ทำบาปซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลังจากเตาบัต
รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮ์ - ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุ - , จากท่านร่อซู้ล ﷺ ได้บอกเล่าผ่านอัลลอฮ์ อัซซะวะญัล โดยพระองค์ตรัสว่า : “บ่าวคนหนึ่งได้กระทำบาป, ต่อมาเขาก็กล่าวว่า : (اللهم اغفر لي ذنبي) “โอ้อัลลอฮ์โปรดทรงอภัยโทษให้แก่ความผิดของฉันด้วยเถิด” , อัลลอฮ์ ตะอาลา ก็ทรงตรัสว่า : “บ่าวของฉันได้ทำผิด, แล้วเขาก็รู้ว่าสำหรับเขานั้นจะมีพระเจ้าผู้ทรงคอยอภัยโทษในความผิด หรือคอยเอาผิดต่อตัวเขา” , ต่อมาเขาก็กลับไปกระทำบาปอีกครั้ง , และเขาก็กล่าวว่า : (أي رب اغفر لي ذنبي) “โอ้อัลลอฮ์โปรดทรงอภัยโทษให้แก่ความผิดของฉันด้วยเถิด” , อัลลอฮ์ ตะอาลา ก็ทรงตรัสว่า : “บ่าวของฉันได้ทำผิด แล้วเขาก็รู้ว่าสำหรับเขานั้นจะมีพระเจ้าผู้ทรงคอยอภัยโทษความผิด หรือคอยเอาผิดต่อตัวเขา” , ต่อมาเขาก็กลับไปกระทำบาปอีกครั้ง , และเขาก็กล่าวว่า : (أي رب اغفر لي ذنبي) “โอ้อัลลอฮ์โปรดทรงอภัยโทษให้แก่ความผิดของฉันด้วยเถิด”, อัลลอฮ์ ตะอาลา ก็ทรงตรัสว่า : “บ่าวของฉันได้ทำผิด แล้วเขาก็รู้ว่าสำหรับเขานั้นจะมีพระเจ้าผู้ทรงคอยอภัยโทษความผิด หรือคอยเอาผิดต่อตัวเขา , จงทำตามที่เจ้าประสงค์เถิด เพราะอย่างไรเสียข้าก็อภัยโทษให้แก่เจ้า” [1]
ท่านอัลอิมาม อันนะวะวีย์ - ร่อฮิม่าฮุ้ลลอฮ์ - ได้กล่าวว่า : “ถึงแม้ว่าเขาจะกระทำบาปจะซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นร้อยครั้ง พันครั้ง หรือมากกว่านั้น, และในแต่ละครั้งเขาก็เตาบัต(ต่ออัลลอฮ์ด้วยความจริงใจ) , การเตาบัตของเขาก็จะถูกตอบรับ , ความผิดบาปของเขาก็ตกไป , และถึงแม้ว่าเขาเตาบัตต่อความผิดบาปที่แล้วมาทั้งหมดด้วยการเตาบัตเพียงครั้งเดียว , การเตาบัตของเขาก็ถูกต้อง , และคำกล่าวของอัลลอฮ์ที่มีต่อผู้ที่ทำบาปซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ว่า : “…จงทำตามที่เจ้าประสงค์เถิด เพราะอย่างไรเสียข้าก็อภัยโทษให้แก่เจ้า” ความหมายก็คือ : ตราบใดที่เจ้าทำบาปจากนั้นก็เตาบัต (อย่างจริงจังตั้งใจ) อัลลอฮ์ก็ทรงอภัยโทษแก่เจ้า” [2]
ท่านชัยคฺ อับดุลอะซีซ บินบาซ - ร่อฮิม่าฮุ้ลลอฮ์ - ได้กล่าวว่า : “แท้จริงบ่าวของพระองค์ แม้ว่าเขาจะทำบาป แม้ว่าจะกระทำ(การฝ่าฝืนใด ๆ ก็แล้วแต่) เมื่อเขาเตาบัตต่ออัลลอฮ์ อัลลอฮ์ก็ทรงอภัยโทษให้แก่เขา ตามที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า :
قُلْ يَا عِبَادِيَ الَّذِينَ أَسْرَفُوا عَلَى أَنْفُسِهِمْ لا تَقْنَطُوا مِنْ رَحْمَةِ اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ يَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمِيعًا إِنَّهُ هُوَ الْغَفُورُ الرَّحِيمُ
“จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ปวงบ่าวของข้าเอ๋ย! บรรดาผู้ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงอภัยความผิดทั้งหลายทั้งมวล แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัลกุรอ่าน 39:53)
และอัลลอฮ์ อัซซะวะญัล ทรงตรัสอีกว่า :
وَالَّذِينَ إِذَا فَعَلُوا فَاحِشَةً أَوْ ظَلَمُوا أَنْفُسَهُمْ ذَكَرُوا اللَّهَ فَاسْتَغْفَرُوا لِذُنُوبِهِمْ وَمَنْ يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلَّا اللَّهُ وَلَمْ يُصِرُّوا عَلَى مَا فَعَلُوا وَهُمْ يَعْلَمُونَ
“บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วใด ๆ หรืออธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮ์ แล้วขออภัยโทษในบรรดาความผิดของพวกเขา และใครเล่าที่จะอภัยโทษบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้ นอกจากอัลลอฮ์แล้ว และพวกเขามิได้ดื้อรั้นปฏิบัติในสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติมาโดยที่พวกเขารู้กันอยู่” (อัลกุรอ่าน 3:135)
ฉะนั้นผู้ใดเตาบัตต่ออัลลอฮ์ และถอดถอนความผิดของเขาออก , พร้อมทั้งขออภัยโทษ อัลลอฮ์ก็ย่อมอภัยโทษให้แก่เขา , ตามที่ปรากฏในหะดิษบทที่หนึ่ง (คือหมายถึงหะดืษที่นำเสนอข้างบน) เป็นหะดิษ (ที่บอกเล่า) ถึงผู้ที่ทำบาป ต่อมาเขาก็ขออภัยโทษ , จากนั้นเขาก็ทำบาปอีก ต่อมาเขาก็ขออภัยโทษ , จากนั้นเขาก็ทำบาปอีก ต่อมาเขาก็ขออภัยโทษ , อัลลอฮ์ก็ทรงอภัยโทษให้แก่เขา , พร้อมทั้งกล่าวว่า : “จงทำตามที่ประสงค์เถิด” อันหมายถึง ตราบใดที่บ่าวเตาบัตต่ออัลลอฮ์จากความผิดบาป และยกเลิกถอดถอนความผิดนั้น ณ ขณะนั้น พร้อมทั้งเสียใจ เขาก็คือผู้ทีคู่ควรแก่การถูกตอบรับการอภัยโทษ ; ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์มักจะผิดพลาดอยู่เสมอ” [3]
สิ่งที่ได้รับ :
1. แสดงให้เห็นถึงความกรุณาเมตตาปรานีของอัลลอฮ์ โดยที่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้แก่บ่าวของพระองค์ตราบใดที่บ่าวขออภัยโทษต่อพระองค์ด้วยความจริงใจ , ถึงแม้ว่าเขาจะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าสักเพียงใด หากบ่าวตั้งใจแน่วแน่ที่จะเตาบัต อัลบอฮ์ก็ทรงตอบรับการเตาบัตนั้น.
2. มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วหนีไม่พ้นความผิดบาป แต่ผู้ที่ผิดบาปที่ดีที่สุด คือบรรดาผู้ที่เตาบัต และขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์อยู่เสมอ.
3. อย่าได้สิ้นหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮ์ แม้บ่าวคนนั้นจะทำบาปมากมายสักเท่าไหร่ กระทั่งบาปมากมายจนสูงเทียบเทียมฟ้า แต่ให้เขาพึงขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์เสมอ เพราะการสิ้นหวังต่อพระเมตตาของพระองค์คือแผนการอันชั่วร้ายของชัยฏอน, นั่นก็เพราะชัยฏอนจะคอยยั่วยุให้บ่าวสิ้นหวังต่อพระองค์โดยคิดว่าพระองค์คงไม่ตอบรับการอภัยโทษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาก็จะปลีกตัวออกห่างจากการขออภัยโทษ และนี่คือความหายนะอย่างชัดเจน.
4. เป็นกำลังใจแด่ผู้ที่ท้อแท้ต่อการพยายามหักห้ามจิตใจตัวเองเมื่อเผชิญหน้ากับความผิดบาป , ให้รู้ไว้ว่าเมื่อพลาดพลั้งทำผิด ก็จงรีบเร่งไปสู่การเตาบัตอย่าได้รีรอ หรือล่าช้าเป็นอันขาด , กระทำแบบนี้ทุกครั้งเมื่อพลาดเผลอกระทำบาป.
5. บทความนี้ไม่ใช่การให้ท้ายต่อผู้ที่หวังจะกระทำบาปเรื่อยไป โดยคิดเอาว่า ในเมื่อพระองค์ทรงอภัย เราก็ทำบาปได้ตามสบาย หนำใจแล้วเดี๋ยวค่อยเตาบัต , นี่คือความเข้าใจที่ผิด , เพราะนั่นคือพฤติกรรมของผู้ที่ดันทุรังบนการทำบาปโดยมีจิตใจที่ปรารถนาในบาป อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า : وَلَمْ يُصِرُّوا عَلَى مَا فَعَلُوا وَهُمْ يَعْلَمُونَ
“…และพวกเขามิได้ดื้อรั้นปฏิบัติในสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติมาโดยที่พวกเขารู้กันอยู่” (อัลกุรอ่าน 3:135)
หมายถึง : พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ดำรงมั่น หรือดันทุรังบนการกระทำบาป , ทว่าพวกเขาจะกลับเนื้อกลับตัว ขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ , ซึ่งรากฐานของคำว่า อัลอิศรอร (الإصرار) คือการมั่นคงอยู่บนสิ่งหนึ่ง , ท่านอัลหะซัน ได้กล่าวว่า : คือการที่บ่าวทำบาปอย่างจริงจังตั้งใจ ดันทุรัง(ที่จะทำบาป) กระทั่งเตาบัต [4]
ชัยค์ อุษัยมีน - รอฮิม่าฮุ้ลลอฮ์ - กล่าวว่า : “คำว่า (ดำรงมั่น / الإصرار) หมายถึง : พวกเขาคงอยู่บนการทำ (บาป) ดันทุรังในสิ่งเหล่านั้น ; ทั้งนี้ผู้ที่แสวงหาการอภัยโทษจากอัลลอฮ์ เป็นไปไม่ได้ทำเขาจะดันทุรังทำบาป , เป็นไปได้อย่างไรกันที่ท่านกล่าวว่า : “โอ้อัลลอฮ์ขอพระองค์โปรดอภัยแก่ฉัน”โดยที่ท่านเองยังดันทุรังทำบาป !? นี่คือการเยาะเย้ย เย้ยหยัน (ต่ออัลลอฮ์) !” [5]
______________________
[1] ศ่อฮีฮ์ มุสลิม , บท : การเตาบัต , ภาค : การตอบรับการเตาบัตจากความผิดบาป , หมายเลขหะดิษ : 2758 , เล่ม 8 หน้า 99.
[2] ตำรา / ชัรฮ์ มุสลิม , เล่ม 17 หน้า 75
[3] ริยาฎ อัศศอลิฮีน - ตะอ์ลีก อะลา กิรออะฮ์ อัชชัยค์ มุฮัมมัด อิลยาส
[4] ตำรา / ตัฟซีร อัลบะฆ่อวีย์ - มะอาลิม อัตตันซีล
[5] ตำรา / ตัฟซีร อิบนิ อุษัยมีน
credit: สำนักพิมพ์รอซี่ย์
Tags: