหญิงตอบว่า “ใช่ค่ะ” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “แท้จริงมันเป็นเรื่องที่อัลลอฮฺทรงกำหนดสำหรับหญิงสาวลูกหลานอาดัมทุกคน” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 5148)
เธออย่าได้กลุ้มใจไปเลย... เพราะในการบันทึกของท่านอิมามอัล-บุคอรีย์ในหนังสือเศาะฮีหฺของท่าน มีรายงานจากท่านอบู มูซา เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
ความว่า “เมื่อบ่าวคนหนึ่งได้เจ็บป่วยหรือเดินทาง อัลลอฮฺจะบันทึกผลบุญสำหรับเขา เท่าที่เขาเคยปฏิบัติการงานนั้นตอนที่ไม่ได้เดินทางและไม่มีอาการเจ็บป่วย” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2834)
แน่นอนที่สุดว่าการมีประจำเดือนของผู้หญิงนั้นถือเป็นความเจ็บป่วยที่ทำให้เธอถูกยับยั้งจากการปฏิบัติอะมัลต่าง ๆ ในช่วงที่เธอมีสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการทำอิบาดะฮ์ ซึ่งการปฏิบัติข้อสั่งใช้ของอัลลอฮฺที่ได้ปฏิบัติเป็นปรกติวิสัยนั้น ไม่ได้ถูกยับยั้งไม่ให้ปฏิบัติเว้นแต่เมื่อมีประจำเดือน ด้วยเหตุนี้สำหรับเธอแล้วจึงยังคงได้รับผลบุญเท่าที่เธอเคยปฏิบัติการงานนั้นในขณะที่เธอมีสุขภาพที่ดี
ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้จัดเตรียมนำเสนอกิจวัตรต่าง ๆ สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนเป็นการเฉพาะเพื่อใช้ในเดือนรอมฎอน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เธอตกอยู่ในสภาพที่ล้มเลิกจากการปฏิบัติการงานต่าง ๆ ดังที่ผู้หญิงหลายคนเป็นอยู่หลังจากที่สะอาดจากการมีประจำเดือนแล้ว
และนี่คือกิจวัตรแบบง่าย ๆ และเราได้เลือกที่จะทำให้กิจวัตรในแต่ละวันของมุสลิมได้จำแนกออกจากกิจวัตรที่ต้องทำในครัวเรือน
ซึ่งสิ่งที่ขอตอกยํ้า ณ ตรงนี้คือ จำเป็นที่ต้องตระหนักว่ากิจวัตรต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้จำกัดให้มุสลิมต้องอ่านอัลกุรอานและซิกิรฺต่ออัลลอฮฺในเวลาหนึ่งเวลาใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งการซิกิรฺต่ออัลลอฮฺและอ่านอัลกุรอานนั้นสามารถปฏิบัติได้ในทุกสถานที่และเวลา
ตอนที่ 1 : กิจวัตรที่น่าปฏิบัติก่อนตะวันขึ้น
1.1 อ่านดุอาอ์รับอะซานเวลาละหมาดศุบุหฺ ด้วยดุอาอ์ที่ว่า...
اللَّهُمَّ رَبَّ هَذِهِ الدَّعْوَةِ التَّامَّةِ، وَالصَّلَاةِ القَائِمَةِ
آتِ مُحَمَّداً الوَسِيلَةَ وَالفَضِيلَةَ، وَابْعَثْهُ مَقَاماً مَحْمُوداً الَّذِي وَعَدْتَهُ [البخاري برقم 4719,614]،
“อัลลอฮุมมะ ร็อบบะ ฮาซิฮิดดะอฺวะติตต๊ามมะฮฺ วัศเศาะลาติล กออิมะฮฺ อาติ มุหัมมะดะนิลวะสีละฮฺ วัลฟะฎีละฮฺ วับอัษฮุ มะกอมัน มะหฺมูดะนิลละซี วะอัดตะฮฺ”
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ พระเป็นเจ้าแห่งการเชิญชวนอันสมบูรณ์ และการละหมาดที่กำลังจะปฏิบัติอยู่นี้ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานความดี ประเสริฐ และขอพระองค์ทรงโปรดนำมุหัมมัดสู่ตำแหน่งที่ได้รับการสรรเสริญ ซึ่งพระองค์ได้ทรงสัญญาไว้ด้วยเถิด”
(ท่านนบี กล่าวว่า ใครที่กล่าวเช่นนี้) “เขาจะได้รับการชะฟาอะฮฺจากฉันในวันกิยามะฮฺ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 614,4719) (อัชชะฟาอะฮฺ คือ การขอความช่วยเหลือ)
1.2 ฉกฉวยช่วงเวลาระหว่างอะซานกับอิกอมะฮฺด้วยการขอดุอาอ์และอ่านอัซการยามเช้า ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “การขอดุอาอ์ระหว่างอะซานกับอิกอมะฮฺจะไม่ถูกผลักไส” (หะดีษหะสัน เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 212)
1.3 ปลุกสมาชิกในครอบครัวเพื่อละหมาดศุบุหฺ เพื่อขวนขวายผลตอบแทนและผลบุญนั้น
1.4 พยายามส่งเสริมให้สามีและลูกๆ ละหมาดศุบุหฺที่มัสญิดในรูปแบบญะมาอะฮฺ พร้อมทั้งกระตุ้นพวกเขาให้ไปละหมาดตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งผลบุญของคำแนะนำนี้คือ ส่งเสริมให้สามีและลูก ๆ ละหมาดสุนัตก่อนศุบุหฺในบ้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเจริญรอยตามแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมและได้รับผลบุญในส่วนนี้
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “หากแม้นพวกเขารู้ถึง(ความดีงาม)ในละหมาดอิชาอ์และศุบหฺ แน่แท้พวกเขาจะต้องไปละหมาดมันทั้งสองแม้นว่าพวกเขาจะต้องคืบคลานก็ตาม” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 624)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า “จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ที่เดินท่ามกลางความมืดมิดไปยังมัสญิดว่า ในวันกิยามะฮฺนั้นเขาจะได้รับแสงรัศมีที่เจิดจรัสสมบูรณ์ยิ่ง” (บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 561)
ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “สองร็อกอะฮฺก่อนศุบุหฺดียิ่งกว่าโลกนี้และสิ่งที่มีอยู่ในมัน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 96)
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า “ผู้ใดที่ละหมาดสุนัต 12 ร็อกอะฮฺในช่วงหนึ่งวันและคืน อัลลอฮฺจะสร้างบ้านแก่เขาหลังหนึ่งด้วยละหมาดนั้นในสวนสวรรค์” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 728)
และท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า “การละหมาดที่ดีที่สุดของคนคนหนึ่งนั้นคือการละหมาดในบ้านของเขา ยกเว้นการละหมาดฟัรฎู(ซึ่งที่มัสญิดประเสริฐที่สุด)” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 698 มุสลิม หมายเลข 781)
*หมั่นตรวจสอบให้มีเจตนาที่ดีตลอดทั้งวันในเดือนรอมฎอน
บทความที่น่าสนใจ
- การขอดุอาหลังละหมาด 5 เวลา (ขอพร)
- ขั้นตอนการละหมาดต่าง ๆ คำกล่าวพร้อมกับคำเนียต (โดยละเอียด)
- วิธีละหมาดให้ คู่ชั๊วะ เพื่อความสำเร็จของการละหมาดที่แท้จริง
- ส่วนหนึ่งของการทิ้งละหมาด
ที่มา: islamhouse
Tags: