ถึงเวลาหรือยัง? ให้รอมฎอนเป็นจุดเปลี่ยน
สิ่งที่เราควรต้องพิจารณาตัวเอง เราจะรอถึงเมื่อไหร่ จะให้เป็นวันเวลาไหน ที่เราจะสามารถละทิ้งหรือเข้าหาพระเจ้าผู้ทรงเมตตา หากไม่ใช่ “รอมฎอน” ที่พระองค์ได้จัดสรรให้พิเศษ เดือนที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น มาดูรายละเอียดกันนะคะ
1. รอมฎอนเป็นเดือนโปรโมชั่นสำหรับการหาผลบุญที่มากขึ้น หรือลดปัจจัยที่จะทำให้ตัวเองเป็นคนที่พลาดในวันอาคิเราะฮ์
2. จำเป็นต้องมีกระบวนการ ต้องมีวิธีการมองให้เห็นว่า.. “เวลาเหล่านี้เป็นช่วงเวลาที่พิเศษ” เพื่อที่จะให้เราได้ใช้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์ อย่างแท้จริง
3. ถ้าคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วถามว่าควรเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ คำตอบที่ดีที่สุดคือ “เดือนรอมฎอน” เพราะสมควรและเอื้อที่สุดให้กับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
4. ปัจจัยหรือความเอื้อของเดือนรอมฎอนในการสร้างบรรยากาศแห่งการเปลี่ยนแปลง มีหะดีษ รายงานโดยอบู ฮุรอยเราะห์ : ได้กล่าวถึงความพิเศษและโปรโมชั่นในเดือนรอมฎอน มีดังนี้..
- เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน ชัยฏอนจะถูกล่าม
- ประตูสวรรค์ทั้งหมดจะ ถูกเปิดกว้างต้อนรับ
- ประตูนรกทั้งหลายจะถูกปิด ไม่มีประตูบานใดที่ถูกเปิด
- ทุก ๆ วัน จะมีคนที่ถูกไถ่ตัวหรือถูกปลดปล่อยจากไฟนรก
5. นี่คือช่วงเวลาพิเศษของทุก ๆ ชีวิต เป็นช่วงที่ปัจจัยที่ให้เรากำลังทำชั่ว อย่างชัยฏอนที่เป็นตัวนำสำคัญที่ดึงเราไปสู่สิ่งเหล่านั้นได้ถูกล่ามไว้ ไม่ได้มีบทบาท ส่วนตัณหา ความต้องการ ความอยาก นัฟซูของเรา มันถูกข่มเอาไว้ด้วยกับการที่เราอยู่ในสภาพของผู้ที่ถือศีลอด ซึ่งเป็นสภาพของคนที่ต้องระงับเรื่องของการกิน การดื่ม รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ที่ถูกบัญญัติให้ระงับ ทั้งการพูดจาที่ไม่เหมาะสม การสบถคำหยาบ หรือการแสดงออกที่ไม่ดีทั้งหลาย พฤติกรรมที่ต่ำช้า พฤติกรรมที่ไม่สมควรทั้งหลายมันถูกกด
6. ปัจจัยที่ดึงเราให้เป็นคนที่ไม่ดีจากภายนอกคือ ชัยฏอนถูกปิดกั้นไว้ และปัจจัยจากตัวเราเองซึ่งเป็นปัจจัยภายใน จากนิสัยที่ไม่ดีของเราก็ถูกสอน ถูกขัดเกลา ถูกกดเอาไว้ ทำให้มันน้อยลง “เมื่อคนข้างนอกถูกล่าม ข้างในถูกปิด จึงเป็นพื้นที่สำหรับความดีที่จะได้ออกมาเฉิดฉาย” เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเอื้อต่อการที่เราจะเป็นคนที่ดีขึ้น
7. บรรยากาศรอบตัวที่ทุกคนอยู่ในสภาพนั้นกันหมด มีคนอ่านอัลกุรอานรอบตัวเรา มีคนไปละหมาดมากมาย ในรอมฎอนทุกอย่างเอื้อให้เราทำความดีขนาดนี้ ถ้ายังไม่ใช่จุดที่เราคิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจะไปเปลี่ยนใน 11 เดือนที่ชัยฏอนมีอิสรภาพเต็มที่ และฮาวาของเราเองก็ไม่ได้ถูกกด ถูกบังคับให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องมากเท่าเดือนนี้ จะเป็นไปได้หรอ ?? … ดังนั้น ถ้าไม่ใช่เดือนรอมฎอนนี้ แล้วจะเป็นเดือนไหน??
8. สิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวยั้งหรือทำให้เป็นรอมฎอนธรรมดา ๆ ก็คือ “ความเคยชิน” เป็นสิ่งที่เราทำแบบนี้อยู่ทุกปี เป็นสิ่งที่เราไปสร้างค่านิยมให้มัน ทั้ง ๆ ที่มันควรเป็นเดือนที่เราได้ฝึกละหมาดกลางคืน ที่เป็นการเพิ่มจำนวนรอกาอัตเข้ามา มันไม่ได้ยากอย่างที่เราเข้าใจ ให้เราได้คลุกคลีกับอัลกุรอาน ซึ่งเราเคยพูดมาตลอดเลยว่าเราไม่มีเวลาให้กับการอ่านอัลกุรอานจำนวนเยอะ แต่พอเดือนรอมฎอนเราก็ทำได้
9. เป็นเดือนสำหรับ “การฝึก, การสอน(ตัวเรา), การเริ่มต้น” และเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อคนที่อยากจะเป็นคนดี
10. ความเข้าใจที่ตื้นเขินต่อการถือศีลอด ท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ไม่ได้ตอบรับการถือศีลอดของคนที่ไม่กินอาหาร ไม่ดื่มน้ำ แต่พูดจาไม่ดี แสดงออกไม่เหมาะสม หรือกระทำอะไรที่โง่เขลาเบาปัญญา อัลลอฮ์ไม่ได้ปรารถนาต่อการถือศีลอดของเขา” หมายถึง ทำก็ไม่ได้ผลบุญ หรือได้ผลบุญจำนวนน้อย หรือบกพร่อง
11. กระบวนการของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน สอนเราให้รู้จักที่จะ “ยับยั้งตัวเอง” เพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นคนดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพูด การกระทำ การแสดงออก
12. การละหมาดกลางคืน สอนให้เรา “ #ยำเกรง ” ใครก็ตามที่รักษาการยืนต่อหน้าอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ในวันนี้อย่างดีงาม อัลลอฮ์จะให้การยืนของเขาในวันกิยามะฮ์ดีด้วย ใครก็ตามที่ทำให้การยืนละหมาดของเขาในวันนี้เต็มไปด้วยความบกพร่อง ก็ระมัดระวังว่าการยืนต่อหน้าอัลลอฮ์ในวันกิยามะฮ์นั้นก็จะเป็นเรื่องที่สาหัสหนักหนา เพราะว่าทุกอย่างในวันพิพากษาจะถูกวัดที่การละหมาด
13. การฝึกละหมาดทำให้เราเรียกสติตัวเอง ทำให้เราได้มีพื้นที่ของการกลับมาหาอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ตอนที่เรากำลังหมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับดุนยาทั้งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำมาค้าขาย การเรียน การอยู่กับเพื่อน การอยู่กับครอบครัว อะไรก็แล้วแต่ พอมาละหมาดปุ๊บ! ทุกอย่างจบเลย! ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่ใหญ่แค่ไหน พอพูดว่า “อัลลอฮุอักบัร” แปลว่า “อัลลอฮ์ใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด” แล้วเราก็เอาชีวิตมาอยู่กับอัลลอฮ์ อยู่กับค่ำคืนที่ไม่มีใครเห็น ให้เราได้นั่งสะอื้นร้องไห้ ได้พูดได้ระบายในสิ่งที่เรารู้สึก นี่เป็นบรรยากาศที่รอมฎอนสอนให้เราทำได้
14. ตะรอเวียะห์ไม่ใช่แค่ไปละหมาด แต่งตัวสวย ๆ แต่เป็นการที่เราได้ไปละหมาดแล้วรู้สึกว่าเราได้ผ่อนคลาย ได้พัก ท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) เวลาท่านรู้สึกหนักหนากับชีวิต ท่านก็จะไปละหมาด เพราะการละหมาดคือการพักผ่อน
15. การละหมาดที่อยากจะไปละหมาดเพราะรู้สึกโหยหา คิดถึง มีความสุขที่ได้ละหมาด กับการละหมาดที่รู้สึกว่ามันเป็นพันธะอย่างหนึ่งที่อึดอัด ต้องทำให้เสร็จ ไม่อยากรู้สึกติดค้างเป็นภาระของชีวิต รอมฎอนนี้จะช่วยฝึกเรา
16. อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาในเดือนรอมฎอน และเดือนรอมฎอนนี้จึงประเสริฐด้วยกับอัลกุรอาน นี่คือความแตกต่างจากเดือนอื่น ๆ ซึ่งหน้าที่หลักของอัลกุรอานคือ "ให้ทางนำ" จึงพูดได้ง่าย ๆ ว่า ในเมื่อเดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน และอัลกุรอานเป็นทางนำ ดังนั้น “รอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่งทางนำ”
17. ทั้งปัจจัยภายนอก ภายใน และบรรยากาศรอบข้างเอื้อต่อการให้เราเป็นคนดี เพียงแค่ต้องการให้เรากลับมามีสติคิดว่า.. “ถึงเวลาหรือยัง?”
- ถึงเวลาหรือยังที่ฉันควรจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
- ถึงเวลาหรือยังที่ฉันควรจะละหมาดแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่อิหม่ามอ่านนั้น มันสะกิดใจ มันปลุกฉันออกมาจากความหลง แล้วกลับมาสู่แนวทางที่ถูกต้อง
18. รอมฎอนสามารถให้เราทำความดีที่เราทำไม่ได้ในเดือนอื่น ๆ เพื่อที่จะบอกเราว่า เห็นมั้ย..เราก็ทำได้ อัลฮัมดุลิลลาฮ์
19. รอมฎอนทำให้เราทิ้งบางความผิด เราไม่กล้าดูละคร ไม่กล้าฟังเพลงตอนที่เราถือศีลอด แต่ทำไมตอนที่เราละศีลอด ช่วงเวลากลางคืน เรากล้าไปฟังเพลง ไปทำสิ่งที่ไม่ดี ประหนึ่งว่าพระเจ้าของเราในตอนกลางวันกับพระเจ้าของเราในตอนกลางคืนไม่ใช่องค์เดียวกัน ทั้ง ๆ ที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) เป็นพระเจ้าของเราตอนที่เราถือศีลอดและเป็นพระเจ้าของเราที่จะคิดบัญชีเรา หลังจากที่เราละศีลอดนั้นด้วย
20. สิ่งที่เราต้องทำคือ การฝึกตัวเองให้การใช้ชีวิตของเราในเดือนรอมฎอนค่อย ๆ ซึมเข้าไป เพื่อที่จะสร้างบรรยากาศแห่งการเปลี่ยนหลังจากนี้
21. จากหะดีษที่ได้บอกว่าประตูนรกจะถูกปิด มีทั้ง 2 นัย คือ
- นัยที่ 1 : ประตูนรกถูกปิดจริง ๆ เป็นเดือนแห่งการไม่ต้อนรับคนชั่วเข้านรก
- นัยที่ 2 : เป็นการบอกว่าโอกาสหรือพื้นที่ที่เราจะละเมิดอัลลอฮ์มันน้อยมาก ๆ เพราะบรรยากาศทุกอย่างเอื้อให้เราได้เป็นคนดีอยู่แล้ว
22. จากหะดีษที่ได้บอกว่าประตูสวรรค์จะถูกเปิด หมายถึง ความเมตตา ความใจดี ความอยากให้สวรรค์ของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) นั้น เปิดต้อนรับกับทุกหัวใจ ดังนั้นถ้าเราอยากจะเป็นคนดีที่เป็นชาวสวรรค์แล้วเราไม่รีบเข้าหาอัลลอฮ์ เข้าหาประตูสวรรค์ตอนที่มันเปิดอยู่ แล้วเราจะไปตอนไหน ?
23. ให้รอมฎอนเป็นจุดเปลี่ยน เพราะว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เปิดประตูสวรรค์รอ รอให้คนที่อยากจะเป็นคนดีมุ่งหน้าไป จากหะดีษบทเดียวกันได้กล่าวว่า ในรอมฎอนจะมีเสียงมลาอิกะฮ์ได้กล่าวว่า…
- โอ้! ผู้ที่ฝักใฝ่ในความชั่วไม่ว่าจะแขนงไหน จงยุติ! จงหยุดเถิด!
- โอ้! ผู้ที่ฝักใฝ่ในความดี จงมุ่งมั่น จงทุ่มตัว จงเดินไปในหนทางของความดี มาแข่งขัน มาสะสม ให้ชีวิตของเราอยู่กับการทำอิบาดะห์
- โอ้! ใครที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เอาเลย! จริงจัง! เริ่มเลย! ใช้พื้นที่เหล่านี้ในการเริ่มต้นให้การอ่านอัลกุรอานเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ให้การใช้เวลาทุ่มไปกับศาสนาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต ให้หลังจากรอมฎอนนี้มีอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่า “นี่แหละ..คือจุดเปลี่ยนของตัวเอง!”
- โอ้! ใครที่ยังไม่คิดเปลี่ยนแปลงตัวเอง กลับเนื้อกลับตัวสักที หยุดเถิด!
- พฤติกรรมที่เราเคยทำไม่ดี หยุดเถิด!
- พฤติกรรมที่เราเคยพลาด เคยพลั้ง หยุดเถิด!
- พฤติกรรมที่เรากำลังเสพอยู่กับบางอบายมุข หยุดเถิด!
- พฤติกรรมที่เรากำลังแอบทำความผิดอะไรลับหลัง ในช่องแชทที่มีการคุยกับใครที่ไม่ถูกหลักการ หยุดเถิด!
24. ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่ดี เราเคยพลาดทำบาปใหญ่ที่รู้สึกว่าถ้ามนุษย์รู้ ไม่มีใครให้อภัยเราได้อีกแล้ว รู้สึกว่ามันเป็นปมในหัวใจ เราไม่อยากที่จะอยู่แบบนี้ รู้สึกความผิดของเรามากมายเหลือเกิน เราจะเป็นชาวนรกมั้ย ? จากหะดีษนี้..สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองทำบาปมากมาย รอมฎอนทุก ๆ วันจะมีการปลดปล่อยคนที่เป็นชาวนรกให้ได้เป็นชาวสวรรค์
25. อุลามะอ์อธิบายว่า คนที่ได้รับการปลดปล่อยจากนรก หมายถึง จะไม่ได้เข้านรกตั้งแต่ต้น จะไม่ได้ถูกบรรจุไว้เป็นชาวนรกตั้งแต่ต้น พอวันกิยามะฮ์ที่ถูกพิพากษา ไม่ว่าการงานของเขาจะสาหัส จะมีบาปใหญ่อะไรก็แล้วแต่ อัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะดึงเขาให้เป็นชาวสวรรค์ นี่คือโปรโมชั่นของเดือนรอมฎอน
26. บาปที่เราทำต่อให้มันใหญ่แค่ไหนก็ตาม ความเมตตาของอัลลอฮ์ก็ยังมากมายกว่า ดังนั้นให้เรากลับมาหาพระเจ้าผู้ทรงเมตตาในเดือนแห่งความเมตตานี้
27. เราไม่จำเป็นต้องฮิจเราะฮ์ย้ายไปหาพื้นที่ใหม่ เพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะในเดือนรอมฎอน อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้เราแล้ว เหมือนเป็นสิทธิพิเศษที่อัลลอฮ์ยื่นสังคมใหม่ให้กับเรา โดยที่เราไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน นี่คือความเมตตาของอัลลอฮ์กับการให้วันเวลาที่พิเศษ และช่วยให้เราอยากจะเป็นคนดีด้วยกับทุกวิถี ทั้งบรรยากาศรอบตัวเอื้อ ทั้งการกดอารมณ์ของตัวเอง และทั้งการขจัดผู้ต่อสู้ของเราที่มองไม่เห็น นั่นก็คือชัยฏอน
28. มีหะดีษได้กล่าวว่า.. ผู้ที่ขาดทุนที่สุด คือ “ผู้ที่รอมฎอนผ่านเข้ามาแล้วรอมฎอนก็ผ่านออกไป โดยที่เขาไม่ได้รับการอภัยโทษ” ทั้งที่บรรกาศและทุกอย่างเอื้อขนาดนี้ ทุกอย่างเป็นเวลาที่สมควร เป็นเวลาที่มีคุณค่า แต่ถ้าเรายังเป็นคนเดิมก่อนที่จะเข้ารอมฎอน แสดงว่า “ขาดทุน”
29. การถือศีลอดเป็นผลบุญที่พระองค์จะคิดคำนวณด้วยตัวพระองค์เอง ในแต่ละพื้นที่จะมีระยะเวลาในการถือศีลอดไล่เลี่ยกัน แต่ผลบุญอาจจะต่างกันราวฟ้ากับเหวก็ได้
30. กลางวันเราสามารถใช้เวลาไปกับการสร้างผลบุญมากมายในการถือศีลอด และเพิ่มการงานอื่น เช่น การอ่านอัลกุรอาน ตัฟซีร การแสวงหาความรู้ การฮัลเกาะฮ์พูดคุยกันเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และตักเตือนกันในหนทางของอัลลอฮ์ เป็นการเพิ่มความดี ส่วนกลางคืนเราก็สามารถใส่ความดีได้เต็มไปหมด จนทำให้เวลาที่เราจะปลีกตัวไปทำความชั่วมันลดน้อยลง นี่คือนัยหนึ่งที่ประตูแห่งไฟนรกถูกปิด เพราะไม่มีพื้นที่ที่จะทำความชั่ว แต่คนที่จิตใจยังไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เขาจะเสาะหาเสมอ ไม่ว่าประตูมันถูกปิดแค่ไหน เขาก็จะพยายามเสาะหางัดแงะ เพื่อหาช่องทางไปลักเล็กขโมยน้อยกับความชั่วที่อัลลอฮ์ปิดมันไปแล้ว
31. ใครก็ตามที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน “อีมานัน วะหฺติซาบัน” ด้วยกับความอีหม่าน ด้วยกับความเชื่อว่านี่คือบทบัญญัติของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เป็นคำสั่งของอัลลอฮ์ เป็นสิ่งที่เป็นวาญิบศาสนา และหวังในผลบุญ หวังในความเมตตา หวังความโปรดปรานของอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะอภัยโทษให้กับความผิดของเขาก่อนหน้านี้
32. ความศรัทธา (อีหม่าน) + ความเชื่อ + หวังในผลบุญ = อัลลอฮ์อภัยโทษในความผิด
33. คนที่ละหมาดในตอนกลางคืนด้วยกับความเชื่อว่าการละหมาดถูกบัญญัติขึ้นจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ละหมาดด้วยกับความศรัทธา และมีความหวังว่าตัวเองจะได้รับผลบุญในการละหมาด หวังว่าตัวเองจะได้เป็นชาวสวรรค์ ได้รับอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นความดีงามทั้งหลาย ใครที่มีความรู้สึกแบบนี้อยู่ในการละหมาดของเขา ก็จะได้รับการอภัยโทษในความผิดที่ผ่านมา นี่คือช่วงเวลาที่เราจะได้สะอาด เป็นคนที่ดีและเข้าใกล้อัลลอฮ์มากขึ้น
34. ดังนั้นเดือนนี้สามารถสรุปเป็นคำสั้น ๆ ได้ว่า “ใครอยากเป็นชาวสวรรค์เชิญเข้ามา”
35. สิ่งที่เราควรต้องพิจารณาตัวเองคือ เราจะรอถึงเมื่อไหร่ ? จะให้เป็นวันเวลาไหนที่เราจะสามารถละทิ้งหรือเข้าหาพระเจ้าผู้ทรงเมตตา หากไม่ใช่วันเวลาที่พระองค์ได้จัดสรรพิเศษให้
36. นี่คือการลงทุนของคนฉลาด ด้วยการเก็บรายละเอียดความสำคัญของวันเวลา ถ้าอะไรที่ถูกคิดคำนวณแล้วว่าทำในวันเวลานี้จะได้สิทธิพิเศษ เราก็จะไปทำ นี่คือ "ความสุขของผู้ศรัทธา” ที่ให้ความสำคัญกับวันที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ให้ความสำคัญ
- วันศุกร์เป็นวันที่อัลลอฮ์ในความสำคัญในรอบสัปดาห์ เราก็ให้ความสำคัญกับวันเหล่านั้น
- ช่วงเวลาไหนของวันศุกร์ เป็นเวลาที่อัลลอฮ์ให้สิทธิพิเศษ เขาก็ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาเหล่านั้น
- ตอนกลางคืนทั้งหมด มีช่วงเวลาไหนที่อัลลอฮ์ให้ความสำคัญ ช่วงเวลาหนึ่งส่วนสามสุดท้ายก่อนเวลาซุบฮิ เป็นช่วงเวลาที่อัลลอฮ์ลงมายังฟากฟ้าของดุนยา แล้วเฝ้ารอว่าจะมีบ่าวคนไหนไปวิงวอนขออะไรบ้าง แล้วพระองค์จะให้ทั้งหมดเลย เขาก็ใช้เวลาอยู่กับช่วงเวลาเหล่านั้น
37. ผู้ศรัทธามีความสุขกับรอมฎอน เขาโหยหาและคิดถึงรอมฎอน อิบาดะห์ทุกอย่างถูกทำให้ง่าย เขาจึงรู้สึกไม่อยากให้รอมฎอนจากไป อยากให้บรรยากาศของการเป็นคนดีมันเอื้อเหมือนเดือนนี้ เพราะเขารู้ว่าถ้าปัจจัยมันไม่ได้ถูกเอื้อ เขาต้องต่อสู้มากกว่านี้เพื่อที่จะได้เป็นคนที่ดี
38. ถ้าบางอย่างที่เราอยากจะเลิก แต่มันเลิกยาก ให้เราดูความยากต่าง ๆ ของอิบาดะห์ที่ถูกทำให้ง่ายในเดือนรอมฎอน ละหมาดกลางคืน การอ่านอัลกุรอาน การถือศีลอด จะเห็นว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ทำให้หลาย ๆ อย่างที่ยาก ได้ถูกทำให้ง่ายและให้มันเกิดขึ้นในเดือนนี้ ดังนั้นลองใช้พื้นที่นี้ใช้สิทธิพิเศษในการสละทิ้ง อยากจะเลิก อยากจะยุติอะไรบางอย่าง เพราะว่าอัลลอฮ์อาจจะทำให้มันง่ายดายเหมือนกับที่พระองค์ได้ทำให้ความดีต่าง ๆ นั้นเป็นที่ง่ายดาย
39. การที่เราเข้าใจบริบทและสภาพของเดือนรอมฎอน จะทำให้เรารู้ว่ามันคือ เวลาที่เอื้อที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นเวลาที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) เรียก อัลลอฮ์เชิญชวนว่าใครอยากเป็นชาวสวรรค์เชิญเข้ามา ใครอยากถอยห่างจากไฟนรกก็รีบละทิ้ง รีบยุติ รีบสลัดความชั่วที่ตัวเองประพฤติอยู่ ใครที่รู้สึกว่าตัวเองมีบาปเยอะ มีบาปมาก ก็ไม่ต้องห่วง เพราะทุก ๆ วันนั้นมีการปลดปล่อย มีการลบรายชื่อคนที่เป็นชาวนรกออก แล้วเปลี่ยนพวกเขาเป็นชาวสวรรค์
40. จากซูเราะฮ์อัล-หะดีด อายะฮ์ที่อัลลอฮ์ได้กล่าวถึงสภาพของบรรดามุนาฟิกว่าในวันกิยามะฮ์บรรดามุนาฟิกทั้งชายและหญิงจะอยู่ในความมืด พวกเขาจะเรียกบรรดาผู้ศรัทธาว่า“ขอแสงให้เราหน่อย แบ่งแสงสว่างของท่านให้เราหน่อย เรามองไม่เห็นอะไรเลย” ความมืดของวันกิยามะฮ์แม้กระทั่งยกฝ่ามือของตัวเองขึ้นมาดู ก็มองไม่เห็น เป็นความมืดมาก ๆ บรรดามุนาฟิกมีการเรียกด้วยการทวงบุญคุณหรือยกความดีความชอบว่า “เราไม่เคยอยู่ด้วยกันหรอกหรือ?”
41. ให้เราคอยตั้งคำถามกับการเป็นคนดีของตัวเองเสมอว่า “เราเข้าข่ายมุนาฟิกมั้ย?”
42. ซูเราะฮ์อัต-ตะห์รีม อายะฮ์ที่ 8 : โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเตาบะฮ์ จงกลับเนื้อกลับตัวไปสู่อัลลอฮ์ ด้วยกับการเตาบะฮ์ที่แท้จริงเถิด เผื่อว่าอัลลอฮ์จะได้ลบล้างอภัยโทษให้กับความผิดของท่าน เผื่อว่าอัลลอฮ์จะให้รัศมีกับพวกเจ้าในวันที่ไม่มีรัศมีใด ๆ (ในวันกิยามะฮ์)
43. ถ้าเราอยากจะเป็นคนดี อยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราต้องเริ่มต้นที่ตรงนี้ นั่นคือ “เตาบะฮ์” (กลับเนื้อกลับตัว) เริ่มต้นที่เราอยากจะสลัดทิ้งอะไรที่เรารู้สึกไม่โอเค เราไม่ประทับใจ เราไม่ชอบตัวเอง เราต้องสลัดมันทิ้งก่อน
44. จุดเปลี่ยนของใครหลายคนมักจะเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน เดือนที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงเมตตาให้ทางนำ พร้อมที่จะต้อนรับบรรดาผู้ที่กลับเนื้อกลับตัวมาอยู่ในแนวทางของพระองค์ เดือนที่พระองค์พร้อมจะอภัยให้กับคนที่ละเมิดมากแค่ไหนก็ตาม
45. แต่ละคนมีเรื่องที่ต้องเปลี่ยนไม่เหมือนกัน ให้เรื่องที่เราอยากจะเปลี่ยนเป็นเรื่องระหว่างเรากับอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เพราะเรารู้ว่า..
- เราบกพร่องเรื่องไหน?
- เราพลาดกับอัลลอฮ์ในประเด็นใดบ้าง?
- เรารู้ว่าตอนที่ไม่มีผู้คนมองเห็น เราละเมิดอัลลอฮ์ในเรื่องไหน?
- เรารู้ว่าเราไม่น่ารักกับอัลลอฮ์ในเรื่องอะไรบ้าง?
…เราจะรู้ตัวเองดี…
46. ให้รอมฎอนเป็นจุดเปลี่ยน !!
- เปลี่ยนจากคนที่ไม่น่ารักกับอัลลอฮ์ ให้กลับมาเป็นบ่าวที่ภักดี
- เปลี่ยนจากคนที่ไม่ค่อยสนใจศาสนา ให้กลับมาจริงจัง มาสนใจ
- เปลี่ยนจากคนที่หลงใหลในดุนยา ให้กลับมาโฟกัสกับเรื่องของอาคิเราะฮ์
- เปลี่ยนจากคนที่อ่านอัลกุรอานแบบที่ไม่เคยเข้าใจ ให้มาศึกษาอัลกุรอานแบบเข้าใจมากขึ้น
- เปลี่ยนจากคนที่ล่องเลย ให้เป็นคนที่มีสติ
- เปลี่ยนจากคนที่ใช้ชีวิตแบบไม่รู้ว่าจะไปไหน ให้เป็นคนที่ตระหนักว่าตัวเองต้องกลับไปสวรรค์ให้ได้
- เปลี่ยนจากคนที่ละหมาดกลางคืนไม่เอาไหน ให้ขยันมากขึ้น
- เปลี่ยนจากคนที่ไม่ค่อยได้สัมผัสอัลกุรอานและเต็มไปด้วยฝุ่น ให้เป็นคนที่ได้แตะ ได้อ่าน ได้เข้าใกล้ ได้สัมผัสอัลกุรอานมากขึ้น ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง
- เปลี่ยนจากคนที่กำลังคุยอยู่กับใครก็แล้วแต่ในช่องแชท ให้เป็นคนที่ยำเกรงอัลลอฮ์มากกว่าที่เขารักคนนั้น
- เปลี่ยนจากคนที่ฟังเพลง มาเป็นคนที่ฟังอัลกุรอานมากขึ้น
- เปลี่ยนจากคนที่ดูซีรีย์ ให้เป็นคนที่ติดตามซีรีย์ของบรรดาศอฮาบะฮ์ ของศาสนาอิสลาม ซีรีย์การบรรยายที่สอนความรู้วิชาการ
- เปลี่ยนจากคนที่ใช้จ่ายไปในทางที่ผิด มาใช้จ่ายไปในทางที่ถูกต้อง
46. แต่ละคนมีเรื่องต้องเปลี่ยนไม่เหมือนกัน เพราะจุดอ่อนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ข้อเสียของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความน่ารักของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และไม่ใช่ว่าเปลี่ยนปีนี้แล้วปีหน้าไม่ต้องเปลี่ยน มันจะมีอะไรที่ต้องเปลี่ยน ต้องปรับต้องแก้อยู่ทุกปี
47. นิอ์มะฮ์ที่ชาวสลัฟบางท่านบอกไว้ว่า : ถ้าบรรดาคนที่เสียชีวิตไป มีสิทธิ์ขอกับอัลลอฮ์ (ซ.บ.) สักอย่างหนึ่ง “พวกเขาจะขอให้ได้กลับมามีชีวิตหนึ่งวันในเดือนรอมฎอน เพื่อที่จะได้ทำความดี”
48. แล้วตัวเราใช้เวลาในรอมฎอนไปกี่วันแล้ว เต็มที่หรือยัง ?
แล้วรอมฎอนที่เหลือหลังจากนี้ จะเต็มที่หรือยัง ?
ชีวิตของเราที่ใช้ไปตลอดที่ผ่านมาดีหรือยัง ?
แล้วที่เราจะใช้ชีวิตหลังจากนี้ จะให้เป็นคนดีหรือยัง ?
ให้มันเริ่มต้นที่รอมฎอน เริ่มที่บรรยากาศเอื้อ เริ่มที่ความชั่วถูกกด ความดีถูกแพร่หลายขยายออกมากมาย ประตูสวรรค์ถูกเปิดรอ ประตูนรกถูกปิด ความเมตตาของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) มีอย่างท่วมท้น อยู่ที่เราเท่านั้นว่า.. “จะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือยัง?”
49. เดือนรอมฎอนนี้ทำดีแล้วได้ผลบุญมากมายก็จริง แต่อย่าลืมว่าถ้าทำความชั่วก็ถูกคูณเช่นเดียวกัน
50. สิ่งหนึ่งที่แอบหวังและปรารถนา ณ ที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ขอให้เราเป็นผู้ที่ได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงในหนทางที่ดีขึ้นของผู้อื่น เหมือนหะดีษของท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ว่า “คนที่เชิญชวนผู้อื่นไปสู่การทำความดี เขาจะได้ผลบุญประหนึ่งความดีนั้นด้วย”
Credit: คุณครูขนมปัง
Tags: