การยืนหยัดของผู้ศรัทธาท่ามกลางฟิตนะฮฺความวุ่นวาย
เมื่อใดที่มีฟิตนะฮฺความวุ่นวายและวิกฤติการณ์อันเลวร้ายเกิดขึ้น โฉมหน้าที่เคยปกปิดไว้และธาตุแท้ของคนเราก็มักจะถูกเผยออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด จนเป็นที่ประจักษ์แจ้งว่าใครดีใครเลว ใครสูงใครต่ำ ซึ่งเบื้องหลังของปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ มีเหตุผลสำคัญยิ่งอันเป็นจุดประสงค์หลักของการที่อัลลอฮ์ทรงทดสอบปวงบ่าวของพระองค์ นั่นก็คือ
﴿ لِيَمِيزَ ٱللَّهُ ٱلۡخَبِيثَ مِنَ ٱلطَّيِّبِ ﴾ [الأنفال: ٣٧]
ความว่า "เพื่อที่อัลลอฮ์จะทรงแยกคนเลวออกจากคนดี" (อัลอันฟาล: 37)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ وَلَنَبۡلُوَنَّكُمۡ حَتَّىٰ نَعۡلَمَ ٱلۡمُجَٰهِدِينَ مِنكُمۡ وَٱلصَّٰبِرِينَ وَنَبۡلُوَاْ أَخۡبَارَكُمۡ ٣١ ﴾ [محمد : ٣١]
ความว่า "และแน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าจนกระทั่งเราจะได้รู้ถึงบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรน และบรรดาผู้หนักแน่นอดทนในหมู่พวกเจ้า และเราจะทดสอบการงานของพวกเจ้า" (มุหัมมัด: 31)
ทั้งนี้ ตลอดชั่วชีวิตของคนเรานั้นคือสนามแห่งการทดสอบอันหลากหลาย ซึ่งมนุษย์แต่ละคนเผชิญหน้ากับบททดสอบเหล่านั้นในลักษณะที่แตกต่างกันไป บางคนเคารพสักการะอัลลอฮ์ด้วยความเคลือบแคลงสงสัยไม่มั่นใจ เมื่อประสบกับสิ่งที่ดีเขาจะรู้สึกอุ่นใจ แต่เมื่อใดต้องประสบกับการทดสอบและความวุ่นวาย ก็จะหันกลับไปปฏิเสธศรัทธาดังเดิม เป็นผลให้เขาขาดทุนอย่างมหาศาลทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ
ในขณะที่บางคนเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจอันชัดแจ้ง ด้วยศรัทธาที่แรงกล้าและหลักยึดมั่นที่ถูกต้องชัดเจน คนประเภทนี้หากต้องประสบกับทุกข์ภัยความวุ่นวายใด ๆ เขาก็จะอดทนอดกลั้น ซึ่งสิ่งนั้นก็เป็นการดีสำหรับเขา และถ้าได้รับนิอฺมัตความโปรดปราน เขาจะชุโกรฺขอบคุณ และสิ่งนั้นก็เป็นการดีสำหรับเขาเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ศรัทธาเท่านั้นที่จะมีคุณลักษณะเช่นนี้ได้ เพราะสำหรับผู้ศรัทธาแล้วกิจทุกอย่างของเขาถือเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม และปลายทางของเขาย่อมมีแต่สิ่งที่ดีรออยู่
﴿ وَٱلۡعَٰقِبَةُ لِلۡمُتَّقِينَ ١٢٨ ﴾ [الأعراف: ١٢8]
ความว่า "และบั้นปลายนั้นย่อมเป็นของผู้ยำเกรงทั้งหลาย" (อัลอะอฺรอฟ: 128)
การมีศรัทธาที่ถูกต้องและมีหลักยึดมั่นที่มั่นคงปลอดภัยนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้ฝ่าฟันปัญหา เพื่อก้าวข้ามทุกข์ภัยความวุ่นวาย ตลอดจนบททดสอบอันหนักหนาสาหัส
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่มีศรัทธาและหลักยึดมั่นที่ถูกต้องนั้น ได้เรียนรู้จากหลักคำสอนของศาสนาซึ่งให้บทเรียนและข้อคิดมากมาย อันจะเป็นแรงเสริมช่วยให้เขายืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม
ส่วนหนึ่งจากบทเรียนที่ผู้ศรัทธาได้เรียนรู้จากหลักคำสอนของศาสนาก็เช่น
ประการที่ 1 เขารู้และมั่นใจโดยปราศจากข้อสงสัย ว่าผู้ที่สร้างและบริหารจัดการสรรพสิ่งในจักรวาล คืออัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีหุ้นส่วนใด ๆ เทียบเคียงพระองค์ เขาตระหนักดีว่าพระองค์เท่านั้น คือผู้มีอำนาจสิทธิขาดในกิจการต่าง ๆ ของจักรวาลนี้ ทุกสิ่งเกิดขึ้นและเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์คือผู้ทรงควบคุมดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งในชั้นฟ้าและบนผืนดิน สิ่งใดที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้เกิดย่อมเกิดขึ้น สิ่งใดที่พระองค์ไม่ทรงประสงค์ให้เกิด ก็มิอาจเกิดขึ้นได้ พระองค์คือผู้ทรงมีอำนาจปกครองชั้นฟ้าและแผ่นดิน และทรงมีอำนาจเหนือทุกสิ่ง
ประการที่ 2 อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงรับประกันและทรงสัญญาว่า พระองค์จะทรงปกป้องช่วยเหลือผู้ศรัทธา ซึ่งแน่นอนว่าคำสัญญาของพระองค์นั้นย่อมเป็นความจริง โดยพระองค์ได้ตรัสถึงข้อเท็จจริงประการนี้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِن تَنصُرُواْ ٱللَّهَ يَنصُرۡكُمۡ وَيُثَبِّتۡ أَقۡدَامَكُمۡ ٧ وَٱلَّذِينَ كَفَرُواْ فَتَعۡسٗا لَّهُمۡ وَأَضَلَّ أَعۡمَٰلَهُمۡ ٨ ﴾ [محمد : ٧-٨]
ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย หากพวกเจ้าสนับสนุน (ศาสนาของ) อัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงสนับสนุนพวกเจ้า และจะทรงตรึงข้อเท้าของพวกเจ้าให้มั่นคง ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น ความพินาศหายนะจะได้แก่พวกเขา และพระองค์ได้ทรงทำให้การงานของพวกเขาไร้ผล" (มุหัมมัด: 7-8)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ وَلَيَنصُرَنَّ ٱللَّهُ مَن يَنصُرُهُۥٓۚ إِنَّ ٱللَّهَ لَقَوِيٌّ عَزِيزٌ ٤٠ ﴾ [الحج : ٤٠]
ความว่า "และแน่นอนอัลลอฮ์จะทรงช่วยผู้ที่สนับสนุน(ศาสนาของ)พระองค์ แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงพลัง ผู้ทรงเดชานุภาพอย่างแท้จริง" (อัลหัจญ์: 40)
ในอีกอายะฮฺหนึ่งพระองค์ตรัสว่า
﴿ وَعۡدَ ٱللَّهِۖ لَا يُخۡلِفُ ٱللَّهُ وَعۡدَهُۥ وَلَٰكِنَّ أَكۡثَرَ ٱلنَّاسِ لَا يَعۡلَمُونَ ٦ ﴾ [الروم: ٦]
ความว่า "(นั่นคือ) สัญญาของอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะไม่ทรงบิดพลิ้ว สัญญาของพระองค์ แต่ส่วนมากของมนุษย์นั้นไม่รู้" (อัรรูม: 6)
ประการที่ 3 อัลลอฮ์ทรงสัญญาไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะประสบกับความต่ำต้อย และจะถูกทำลายจนพินาศย่อยยับ โดยพระองค์จะทรงให้จุดจบของพวกเขาเหล่านั้นเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสำหรับผู้ที่หวังจะได้รับบทเรียน ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ عَلَيۡهِمۡ دَآئِرَةُ ٱلسَّوۡءِ ﴾ [التوبة: 98]
ความว่า "เหตุร้ายเหล่านั้นจงประสบแก่พวกเขาเถิด" (อัตเตาบะฮฺ: 98)
นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนนับไม่ถ้วนตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ได้ยืนยันข้อสรุปดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ อัลลอฮ์ทรงประวิงเวลาแก่เหล่าผู้อธรรม แต่พระองค์มิทรงลืมที่จะลงโทษพวกเขา และเมื่อถึงเวลาพระองค์ก็ทรงลงโทษอย่างเฉียบพลันจนไม่ทันตั้งตัว
﴿ وَكَذَٰلِكَ أَخۡذُ رَبِّكَ إِذَآ أَخَذَ ٱلۡقُرَىٰ وَهِيَ ظَٰلِمَةٌۚ إِنَّ أَخۡذَهُۥٓ أَلِيمٞ شَدِيدٌ ١٠٢ ﴾ [هود: ١٠٢]
ความว่า "และเช่นนี้แหละคือการลงโทษของพระเจ้าของเจ้า เมื่อพระองค์ทรงลงโทษหมู่บ้านซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อธรรม แท้จริงการลงโทษของพระองค์นั้นเจ็บแสบสาหัส" (ฮูด: 102)
ประการที่ 4 ผู้ศรัทธาตระหนักดีว่าชีวิตของคนคนหนึ่งจะจบลงก็ต่อเมื่อสิ้นอายุขัยที่ได้รับการกำหนดไว้ ไม่อาจมีผู้ใดตายก่อนหรือหลังกำหนดเวลาได้
﴿ لِكُلِّ أُمَّةٍ أَجَلٌۚ إِذَا جَآءَ أَجَلُهُمۡ فَلَا يَسۡتَٔۡخِرُونَ سَاعَةٗ وَلَا يَسۡتَقۡدِمُونَ ٤٩ ﴾ [يونس : ٤٩]
ความว่า "สำหรับทุกประชาชาติย่อมมีเวลากำหนด เมื่อเวลาของพวกเขามาถึง พวกเขาจะขอผ่อนผันให้ล่าช้าสักระยะหนึ่งไม่ได้ และจะร่นเวลาให้เร็วเข้าก็มิได้" (ยูนุส: 49)
สิ่งต่าง ๆ ล้วนมีกำหนดเวลาที่แน่นอน อายุขัยก็ของคนเราก็เช่นกัน ต่างคนต่างมีกำหนดเวลาที่รออยู่ ไม่มีผู้ใดสามารถหลีกหนีสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดได้ แม้ว่าซ่อนตัวอยู่ในคฤหาสน์ที่มีระบบป้องกันแน่นหนาก็ตาม ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ أَيۡنَمَا تَكُونُواْ يُدۡرِككُّمُ ٱلۡمَوۡتُ وَلَوۡ كُنتُمۡ فِي بُرُوجٖ مُّشَيَّدَةٖۗ ﴾ [النساء : ٧٨]
ความว่า "ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าปรากฏอยู่ ความตายย่อมมาถึงพวกเจ้า และแม้ว่าพวกเจ้าจะอยู่ในป้อมปราการอันสูงตระหง่านก็ตาม" (อันนิสาอ์: 78)
เมื่อความตายมาถึงย่อมไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นได้ แม้จะหลบซ่อนตัวในคฤหาสน์ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนา ชั้นลับใต้ดิน หรือบนป้อมปราการอันสูงตระหง่านระฟ้าก็ตามที
ประการที่ 5 การยืนหยัดในหลักการศาสนาอย่างเคร่งครัด และการมีความเชื่อมั่นต่ออัลลอฮ์อย่างแรงกล้า ทำให้ผู้ศรัทธาไม่หวาดหวั่นสั่นไหวต่อคำโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ที่ศัตรูอุปโลกน์ขึ้นเพื่อให้เกิดความกลัวเกรง เมื่อใดที่ถูกข่มขู่ให้กลัวผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์ ก็ยิ่งทำให้แรงศรัทธา ความมั่นใจ และการมอบหมายพึ่งพิงที่เขามีต่ออัลลอฮ์เพิ่มสูงขึ้น ดังเช่นบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ซึ่งอัลลอฮ์ตรัสถึงสภาพของพวกท่านว่า
﴿ ٱلَّذِينَ قَالَ لَهُمُ ٱلنَّاسُ إِنَّ ٱلنَّاسَ قَدۡ جَمَعُواْ لَكُمۡ فَٱخۡشَوۡهُمۡ فَزَادَهُمۡ إِيمَٰنٗا وَقَالُواْ حَسۡبُنَا ٱللَّهُ وَنِعۡمَ ٱلۡوَكِيلُ ١٧٣ فَٱنقَلَبُواْ بِنِعۡمَةٖ مِّنَ ٱللَّهِ وَفَضۡلٖ لَّمۡ يَمۡسَسۡهُمۡ سُوٓءٞ وَٱتَّبَعُواْ رِضۡوَٰنَ ٱللَّهِۗ وَٱللَّهُ ذُو فَضۡلٍ عَظِيمٍ ١٧٤ ﴾ [آل عمران: ١٧٣-١٧٤]
ความว่า "บรรดาผู้ที่เมื่อผู้คนได้กล่าวแก่เขาว่า แท้จริงมีผู้คนได้ชุมนุมเพื่อมุ่งร้ายพวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงกลัวพวกเขาเถิด แล้วมันได้เพิ่มการศรัทธาแก่พวกเขา และพวกเขากล่าวว่าอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และเป็นผู้รับมอบหมายที่ดีเยี่ยม และแล้วพวกเขาก็ได้กลับมาพร้อมด้วยความกรุณาจากอัลลอฮ์ และความโปรดปราน (จากพระองค์) โดยมิได้มีอันตรายใด ๆ ประสบแก่พวกเขา และพวกเขาได้ปฏิบัติตามความพอพระทัยของอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์คือผู้ทรงโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่" (อาล อิมรอน: 173-174)
ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวในหะดีษซึ่งบันทึกโดยอัลบุคอรีย์ (เลขที่ 4563) ว่า คำว่า
﴿ حَسۡبُنَا ٱللَّهُ وَنِعۡمَ ٱلۡوَكِيلُ ﴾
“อัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว”
นั้นเป็นคำที่อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม กล่าวขณะที่ท่านถูกจับโยนเข้าไปในเปลวเพลิง และยังเป็นคำกล่าวของมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อครั้งที่มีผู้มาแจ้งข่าวแก่ท่านว่า
﴿ إِنَّ ٱلنَّاسَ قَدۡ جَمَعُواْ لَكُمۡ فَٱخۡشَوۡهُمۡ ﴾
“แท้จริงมีผู้คนได้ชุมนุมสำหรับพวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงกลัวพวกเขาเถิด”
ประการที่ 6 ผู้มีศรัทธาที่ถูกต้องนั้น จะพึ่งพิงและมอบหมายต่ออัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียวในทุก ๆ เรื่อง จะไม่ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นนอกจากพระองค์ อัลลอฮ์ ตรัสว่า
﴿ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ ﴾ [الطلاق : ٣]
ความว่า "และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา" (อัฏเฏาะลาก: 3)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ وَعَلَى ٱللَّهِ فَتَوَكَّلُوٓاْ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ٢٣ ﴾ [المائدة: ٢٣]
ความว่า "และแด่อัลลอฮ์นั้นพวกเจ้าจงมอบหมายเถิด หากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา" (อัลมาอิดะฮฺ: 23)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ وَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱلۡحَيِّ ٱلَّذِي لَا يَمُوتُ ﴾ [الفرقان: ٥٨]
ความว่า "และเจ้าจงมอบหมายต่อพระผู้ทรงดำรงชีวิตตลอดกาล ผู้ซึ่งไม่ตาย" (อัลฟุรกอน: 58)
ด้วยเหตุนี้ ดุอาอ์บทหนึ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยกล่าวขอดังที่ปรากฏรายงานจากท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา คือ
« اللَّهُمَّ لَكَ أَسْلَمْتُ، وَبِكَ آمَنْتُ، وَعَلَيْكَ تَوَكَّلْتُ، وَإِلَيْكَ أَنَبْتُ، وَبِكَ خَاصَمْتُ، اللَّهُمَّ إِنِّي أَعُوذُ بِعِزَّتِكَ لَا إِلَهَ إِلَّا أَنْتَ أَنْ تُضِلَّنِي، أَنْتَ الْحَيُّ الَّذِي لَا يَمُوتُ، وَالْجِنُّ وَالْإِنْسُ يَمُوتُونَ » [رواه البخاري برقم 7383 ومسلم برقم 2717]
ความว่า "โอ้อัลลอฮ์ ต่อพระองค์เท่านั้นที่ฉันยอมศิโรราบ และมีเพียงพระองค์เท่านั้นที่ฉันเชื่อมั่นศรัทธา ฉันมอบหมายทุกการกระทำของฉันต่อพระองค์ ยังพระองค์เท่านั้นที่ฉันมุ่งแสวงหา และฉันต่อสู้ปกป้องศาสนาด้วยหลักฐานความกระจ่างจากพระองค์ โอ้อัลลอฮ์ ฉันขอความคุ้มครองด้วยเกียรติยศความยิ่งใหญ่ของพระองค์ มิให้พระองค์ทรงทำให้ฉันหลงผิด พระองค์คือผู้ทรงดำรงชีวิตตลอดกาลไม่มีวันตาย ในขณะที่ญินและ มนุษย์ทั้งปวงล้วนต้องตาย" (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 7383 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2717)
ตลอดหน้าชีวประวัติอันงดงามของท่านนบี มีเหตุการณ์มากมายที่บ่งบอกอย่างชัดเจนยิ่งถึงความเชื่อมั่นอันแรงกล้าที่ท่านมีต่ออัลลอฮ์ และการพึ่งพิงพระองค์อย่างเต็มรูปแบบ ดังเรื่องราวที่ได้รับการบันทึกจากท่านญาบิรฺ บิน อับดิลลาฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ซึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านร่วมรบกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขณะที่อยู่ระหว่างหุบเขาหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ก็เป็นเวลาเที่ยงวันซึ่งแดดร้อนจัด ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงหยุดพัก ผู้คนจึงพากันแยกย้ายไปหลบใต้ร่มเงาต้นไม้ ส่วนท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นหลบอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งมีใบแน่นหนา โดยท่านแขวนดาบของท่านไว้กับต้นไม้ แล้วพวกเราก็นอนหลับไปครู่หนึ่ง
ทันใดนั้น เราก็ได้ยินเสียงท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตะโกนเรียกพวกเรา เมื่อเราไปถึงก็เห็นชายชาวชนบทคนหนึ่งอยู่กับท่าน แล้วท่านก็กล่าวว่า “ชายผู้นี้ชักดาบของฉันไปขณะที่ฉันกำลังนอนหลับ เมื่อฉันรู้สึกตัวตื่นขึ้น ก็เห็นมันอยู่ชูตระหง่านอยู่ในเงื้อมมือของเขา แล้วเขาก็กล่าวถามฉันว่า ‘ใครจะช่วยเหลือท่านให้รอดพ้นจากข้าได้’ ฉันจึงตอบว่า อัลลอฮ์ (สามครั้ง)” โดยที่ท่านมิได้ลงโทษชายผู้นั้นแต่อย่างใด แล้วท่านก็นั่งลง (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 2913 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 843)
นี่คือตัวอย่างของการยืดหยัดที่มั่นคงยิ่ง และเป็นการไว้วางใจอย่างสมบูรณ์แบบต่ออัลลอฮ์ ทั้งนี้ พระองค์คือผู้ทรงปกป้องคุ้มครองที่ดีเยี่ยม และคือผู้ทรงเมตตากรุณายิ่งกว่าผู้ใด
ประการที่ 7 ผู้ศรัทธาตระหนักดีว่าการมอบหมาย (ตะวักกุล) ที่แท้จริงนั้น จะสำเร็จสมบูรณ์ได้ต้องมีองค์ประกอบสำคัญสองประการ คือ
1. การที่หัวใจยึดติดและหวังพึ่งพิงอัลลอฮ์แต่เพียงพระองค์เดียว ดังที่อิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้เคยกล่าวไว้ กระทั่งไม่มีพื้นที่เหลือในหัวใจสำหรับความหวังที่จะพึ่งพาสิ่งอื่นที่เป็นสาเหตุของความสำเร็จหรือปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ให้เหลือแต่เพียงความรู้สึกสงบนิ่งอุ่นใจ เมื่อได้พึ่งพาแต่เพียงอัลลอฮ์ สิ่งบ่งชี้ของข้อนี้ คือการที่ผู้ศรัทธาไม่สนใจว่าจะมีตัวช่วยหรือปัจจัยเกื้อหนุนใด ๆ หรือไม่ ดังนั้น การที่ปัจจัยเหล่านั้นจะมีอยู่หรือหายไปก็มิได้ส่งผลต่อความมั่นคงในหัวใจเขาแต่อย่างใด เพราะเขามิได้หวังพึ่งพิงสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์
2. ไม่ละเลยสิ่งที่เป็นสาเหตุของความสำเร็จ ดังจะเห็นว่าท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้เป็นสุดยอดตัวอย่างของการมอบหมายต่ออัลลอฮ์ยิ่งกว่าผู้ใด ก็กระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุอย่างไม่บกพร่อง ในสมรภูมิอุหุดท่านสวมใส่ชุดเกราะทับซ้อนกันถึงสองชั้น เมื่อครั้งเดินทางอพยพไปยังนครมะดีนะฮฺ ท่านก็ได้จ้างวานชายมุชริก (ผู้ตั้งภาคี) ซึ่งนับถือศาสนาเดียวกับชนเผ่าของท่านเป็นผู้นำทาง นอกจากนี้ ท่านยังเก็บตุนอาหารไว้สำหรับครอบครัวของท่าน เมื่อท่านเดินทางไกลเพื่อทำสงครามญิฮาด หัจญ์ หรืออุมเราะฮฺ ท่านก็จะเตรียมเสบียงสัมภาระไปด้วย บรรดาเศาะหาบะฮฺก็มีแนวปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกัน พวกท่านเหล่านั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มอบหมายอย่างแท้จริง
ดังนั้น ผู้ใดปฏิเสธที่จะกระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุและปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ถือว่าการตะวักกุลมอบหมายของเขาไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ส่วนผู้ใดยึดติดกับสาเหตุเหล่านั้น ก็ไม่นับว่าเป็นผู้ที่มอบหมายต่ออัลลอฮ์
ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นอย่างที่อุละมาอ์บางท่านกล่าวไว้ว่า “การหมกมุ่นพึ่งพาแต่สาเหตุและปัจจัยต่างๆ นั้น ถือเป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ลักษณะหนึ่ง ส่วนการปฏิเสธบทบาทและการมีส่วนของมูลเหตุในการนำไปสู่ผลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ถือเป็นความบกพร่องของสติปัญญา ในขณะที่การปฏิเสธและไม่ยึดติดพึ่งพามูลเหตุต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิงนั้น ถือเป็นการทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย ที่ถูกต้องก็คือ การมอบหมายพึ่งพิงและความหวังต่ออัลลอฮ์นั้น ต้องเป็นความหมายที่ก่อเกิดมาจากผลแห่งหลักเตาฮีด สติปัญญา และบทบัญญัติศาสนาไปพร้อม ๆ กัน”
ประการที่ 8 นอกจากนี้ ท่ามกลางเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ นานา ที่ล้วนเป็นสถานการณ์อันโกลาหลยุ่งยาก ผู้ศรัทธาจะพบว่าหัวใจของเขามีความต้องการอย่างแน่วแน่ ที่จะมุ่งหน้าเข้าหาอัลลอฮ์ และมีความนอบน้อมถ่อมตนต่อพระองค์ เขาจะเข้าหาพระองค์ด้วยการขอดุอาอ์ ด้วยความหวังว่าพระองค์จะทรงช่วยให้พี่น้องมุสลิมรอดพ้นจากฟิตนะฮฺความวุ่นวายและทุกข์ภัยบททดสอบต่าง ๆ ทั้งนี้ อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงอยู่ใกล้กับปวงบ่าวของพระองค์ ทรงได้ยินคำวิงวอนขอของพวกเขา พระองค์จะทรงตอบรับดุอาอ์ของพวกเขา ทรงให้ความช่วยเหลือบ่าวผู้ประสบทุกข์ และทรงขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนของพวกเขา
﴿ أَمَّنْ يُجِيبُ الْمُضْطَرَّ إِذَا دَعَاهُ وَيَكْشِفُ السُّوءَ ﴾ [النمل: 62]
ความว่า "และมีผู้ใดอีกเล่าที่จะตอบรับผู้ร้องทุกข์ เมื่อเขาวิงวอนขอต่อพระองค์ และทรงปลดเปลื้องความชั่วร้ายนั้น" (อันนัมลฺ: 62)
แน่นอนว่าไม่มีผู้ใดสามารถกระทำสิ่งดังกล่าวได้นอกจากอัลลอฮ์ ตะอาลา ดังนั้น ผู้ใดวิงวอนขอพระองค์ด้วยใจที่บริสุทธิ์แน่วแน่ และเปี่ยมด้วยความความหวัง พระองค์ก็จะทรงตอบรับคำวิงวอนขอนั้น และทรงทำให้เขาสมหวัง เพราะพระองค์ทรงอยู่ใกล้กับปวงบ่าว และทรงตอบรับคำวิงวอนขอ ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าทุกข์ภัยความเดือดร้อนและการทดสอบต่าง ๆที่ประสบแก่มุสลิมโดยทั่วไป อาจจะได้รับการขจัดปัดเป่าด้วยผลของดุอาอ์ที่ดี ซึ่งขอโดยคนดีมีคุณธรรมในช่วงเสี้ยวเวลาที่ผู้ขอรู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากพระองค์ หรือในช่วงเวลาที่ดุอาอ์เป็นที่ตอบรับ ดังนั้น ดุอาอ์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
อัลลอฮ์เท่านั้นคือผู้ที่เราวิงวอนขอ ให้ทรงคุ้มครองเราและพี่น้องมุสลิมทั้งหลายจากฟิตนะฮฺความวุ่นวายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนสัมผัสได้ หรือสิ่งที่ซ่อนเร้นมองไม่เห็น ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว พระองค์ทรงช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ ทรงให้เหล่าทหารหาญของพระองค์เป็นผู้มีเกียรติ และทรงทำให้ข้าศึกศัตรูทั้งหลายพ่ายแพ้ด้วยพระเดชานุภาพของพระองค์เพียงผู้เดียว
credit: http://al-badr.net/muqolat/2553
Tags: