หะดีษบทที่ 1 การถือศีลอดเดือนรอมฏอนเป็นศาสนบังคับ
หะดีษบทที่ 1 บัญญัติการถือศีลอด
عَنْ عَائِشَةَ أُمِّ الْمُؤْمِنِيْنَ أَنَّهَاْ قَاْلَتْ : كَانَ يَوْمُ عَاشُورَاءَ يَوْماً تَصُومُهُ قُرَيْشٌ فِي الْجَاهِلِيَّةِ، وَكَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَصُومُهُ فِي الْجَاهِلِيَّةِ ، فَلَمَّا قَدِمَ رَسُولُ اللهِ الْمَدِينَةَ صَامَهُ وَأَمَرَ الْنَاسَ بِصِيَامِهِ ، فَلَمَّا فُرِضَ رَمَضَانُ ، كَانَ هُوَ الْفَرِيْضَةَ ، وَتُرِكَ يَوْمُ عَاْشُوْرَاءَ، فَمَنْ شَاءَ صَامَهُ، وَمَنْ شَاءَ تَرَكَهُ .
رواه البخارى 4 / 213 ومسلم 1125
ความว่า จากท่านหญิงอาอิชะห์มารดาของผู้ศรัทธาทั้งหลายกล่าวว่า "ครั้งหนึ่งวันอาชูรออฺเป็นวันที่บรรดาชาวกุรอยช์ประกอบอิบาดะฮฺถือศีลอดในสมัยญะฮีลิยะฮ์และท่าน รอซูล (ศ็อลฯ) เคยถือศีลอดวันนั้น ในวันที่ท่านรอซูลเดินทางไปยังนครมะดีนะฮฺ ท่านได้ถือศีลอดและเชิญชวนมวลมนุษย์เพื่อถือศีลอด หลังจากการถือศีลอดเดือนรอมฏอนถูกบัญญัติแล้วจึงยกเลิกจากการถือศีลอดอาชูรออฺ ดังนั้นหากผู้ใดประสงค์จะถือศีลอดในวันอาชูรออฺจงถือศีลอด และผู้ใดประสงค์จะละศีลอดก็จงละเถิด"
(รายงานโดยอัลบุคอรีย์ 4/213 และมุสลิม 1125)
คำอธิบายหะดีษ
บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่สอดคล้องกันว่าการถือศีลอดในวันอาชูรออฺนั้น (คือวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรร็อม) ปัจจุบันถือว่าเป็นสุนัตมิใช่วาญิบ แต่พวกเขามีทัศนะที่ขัดแย้งกันในหุกมในสมัยต้นๆ ของอิสลาม ขณะที่มีการบัญญัติให้ถือศีลอดก่อนการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน
มัซฮับอบู หะนีฟะฮ์มีความเห็นว่าหุกมของการถือศีลอดนั้นเป็นวาญิบดังมีหลักฐานระบุว่าท่านรอซูลได้สั่งบรรดา เศาะฮาบะฮ์ให้ถือศีลอด ดังนั้นเมื่อเป็นคำสั่งแล้วหุก่มจึงเป็น วาญิบ
ในมัซฮับซาฟีอีย์เห็นว่าการถือศีลอดดังกล่าวเป็นสุนัต ดังมีหลักฐานอยู่ว่า ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า "วันนี้เป็น วันอาชูรออฺ อัลลอฮ (ซุบฮ) มิทรงบัญญัติให้สูเจ้าถือศีลอด"
ที่จริงแล้วบรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอาชูรออฺว่าไม่เป็นวาญิบแต่เป็นสุนัตเท่านั้น [เศาะฮีห์มุสลิม อธิบายโดย อัน-นะวะวีย์ 8/4-5]
บทเรียนจากหะดีษ
1. การถือศีลอดในวันอาชูรออฺเป็นข้อปฏิบัติของชาวกุรอยช์ในสมัยญะฮีลียะห์
2. อาชูรออฺคือ วันที่ 10 ของเดือนมุหัรร็อม
3. การถือศีลอดในวันอะซูรอนั้น ท่านรอซูล(ศ็อลฯ) เคยปฏิบัติมาก่อนหน้าที่การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนจะถูกบัญญัติขึ้นมา
4. ในช่วงต้น ๆ ของการอพยพ (ฮิจญ์เราะฮ์) ท่านรอซูลยังถือศีลอดอาชูรออฺและยังสั่งให้บรรดาเศาะฮาบะฮ์ถือศีลอดอีกด้วย
5. แต่ในปีที่ 2 ของปีฮิจญ์เราะห์โองการเกี่ยวกับการถือศีลอดก็ถูกประทานลงมา ดังนั้น การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จึงถือเป็นฟัรฎูสำหรับผู้ที่มีเงื่อนไขครบถ้วนตามที่บัญญัติแล้วจะต้องถือปฏิบัติ ดังนั้น การถือศีลอดอาชูรออฺจึงกลายเป็นสุนัตที่สามารถเลือกกระทำหรือเลือกไม่กระทำก็ได้
------
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ความพิเศษและความประเสริฐในเดือนรอมฎอน
- หะดีษบทที่ 2 ประตูสวรรค์ถูกเปิดและประตูนรกถูกปิดไว้
- หะดีษบทที่ 3 เป็นไทจากการลงโทษในขุมนรก
- หะดีษบทที่ 4 การอภัยโทษสำหรับผู้ถือศีลอด
- หะดีษบทที่ 5 ผลตอบแทนของการถือศีลอดเป็นสิทธิของอัลลอฮ์
------
credit: islamhouse
Tags: