จะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายขาดโปรตีนและส่งผลเสีย
credit: อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ
โปรตีนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการลดน้ำหนัก การเผาผลาญ การเป็นนักกีฬา การดูแลกล้ามเนื้อ หากคนที่กำลังให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ก็จะขาดโปรตีนไปไม่ได้ ซึ่งโปรตีนเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ เส้นผม ผิวหนัง คอลลาเจน เอนไซม์ แม้แต่ฮอร์โมนบางอย่างในร่างกายก็สร้างมาจากโปรตีน นอกจากนี้โปรตีนยังสร้างฮีโมโกลบินและแอนติบอดีที่สำคัญในร่างกายอีกด้วย โปรตีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของร่างกายเป็นอย่างมากตั้งแต่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การรักษาบาดแผลจากการบาดเจ็บ ป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ ช่วยย่อยอาหาร เป็นต้น
ปกติเราจะพบโปรตีนจากอาหารที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ และปลา รวมถึงอาหารจากพืชบางชนิด เช่น ถั่ว ข้าวโอ๊ต ควินัว สาหร่าย เมล็ดพืช หากเราบริโภคโปรตีนไม่เพียงพอในแต่ละวันจะสังเกตเห็นว่า สุขภาพโดยรวมของเราเริ่มแย่ลง ซึ่งการขาดโปรตีนจะทำให้ระบบในร่างกายของเราขาดความสมดุลได้ วันนี้เราจึงจะมาพูดคุยกันในเรื่องของสัญญาณจากร่างกายว่าเรากำลังขาดโปรตีนกัน
1. รู้สึกอ้วนขึ้น ในงานวิจัยบางชิ้นพบว่า การที่ขาดโปรตีนมักจะทำให้การทานอาหารเพิ่มขึ้น มีน้ำหนักตัวและมวลไขมันเพิ่มขึ้น การที่ทานโปรตีนสูงจะทำให้ร่างกายมีความอิ่มมากขึ้นจะทำให้กินคาร์โบไฮเดรตหรือไขมันได้น้อยลง เนื่องจากโปรตีนจะช่วยป้องกันไม่ให้เรากินมากจนเกินไปเพราะโปรตีนช่วยให้เราเกิดความอิ่มนั่นเอง นอกจากโปรตีนจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด รักษากล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายมีการเผาผลาญแคลอรี่ได้มากขึ้นในตลอดทั้งวันและสามารถลดความอยากอาหารได้อีกด้วย
2. อารมณ์แปรปรวนหรือรู้สึกกังวล กรดอะมิโนเป็นตัวสร้างสารสื่อประสาทที่ควบคุมเรื่องของอารมณ์ ซึ่งโปรตีนจะมีกรดอะมิโนอยู่ในนั้น แล้วโปรตีนเป็นตัวที่ช่วยที่ให้สมองสังเคราะห์สารสื่อประสาทออกมา เช่น โดพามีน (Dopamine), เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้สึกเชิงบวก สร้างความสงบ สร้างความสุข ผ่อนคลาย ความตื่นเต้น พลังงานบวกให้กับเรานั่นเอง หากขาดโปรตีนไปการควบคุมอารมณ์ของเราก็จะไม่ดี อารมณ์เสียได้ง่าย วิตกกังวลบ่อยๆ อารมณ์แปรปรวนได้เช่นกัน
3. บาดแผลหายช้า การขาดโปรตีนมักจะทำให้บาดแผลจากการที่ได้รับบาดเจ็บนั้นหายช้า ใช้เวลานานในการที่แผลจะสมาน ซึ่งหากกินโปรตีนอย่างเพียงพอจะสามารถช่วยซ่อมแซมร่างกายหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บได้ เนื่องจากโปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกาย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การกินโปรตีนมากขึ้นในขณะที่ได้รับบาดเจ็บจะช่วยเร่งการฟื้นตัวของการบาดเจ็บนั้นได้
4. อาการ Brain Fog โปรตีนเป็นสิ่งจำเป็นในการรองรับการทำงานของระบบประสาทที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน หากเมื่อขาดโปรตีนจะทำให้สมองล้า สมาธิไม่ดี ขาดแรงจูงใจ มีปัญหาด้านการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อันเนื่องมาจากการมีสารสื่อประสาทที่จำเป็นอยู่ในระดับต่ำ เช่น โดพามีน (Dopamine) อะดรีนาลีน (Adrenaline) นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) และเซโรโทนิน (Serotonin) เป็นต้น ซึ่งสารสื่อประสาทจะถูกสังเคราะห์ในสองด้วยกรดอะมิโนจึงทำให้ขาดโปรตีนไปไม่ได้ จากการศึกษาพบว่า การทานอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การเรียนรู้ เพื่มทักษะต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น
5. เจ็บกล้ามเนื้อ ในคนที่ออกกำลังกายหรือนักกีฬาอาหารที่มีโปรตีนสูงมักมีประโยชน์มากกว่าอาหารที่มีโปรตีนต่ำ เนื่องจากโปรตีนเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างมวลกล้ามเนื้อและรักษาพลังงานไว้ในร่างกาย หากกินอาหารที่มีโปรตีนต่ำมักจะเกิดปัญหาการเจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบ เหนื่อยล้าได้ง่าย ร่างกายอ้วนขึ้นได้ เนื่องจากมีโปรตีนไม่เพียงพอต่อการสร้างพลังงาน สร้างกล้ามเนื้อ หรือซ่อมแซมเนื้อเยื่อของร่างกายจึงทำให้เกิดปัญหาในการออกกำลังกายได้
6. ปัญหาการนอนหลับ การที่เรานอนหลับได้ไม่ดี หลับไม่สนิท นอนไม่หลับ บางครั้งอาจเชื่อมโยงกับระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น แต่มีการผลิตเซโรโทนินลดลง ซึ่งการกินอาหารที่มีโปรตีนสูงจะช่วยในการผลิตกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำงานด้านการสื่อสารภายในสมองที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับออกมาได้ดี และจะไม่ไปก่อกวนต่อระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้โปรตีนยังช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้น้อยลงในระหว่างมื้ออาหารอีกด้วย
7. ปัญหาการย่อยอาหาร การย่อยอาหารหรือการเผาผลาญในร่างกายหลายอย่างจะมีความเกี่ยวข้องกับกรดอะมิโน หากเมื่อร่างกายเกิดความเหนื่อยล้า มีความทรุดโทรมอันเนื่องมาจากการขาดโปรตีนแล้วนั้น การผลิตเอนไซม์ การหดตัวของกล้ามเนื้อในทางเดินอาหาร และการย่อยอาหารจะได้รับผลกระทบไปด้วยนั่นเอง
8. ปัญหาด้านกระดูก การที่ร่างกายมีโปรตีนต่ำจะเสี่ยงก่อให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย กระดูกอ่อนแรง จนไปถึงกระดูกบางกระดูกพรุนได้ โปรตีนจึงมีความจำเป็นสำหรับการดูดซึมแคลเซียมไปที่กระดูกและช่วยลดในการเผาผลาญของกระดูกได้ การศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องกระดูก คือ ผู้ที่มีโปรตีนในร่างกายต่ำ ในงานวิจัยยังพบว่าการที่กินอาหารที่มีโปรตีนสูงจะช่วยรักษาอาการสูญเสียกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย
9. เส้นผม เล็บ ไม่แข็งแรง โปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับผม เล็บ ผิวหนัง คอลลาเจน รวมถึงอิลาสติน (Elastin) เมื่อเราขาดโปรตีนหรือกรดอะมิโนบางชนิดไป จะทำให้การซ่อมแซมบาดแผลหายช้า ผิวหนังขาดความเต่งตึง เหี่ยวห่น เล็บหักและผมหลุดร่วงได้ง่าย
10. คอเลสเตอรอลสูง หากคุณมีระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูงบางครั้งไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลมาจากการอักเสบที่เพิ่มขึ้น ความไม่สมดุลของฮอร์โมน และการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง หากคุณยังรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล ข้าวขัดสี อาหารแปรรูป อาหารกล่องตามร้านสะดวกซื้อ จะยิ่งทำให้คอเลสเตอรอลของคุณสูงขึ้นได้ เนื่องจากตับและเซลล์ของคุณไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงควรทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะโปรตีนจะไปช่วยปรับระดับของคอเลสเตอรอลให้ลดลงได้
จะเห็นได้ว่า การขาดโปรตีนส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราเป็นอย่างมาก จนบางครั้งอาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราได้เช่นกัน การกินโปรตีนให้เพียงพอต่อการทำงานของระบบในร่างกายจึงเป็นสิ่งจำเป็นนั่นเอง เราจึงควรเลือกทานอาหารที่มีโปรตีนสูงหรือเลือกทานอาหารเสริมโปรตีนมากินก็ได้ เพื่อให้ระบบในร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล ไม่เกิดความเจ็บป่วยใดๆ ตามมา
บทความน่าสนใจ
Tags: