จุดประสงค์การเปลี่ยนเส้นทางไปกลับในวันละหมาดอีด
ถาม: ผมได้อ่านหะดีษหนึ่งพบว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านได้เดินทางไปละหมาดอีดในเส้นทางหนึ่งแล้วหลังจากนั้นท่านกลับโดยใช้อีกเส้นทางหนึ่ง อยากทราบถึงจุดประสงค์การกระทำเช่นนี้ของท่าน?
ตอบ: อัลบุคอรีได้บันทึกจากท่านญาบิร บิน อับดุลลอฮฺ รอฏิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า แท้จริงแล้วเมื่อถึงเวลาในการละหมาดอีดท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จะเปลี่ยนเส้นทาง หมายความว่า ท่านจะไปละหมาดอีดโดยใช้เส้นทางหนึ่งแล้วกลับมาโดยใช้อีกเส้นทางหนึ่ง
ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับมุอ์มินนั้นคือการทำตามแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แม้นว่าเขาจะไม่ทราบถึงจุดประสงค์ในการกระทำดังกล่าวของท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมก็ตาม
อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮุวะตาอาลา ได้ทรงตรัสไว้ว่า
« لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِمَنْ كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيراً » الأحزاب/21
ความว่า “โดยแน่นอน ในรอซูลของอัลลอฮ์มีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว สำหรับผู้ที่หวัง (จะพบ) อัลลอฮ์และวันปรโลกและรำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมาก"
อิบนุ กะษีรได้กล่าวเกี่ยวกับอายะฮฺนี้ว่า “อายะฮฺนี้เป็นหลักฐานหลักที่ชัดเจนในเรื่องการทำตามแบบอย่างของท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของท่าน การกระทำของท่านและในทุกอริยาบทของท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม"
และบรรดานักวิชาการต่างมีทัศนะคติที่แตกต่างเกี่ยวกับจุดประสงค์ในการกระทำเช่นนี้ของท่านนบี
อัลหาฟิซ ได้กล่าวว่า “บรรดาอุลามาอ์มีทัศนะที่แตกต่างกันมากในเรื่องดังกล่าว ซึ่งฉันได้รวบรวมมาได้ส่วนหนึ่งมากกว่า 20 ทัศนะ และฉันได้ทำการสรุปและอธิบายในส่วนที่คลุมเครือ ท่าน อัลกอฏี อับดุลวัฮฮาบ อัลมาลิกี ได้กล่าวว่า “ ได้มีการพูดถึงจุดประสงค์มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมีความใกล้เคียงกัน หากแต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการอ้างขึ้นโดยไร้ซึ่งหลักฐาน"
ซึ่งจุดประสงค์ในการทำดังกล่าวคือ
1. ท่านได้กระทำไปเพื่อให้เส้นทางทั้งสองที่ท่านผ่านนั้นเป็นพยาน และมีผู้ที่กล่าวว่า เพื่อให้บรรดามนุษย์และญินที่อยู่อาศัยในบริเวณที่ท่านผ่านเป็นพยานให้กับท่าน
2. บางท่านได้กล่าวว่า เพื่อเกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องของความประเสริฐที่ท่านได้เดินผ่านทาง หรือเพื่อให้ผู้คนได้รับบะเราะกะฮฺจากท่าน
3. บางท่านได้กล่าวว่า เนื่องจากเส้นทางการไปละหมาดของท่านนั้นอยู่ทางฝั่งขวามือ ซึ่งหากท่านกลับไปทางเส้นทางเดิมเท่ากับว่าเส้นทางกลับอยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเลือกเส้นทางอื่น แต่เกี่ยวกับทัศนะนี้จำเป็นต้องมีหลักฐานสนับสนุนก่อน
4. บางท่านได้กล่าวว่า เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของอิสลาม บางท่านกล่าวว่า เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึงอัลลอฮ์
5. บางท่านกล่าวว่า เพื่อแสดงความน่าเกรงขามให้ชาวมุนาฟิกีนและยิวได้เห็น และบางท่านกล่าวว่า เพื่อแสดงความน่าเกรงขามด้วยบรรดาศอฮาบะฮฺที่เดินตามท่าน อิบนุ บัฏฏอล เห็นชอบกับทัศนะนี้
6. บางท่านกล่าวว่า เพื่อระมัดระวังจากการไม่หวังดีของทั้งสองกลุ่ม(พวกมุนาฟิกและยิว) ทัศนะยังมีข้อสังเกตที่ต้องพิจารณา
7. บางท่านกล่าวว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กระทำเช่นนั้นเพื่อให้ครอบคลุมให้ทุกคนได้มีความสุขร่วมกับท่าน หรือรับบะเราะกะฮฺจากการผ่านมาของท่าน การได้มองเห็นท่าน และได้รับประโยชน์จากท่านในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับฟังจากท่าน แบบอย่างของท่าน และการได้รับคำแนะนำจากท่าน หรือ การบริจาคทานหรือการให้สลามต่อพวกเขาและอื่นๆ
8. บางท่านกล่าวว่า ท่านนบีกระทำเช่นนี้เพื่อที่จะไปเยี่ยมเยียนสร้างความสัมพันธ์กับเครือญาติของท่าน
9. บางท่านกล่าวว่า เพื่อเป็นการให้เกิดความรู้สึกดี จากการที่สภาพได้เปลี่ยนเป็นการได้รับอภัยโทษและความโปรดปรานจากอัลลอฮ์
10. บางท่านกล่าวว่า เนื่องจากตลอดระยะทางที่ท่านนบีเดินไปละหมาดนั้นท่านได้ทำการเศาะดะเกาะฮฺ และในช่วงการกลับของท่านนั้นท่านมิได้เหลืออะไรไว้ซักอย่าง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเดินกลับไปอีกเส้นทางหนึ่งเพื่อที่หลีกเลี่ยงจากผู้ที่จะมาขอทานจากท่าน ทัศนะนี้ถือว่าเป็นทัศนะที่อ่อนที่สุดและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหลักฐานในการอ้างเช่นนี้
11. บางท่านกล่าวว่า เส้นทางการไปละหมาดของท่านนบีนั้นมีระยะทางที่ไกลกว่าเส้นทางกลับ ดังนั้นท่านต้องการให้เกิดผลบุญมากที่สุดโดยใช้เส้นทางที่ผิดและไกลในการไปละหมาด ส่วนทางกลับนั้นทางเลือกเส้นทางที่ใกล้เพื่อให้ถึงที่พำนักของท่านโดยเร็ว ซึ่งท่านอัรรอฟีอีเห็นด้วยกับทัศนะนี้ หากแต่ทัศนะนี้จำเป็นที่จะต้องมีหลักฐาน และเนื่องจากการใช้เส้นทางที่ผิดในการกลับนั้นได้ผลบุญเช่นเดียวกันดังปรากฏหลักฐานจาก ฮะดีษ อุบัยย์ อิบนุ กะอับ บันทึกโดย ติรมีซีย์และท่านอื่นๆ
12. บางท่านกล่าวว่า เนื่องจากมาลาอิกะฮฺ ยืนอยู่ตามเส้นทางต่างๆ ดังนั้นท่านจึงต้องให้บรรดามาลาอิกะฮฺในสองเส้นทางได้เป็นพยานให้กับท่าน
ท่านอิบนุล ก็อยยิมได้กล่าวในหนังสือ “ซาดุลมะอาด" เกี่ยวกับจุดประสงค์ดังกล่าว แล้วท่านก็ได้กล่าวตอนท้ายว่า “ที่ถูกต้องคือ จุดประสงค์ทั้งหมดที่กล่าวมา และจุดประสงค์อื่น ๆ ที่ไม่พ้นไปจากการที่ท่านได้กระทำไว้
ท่านอิบนุ อุษัยมีน ได้กล่าวว่า “และหากมีผู้ถามว่า แล้วมีจุดประสงค์อันใดในการเปลี่ยนเส้นทางอื่น" คำตอบคือ การได้ทำตามแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
«وَمَا كَانَ لِمُؤْمِنٍ وَلاَ مُؤْمِنَةٍ إِذَا قَضَى ٱللهُ وَرَسُولُهُ أَمْراً أَن يَكُونَ لَهُمُ ٱلْخِيَرَةُ مِنْ أَمْرِهِمْ وَمَن يَعْصِ ٱللهَ وَرَسُولَهُ فَقَدْ ضَلَّ ضَلَـٰلاً مُّبِيناً» [الأحزاب /36]
ความว่า “ไม่บังควรแก่ผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิง เมื่ออัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกอีกในกิจการของพวกเขา(ที่อัลลอฮ์และรอซูลได้กำหนดไว้แล้ว) และผู้ใดไม่เชื่อฟังอัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์แล้ว แน่นอนเขาได้หลงผิดอย่างชัดแจ้ง"
นี่แหล่ะคือจุดประสงค์ของการกระทำดังกล่าว" ... จากนั้นท่านเชคก็ได้กล่าวจุดประสงค์ข้างต้นดังคำกล่าวของท่าน อัลหาฟิซ (มัญมูอฺ ฟะตาวา อิบนุ อุษัยมีน 222/16)
credit: ถาม-ตอบอิสลาม islam-qa.com
Tags: