ข้อบ่งชี้การละหมาดสุนัตเราะวาติบและหุก่ม
สุนัตเราะวาติบ คือ การละหมาดสุนัตก่อนหรือหลังละหมาดฟัรฎุ ซึ่งมีสองประเภทด้วยกัน
ประเภทของการละหมาดเราะวาติบ
หนึ่ง สุนัตเราะวาติบมุอักกะดะฮฺ(เน้นให้ปฏิบัติ) ซึ่งมีทั้งหมด 12 ร็อกอะฮฺ
1. สี่ร็อกอะฮฺก่อนละหมาดซุฮฺริ
2. สองร็อกอะฮฺหลังจากละหมาดซุฮฺริ
3. สองร็อกอะฮฺหลังจากละหมาดมัฆฺริบ
4. สองร็อกอะฮฺหลังจากละหมาดอิชาอ์
5. สองร็อกอะฮฺก่อนละหมาดฟัจญ์รฺ (ศุบหฺ)
มีรายงานจากท่านหญิงอุมมุ หะบีบะฮฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮา ภรรยาของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَـا مِنْ عَبْدٍ مُسْلِـمٍ يُصَلِّي ٬ كُلَّ يَوْمٍ ثِنْتَي عَشْرَةَ رَكْعَةً تَطَوُّعاً غَيْرَ فَرِيضَةٍ إلَّا بَنَى الله لَـهُ بَيْتاً فِي الجَنَّةِ، أَوْ إلَّا بُنِيَ لَـهُ بَيْتٌ فِي الجَنَّةِ»
ความว่า “ไม่มีบ่าวมุสลิมคนไหนที่ได้ละหมาดสุนัตวันละ 12 ร็อกอะฮฺ นอกจากอัลลอฮฺจะสร้างบ้านให้เขาหลังหนึ่งในสวรรค์ หรือ บ้านหลังหนึ่งจะถูกสร้างให้เขา” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 728)
และบางครั้งอาจละหมาดเราะวาติบมุอักกะดะฮฺ เพียง 10 ร็อกอะฮฺ ซึ่งจะเหมือนที่กล่าวมาข้างต้นทุกอย่างเพียงแต่ละหมาดก่อนซุฮฺริแค่ 2 ร็อกอะฮฺ
มีรายงานจากท่านอิบนุอุมัรฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮุว่า
صَلَّيْتُ مَعَ رَسُولِ الله صلى الله عليه وسلم قَبْلَ الظُّهْر سَجْدَتَيْنِ، وَبَـعْدَهَا سَجْدَتَيْنِ، وَبَـعْدَ المَغْرِبِ سَجْدَتَيْنِ، وَبَـعْدَ العِشَاءِ سَجْدَتَيْنِ، وَبَـعْدَ الجُـمُعَةِ سَجْدَتَيْنِ، فَأَمَّا المَغْرِبُ وَالعِشَاءُ وَالجُـمُعَةُ فَصَلَّيْتُ مَعَ النَّبِيِّ صلى الله عليه وسلم فِي بَيْتِـهِ
ความว่า “ฉันได้ละหมาดพร้อมกับท่านเราะสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก่อนซุฮฺริ 2 ร็อกอะฮฺ หลังซุฮฺริ 2 ร็อกอะฮฺ หลังมัฆฺริบ 2 ร็อกอะฮฺ หลังอิชาอ์ 2 ร็อกอะฮฺ ก่อนศุบฺหิ 2 ร็อกอะฮฺ และหลังจากญุมุอะฮฺ 2 ร็อกอะฮฺ ซึ่งละหมาดหลังมัฆฺริบ อิชาอ์ และญุมุอะฮฺนั้น ฉันละหมาดกับท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมที่บ้านของท่าน” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 937 และมุสลิม เลขที่: 729 ซึ่งสำนวนนี้เป็นของมุสลิม)
สอง สุนัตเราะวาติบที่ไม่มุอักกะดะฮฺ ซึ่งท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมทำ แต่ไม่ได้ทำเป็นประจำ ได้แก่ สองร็อกอะฮฺก่อนละหมาดอัศฺริ สองร็อกอะฮฺก่อนละหมาดมัฆฺริบ สองร็อกอะฮฺก่อนละหมาดอิชาอ์ และมีสุนัตสี่ร็อกอะฮฺก่อนละหมาดอัศฺริ
หุก่มการละหมาดสุนัตมุฏลัก
การละหมาดสุนัตมุฏลัก(การละหมาดสุนัตทั่วไปที่ไม่มีมูลเหตุเฉพาะเจาะจง)นั้นมีบัญญัติให้ละหมาดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยละหมาดครั้งละสองร็อกอะฮฺและประเสริฐที่สุดคือละหมาดกลางคืน
สุนัตเราะวาติบที่เน้นให้กระทำมากที่สุด
สุนัตเราะวาติบที่เน้นให้ทำมากที่สุดคือ สองร็อกอะฮฺก่อนศุบหฺ โดยมีสุนัตให้ละหมาดเพียงสั้นๆ ซึ่งหลังจากสูเราะฮฺฟาติหะฮฺให้อ่านในร็อกอะฮฺแรกด้วยสูเราะฮฺ อัล-กาฟิรูน และในร็อกอะฮฺที่สองให้อ่านสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศ หรือในร็อกอะฮฺแรกให้อ่านอายะฮฺในสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 136 จนจบ นั่นคือ
(ﭣ ﭤ ﭥ...) [البقرة/136]
ในร็อกอะฮฺที่สองให้อ่านอายะฮฺที่ 64 จากสูเราะฮฺ อาล อิมรอน
(ﭪ ﭫ ﭬ ﭭ) [آل عمران/64]
และบางครั้งให้อ่านด้วยอายะฮฺที่ 52 จากสูเราะฮฺ อาล อิมรอน
( ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ) [آل عمران/52].
ผู้ใดที่ไม่ทันละหมาดสุนัตเราะวาติบเหล่านี้ในเวลาของมันเนื่องจากเหตุจำเป็น สุนัตให้เขาละหมาดชดในเวลาอื่น
สมมุติว่าหากมุสลิมคนหนึ่งได้อาบน้ำวุฎูอ์(อาบน้ำละหมาด)และได้เข้ามัสญิดหลังจากอะซานซุฮฺริ แล้วได้ละหมาดสองร็อกอะฮฺโดยตั้งเจตนาว่าได้ละหมาดตะหิยะตุลมัสญิด สุนัตวุฎูอ์และสุนัตก่อนซุฮฺริพร้อม ๆ กันถือว่าการละหมาดของเขาใช้ได้
ส่งเสริมให้ทิ้งช่วงระหว่างละหมาดวาญิบกับละหมาดสุนัตเราะวาติบทั้งก่อนและหลังด้วยการย้ายที่หรือการพูดคุย
จะละหมาดเราะวาติบที่บ้านหรือที่มัสญิดก็ได้ แต่ที่ดีที่สุดคือ "ละหมาดที่บ้าน" เพราะท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวไว้ว่า
«... فَصَلُّوا أَيُّهَا النَّاسُ فِي بُيُوتِكُمْ فَإنَّ أَفْضَلَ الصَّلاةِ صَلاةُ المَرْءِ فِي بَيْتِـهِ إلَّا المَكْتُوبَةَ»
ความว่า “พวกท่านจงละหมาดสุนัตที่บ้านของพวกท่านเถิด เพราะการละหมาดที่ดีที่สุด คือการที่คนๆหนึ่งละหมาดที่บ้านของเขา ยกเว้นละหมาดวาญิบ” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 731 สำนวนนี้เป็นของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม เลขที่: 781)
ลักษณะการละหมาดสุนัต
1. อนุญาตให้ละหมาดสุนัตในท่านั่งได้ถึงแม้ว่าสามารถที่จะยืนได้ แต่หากผู้ใดละหมาดยืนนั้นจะดีกว่า ส่วนละหมาดวาญิบนั้นการยืนถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งจะนั่งไม่ได้เว้นแต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถที่จะยืนได้ อนุโลมให้ละหมาดนั่งหรือตามความสามารถที่เขาจะทำได้
2. ผู้ใดที่ละหมาดในท่านั่งโดยไม่มีความจำเป็นใด ๆ เขาจะได้ผลบุญครึ่งหนึ่งของผลบุญผู้ที่ยืนละหมาด แต่หากมีความจำเป็นเขาก็จะได้ผลบุญเต็มเหมือนผู้ละหมาดยืน และผู้ที่ละหมาดสุนัตในท่านอนเพราะเหตุจำเป็นก็จะได้ผลบุญเหมือนผู้ที่ละหมาดยืนแต่หากไม่มีความจำเป็นเขาก็จะได้ครึ่งหนึ่งจากผลบุญของผู้ที่ละหมาดในท่านั่ง
credit: islamhouse
Tags: