มรรยาทที่ดี ในการอ่านคำภีร์อัลกุรอาน ความงดงามตามซุนนะห์
อัลกุรอานเป็นสิทธิ เป็นหน้าที่ที่อัลลอฮฺทรงมอบแก่เรา เราจึงมีหน้าที่ต้องอ่าน ในหนึ่งวันจะอ่านมากหรือน้อยไม่สำคัญ แต่ขอให้เราอ่านเพื่อเป็นทางนำ เพื่อเป็นความรู้แก่เรา แล้วในขณะที่เราอ่านนั่นแหละ อัลลอฮฺจะประทานความสงบ ประทานความดี ประทานความรัก ความเมตตา ความพึงพอใจให้แก่เรา
- เราทำสิ่งต่างๆเพื่อหวังความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ
- เราละหมาดเพื่อให้อัลลอฮฺพึงพอใจเรา
- เราเดินทางไปทำฮัจญ์เพื่อให้อัลลอฮฺพึงพอใจเรา
- เราถือศีลอดเพื่อให้อัลลอฮฺพึงพอใจเรา
- เราทำศ่อดาเกาะฮฺเพื่อให้อัลลอฮฺปลื้มปิติกับเรามิใช่หรือ
สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงถึงการที่เรามีความรักต่อพระองค์ เราจึงควรเอาคัมภีร์ของพระองค์มาอ่าน มาศึกษา
แท้จริง อัลกุรอานที่อยู่ต่อหน้าพวกท่าน ซึ่งพวกท่านได้อ่าน ได้ฟัง ได้ท่อง ได้จดบันทึกกันนั้น เป็นพระดำรัสของพระผู้อภิบาลพวกท่าน ผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลจักรวาล เป็นพระเจ้าของผู้คนทั้งปวง มันคือสายเชือกที่มั่นคงของพระองค์ เป็นเส้นทางอันเที่ยงตรง เป็นถ้อยคำที่ประเสริฐยิ่ง และเป็นแสงสว่างที่เจิดจ้าแจ่มแจ้ง อัลลอฮฺได้ทรงมีดำรัสด้วยอัลกุรอานอย่างสัจจริง ในรูปแบบที่เหมาะกับความยิ่งใหญ่และความเกรียงไกรแห่งพระองค์ ทรงโปรดให้ญิบรีลผู้ซื่อสัตย์ หนึ่งในหมู่มะลาอิกะฮฺผู้มีเกียรติและใกล้ชิดพระองค์ รับมันเพื่อนำลงมายังหัวใจของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อให้ท่านได้เผยแผ่ป่าวประกาศด้วยภาษาอาหรับที่ชัดเจน อัลลอฮฺทรงให้คุณลักษณะอัลกุรอานไว้มากมาย ซึ่งล้วนเป็นคุณลักษณะที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น เพื่อให้เราได้เชิดชูและให้เกียรติ อาทิ
﴿ شَهۡرُ رَمَضَانَ ٱلَّذِيٓ أُنزِلَ فِيهِ ٱلۡقُرۡءَانُ هُدٗى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَٰتٖ مِّنَ ٱلۡهُدَىٰ وَٱلۡفُرۡقَانِۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ ٱلشَّهۡرَ فَلۡيَصُمۡهُۖ وَمَن كَانَ مَرِيضًا أَوۡ عَلَىٰ سَفَرٖ فَعِدَّةٞ مِّنۡ أَيَّامٍ أُخَرَۗ يُرِيدُ ٱللَّهُ بِكُمُ ٱلۡيُسۡرَ وَلَا يُرِيدُ بِكُمُ ٱلۡعُسۡرَ وَلِتُكۡمِلُواْ ٱلۡعِدَّةَ وَلِتُكَبِّرُواْ ٱللَّهَ عَلَىٰ مَا هَدَىٰكُمۡ وَلَعَلَّكُمۡ تَشۡكُرُونَ ١٨٥﴾ (البقرة : 185)
ความว่า “เดือนเราะมะฎอนนั้นเป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้นและผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทนอัลลอฮฺทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้าและเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วนซึ่งจำนวนวัน (ของเดือนเราะมะฎอน)และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 185)
มารยาทในการอ่านอัลกุรอาน
1. ซุนนะห์ให้อ่านอัลกุรอานให้มากๆ
2. เมื่อจดจำอัลกุรอานแล้วอย่างปล่อยให้ลืมเพราะจะเป็นบาป
3. ซุนนะห์ให้มีน้ำละหมาดขณะอ่านอัลกุรอาน
4. ซุนนะห์ให้อ่านในสถานที่ที่สะอาด ที่ดีสุดคือที่มัสยิด
5. ควรผินหน้าไปทางกิบลัต และนั่งให้สภาพเรียบร้อย สงบเสงี่ยม และมีสมาธิ
6. ซุนนะห์ให้แปรงฟันก่อนอ่านอัลกุรอาน
7. ซุนนะห์ให้กล่าว “อะอูซุบิลลาฮิมินัชชัยฏอนนิรรอญีม” ก่อนอ่านอัลกุรอาน
8. ซุนนะห์ให้อ่านแบบตัรตีล คืออ่านแบบถูกต้อง ช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ ไม่รีบร้อน
9. ซุนนะห์ให้มีการใคร่ครวญ ทำความเข้าใจความหมายซึ่งการอ่านแบบนี้คือ จุดมุงหมายที่แท้จริงของการอ่านอัลกุรอาน
10. สามารถอ่านซ้ำๆ ในอายะฮฺใดอายะหนึ่งได้
11. ซุนนะห์ให้อ่านอัลกุรอานด้วยสำเนียงที่ไพเราะ
12. ซุนนะห์ให้อ่านแบบผู้ชาย คืออ่านด้วยเสียงที่มีพลัง ชัดถ้อยชัดคำ
13. สามารถอ่านได้ทั้งค่อยและดังทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เหมาะสม
14. การอ่านโดยการดูหนังสือดีกว่าการอ่านโดยไม่ได้ดูหนังสือ เพราะการมองอัลกุรอานเป็นอิบาดะฮฺอย่างหนึ่ง
15. ขณะอ่านไม่ควรหยุดพูดกับใคร ควรอ่านให้จบวรรคตอนเสียก่อน
16. ควรอ่านอัลกุรอานเรียงตามที่มีมา กล่าวคืออ่านจากซูเราะฮฺต้นๆ ไปยังซูเราะฮฺต่อๆมา
17. ซุนนะห์ให้สดับฟังอัลกุรอาน อย่าได้พูดคุยจนมีเสียงดังรบกวนการอ่าน
18. ซุนนะห์ให้สุหยูดติลาวะฮฺ ณ ตำแหน่งที่ถูกระบุไว้
19. อิมามนะวะวีย์กล่าวว่า เวลาที่ดีที่สุดในการอ่านอัลกุรอาน คือ อ่านในละหมาด ต่อมาก็เป็นเวลากลางคืน ต่อมาเป็นช่วงท้ายคืน ช่วงเวลาระหว่างมัฆริบถึงอิชาฮฺ ช่วงที่ดีในตอนกลางวันคือหลังนมาซศุบฮิ วันที่ดีคือวันอะรอฟะฮฺ วันศุกร์ วันจันทร์ วันพฤหัสบดี สิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และช่วงต้นของเดือนซุลฮิจญะฮฺ เดือนที่ดีที่สุดคือเดือนรอมฎอน หากจะเริ่มให้เริ่มคืนวันศุกร์ และตัมมัด (จบเล่ม) ในคืนพฤหัส
20. ซุนนะห์ให้ถือศีลอดในวันที่มีการตัมมัตอัลกุรอาน และเชื้อเชิญเพื่อนฝูงและญาติมาร่วมรับประทานอาหารละศีลอดด้วย
21. ซุนนะห์ให้มีการขอดุอาอฺหลังจากการตัมมัตอัลกุรอาน
(สรุปจาก “อัลอิตกอน ฟีอุลูมิลกุรฺอาน” ของอิมามซุยูฏีย์)
Tags: