11 เคล็ดลับที่ทำให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ
เคล็ดลับเหล่านี้จะทำให้ดุอาอ์ของเรามีพลังมากขึ้น เป็นการขอดุอาอ์ที่มีรายละเอียดบางประการที่แตกต่างจากการขอธรรมดา
การขอดุอาอ์เป็นเรื่องที่ศาสนาอิสลามหรืออัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้กำชับ จนกระทั่งมีหะดีษที่ว่า “อัลลอฮ์จะโกรธ สำหรับผู้ที่ไม่ขอดุอาอ์” ดังนั้น ชีวิตของเรากับดุอาอ์แยกกันไม่ได้เด็ดขาด
ถ้าเราเข้าใจว่าเราสามารถที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ โดยไม่พึ่งอัลลอฮ์ด้วยกับการขอดุอาอ์ อัลลอฮ์จะให้เราเจอบททดสอบมากมาย เพื่อที่เราจะเข้าใจและตระหนักว่า ท้ายที่สุดแล้วเราเป็นเพียงมนุษย์ที่อ่อนแอ ที่ต้องมีผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่า อยู่เหนือเรา และพระองค์นั้นรอคอยการวิงวอนขอดุอาอ์จากบ่าวอยู่
อิบนุลก็อยยิมเขียนไว้ว่า..บางครั้งชีวิตคนหนึ่ง พอเรียบ ๆ เงียบเกินไป จนกระทั่งชีวิตของเขาไม่ค่อยได้ดุอาอ์ อัลลอฮ์จะทดสอบเขาให้เจอบททดสอบบางประการ เพื่อที่จะได้ยินเสียงเขาวิงวอนขอดุอาอ์ ดังนั้นอัลลอฮ์จึงตำหนิ สำหรับผู้ที่เจอบททดสอบในชีวิตแล้วยังไม่ดุอาอ์
เป้าหมายของการที่อัลลอฮ์เรียกร้องเวลาที่อัลลอฮ์ส่งบททดสอบมาในชีวิตของเรา เพื่อที่พระองค์จะได้ยินการเข้าหา การวิงวอน การกลับมาของบ่าว
1. ไม่เร่งรัดอัลลอฮ์ อดทน ไม่รีบร้อน
- ไม่วู่วาม ไม่ใจร้อน ไม่เร่งรีบ
- ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่าดุอาอ์ของคนคนหนึ่งจะยังถูกตอบรับ ตราบที่เขาไม่ไปรีบเร่ง แบบที่รีบเร่งคือการกล่าวว่า .. “ฉันก็ขอมาตลอด ขอแล้วขอเล่า ไม่เห็นจะถูกตอบรับซักที” นี่คือความหมายของคนที่รีบเร่ง พอเขาอยู่ในโหมดนี้เขาเลยรู้สึกไม่อยากขอแล้ว
- ในหะดีษของท่านนบีบอกว่า อัลลอฮ์ทรงไม่เบื่อ จนกว่าเราจะเป็นฝ่ายเบื่อเสียก่อน อัลลอฮ์ไม่เคยเบื่อหน่าย ขอให้เราอดทน
- ดังนั้นอย่าไปเร่งรัด เร่งเร้า เพราะจะนำไปสู่การท้อ การถอย และยุติการขอดุอาอ์ในที่สุด
- หน้าที่ของเราคือ “การขอไปเรื่อย ๆ แล้วไม่ต้องไปรีบเร่ง” ไม่ตีโพยพีพาย
- หนึ่งเรื่องที่เราต้องทำต่อประเด็นเหล่านี้คือ “การเชื่อมั่น” ว่านั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดและอัลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่ง การขอของเราแต่ละครั้งไม่ได้เป็นที่สูญเปล่าใด ๆ
- ขอดุอาอ์ไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และอย่าได้สิ้นหวัง
2. การนอบน้อมตระหนักถึงความต่ำต้อยของตัวเอง
- ให้อัลลอฮ์ทรงเห็นว่า ฉันเป็นเพียงบ่าวตัวเล็ก ๆ ถ้าพระองค์ไม่ช่วยเหลือ ฉันจะไม่เจอทางออกเลย ฉันปรารถนาต่อการช่วยเหลือของพระองค์
- จากซูเราะฮฺอัลอะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 55
ادْعُوا رَبَّكُمْ تَضَرُّعًا وَخُفْيَةً ۚ إِنَّهُ لَا يُحِبُّ الْمُعْتَدِينَ
พวกเจ้าจงวิงวอนต่อพระเจ้าของพวกเจ้าในสภาพถ่อมตนและปกปิด แท้จริงพระองค์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้ที่ละเมิด - การแสดงความอ่อนแอ และตระหนักถึงความมีข้อจำกัดของตัวเอง ให้ความยิ่งใหญ่กับพระองค์ให้มาก เป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่สำคัญ
- จากซูเราะฮฺยูซุฟ อายะฮฺที่ 33
قَالَ رَبِّ السِّجْنُ أَحَبُّ إِلَيَّ مِمَّا يَدْعُونَنِي إِلَيْهِ ۖ وَإِلَّا تَصْرِفْ عَنِّي كَيْدَهُنَّ أَصْبُ إِلَيْهِنَّ وَأَكُن مِّنَ الْجَاهِلِينَ
เขากล่าวว่า “โอ้ ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ คุกนั้นเป็นที่รักยิ่งแก่ข้าพระองค์กว่าสิ่งที่พวกนางเรียกร้องข้าพระองค์ไปสู่มัน และหากพระองค์มิทรงให้อุบายของพวกนางพ้นไปจากข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์อาจจะโน้มเอียงไปหาพวกนาง และข้าพระองค์จะเป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้โง่เขลา” - “ชีวิตฉันคงแย่แน่ ๆ ถ้าไม่ได้พระองค์ช่วยเหลือ” ส่วนที่อยากจะขอคือ การขอให้ตัวเองปลอดภัย และส่วนที่เป็นความนอบน้อมคือ การตระหนักว่าถ้าพระองค์ไม่ช่วยฉัน ชีวิตฉันก็อยู่ไม่ได้จริง ๆ ถ้าไม่มีพระองค์เป็นที่พึ่ง เป็นตัวอย่างสำนวนและเป็นวิธีในการขอ ทำให้ดุอาอ์ยิ่งดูน่าฟังมากขึ้น
3. ความสัตย์จริงและความอิคลาส
- ความอยากได้จริง ๆ ความรู้สึกปรารถนาต่อสิ่งนั้น
- บริสุทธิ์ในใจการอยากได้ทางออกจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.)
- จากซูเราะฮฺอัลฆอฟิร อายะฮฺที่ 14
فَادْعُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ وَلَوْ كَرِهَ الْكَافِرُونَ
ดังนั้นจงวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ โดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาต่อพระองค์ แม้ว่าพวกปฎิเสธศรัทธาจะเกลียดชังก็ตาม - เรื่องของความรู้สึกบริสุทธิ์ใจ (مُخْلِصِينَ) รู้สึกปรารถนาอย่างยิ่งยวด เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ดุอาอ์ของเรานั้นถูกตอบรับ
- ต่อให้เป็นกาฟิร แต่ในขณะที่เขาขอ ขอด้วยความอิคลาสจริง ๆ อยากได้จริง ๆ ไม่มีทางอื่นแล้วนอกจากการเข้าหาอัลลอฮ์ แม้เขารอดปลอดภัยแล้ว อัลลอฮ์รู้ว่าหลังจากนั้นเขาอาจกลับไปฝ่าฝืนต่อ อัลลอฮ์ก็ช่วยเขา เพราะความอิคลาส ณ วินาทีนั้นที่เขาขอ แต่เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ตำหนิกลุ่มคนเหล่านี้
4. หัวใจมีสติรู้ตัวว่ากำลังขออะไร
- มีหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า พึงทราบเถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นจะไม่ตอบรับดุอาอ์จากหัวใจที่เผอเรอ ละเล่น ไม่ได้มีสติ ไม่รู้ว่ากำลังขออะไรอยู่
- ขอแบบไม่จริงจัง ขอแบบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังขออะไรอยู่ เป็นการขอที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเราไม่ได้เรียกสติของตัวเอง
- การขอไปเรื่อยตามความเคยชิน อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ขอดุอาอ์เยอะมาก แต่ประสิทธิภาพของมันน้อย เพราะเราไม่ได้มีสติอยู่กับตัว
5. การทำความดีประกอบ ทั้งก่อนการขอดุอาอ์และหลังการขอดุอาอ์
- ก่อนที่เราจะขอดุอาอ์ เราได้ทำความดีมาก่อน
- เราขอดุอาอ์หลังจากทำความดีนั้นแล้ว
- มีหลักฐานประกอบจากซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ อายะฮฺที่ 5
إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ
เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์เคารพอิบาดะฮฺ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์ขอความช่วยเหลือ - อุลามะอฺอธิบายว่าสาเหตุหนึ่งที่มีการเรียงลำดับ “การอิบาดะฮฺ” มาก่อนที่จะ “ขอความช่วยเหลือ” เพราะการอิบาดะฮฺก่อนที่จะขอความช่วยเหลือเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้การขอความช่วยเหลือของเรานั้น ถูกตอบรับจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.)
- ประหนึ่งว่าการขอความช่วยเหลือของเราที่ดี ควรนำหน้าด้วยกับการทำความดีมาก่อน
- ถ้าขออย่างเดียวแต่อิบาดะฮฺไม่ทำ ก็อาจจะทำให้ดุอาอ์ของเราไม่มีประสิทธิภาพ
- จากซูเราะฮฺอัลบาเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 127-128
وَإِذْ يَرْفَعُ إِبْرَاهِيمُ الْقَوَاعِدَ مِنَ الْبَيْتِ وَإِسْمَاعِيلُ رَبَّنَا تَقَبَّلْ مِنَّا ۖ إِنَّكَ أَنتَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ
และจงรำลึกถึงขณะที่อิบรอฮีมและอิสมาอีล ได้ก่อฐานของบ้านหลังนั้น ให้สูงขึ้น (ทั้งสองได้กล่าววิงวอนว่า) ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของพวกข้าพระองค์โปรดรับ(งาน) จากพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด แท้จริงพระองค์นั้นทรงได้ยินและทรงรอบรู้
رَبَّنَا وَاجْعَلْنَا مُسْلِمَيْنِ لَكَ وَمِن ذُرِّيَّتِنَا أُمَّةً مُّسْلِمَةً لَّكَ وَأَرِنَا مَنَاسِكَنَا وَتُبْ عَلَيْنَا ۖ إِنَّكَ أَنتَ التَّوَّابُ الرَّحِيمُ
ข้าพระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ โปรดให้พระองค์ทั้งสองเป็นผู้นอบน้อมต่อพระองค์ และโปรดให้มีขึ้นจากลูกหลานของพวกพระองค์ ซึ่งประชาชนที่นอบน้อมต่อพระองค์ และโปรดแสดงแก่ข้าพระองค์ ซึ่งพิธีการทำฮัจญ์ของพวกข้าพระองค์ และโปรดอภัยโทษแก่พวกข้าพระองค์ด้วย แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้อภัยโทษ ทรงเอ็นดูเมตตา
- ก่อนที่นบีอิบรอฮีมและอิสมาอีลจะดุอาอ์ พวกเขาได้สร้างกะบะฮฺขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นพวกเขาก็ดุอาอ์
- อุลามะอฺบอกว่า เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการดุอาอ์ของนบีอิบรอฮีมและอิสมาอีลมาหลังจากที่พวกเขาได้ทำความดีแล้ว
- ชีวิตของเราหลังจากที่ทำความดีเสร็จแล้วก็ให้ดุอาอ์ หลังการละหมาดก็ให้ดุอาอ์ เป็นหนึ่งในวิธีการที่ทำให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ
- การมีผลงานก่อน ทำให้การขอของเรามีความเป็นไปได้ว่าจะถูกรับฟังมากขึ้น ดูน้อยลง
6. อาหารการกินฮะลาล รวมถึงปัจจัยยังชีพ และสิ่งที่เราคลุกคลี
- คำเตือนที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้พูดถึงว่า บางทีคนคนหนึ่งอาจจะมีความพยายามมากมาย ทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ดุอาอ์ของตัวเองถูกตอบรับ แต่ว่าอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าอาภรณ์ของตัวเองกลับหะรอม มีชีวิตอยู่กับสิ่งที่หะรอม
- อุลามะอฺได้บอกว่าการกินที่ไม่ฮะลาล การคลุกคลีอยู่กับการทำงาน เงินเดือน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันได้รับบด้วยกับทางที่หะรอม มีความเป็นไปได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมาปิดกั้นการตอบรับดุอาอ์ ทำให้ดุอาอ์ของเราไม่ถึงอัลลอฮ์ (ซ.บ.)
- ท่านนบีได้ให้ฐานหนึ่งที่สำคัญไว้ว่า “แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงสวยงาม ดีงาม สมบูรณ์ และจะไม่รับ เว้นแต่สิ่งที่ดีงาม”
- ดังนั้นการดุอาอ์ ที่มาจากอาหารที่ไม่ได้ฮะลาล เข้ามาหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา ส่งผลให้การส่งออกไม่ดีงามด้วย
- ระมัดระวังสิ่งที่เรานำเข้าไปในชีวิต เพราะมันสัมพันธ์กับสิ่งที่เรานำออกมา
7. ให้เตาบะฮฺและอิสติฆฟารให้มาก เมื่อเรารู้ว่าบาปต่าง ๆ เป็นปัจจัยที่มายับยั้งดุอาอ์
- สาเหตุที่ดุอาอ์ไปไม่ถึงอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เพราะเราอาจจะทำครบทุกข้อแล้ว แต่มีบาปบางประการที่ไปปิดดุอาอ์ของเรา ทำให้อัลลอฮ์ไม่ตอบรับ
- วิธีการแก้คือ “การอิสติฆฟารให้มาก” เป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้บาปของเราหายไป แล้วตัวที่กั้นดุอาอ์ของเราก็จะสลายไป
- เวลาจะขออะไรจากอัลลอฮ์ ให้เราตระหนักและอิสติฆฟารในข้อจำกัดของตัวเองให้มาก
- อิสติฆฟารในบาปที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่ถ้ามีบาปใหญ่ที่ชัดเจนในชีวิต เราต้องเตาบะฮฺจากสิ่งเหล่านั้น เพื่อให้ดุอาอ์ของเรามีความสวยงามและไปอัลลอฮ์
- สำนวนของการอิสติฆฟารตอนที่ท่านนบียูนุสอยู่ในท้องปลาวาฬ เป็นการยืนยันความเป็นเอกภาพของอัลลอฮ์ และยอมรับในความต่ำต้อยอ่อนแอและพลาดพลั้งของตัวเอง ยอมรับว่าแท้จริงแล้ว ฉันเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่อธรรมต่อตัวเอง ผู้ที่พลาด ผู้ที่พลั้ง ผู้ที่ทำความชั่ว
ดุอาอ์ที่นบียูนุส อะลัยฮิสลาม ได้กล่าว…
لَّا إِلَهَ إِلَّا أَنتَ سُبْحَانَكَ إِنِّي كُنتُ مِنَ الظَّالِمِينَ
(ลาอิลาฮะ อิลลาอันตะ ซุบฮานะกะ อินนี กุนตุ มินัศศอลิมีน)
"ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ แท้จริงฉันอยู่ในหมู่ผู้อธรรม"
(ซูเราะฮ์อัลอัมบิยาอ์ อายะฮ์ที่ 87)
- การมี Mindset ในเรื่องขอการขออภัยโทษ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ดุอาอ์ของเราถูกตอบรับ
- สถานการณ์ที่ท่านนบียูนุสเจอ ต้องการอยากจะออกมามาก ๆ จากสภาพนั้น ซึ่งการขอให้ได้ออกมาและการวิงวอนนั้นเต็มไปด้วยการอิสติฆฟารเต็มไปหมด ไม่ใช่การแค่การขอให้ได้ออกไป เพราะรู้ว่าต้องแก้ที่บาป แก้ที่ความพลาดของเราก่อน
- เวลาที่พลาดหรือพลั้งในความดี การวิงวอนขอให้กลับมาอิสติฆฟารเป็นฐานก่อน
- การที่ดุอาอ์ของเราล่าช้า ให้กลับมาอิสติฆฟารให้มาก เพราะอาจมีบาปใดบาปหนึ่งคอยยับยั้งอยู่
- เรื่องดุอาอ์ของนบียูนุส จึงเป็นที่มาของการที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า “ไม่มีใครที่เป็นมุสลิมที่ดุอาอ์ด้วยกับดุอาอ์บทนี้ เว้นแต่อัลลอฮ์จะทรงตอบรับ”
- เคล็ดลับของดุอาอ์บทนี้คือ เต็มไปด้วยการอิสติฆฟาร
8. ไม่เป็นการดุอาอ์ในเรื่องของบาปและการตัดขาดเครือญาติ
- บางทีเราอาจจะมีการตัดขาด มีการทะเลาะ ไม่สานสัมพันธ์กับเครือญาติของตัวเอง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ดุอาอ์ไม่ถูกตอบรับ
- ใครตัดขาดพี่น้องของเขา อัลลอฮ์ (ซ.บ.) อาจจะตัดขาดการตอบรับดุอาอ์ของเขาด้วย
- ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) กำชับว่าอย่าได้ตัดขาดคนที่เป็นเครือญาติและพี่น้องมุสลิม อย่าได้ดุอาอ์เรื่องที่บาป เรื่องที่ไม่เหมาะสม
- ขอดุอาอ์ให้เราออกมาจากเรื่องไม่ดีตรงนั้น ขอดุอาอ์ให้ลืมความเจ็บปวด ลืมความเสียใจที่เกิดขึ้นกับเรื่องนั้นมากกว่าการขอดุอาอ์ให้ลืมตัวบุคคล เพราะกลัวว่าการดุอาอ์ขอให้ลืมตัวบุคคลนั้น จะกลายเป็นว่าเราตัดขาดพี่น้องออกไปจากชีวิต
- ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ว่า..มุสลิมที่คลุกคลีอยู่กับผู้คน และอดทนในข้อจำกัดหรือความบกพร่องที่ไม่ดีจากคนอื่น ก็ยังดีกว่ามุสลิมที่อยู่ลำพัง แล้วไม่ต้องยุ่งกับใคร ไม่ต้องอดทนกับชีวิตใคร
- ในหะดีษบทเดียวกันนี้ ท่านนบีกล่าวต่อว่า..อัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะตอบรับดุอาอ์ด้วยกับ 3 วิธี
3 วิธีที่อัลลอฮ์จะตอบรับดุอาอ์
1.) อัลลอฮ์ตอบรับดุอาอ์ในดุนยานี้ หมายถึงเราอาจจะได้ในสิ่งที่ตัวเองปรารถนา เช่นการเรียน การทำงาน การแต่งงาน
2.) อัลลอฮ์เก็บดุอาอ์นี้เป็นผลบุญ และรอที่จะให้ในวันอาคิเราะฮฺ ดังนั้นดุอาอ์ที่เราขอไม่มีวันขาดทุน
3.) อัลลอฮ์อาจจะปัดเป่าความชั่วในเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกันกับที่ขอแทน (ไม่ได้ให้ในเรื่องนี้ แต่กันในเรื่องอื่น)
เป็นที่สมควรยิ่งกว่า ที่เราจะมองพระองค์ในแง่ดี
9. การสรรเสริญอัลลอฮ์ และการศอลาวาตท่านนบีมุฮัมมัดก่อนการขอดุอาอ์
การดุอาอ์มี 2 แบบ
1.) การสรรเสริญอัลลอฮ์ การสดุดี ให้ความยิ่งใหญ่กับอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และการศอลาวาตท่านนบี
2.) ส่วนที่เราอยากจะได้ อยากจะขอ
- บางทีการสรรเสริญถูกมองข้าม ทั้ง ๆ ที่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ
- มีหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ยินผู้ชายคนหนึ่งดุอาอ์ โดยที่เขาไม่ได้กล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” ไม่ได้ศอลาวาตท่านนบี ท่านนบีจึงบอกว่าผู้ชายคนนี้รีบเร่ง ค่อนข้างจะใจร้อนเกินไปในการขอดุอาอ์ ท่านนบีจึงกล่าวกับเขาว่า..ถ้าขอดุอาอ์ให้เริ่มต้นด้วยกับการกล่าวสรรเสริญอัลลอฮ์ก่อน หลังจากนั้นให้ศอลาวาตท่านนบี แล้วค่อยดุอาอ์ในสิ่งที่ปรารถนา เป็นคำแนะนำของท่านนบี
- มีหะดีษอีกสำนวนหนึ่ง ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ยินผู้ชายคนหนึ่งขอดุอาอ์โดยที่เขาได้สรรเสริญ ได้สดุดีอัลลอฮ์อย่างเต็มที่และศอลาวาตต่อท่านนบี ท่านนบีจึงกล่าวว่า..ให้ดุอาอ์ให้มาก ขออะไรอัลลอฮ์จะตอบรับ นี่คือสิ่งที่ท่านนบีแจ้งไว้กับคนที่ใช้วิธีนี้
- ดังนั้นอย่ารีบไปที่เนื้อหาของเรา ให้มีอารัมภบทในเรื่องของการสรรเสริญอัลลอฮ์ และการศอลาวาตท่านนบี
- จากซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ ส่วนแรกก็เป็นการสรรเสริญอัลลอฮ์
- จากดุอาอ์ของนบียูนุส ส่วนแรกก็เป็นการสรรเสริญ ให้ความยิ่งใหญ่ ให้เอกภาพต่ออัลลอฮ์ ให้ความบริสุทธิ์ต่ออัลลอฮ์
- ควรท่องจำสำนวนที่เป็นเรื่องของการสรรเสริญอัลลอฮ์ให้มาก เพื่อที่จะเอามาใช้ในตอนต้นการขอดุอาอ์ อย่ารีบไปที่ประเด็นของเราทันที
10. ใช้สื่อกลางที่ศาสนาอนุญาต (ตะวัซซุล)
- สื่อกลางที่ศาสนาไม่อนุญาต เช่น การไปขอจากหลุมฝังศพ การไปขอจากหลุมฝังศพของท่านนบี เป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังมาก ๆ
สื่อกลางที่ศาสนาอนุญาต คือ..
1.) พระนามของอัลลอฮ์
เลือกนำมาใช้ในบริบทต่าง ๆ ตามความหมายและเหมาะสมกับเรื่องที่เราขอ ทำให้ดุอาอ์ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งน่าฟังและยิ่งมีความเป็นไปได้ว่า ณ ที่อัลลอฮ์นั้นจะถูกตอบรับ
2.) การใช้ความดีงามที่อัลลอฮ์ให้กับเราก่อนหน้า
ดึงมาใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการขอให้ความดีหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่พระองค์ให้กับเรานั้นยังคงอยู่ หรือได้รับต่อไป
- ตัวอย่างเช่น อัลลอฮ์ให้เราได้รับทางนำแล้ว เราก็ขอจากอัลลอฮ์ว่าอย่าให้เราหลงทาง อย่าได้พลิกหัวใจของเรา หลังจากที่พระองค์ประทานทางนำที่ถูกต้องกับเราแล้ว (อธิบาย : การใช้คำว่า “หลังจากที่พระองค์ประทานทางนำที่ถูกต้องกับเราแล้ว” ทำให้การขอในวรรคแรกมีน้ำหนักมากขึ้น)
3.) ใช้ความดีที่เราทำด้วยความอิคลาส มาขอความช่วยเหลือ
- ตัวอย่างเรื่องราวของคนที่ติดอยู่ในถ้ำ เป็นการดึงเอาความดีของตัวเองที่เคยทำ เพื่อมาขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.)
- จากซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 193
رَّبَّنَا إِنَّنَا سَمِعْنَا مُنَادِيًا يُنَادِي لِلْإِيمَانِ أَنْ آمِنُوا بِرَبِّكُمْ فَآمَنَّا ۚ رَبَّنَا فَاغْفِرْ لَنَا ذُنُوبَنَا وَكَفِّرْ عَنَّا سَيِّئَاتِنَا وَتَوَفَّنَا مَعَ الْأَبْرَارِ
โอ้พระเจ้าของพวกข้าพระองค์! แท้จริงพวกข้าพระองค์ได้ยินผู้ประกาศเชิญชวนผู้หนึ่ง กำลังประกาศเชิญชวนให้มีการศรัทธาว่า ท่านทั้งหลายจงศรัทธาต่อพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด และพวกข้าพระองค์ก็ศรัทธากัน โอ้พระเจ้าของพวกข้าพระองค์! โปรดทรงอภัยแก่พวกข้าพระองค์ด้วย ซึ่งบรรดาโทษของพวกข้าพระองค์และโปรดลบล้างให้พ้นจากพวกข้าพระองค์ ซึ่งบรรดาความผิดของพวกข้าพระองค์ และโปรดทรงให้พวกข้าพระองค์สิ้นชีวิตโดยร่วมอยู่กับบรรดาผู้ที่เป็นคนดีด้วยเถิด
- ช่วงต้นเป็นการเล่าความดีบางประการของตนเอง ส่วนหลังคือการดุอาอ์
- เราสามารถใช้วิธีนี้ได้ โดยใช้ความดีที่เราทำด้วยความอิคลาสต่อพระองค์จริง ๆ ขอพระองค์ช่วยเหลือเราด้วยเถิด แบบนี้เป็นสำนวนที่เราสามารถใช้ได้
11. เลือกเวลาที่พิเศษ
- ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าดุอาอ์ของเราก็จะมีความพิเศษมากขึ้นไปอีก
- ดูที่เวลาเป็นหลัก ไม่ได้คาบเกี่ยวที่บุคคล
- เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเล็ก ๆ ท่ามกลางปัจจัอีกหลายข้อที่เราต้องคำนึง
8 ช่วงเวลาที่ดุอาอ์ถูกตอบรับ
1.) เวลาหนึ่งส่วนสามสุดท้ายของกลางคืน (ดูหะดีษบุคอรีย์และมุสลิม)
ตั้งแต่เวลามักริบถึงเวลาซุบฮฺ เรียกว่า กลางคืน เมื่อแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนท้ายจะอยู่ประมาณตี 2 ถึงเวลาซุบฮฺ จะเป็นเวลามุสตาญาบ
2.) เวลาที่เราสะดุ้งตื่นตอนกลางคืน แบบที่เราไม่ได้ตั้งใจ (ดูหะดีษบุคอรีย์)
ท่านบบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า..
“ผู้ใดที่ตื่นนอนขึ้นมาในตอนกลางคืน เเล้วเขากล่าว :
«لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ، لَهُ الْمُلْكُ وَلَهُ الْحَمْدُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ، الْحَمْدُ لِلَّهِ، وَسُبْحَانَ اللَّهِ، وَلَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ، وَاللَّهُ أَكْبَرُ، وَلَا حَوْلَ وَلَا قُوَّةَ إِلَّا بِاللَّهِ.»
คำอ่าน : ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ วะหฺดะฮู ลาชะรีกะละฮฺ ละฮุลมุลกุ วะละฮุลฮัมดุ วะฮูวะอะลา กุลลิชัยอิน เกาะดีร , อัลฮัมดุลิลลาฮฺ วะซุบฮานัลลอฮฺ วะลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ วัลลอฮุอักบัร , วะลาเฮาละ วะลากูวะตะ อิลลา บิลลาฮฺ
ความหมาย : ไม่มีพระเจ้าอื่นใด(ที่ถูกเคารพอย่างเที่ยงเเท้)นอกจากอัลลอฮ์เพียงผู้เดียว ไม่มีภาคีใดสำหรับพระองค์ กรรมสิทธิ์การปกครองเเละการสรรเสริญเป็นสิทธิ์แด่พระองค์ เเละพระองค์ทรงมีความสามารถเหนือทุกสิ่งทุกสรรพสิ่ง , มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์แด่พระองค์ เเละมหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮ์ เเละไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์ผู้ทรงเกรียงไกรยิ่ง เเละไม่มีพลังอำนาจใดเว้นเเต่ด้วยกับอัลลอฮ์
หลังจากนั้นเขากล่าวต่อว่า :
«اللَّهُمَّ اغْفِرْ لِي»
คำอ่าน : อัลลอฮุมมัฆฟิรลี
ความหมาย : โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
หรือเขาวิงวอนขอดุอาอ์ใดก็เเล้วเเต่ จะเป็นที่ถูกตอบรับแก่เขา เเละถ้าหากเขาอาบน้ำละหมาดเเละทำการละหมาด การละหมาดของเขาก็จะถูกตอบรับ”
3.) ช่วงเวลาที่สุญูด (ดูหะดีษมุสลิม)
ช่วงสุญูดเป็นเวลาพิเศษ ที่เราอยู่ในสภาพที่ต่ำต้อย ร่างกายของเราแนบพื้น ไม่มีความยโสโอหัง เพราะการสุญูดเราทำต่ออัลลอฮ์เท่านั้น ให้เราดุอาอ์ให้มาก และในการละหมาดต้องขอเป็นภาษาอาหรับ แต่สามารถขอในใจเป็นภาษาไทยได้
4.) ระหว่างอะซานกับอีกอมะฮฺ (ดูหะดีษอบูดาวูด)
5.) หลังละหมาดฟัรดูทั้ง 5 เวลา (ดูหะดีษติรมีซีย์)
6.) ช่วงเย็นวันศุกร์ (ดูหะดีษบุคอรีย์และมุสลิม) เป็นเวลาหลังอัสริ ก่อนมักริบเล็กน้อย
7.) ขณะที่ฝนตก (ดูหะดีษอบูดาวูด)
8.) ช่วงเวลาที่ถือศีลอดและขณะเดินทาง (ดูหะดีษอะห์หมัด)
เพิ่มเติมประเด็นเรื่องของบุคคล : ดุอาอ์ของคนเป็นพ่อแม่ ดุอาอ์ของคนที่ถูกอธรรม บุคคลที่ถือศีลอด บุคคลที่เดินทาง เป็นดุอาอ์ที่ถูกตอบรับ ณ ที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.)
คนที่เข้มแข็งที่สุดบนโลกใบนี้ คือ คนที่รู้ว่าต้องขอความช่วยเหลือจากใคร ใครเป็นผู้ที่มีอำนาจอยู่เหนือเขาและคุ้มครองเขาอยู่
บนโลกใบนี้..ที่ต่างคนต่างอ่อนแอเราเป็นมนุษย์ที่มีข้อจำกัด คนฉลาดและคนที่เข้มแข็งคือ คนที่หาผู้ที่มีอำนาจมาช่วย มาคุ้มกัน มาดูแล ดังนั้นคนที่เข้าหาอัลลอฮ์อยู่ตลอดเวลา คนที่ขอดุอาอ์ ประหนึ่งว่าเขาได้ไปหาผู้ที่มีอำนาจสูงสุดแล้ว
credit: คุณครูขนมปัง
Tags: