มุสลิมไม่สามารถลงทุนในธุรกิจประเภทใดบ้าง?
หากพูดถึงสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ที่คนส่วนใหญ่นึกถึง คงไม่พ้น “หุ้น” เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ค่อนข้างน่าดึงดูด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าชาวมุสลิมจะสามารถลงทุนในหุ้นได้ ไม่แตกต่างจากศาสนาอื่น ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะเลือกลงทุนในหุ้นได้ทุกตัว เนื่องจากมีกิจการบางประเภทที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม
แล้วชาวมุสลิมไม่สามารถลงทุนในหุ้นประเภทใดได้บ้าง ?
1. ธุรกิจที่เป็นกลุ่มสถาบันการเงิน ที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจตามหลักศาสนาอิสลาม
เช่น ธนาคาร, ประกันภัย และกลุ่มปล่อยสินเชื่อ
เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีรายได้จาก “ริบา” หรือดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับชาวมุสลิม ที่มองว่าการเก็บดอกเบี้ย เป็นการลดทอนทรัพย์สินของผู้อื่น
2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง
เช่น โรงภาพยนตร์, ดนตรี และโรงแรมทั่วไป
อย่างไรก็ดี ชาวมุสลิมก็สามารถลงทุนในกิจการโรงแรมได้ หากนั่นคือ โรงแรมฮาลาล
โดยโรงแรมฮาลาลเป็นโรงแรมที่ปฏิบัติถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม เท่านั้น
เช่น ไม่มีอาหารที่ทำจากเนื้อหมู ไม่มีบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
มีพื้นที่สำหรับการทำละหมาด ไม่มีสถานบันเทิงภายในโรงแรม และอื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากกฎเกณฑ์เหล่านี้แล้ว จะมีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมถึง 13 ข้อจากโรงแรมทั่วไป
ที่ทำให้ต้นทุนของโรงแรมเหล่านี้สูงกว่าปกติ เราจึงไม่ค่อยเห็นโรงแรมฮาลาลในประเทศไทยเท่าไรนัก
3. ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกร
เช่น ฟาร์มสุกร และร้านอาหารที่จัดจำหน่ายเนื้อสุกร
4. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข
เช่น ยาสูบ, แอลกอฮอล์ และการพนัน
นอกจากดูประเภทของกิจการแล้ว สิ่งที่ชาวมุสลิมต้องดูต่อมาคือ โครงสร้างทางการเงินของกิจการ
โดยเกณฑ์โครงสร้างทางการเงินที่ถือว่าขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เป็นดังนี้
1. หนี้สินต่อสินทรัพย์สูงกว่า 33%
2. ลูกหนี้และเงินสดต่อสินทรัพย์สูงกว่า 50%
3. เงินสดและตั๋วเงินชนิดมีดอกเบี้ยต่อสินทรัพย์รวมสูงกว่า 33%
4. ดอกเบี้ยรวมและรายได้อื่น ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามต่อรายได้รวมสูงกว่า 5%
ซึ่งเกณฑ์ที่กล่าวมา เป็นการตีความจากอัลกุรอาน และเป็นไปตามหลักของชะรีอะห์
โดยในประเทศไทยก็มีดัชนีหุ้นที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามหลักศาสนาอิสลาม
ชื่อว่า FTSE SET Shariah Index ถูกคิดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ Yasaar บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม
และแม้ว่าสุดท้ายเราจะลงทุนในหุ้น ตรงตามประเภทและเกณฑ์โครงสร้างทางการเงินแล้ว
แต่การลงทุนที่ดีตามหลักศาสนาอิสลาม คือต้องตรงกับหลักการมุชาเราะกะฮ์ด้วย
นั่นคือ ซื้อหุ้น เพราะ “อยากเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร”
ดังนั้นการใช้มาร์จิน, เดย์เทรด, อ็อปชัน และฟิวเจอร์ส จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
แล้วตราสารหนี้ต่าง ๆ เช่น หุ้นกู้ ถือเป็นสินทรัพย์ที่ชาวมุสลิมลงทุนได้หรือไม่ ?
คำตอบก็คือ “ไม่ได้” เพราะนับเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีตราสารหนี้ ที่ชาวมุสลิมสามารถลงทุนได้แล้ว นั่นคือ “สุขุก”
รูปแบบของสุขุก คือ ผู้ระดมทุนจะต้องขายสินทรัพย์ให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจก่อน ในราคาที่เท่ากับจำนวนเงินที่ต้องการระดมทุน
หลังจากนั้นนิติบุคคลเฉพาะกิจ จึงจะทำการออกตราสารหนี้ เพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนในเวลาต่อมา
ซึ่งผู้ที่ลงทุนจะมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ต่างจากผู้ถือตราสารหนี้ทั่วไป
ขณะที่ผู้ระดมทุนต้องทำการเช่าสินทรัพย์ ภายในระยะเวลาและอัตราค่าเช่าที่ตกลงกันไว้
ผลตอบแทนจึงอยู่ในรูปแบบของ “ค่าเช่า” แทน ซึ่งไม่ผิดต่อหลักศาสนาอิสลามนั่นเอง
สุดท้าย คริปโทเคอร์เรนซี ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามหรือไม่
คำตอบคือ “ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน”
โดยฝั่งที่เห็นด้วยกับการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ให้เหตุผลว่าคริปโทเคอร์เรนซีนั้น สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้ ไม่ต่างจากเงินทั่วไป จึงไม่ถือเป็นเรื่องที่ผิด
ขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย มองว่าคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนมากและเสี่ยงเกินไป รวมถึงมีคนบางกลุ่มใช้ในการก่ออาชญากรรมประเภทต่าง ๆ ด้วย เช่น การฟอกเงิน
แต่ถ้าหากดูตามกฎเกณฑ์การลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม
หากเป็นการเก็งกำไรในคริปโทเคอร์เรนซี ก็ยังถือว่าไม่ควรอยู่ดี
และทั้งหมดก็คือเรื่องราวของสินทรัพย์ที่ชาวมุสลิมควรรู้
แม้ว่าเราจะเห็นข้อบังคับและข้อจำกัดมากมาย ทำให้ตัวเลือกในการลงทุนน้อยลง
แต่ถ้าหากมองในอีกแง่หนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะเป็นประโยชน์
เช่น เกณฑ์โครงสร้างทางการเงิน ที่ให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกิจการที่มีหนี้สินต่อสินทรัพย์สูงกว่า 33%
ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเจอกิจการที่ล้มละลายในแต่ละวิกฤติ
หรือการที่ต้องลงทุนในหุ้น เปรียบเสมือนเจ้าของกิจการ
ที่ต้องมีความเข้าใจในกิจการและถือในระยะยาว
ก็ช่วยให้เราลงทุนอย่างมีสติ และสร้างกรอบแนวคิดในการลงทุนได้เป็นอย่างดี
ดู ๆ แล้ว เกณฑ์การลงทุนของศาสนาอิสลาม มีหลายส่วนที่คล้ายกับแนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ที่เน้นดูปัจจัยพื้นฐานของบริษัท มีแนวคิดร่วมเป็นเจ้าของกิจการ และลงทุนในบริษัทที่มีหนี้น้อย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่ปลอดภัยให้กับนักลงทุนได้เช่นกัน
ที่มา ลงทุนแมน
Tags: