วิทยปัญญาของการถือศีลอด
การที่อัลลอฮฺได้บัญญัติอิบาดะฮฺ เพื่อให้มนุษย์ได้แสดงความเคารพภักดี ได้แสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระองค์ การถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺแฝงเร้นด้วยวิทยปัญญาอันลึกซึ้งสมบูรณ์มากมาย เป็นแรงปรารถนาของจิตวิญญาณ และความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงรอบรู้ในการสรรค์สร้างและรางวัลตอบแทน
การถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺที่ "แฝงเร้น" วิทยปัญญาที่ยิ่งใหญ่ เป็นอย่างไรกัน แบ่งเป็นหัวข้อดังนี้
1. มุอมินผู้ศรัทธาจะได้ใกล้ชิดพระเจ้า โดยการละทิ้งสิ่งที่เขารักสิ่งที่ชอบ ระงับสิ่งที่ปรารถนาในเรื่องอาหาร เครื่องดื่มและการมีเพศสัมพันธ์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความจริงใจในความศรัทธา ความสมบูรณ์ในการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ "ความรักและความหวัง" ที่จะได้รับรางวัลจากพระองค์ เพราะมุอมินที่สมบูรณ์เขาจะไม่ละทิ้งสิ่งที่เขารัก นอกจากสิ่งอื่นนั้นจะต้องยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เขารัก
โอ้มุสลิม...จงเป็นผู้ถือศีลอดที่อยากจะอยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้า มีความอ่อนน้อมถ่อมตนในอิบาดะฮฺการถือศีลอดนี้
2. สร้างความตักวายำเกรงต่ออัลลอฮ์ที่แท้จริง อัลลอฮ์ตรัสว่า...
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا
كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ
كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ
مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
[ البقرة : 183 ]
บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง
ดังกล่าวนี้คือ "การถือศีลอดทางศาสนา" ที่เขาได้สงวนรักษาจากสิ่งที่ทำให้ศีลอดเป็นโมฆะและรักษาจากคำพูดที่ไร้สาระและการกระทำอันเป็นเท็จ ท่านนบี ศ็อลฯ กล่าวว่า...
مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّورِ
وَالْعَمَلَ بِهِ فَلَيْسَ لِلَّهِ
حَاجَةٌ فِي أَنْ يَدَعَ
طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ
[رواه البخاري]
ผู้ใดที่ไม่ละทิ้งการพูดเท็จและยังปฏิบัติอยู่อีก ดังนั้นไม่ใช่ความจำเป็นเลยสำหรับอัลลอฮฺ ที่เขาผู้นั้นต้องละทิ้งอาหารการดื่มกินของเขา
จงพยายามให้การถือศีลอด ให้ถูกต้อง บริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจือปนที่ไร้สาระและความเคลือบแคลงนานาประการ
3. ควบคุมอาหารและทานอาหารแต่น้อย ทำให้หัวใจอ่อนโยน เข้าใจอะไรง่าย ลดความต้องการที่ไม่ดีของจิตใจ และลดความโกรธส่วนการบริโภคเกินพอดี แน่นอนจะทำให้เกิดผลที่ตรงกันข้ามและเป็นสาเหตุหลักของโรคภัยไข้เจ็บ นบี ศ็อลฯ จึงแนะนำให้ลดอาหาร และเครื่องดื่ม ท่านมิกดาม บิน มะอดีกะริบ ได้ยินท่านรอซูลลุลลอฮ์กล่าวว่า...
مَا مَلَأَ آدَمِيٌّ وِعَاءً
شَرًّا مِنْ بَطْنٍ حَسْبُ
الْآدَمِيِّ لُقَيْمَاتٌ يُقِمْنَ
صُلْبَهُ فَإِنْ غَلَبَتْ الْآدَمِيَّ
نَفْسُهُ فَثُلُثٌ لِلطَّعَامِ
وَثُلُثٌ لِلشَّرَابِ وَثُلُثٌ لِلنَّفَسِ
[رواه ابن ماجه]
ไม่มีภาชนะใดที่มนุษย์จะเติมเต็มสิ่งไม่ดีลงไปได้มากไปกว่าท้องของเขา เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับลูกหลานอาดัม ที่เขาจะบริโภคอาหารแต่น้อยให้พอพยุงร่างกายได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องบริโภคมากกว่านั้นก็ให้ แบ่งหนึ่งส่วนสามสำหรับอาหาร หนึ่งส่วนสามสำหรับเครื่องดื่ม และอีกหนึ่งส่วนสามสำหรับลมหายใจ
4. การถือศีลอดทำให้ "คนร่ำรวยได้ขอบคุณและสดุดีอัลลอฮฺ" ที่ทรงประทานความโปรดปรานอันมากมายแก่เขา ซึ่งคนจนไม่มีโอกาสได้รับ ไม่ว่าอาหาร เครื่องดื่มหรืออื่นๆ ท่านนบี ศ็อลฯ กล่าวว่า...
إِنَّ اللهَ لَيَرْضَى
عَنِ الْعَبْدِ أَنْ يَأْكُلَ
الْأَكْلَةَ فَيَحْمَدَهُ عَلَيْهَا
أَوْ يَشْرَبَ الشَّرْبَةَ
فَيَحْمَدَهُ عَلَيْهَا [أخرجه مسلم]
แท้จริงอัลลอฮฺนั้น ย่อมพอพระทัยกับบ่าวที่เขากินครั้งหนึ่ง ก็สรรเสริญพระองค์ที่ให้มันมา หรือดื่มน้ำครั้งหนึ่งก็สรรเสริญพระองค์ที่ให้มันมา
5. การถือศีลอด "ทำให้เส้นโลหิตแคบลง" เพราะความหิวกระหาย ดังนั้นเส้นทางของชัยฏอนในร่างกายจึงแคบลงเช่นกัน นบี ศ็อลฯ กล่าวว่า...
إِنَّ الشَّيْطَانَ يَجْرِي
مِنْ الْإِنْسَانِ مَجْرَى الدَّمِ
[رواه البخاري]
แท้จริงชัยฏอนจะวิ่งแล่นจากในตัวมนุษย์ตามกระแสเลือด
นอกจากนี้การถือศีลอดยังทำลายพลังอารมณ์ทางเพศและยับยั้งอารมณ์ใคร่ได้ด้วย นบี ศ็อลฯกล่าวว่า...
يَا مَعْشَرَ الشَّبَابِ
مَنْ اسْتَطَاعَ مِنْكُمْ الْبَاءَةَ
فَلْيَتَزَوَّجْ فَإِنَّهُ أَغَضُّ
لِلْبَصَرِ وَأَحْصَنُ لِلْفَرْجِ
وَمَنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَعَلَيْهِ
بِالصَّوْمِ فَإِنَّهُ لَهُ وِجَاءٌ
[رواه الشيخان ]
โอ้บรรดาชายหนุ่มทั้งหลาย ผู้ใดในหมู่พวกเจ้านี้มีความสามารถ(ในการครองคู่) ก็จงแต่งงานเถิด เพราะแท้จริงนั้น(การแต่งงาน)เป็นการลดสายตาให้ต่ำลง อีกทั้งให้พวกเจ้าสามารถสงวนอวัยวะเพศได้ และผู้ใดที่ไม่มีความสามารถก็จงถือศีลอดเสียเถิด เพราะการถือศีลอดเป็นการยับยั้งอารมณ์ใคร่ได้
ที่มา: Farid Azhari
Tags: