22 คำถามเกี่ยวกับการถือศีลอด อะไรทำไม่ได้ อะไรทำได้
1. อยากทราบหุก่มการกลืนน้ำลายในขณะถือศีลอด
ตอบ : เป็นสิ่งที่กระทำได้ ฉันไม่พบว่ามีอุละมาอฺท่านใดเห็นต่างไปจากนี้ เนื่องจากเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงการกลืนน้ำลาย
ส่วนเสมหะและเสลดนั้น หากออกมาถึงช่องปากแล้วจำเป็นต้องคายออกมา และไม่อนุญาตให้กลืนเข้าไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ต่างจากน้ำลาย
วะบิลลาฮิตเตาฟีก
(ฟัตวาเชค บินบาซ ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน เล่ม 3 หน้า 251)
2. ผู้ถือศีลอดจะบ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกจะได้หรือไม่?
ตอบ : สำหรับผู้ถือศีอลอดที่จะบ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกแล้วสั่งออกนั้น ถือว่าไม่ทำให้เสียศีลอด
แต่ต้องทำแบบค่อยๆ อย่าให้รุนแรงมากนักเพราะจะทำให้น้ำเข้าด้านในของจมูกและลำคอได้
3. คนที่ไม่กินสะหูรนั้น การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ไหม?
ตอบ : การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ เพราะการทานสะหูรนั้นไม่ใช่เงื่อนไขในการทำให้การถือศีลอดนั้นใช้ได้ แต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ (มุสตะหับ)
เนื่องจากท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
تَسَحَّرُوا فإنّ في السحُور بَركة
ความว่า “พวกท่านจงทานสะหูรเถิด แท้จริงแล้วการรับประทานสะหูรนั้นนำมาซึ่งบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ)” บันทึกโดย บุคอรี และมุสลิม
(ฟัตวาเชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ จากหนังสือรวมฟัตวาของท่าน)
4. สตรีมีครรภ์ (คนท้อง) ต้องถือศีลอดหรือไม่?
ตอบ : ท่านเชค อิบนู อุซัยมีน รอฮิมาฮุลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ว่า สำหรับผู้หญิงนั้นมีอยู่สองสภาพด้วยกัน...
สภาพที่หนึ่ง นางเป็นผู้ที่มีร่างกายที่แข็งแรงมีความกระฉับกระเฉงและการถือศีลอดของนางไม่มีความลำบากแต่ประการใดแก่ตัวของนางและลูกในท้องของนาง สำหรับผู้หญิงประเภทนี้จำเป็นต้องถือศีลอดเนื่องจากนางไม่มีอุปสรรคใดๆ ที่ทำให้นางต้องละทิ้งการถือศีลอด
สภาพที่สอง
ผู้หญิงที่ไม่สามารถที่จะถือศีลอดได้ เนื่องจากความเหนื่อยยากจาการอุ้มท้องหรือว่าร่างกายของนางนั้นอ่อนแอหรืออุปสรรคนอกเหนือจากนี้ สำหรับสภาพนี้ให้ละทิ้งการถือศีลอด โดยเฉพาะหากการถือศีลอดมีอันตรายต่อลูกในท้อง หากเป็นเช่นนั้นจำเป็นจะต้องละทิ้งการถือศีลอด และนางจะต้องทำการถือศีลอดชดใช้เมื่อเหตุจำเป็นดังกล่าวได้หมดไป
และเมื่อนางได้ให้กำเนิดบุตรแล้ว นางจะต้องทำการถือศีลอดชดใช้และนางต้องสะอาดจากเลือดนิฟาส
แต่ในบางกรณีผู้ที่ให้กำเนิดบุตรแล้วยังไม่สามารถจะทำการถือศีลอดชดใช้ได้ อาจเนื่องมาจากการที่นางจะต้องให้นมบุตร ซึ่งมารดาจำเป็นจะต้องกินอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลที่กลางวันยาวนานหรือฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัด ซึ่งส่งผลให้นางไม่สามารถถือศีลอดได้ เพราะนางจำเป็นจะต้องกินอาหารเพื่อเป็นแหล่งอาหารแก่น้ำนมในการให้นมบุตรของนาง
กรณีนี้เช่นนี้นางยังไม่ต้องทำการถือศีลอด จนกว่าเหตุผลที่จะต้องให้นมบุตรหมดไป ก็ให้นางทำการถือศีลอดชดใช้เท่ากับจำนวนวันที่นางขาดไป
(จากFataawa al-Siyaam หน้า 162)
5. หากมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟันแล้วเรากลืนเข้าไป ถือว่าทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?
ตอบ : ในกรณีนี้จำเป็นต้องคายเศษอาหารเหล่านั้นออกมา และถ้าหากเขาเจตนากลืนมันเข้าไป เช่นนี้ทำให้การถือศีลอดของเขาเสีย แต่ถ้ากลืนกินเข้าไปด้วยความไม่รู้หรือลืมตัวก็ไม่เป็นไร
อนึ่ง จำเป็นที่มุสลิมต้องรักษาความสะอาดในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงการถือศีลอดหรือไม่ก็ตาม
(ฟัตวาเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน
6. มีบางคนพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ไม้สิวากขณะถือศีลอด เพราะเกรงว่าจะทำให้เสียการถือศีลอด ไม่ทราบว่าเรื่องนี้ถูกต้องหรือไม่? และเวลาใดที่เหมาะสำหรับการใช้สิวากในเดือนรอมฎอน?
ตอบ : การหลีกเลี่ยงการใช้ไม้สิวากในขณะถือศีลอดนั้น เป็นการกระทำที่ไม่มีหลักฐาน เนื่องจากการใช้ไม้สิวากนั้นถือเป็นซุนนะฮฺดังที่ปรากฎในหะดีษเศาะเฮียะฮฺ
السواك مطهرة للفم ومرضاة للرب
ความว่า
“การใช้ไม้สิวากนั้น เป็นการทำให้เกิดความสะอาดในช่องปาก และทำให้เกิดความพอพระทัย ณ พระผู้เป็นเจ้า”
ซึ่งส่งเสริมให้กระทำทุกเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำการอาบน้ำละหมาด, เมื่อจะทำการละหมาด, ตื่นจากนอน หรือเข้าบ้าน เป็นต้น ไม่ว่าจะขณะถือศีลอดหรือไม่ก็ตาม และไม่เป็นการทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด
นอกเสียจากว่าไม้สิวากนั้นจะมีรสชาติและทิ้งร่องรอยในน้ำลาย หรือใช้แล้วเกิดมีเลือดไหลออกจากเหงือกหรือไรฟัน เช่นนี้แล้วก็ไม่อนุญาตให้กลืนกินสิ่งเหล่านั้น
(ฟัตวาเชค อิบนฺ อุษัยมีน ในฟิกฮุลอิบาดาต)
7. หุก่มของการ "เผลอกินหรือดื่ม" ขณะถือศีลอดด้วยความลืมตัวคืออะไร? แล้วจะเสียศีลอดไหม?
ตอบ : ผู้ที่กินหรือดื่มขณะถือศีลอดโดยที่เขาไม่ได้เจตนานั้น การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ แต่ทันทีที่เขานึกขึ้นได้จำเป็นต้องคายออกมาทันที แม้ว่าจะเป็นเพียงอาหารแค่คำเดียว
ซึ่งหลักฐานที่ระบุว่ากาอรถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้นั้น ได้แก่หะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า...
من نسي وهو صائم فأكل أو شرب فليتم صومه فإنما أطعمه الله وسقاه
ความว่า : “ผู้ใดเผลอกินหรือดื่มในขณะถือศีลอด ก็ให้เขาถือศีลอดต่อไป แท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้ทรงประทานอาหารและเครื่องดื่มแก่เขา”
บันทึกโดย บุคอรี และมุสลิม
(ฟัตวาเชค อิบนฺ อุษัยมีน ในฟิกฮุลอิบาดาต)
8. ถือศีลอด "ดมยาดม" ได้หรือไม่?
ตอบ : การดมยาดมไม่ทำให้เสียการถือศีลอด แต่เป็นเรื่องที่สมควรหลีกเลี่ยง ยกเว้นในกรณีมีความจำเป็น เช่น วิงเวียนศีรศะ หน้ามืดจะเป็นลม เป็นต้น
9. ถือศีลอด "ใช้ยาหยอดตา" ได้หรือไม่?
ตอบ : การใช้ยาหยอดตาไม่ทำให้เสียศีลอดแม้รสชาติของมันจะไปถึงลำคอก็ตาม
(ฟัตวาเชคอุซัยมีน และอิบนุตัยมียะฮฺ)
10. การใช้ "ยาพ่น" สำหรับโรคหอบ ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
คำตอบ : ท่านเชค อิบนุ อุษัยมีนกล่าวว่า "การใช้ยาพ่นขณะถือศีลอดสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคหอบนั้น ถือว่า "อนุญาต" ไม่ทำให้เสียศีลอด เพราะมันไม่ได้ลงสู่กระเพาะ
11. อยากทราบว่าการ "ตัดผม หรือ ตัดเล็บ" ขณะถือศีลอดทำให้ศีลอดเสียหรือไม่?
ตอบ : การตัดผม ตัดเล็บ โกนขนรักแร้ หรือกำจัดขนในที่ลับ ไม่ทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด
(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนา ซาอุดิอารเบีย)
12. การ "อาเจียน" ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ : หากว่าเจตนาทำให้อาเจียนก็ถือว่าเสียศีลอด แต่ถ้าหากอาเจียนออกมาเองโดยไม่เจตนาเช่นนี้ก็ไม่เสียศีลอด
ซึ่งหลักฐานที่ระบุถึงประเด็นนี้ได้แก่หะดีษอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า...
من ذرعه القيء فلا قضاء عليه، ومن استقاء عمداً فليقض
ความว่า "ผู้ใดที่อาเจียนออกมาโดยไม่ได้เจตนานั้น ไม่มีการชดสำหรับเขา และผู้ใดที่เจตนาทำให้อาเจียนเขาก็จงชดเสีย" (บันทึกโดย อบู ดาวุด และตัรมิซียฺ)
13. การชิมรสชาติอาหารขณะถือศีลอด ทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?
ตอบ : อนุญาต ให้ใช้ลิ้นทำการชิมรสชาติอาหารขณะถือศีลอดได้ แต่ชิมเสร็จแล้วต้องคายออกมาและไม่กลืนกินอาหารนั้นเข้าไป หากผู้ใดเจตนากลืนอาหารเข้าไป ถือว่าการถือศีลอดของเขานั้นเสีย
ทั้งนี้ปากนั้นถือเป็นอวัยวะภายนอก การชิมอาหารจึงไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย เปรียบได้กับการบ้วนปากในการอาบน้ำละหมาด
(ฟัตวาเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน จาก www.islamway.com)
14. หากหมดประจำเดือนก่อนเข้าเวลาละหมาดซุบฮฺ แต่อาบน้ำชำระร่างกายไม่ทันก่อนเสียงอะซานจะถือศีลอดได้หรือไม่?
ตอบ : ท่านเชค อิบนุ ญิบรีลกล่าวว่า "หากตัวนางหมดรอบเดือน คือ ตัวนางสะอาดก่อนแสงฟะญัรขึ้นเพียงเล็กน้อย สมควรแก่นางจะต้องถือศีลอด แม้ว่านางนั้นจะยังไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกายก็ตาม สามารถอาบน้ำหลังจากอะซานแล้วก็ถือว่าใช้ได้"
15. หากมีเพศสัมพันธ์หรือฝันเปียก แล้วไม่ทันอาบน้ำยกฮะดัสใหญ่ จะถือศีลอดได้หรือไม่?
ตอบ : บางคนคิดว่าห้ามถือศีลอดในสภาพที่ตัวยังเปื้อนอสุจิ คือ ยังไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกายจะต้องชดใช้ในวันต่อไป
ถือว่าเป็นการ "เข้าใจผิด" หากว่าตัวยังเปื้อนอสุจิสามารถถือศีลอดได้ปกติ ไม่จำเป็นต้องชดใช้ในวันอื่น เพราะว่าท่านนบีเคยตัวเปื้อนในตอนเข้าเวลาซุบฮฺ ต่อมาท่านนบีก็อาบน้ำและถือศีลอด
เชค บินบาซกล่าวว่า "การฝันเปียกนั้นไม่ทำให้เสียศีลอด จำเป็นแก่เขาจะต้องอาบน้ำเมื่อเห็นน้ำอสุจิ"
16. การเจาะเลือดขณะถือศีลอดเพื่อนำไปตรวจ มีผลทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?
ตอบ 1 : อัลฮัมดุลิลลาฮฺ - หากว่าเลือดที่เจาะไปนั้นโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย
แต่ถ้าหากว่าเป็นการเจาะเลือดในปริมาณมากก็ควรถือศีลอดชดสำหรับวันนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งระหว่างอุละมาอฺและเป็นการเผื่อ
(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อวิจัยทางวิชาการและฟัตวา ซาอุฯ เล่ม 10 หน้า 263)
ตอบ 2 : การตรวจเลือดเช่นนี้ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่เป็นสิ่งที่อนุโลมให้กระทำเพราะความจำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอดตามบทบัญญัติศาสนาแต่อย่างใด
(ฟัตวาเชคบินบาซ ในฟะตาวา อิสลามิยะฮฺ เล่ม 2 หน้า 133)
17. หากขณะถือศีลอด แล้วเรารู้สึกร้อนหรือเหนื่อยสามารถอาบน้ำหรือใช้น้ำราดศีรษะหรือตัวได้หรือไม่?
ตอบ : สามารถกระทำได้ ท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เคยใช้น้ำราดศีรษะเนื่องจากอากาศร้อนหรือกระหายขณะที่ท่านศีลอด
ท่านอิบนุ อุมัรฺ ก็เคยทำให้ผ้าของท่านเปียกชุ่มขณะถือศีลอดเพื่อลดความร้อนหรือความกระหาย การที่เสื้อหรือตัวเปียกน้ำไม่มีผลต่อการถือศีลอดเนื่องจากน้ำไม่ได้เข้าไปในร่างกาย
(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)
18. มีเลือดออกตามไรฟันหรือเหงือกทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?
ตอบ : เลือดที่ออกตามไรฟันไม่ทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด แต่จำเป็นต้องระวังเท่าที่ทำได้ที่จะไม่กลืนเข้าไป เลือดกำเดาก็เช่นเดียวกัน
(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)
19. ถ้าหากว่าเราปวดฟันจำเป็นต้องไปหาทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษาด้วยการอุดหรือถอนฟันซี่ใดซี่หนึ่ง เช่นนี้จะมีผลต่อการถือศีลอดของเราหรือไม่? แล้วในกรณีที่ทันตแพทย์ฉีดยาชา เช่นนี้จะมีผลต่อการถือศีลอดไหม?
ตอบ : ที่กล่าวมาในคำถามนั้นล้วนไม่มีผลต่อการถือศีลอดแต่อย่างใด ถือเป็นสิ่งที่อนุโลมให้ได้ แต่ทั้งนี้ก็จำเป็นต้องระวังไม่กลืนยาหรือเลือดเข้าไป
การฉีดยาชาก็เช่นเดียวกันไม่มีผลต่อการถือศีลอดแต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของสิ่งที่เป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ดังนั้นการถือศีลอดจึงถือว่าใช้ได้
(ฟัตวาเชคอับดุลอะซีซ บินบาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ)
เชคมุนัจญิด กล่าวเสริมว่า "แต่ถ้าคุณสามารถที่จะไปหาหมอในเวลากลางคืนได้ ก็จะเป็นการดีกว่า"
ที่มา : www.islamqa.com/ar/ref/13767
20. ในเดือนรอมฎอน ถ้าเรารู้สึกปวดศีรษะอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากอาการปวดฟันหรือสาเหตุอาการเจ็บป่วยบางประการ เราจะทานยาในขณะที่ถือศีลอดอยู่ได้ไหม?
ตอบ : การปวดศีรษะอย่างรุนแรงนั้น ถือเป็นหนึ่งในข้ออนุโลมให้ละศีลอดในเดือนรอมฎอนได้ โดยเฉพาะหากการถือศีลอดนั้นยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่นนี้ก็อนุญาตให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวละศีลอด เพื่อทานยาแก้ปวดและทานอาหารดื่มน้ำเพื่อให้หายจากอาการปวดศีรษะได้ โดยที่เขาจำเป็นจะต้องถือศีลอดชดในภายหลัง ตามจำนวนวันที่เขาได้ละศีลอดไป
ทั้งนี้เพราะอัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า "และผู้ใดในหมู่เจ้าเจ็บป่วยหรืออยู่ระหว่างการเดินทางเขาก็จงถือศีลอดชดในวันอื่นๆ" (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 185)
เชค มุหัมมัดศอลิหฺ อัลมุนัจญิด
www.islamqa.com/ar/ref/108414
21. หากป่วย - แล้วหมดห้ามให้ถือศีลอด ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร? (ชายคนหนึ่งเป็นโรคกระเพาะอักเสบ หมอห้ามให้เขาถือศีลอด ไม่ทราบว่าเช่นนี้เขาต้องทำอย่างไร?)
ตอบ : หากว่าหมอที่ห้ามเขาถือศีลอดนั้นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ มีความรู้ และมีอมานะฮฺ เช่นนี้ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่หมอบอกด้วยการไม่ถือศีลอด จนกระทั่งเขาสามารถที่จะถือศีลอดได้อีกครั้ง
ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงตรัสไว้ว่า...
فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضاً أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَر
ความว่า "แล้วผู้ใดในหมู่พวกเจ้าป่วยหรืออยู่ในการเดินทางก็ให้ถือใช้ในวันอื่น" (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 184)
และเมื่อเขาหายแล้ว ก็จำเป็นที่เขาต้องถือศีลอดชดสำหรับเดือนเราะมะฎอนที่เขาไม่ได้ถือศีลอด
22. อยากทราบหุก่มของผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้อีกเลย เนื่องจากเป็น "โรคเรื้อรัง" ที่ไม่มีความหวังจะหายหรือเนื่องจากความชรา ต้องทำอย่างไร?
ตอบ : จำเป็นที่เขาต้องให้อาหารแก่คนจน ครึ่งศออฺ (ราวๆ ครึ่งกิโลกรัม) 1 คน ต่อ 1 วัน ซึ่งอาหารนั้นต้องเป็นอาหารหลักที่คนทั่วไป ณ ที่นั้นกินกัน เช่น ข้าว เป็นต้น โดยให้จ่ายต้นเดือน
ดังที่ท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เคยทำ หรือจะเป็นกลางๆ เดือน หรือปลายเดือนก็ได้
(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)
Tags: