สุดยอด! ศูนย์ฮาลาล จุฬาฯ คว้ารางวัล “เลิศรัฐ”
สุดยอด! ศูนย์ฮาลาล จุฬาฯ คว้ารางวัล “เลิศรัฐ”
จากการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลส่งชิ้นงาน เข้าประกวด จนในที่สุด ผลงานเรื่อง “H-Number นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาล แม่นยำเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ได้รับการตัดสินจาก กพร.(คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) ให้รับรางวัล “เลิศรัฐ” ระดับดีเด่นด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐ ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลระดับสูงสุด โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เข้ารับรางวัลจากผู้แทนนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 นี้ ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ 1 อิมแพค เมืองทองธานี
ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวในพิธีเปิดว่า “รางวัลเลิศรัฐ ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ เป็นรางวัลที่หน่วยงานของรัฐที่มีความเป็นเลิศในรัฐหรือในประเทศ โดยมีคณะกรรมการประเมินรอบด้าน ทั้งการบริหารจัดการและเรื่องธรรมาภิบาล หน่วยงานที่ได้รับรางวัลนี้จะต้องมีความภาคภูมิใจ เพราะเป็นการยกย่องเชิดชูหน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ มีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐ”
รางวัลเลิศรัฐ แบ่งออกเป็น 3 สาขา คือ สาขาบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยมุ่งหวังที่จะให้รางวัลนี้เป็นการกระตุ้น ส่งเสริม และสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ ได้พัฒนาปรับปรุงตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้มีการบริการที่มีประสิทธิภาพตามแนวคิดธรรมาภิบาล และการบริหารราชการที่ดี
“ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยได้รับ “รางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่นด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐ” มาแล้วกับผลงาน “HAL-Q นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลครบวงจร” ใน พ.ศ.2556 ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งกับรางวัลระดับเกียรติยศนี้กับผลงาน H Numbers” ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าว
H-Numbers หรือ Halal Number เลขทะเบียนวัตถุดิบที่ได้รับการยืนยันสภาพฮาลาลจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี พ.ศ. 2563 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้สะสมวัตถุดิบที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกฮท.) สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) 39 แห่ง เป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขอการรับรองฮาลาลกว่า 5 พันแห่ง รวมกับโรงงานที่เข้ารับการวางระบบ HAL-Q ของ ศวฮ. 770 แห่ง ผ่านกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลก่อนรับการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลได้ผลวิเคราะห์รวม 134,400 การวิเคราะห์ จัดทำเป็นตาราง (Tabulation) เป็นสามกลุ่มเพื่อส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีทำการตัดสินสภาพฮาลาล
งาน H Numbers นี้เริ่มต้นใน พ.ศ.2557 โดยนำผลการวิเคราะห์วัตถุดิบที่รวบรวมไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2547 มาใช้ มีชื่อโครงการว่า IQRAH: Identification of Query Raw Materials for Assuring Halalness หรือการวิเคราะห์วัตถุดิบต้องสงสัยเพื่อสร้างความมั่นใจสภาพฮาลาล ใช้ชื่อว่า “อิกเราะฮฺ” เพื่อความเป็นศิริมงคลของงาน
จากนั้นกำหนดอัลกอริธึมที่นำไปสู่การแยกแยะสภาพฮาลาลและหะรอมเพื่อพัฒนางานต่อเนื่องที่นำไปสู่งานนวัตกรรมด้านวัตถุดิบ
“ประโยชน์ที่ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนจะได้จาก H-Numbers มีมหาศาล ที่สำคัญคือ H-Numbers จะทำให้การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลซึ่งมีราคาแพงในอนาคตหมดความจำเป็นลง ศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะสูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนา New S-Curve เชิงอุตสาหกรรม ความสำเร็จในงานนี้มาจากหลายฝ่ายไม่ใช่ ศวฮ.เท่านั้น รางวัลจึงเป็นของทุกคน” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวทิ้งท้าย
Tags: