เงินบริจาคต้องห้าม ตามศาสนบัญญัติแห่งอิสลาม
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมหมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน
ปัจจุบัน มีงบประมาณมากมายจากภาครัฐนำมาช่วยเหลือ สนับสนุนประชาชนในจังหวัดชาย แดนภาคใต้เพื่อการทำกิจกรรมต่างๆ สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียน ทำกิจกรรมศาสนาและอื่นๆ ซึ่งแม้จะเป็นความปรารถนาดี แต่ก็ถูกสังคมมุสลิมตั้งคำถามถึงที่มาของเงินดังกล่าว
ศาสนบัญญัติในอิสลาม กำหนดแยกแยะไว้อย่างชัดเจน ถึง ‘หะรอม’ หรือสิ่งที่พระเจ้าทรงห้าม และ “หะล้าล” หรือสิ่งที่พระเจ้าอนุญาต ซึ่งรวมถึงเงินบริจาคเพื่อกิจการต่างๆ ในสังคมมุสลิมเข้าไว้ด้วย
การทำความเข้าใจถึงหลักการ หะรอมและหะล้าล มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อมิให้ความปรารถนาดี กลายเป็นการสร้างปัญหาตามมาภายหลัง
หนึ่งในงบประมาณหลักที่มาสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวและประกาศอย่างชัดเจนจากภาครัฐคือภาษีและผลกำไรจากเงินบาป เช่นโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน(การศึกษา) ทุนเรียงความสำหรับนักเรียนยากจน ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กิจกรรมของการสร้างเสริมสุขภาพของชุมชนซึ่งนำมาจากภาษีสุราและยาสูบ มาสนับสนุน โดยจัดตั้งเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) การนำเงินดังกล่าวทำให้ไทยมุสลิมภาคใต้ซึ่งยึดมั่นในศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าตัวเขา องค์กรของเขาจะไม่รับเงินดังกล่าวมาสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมทั้งๆที่กิจกรรมดังกล่าวมีประโยชน์ต่อชุมชน ขณะเดียวกันจะไม่ให้บุตรหลานของเขารับทุนเงินบาปดังกล่าวถึงแม้ตัวเขาจะยากจนสักเพียงใด
ในขณะที่บางคนที่ได้รับทุนดังกล่าว ก็จะรับไว้อย่างไม่สนิทใจมากนัก
บางชุมชนมีการประณามผู้ที่รับเงินดังกล่าว หรือไม่พอใจผู้นำชุมชนที่ไปรับเงินมาสนับกิจกรรมทางศาสนาถึงแม้จะมีความตั้งใจดี แต่ก็นำไปสู่ความแตกแยกในชุมชน
สำหรับมุสลิมผู้ที่ไม่ยอมรับในการนำเงินบาปมาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆนั้น เขาได้ยึดหลักตามนักวิชาการมุสลิมที่ได้กล่าวไว้ซึ่งพอสรุปใจความดังนี้ (โปรดดูเชคริฎอ อะหฺหมัด สมดี เรื่องเงินบาปจะนำไปใช้ในชีวิตของเราได้ไหม )
1. ประเทศไทยมิได้ปกครองด้วยหลักนิติศาสตร์อิสลาม มุสลิมในประเทศเป็นประชากรส่วนน้อย ซึ่งสิทธิหน้าที่ถูกระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มุสลิมจึงต้องประสบปัญหาเมื่อกฎหมายไทยไม่ตรงกับกฎหมายอิสลาม แต่ตามหลักศาสนาอิสลาม หากเป็นข้อบังคับที่จำเป็นต้องปฏิบัติ (ถ้าไม่ปฏิบัติอาจประสบความเสียหายทางศาสนา ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สมบัติ) ก็อนุโลมให้กระทำโดยไม่มีโทษ
2. รัฐบาลมีนโยบายบางประการที่ไม่ตรงกับหลักการศาสนาอิสลาม เช่น การส่งเสริมการค้าบางประเภทที่ไม่อนุมัติตามหลักศาสนาอิสลาม อาทิ การค้าสุรา หรือการท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมไม่สมควรในทัศนะอิสลาม แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาลจะไม่บังคับประชาชนให้เลือก ในสิ่งที่ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นความชั่วร้าย ดังนั้น มุสลิมทุกคนในประเทศไทยมีทางเลือกในกรณีดังกล่าว
3. รัฐบาลตระหนักในผลอันตรายของอบายมุขที่มีอยู่ในสังคม อาทิ ยาสูบ สุรา ยาเสพติด การค้าประเวณี จึงมีวิถีทางหลายรูปแบบที่จะขจัดสิ่งดังกล่าว แต่บางรูปแบบอาจไม่สอดคล้องกับความถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
4. รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษี ตราเป็นพระราชบัญญัติตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ให้ตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในพระราชบัญญัติได้ระบุว่า แหล่งเงินทุนหลักของ สสส. มาจากเงินบำรุงที่รัฐจัดเก็บจากผู้ผลิตและนำเข้าสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่ต้องชำระ และ ทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ทุนเรียงความสำหรับนักเรียนยากจนได้รับสนับสนุนจากผลกำไรจาการขายหวยบนดินของรัฐ
5. กองทุนของ สสส. ผลกำไรจาการขายหวยบนดินของรัฐ เป็นส่วนภาษีและกำไรที่ถูกแยกอย่างชัดเจนโดยมีพระราชบัญญัติและระเบียบข้อบังคับที่จะควบคุมการบริหารเงินก้อนนี้ มีความชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีใครสามารถกล่าวหาหรือบิดเบือนหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะดังกล่าวได้
คำถามที่จะเกิดตามมาคือ กองทุนของ สสส.และผลกำไรจาการขายหวยบนดินของรัฐ มุสลิมสามารถนำเอามาใช้ในกิจกรรมส่วนตัว ส่วนรวม หรือกิจกรรมศาสนา ได้หรือไม่
คำตอบแบ่งเป็น 4 ประการสืบเนื่องกัน
ประการที่ 1 รายได้หรือเงินหรือทรัพย์สมบัติที่หะรอม(พระเจ้าทรงห้าม)ไม่อนุญาตให้มุสลิมใช้เป็นอันขาด
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าศาสนาอิสลามห้ามบริโภคและใช้ทรัพย์สินที่มาจากแหล่งต้องห้าม แม้จะเป็นรายได้ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม หรืออื่นๆ
ในการบันทึกของอัลบุคอรียฺและมุสลิม รายงานโดย อันนุอฺมาน อิบนุบะชีร จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงสิ่งหะล้าลมีความชัดเจนแล้ว และสิ่งหะรอมก็มีความชัดเจน(เช่นเดียวกัน) และระหว่างหะล้าลกับหะรอมจะมีสิ่งคลุมเครือ มนุษย์ส่วนมากจะไม่รู้ ใครที่สำรวมตนจากข้อคลุมเครือนั้นก็จะทำให้ศาสนาและชื่อเสียงของเขามีความบริสุทธิ์ และใครที่ตกอยู่(กระทำ)ข้อคลุมเครือ ก็จะตกอยู่(กระทำ)สิ่งหะรอม” หะดีษบทนี้มิได้ห้ามแต่เพียงสิ่งหะรอมชัดเจน แต่ยังห้ามสิ่งที่คลุมเครือด้วย
ท่านอิมามอบูฏอลิบ อัลมักกียฺ ได้กล่าวในหนังสือกูตุลกุลูบว่า การค้าและอาชีพทุกชนิดที่บ่าวของอัลลอฮฺจะฝืนพระบัญญัติแห่งคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮฺ ก็มิใช่การค้าหรืออาชีพที่หะล้าล ถึงแม้ว่าชื่อ(หะล้าล)จะปรากฏ เพราะเนื้อหาของชื่อที่ถูกต้องไม่ปรากฏ
ประการที่ 2 การเก็บภาษีเป็นสิ่งที่อนุมัติในหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่
ภาษีที่ถูกเก็บจากสุรา และหวย นอกจากจะเป็นภาษีที่ถูกเก็บโดยอยุติธรรมแล้ว ยังเป็นภาษีที่ถูกเก็บจากรายได้สินค้าที่ต้องห้ามตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งจำเป็นต้องปราบปรามการค้าสุราและหวย มิใช่ส่งเสริมหรืออนุโลม และการใช้ภาษีดังกล่าวถือว่าเป็นการยอมรับในระบบการเก็บภาษีจากสินค้าดังกล่าว ซึ่งไม่มีข้อบังคับที่จะให้มุสลิมต้องใช้กองทุนนี้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า กองทุน ดังกล่าว เป็นส่วนภาษีหะรอมตามหลักการศาสนาอิสลาม ดังนั้นมุสลิมภาคใต้หลายคนจึงปฏิเสธและออกห่าง เพื่อปกป้องสังคมให้ปราศจากมลทินและข้อห้ามต่างๆ
ประการที่ 3 รายได้จากสุรา หวย หรืออบายมุขต่างๆ เป็นรายได้หะล้าล(อนุมัติตามศาสนบัญญัติ)หรือหะรอม(ไม่อนุมัติตามศาสนบัญญัติ)
สุรากับหวยตามหลักศาสนาอิสลามและกฎหมายบ้านเมือง เป็นอบายมุขที่ขัดกับศีลธรรมทุกศาสนา นำความหายนะมาสู่ประชาชน จึงไม่มีข้อแคลงใจว่าเป็นสินค้าที่ต้องถูกต่อต้านโดยทั่วไป และในคัมภีร์อัลกุรอานก็มีคำสั่งใช้ให้ต่อต้านสิ่งเหล่านี้
เพราะฉะนั้น การเกี่ยวข้อง บริโภค หรือใช้กองทุน สสส. ถือว่าขัดคำสั่งของอัลกุรอาน ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นที่จะบังคับสังคมมุสลิมให้ใช้กองทุนดังกล่าว และยังเป็นกองทุนที่จะทำลายจุดยืนอันเข้มแข็งของสังคมมุสลิมเกี่ยวกับอบายมุขที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์สังคมมุสลิม บรรพบุรุษและนักปราชญ์อิสลามได้สร้างชื่อเสียงและจุดยืนต่ออบายมุขต่างๆ หากมุสลิมท่านใด(ตามทัศนะนี้)ได้ใช้กองทุน สสส. ปัจจุบันนี้ ก็เปรียบเสมือนกำลังทำลายชื่อเสียง ศักดิ์ศรี และความบริสุทธิ์ของมุสลิม
ประการที่ 4 มีทางออกหรือทัศนะใดที่อนุมัติให้ใช้กองทุน สสส.หรือกองทุนหวย หรือไม่
สำหรับทัศนะของผู้ที่มองว่าสามารนำเงินดังมาใช้ได้นั้น
1.นักวิชาการมุสลิมบางท่านได้อ้างถึงคำกล่าวในสำนักคิด(มัซฮับ)ต่างๆ ที่พูดถึงทรัพย์สินหะรอมที่อยู่ในบัยตุลมาล (คือกระทรวงการคลังของสังคม) ซึ่งมีทัศนะที่อนุโลมให้ใช้ทรัพย์สินประเภทนี้ จึงทำให้มุสลิมหลายคน หรือบางท่านคิดว่าลักษณะกองทุน สสส.หรือกำไรหวย สอดคล้องกับลักษณะทรัพย์สินที่ระบุข้างต้น
2.ทัศนะที่ระบุข้างต้นได้พูดถึงเงินหะรอมที่ถูกนำมาอยู่ในกระทรวงการคลัง โดยไม่ใช่รายได้ของประเทศชาติ เฉกเช่นเงินขโมยหรือทรัพย์สินผู้ทุจริตที่ถูกยึดมา หรือทรัพย์สินที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งจำเป็นต้องมีทางออก เพราะไม่ได้ถูกเรียกมาโดยระบบของกระทรวงการคลัง
สำหรับผู้ที่มองว่ารับเงินบาปมาทำกิจกรรมไม่ได้ เพราะเป็นรายได้ประจำของกระทรวงการคลังและมีกฎหมายควบคุมอยู่ จึงแตกต่างจากเงินดังกล่าว และกองทุน สสส. นั้นมิใช่แต่เพียงทรัพย์สินหะรอมที่ปะปนกับรายได้อันบริสุทธิ์อื่นๆ แต่เป็นกองทุนที่ถูกแยกจากภาษีอื่นๆ ด้วยพระราชบัญญัติเฉพาะ จึงทำให้ลักษณะกองทุน สสส. และหวยมีความชัดเจนในตัวของมันเอง ว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้าม
กองทุน สสส.และเงินหวย ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองแต่ผิดกฎหมายอิสลาม
อย่างไรก็ตาม การไม่เห็นด้วยกับการนำกองทุน สสส.หรือกำไรหวย มาใช้ในสังคมมุสลิมนั้น มิใช่หมายรวมว่ากองทุนนี้ต้องถูกทำลายหรือห้ามนำมาใช้เป็นอันขาด แต่กองทุนนี้รัฐบาลควรนำไปใช้ในสาธารณประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา เช่น ช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจากการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และเสพยา หรือนำไปช่วยเหลือคนป่วยที่มีโรคร้ายแรงและไม่มีกองทุนสนับสนุน อาทิเช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ฟอกไต ซึ่งกรณีดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะอนุโลมให้ใช้กองทุนนี้ได้ เปรียบได้กับที่ศาสนาอนุโลมให้รับประทานอาหารหะรอมในกรณีฎอรูเราะฮฺ (ฉุกเฉิน)หรือรัฐควรจัดหางบประมาณอื่นทดแทน
สุดท้าย ขอฝากไว้เป็นซึ่งอุทาหรณ์ที่มีความประจักษ์สำหรับเรื่องนี้และเป็นบทเรียนที่ลึกซึ้งในซูเราะตุลอะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 58 อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
“และเมืองที่ดีนั้นพืชของมันจะงอกออกมาด้วยอนุมัติแห่งพระเจ้าของมัน และเมืองที่ไม่ดีนั้นพืชของมันจะไม่ออกนอกจากในสภาพแกร็น ในทำนองนั้นแหละ เราจะแจกแจงบรรดาโองการทั้งหลายแก่กลุ่มชนที่ขอบคุณ”
เรียบเรียงโดย อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
Tags: