คํากล่าวหรือคำเหนียตซะกาตฟิตเราะฮฺ (ทั้งผู้ให้และผู้รับ)
ซะกาตฟิตเราะฮฺ หมายถึง การที่มุสลิมทุกคน ต้องจ่ายทานบังคับให้แก่มุสลิม โดยใช้อาหารหลักของท้องถิ่นบริจาคตามพิกัดที่ถูกกำหนด สำหรับประเทศไทยซึ่งรับประทานข้าวให้บริจาคข้าวสาร จำนวน 2.75 ลิตร หรือ 4 ทะนาน หรือบริจาคเงินโดยคิดตามราคาข้าวสารในท้องถิ่นนั้น
โดยผู้ที่ต้องจ่ายซะกาต คือ มุสลิมทุกคนทั้งชายและหญิงที่มีชีวิตอยู่ในวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เพื่อนำไปมอบแก่มุสลิมที่มีความเหมาะสมที่จะรับซะกาต ซะกาตประเภทนี้ไม่ต้องรอกำหนดเวลา และไม่มีเงื่อนไขของจำนวนการบริจาค เพราะทุกคนต้องจ่ายเท่ากัน
คำเหนียตซะกาตฟิตเราะฮฺ
สำหรับผู้ให้ซะกาตฟิตเราะฮฺ
1. จำเป็นที่เขาจะต้องเหนียต ในขณะตวงข้าวสารด้วยว่า เป็นซะกาตของใคร
เช่น ถ้าตวงให้ตนเอง ให้เหนียตในใจว่า "นี่คือ ซะกาตฟิตเราะห์ของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นฟัรดูเหนือข้าพเจ้าเพื่ออัลลอฮฺตะอาลา"
2. ถ้าตวงให้ภรรยา ให้เหนียตในใจว่า "นี่คือ ซะกาตฟิตเราะฮฺของ.....ภรรยาข้าพเจ้า ซึ่งเป็นฟัรดูเหนือข้าพเจ้าเพื่อัลลอฮฺตะอาลา"
3. ถ้าตวงให้บุตร ให้เหนียตในใจว่า "นี่คือ ซะกาตฟิตเราะฮฺของ.....บุตรข้าพเจ้า ซึ่งเป็นฟัรดูเหนือข้าพเจ้าเพื่ออัลลอฮฺตะอาลา"
แต่ถ้าตวงให้คนอื่น ก็ให้หนียตว่า "นี่คือ ซะกาตฟิตเราะฮฺของ .... (ให้ใส่ชื่อ นาย/นาง) ซึ่งเป็นฟัรดูเหนือเพื่ออัลลอฮฺตะอาลา" เป็นต้น
4. ให้ตวงเพื่อไปเลย 2.6 หรือ 2.7 โล เพื่อให้ได้ผลบุญเพิ่มขึ้น และเป็นการป้องกัน เพราะหากว่า ไม่ถึงจำนวน ก็ถือว่า ซะกาตนั้นใช้ไม่ได้
5. และเมื่อนำซะกาตฟิตเราะฮฺ ไปมอบให้กับผู้รับ แม้ว่าผู้นำไปมอบ มิได้กล่าวออกมาเป็นวาจาว่าเป็นของผู้ใด ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
6. ทั้งนี้ เพราะตามมัสฮับชาฟีอีย์นั้น ถือว่า การตั้งเจตนา(เหนียต)ของผู้ออกซะกาตนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ) ดังนั้น เมื่อมีเจตนาแล้วในขณะที่ออกซะกาต ก็ย่อมถือว่าใช้ได้ ไม่ว่าจะมีการเปล่งวาจาออกมาหรือไม่ก็ตาม" (ดูหนังสือ อัลมัจญ์มัวะอ์ ชัรฮุ้ลมู่ฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 157-158)
7. แต่ด้วยมารยาทการปฎิบัติแล้ว ให้บอกสักนิดก็ยังดีว่า นี่เป็นซะกาตของนาย... หรือ นาง... (ใส่ชื่อ) เพื่อผู้รับจะได้ทราบว่าเป็นของผู้ใด(อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวคับ)
สำหรับผู้รับซะกาตฟิตเราะฮฺ
จำเป็นต้องเหนียตรับหรือไม่?
1. ไม่จำเป็นต้องเหนียต แต่ให้รับได้เลย โดยไม่ต้องเหนียตว่า "ข้าพเจ้ารับซะกาตของนาย... / นาง... แต่อย่างใด
2. "และหากผู้จ่ายซะกาต ได้จ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิรับโดยในขณะที่จ่ายนั้น ผู้ให้มิได้กล่าวว่า สิ่งนั้นเป็นซะกาต หรือ ไม่ได้พูดอะไรเลย ก็ถือว่าใช้ได้ และเป็นซะกาตที่ลุล่วงแล้ว ดังที่ปวงปราชญ์ในมัสฮับชาฟิอีย์ได้ชี้ขาดเอาไว้"(ดูหนังสือ อัลมัจญ์มัวะอ์ ชัรฮุ้ลมู่ฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 227)
สุนัตให้ผู้รับซะกาต ขอพรให้แก่ผู้นำซะกาตมามอบให้ว่า...
اجرك الله فيما اعطيت وبارك لك فيما ابقيت
คำอ่าน : อาญ่าร่อกั้ลลอฮู่ ฟีมา อะอ์ตอยต้า ว่าบาร่อก้า ล่าก้า ฟีมา อับกอยต้า
ความหมาย : "ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนแก่ท่าน ในสิ่งที่ท่านได้นำมามอบให้ และขออัลลอฮฺทรงประทานความเพิ่มพูนในสิ่งที่ท่านคงเหลืออยู่"
ผู้ให้จะกล่าวตอบอีกทีก็ได้ว่า...
امين ، تقبل الله منا ومنكم
คำอ่าน : อามีน , ต้าก๊อบบะลั่ลลอฮู่ มินนา ว่ามิงกุม
ความหมาย : "ขออัลลอฮฺทรงตอบรับ(ความดี)ทั้งเราและท่าน"
Tags: